ไก่กอและ


        วันนี้มีสูตรอาหารเด็ดของกลุ่มการงานอาชีพ วิชาคหกรรมมาเสนอให้ท่านที่สนใจ จะนำไปทำรับประทานด้วยตนเองซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของเทพา นอกเหนือจากไก่ทอดเทพาของโรงเรียนเทพาแล้วยังมี " ไก่กอและ" ซึ่งนักเรียนได้ศึกษาค้นคว้า เพิ่มเติมจากสูตรเดิม ที่นำมาทดลองปรับปรุงใหม่ให้มีรสชาติดีขึ้น

สูตรเครื่องปรุง

      หัวกะทิ                   2        ช.ต

      พริกแห้งดอกใหญ่   20    ดอก

      หัวหอม                    10   หัว

      กระเทียม                  5      หลีบ

      แป้งข้าวจ้าว             2      ช.ต.

      ขิง                            7      แว่น

       เกลือ                       2      ช.ต.

       น้ำมะข้ามเปียก        1      ช.ต.

        น้ำตาลแว่นใหญ่    100   กรัม

        ( เครื่องปรุงทั้งหมดใช้กับไก่ 2  ตัว )

วิธีการปรุง

    1. นำพริก หอม กระเทียม ขิง โขลกเข้าด้วยกันจนละเอียด

     2. นำกะทิตั้งไฟจนเดือดใส่น้ำพริกที่โขลกไว้ ปรุงรสด้วยเกลือ น้ำตาล จนเข้ากันดี ชิมรสดูตามชอบ แล้วละลายแป้งข้าวเจ้า ใส่ลงไป และหมักไว้ในน้ำเกลือ ( น้ำ  2 ถ้วย  เกลือ 2 ช.ต.) หมักไว้ 20 นาที นำไก่ไปเสียบกับไม้ๆผ่แล้วนำไปนึ่งจนสุก จึงนำไปย่างจนแห้งราดด้วยเครื่องปรุงรสไว้แล้ว ย่างกลับไปกลับมา จนเครื่องติดเนื้อไก่และแห้งไม่หลุดออกจากเนื้อไก่ เป็นอันเสร็จเรียบร้อย รับประทานด้วยความอร่อย

กลเม็ดเคล็ดลับ  (การทำไก่กอและ เก็บไว้ได้หลายวัน)

    1. มะพร้าวต้องเป็นมะพร้าวที่สุกจัด (มะพร้าวแห้ง)

    2. เครื่องปรุงทุกอย่างต้องสะอาด

    3. ไก่ต้องล้างให้สะอาดจนเปลือกที่ติดไก่ออกจนหมด

    4. ควรใช้ไก่บ้าน จะอร่อยกว่าไก่ฟาร์ม

คำสำคัญ (Tags): #โรงเรียนเทพา
หมายเลขบันทึก: 86563เขียนเมื่อ 26 มีนาคม 2007 15:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 09:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ไก่กอและ

เครื่องปรุง

- หอมแดง 8 หัว

- พริกแห้งแช่น้ำ 12 หัว

- กระเทียม 6 กลีบ

- ขมิ้นสด 2 ช้อนชา (ไม่ควรใส่ ใส่แล้วทำให้ไก่มีสีเหลือง)

- ลูกผักชี 3 ช้อนชา

- เนื้อไก่ไร้หนังไร้กระดูก 3 กิโลกรัม

- กะทิ 6 ถ้วย

- น้ำมะนาว 1 ช้อนชา

- อบเชยป่น 3/4 ช้อนชา

- เนย 3 ช้อนโต๊ะ

- ยี่หร่าป่น 3/4 ช้อนชา

- กะปิ 3 ช้อนชา

- เครื่องแกงแดง 6-8 ช้อนโต๊ะ

- น้ำตาลปี๊บ พอประมาณ

- น้ำปลา พอประมาณ

- เกลือ พอประมาณ

วิธีทำ

1.นำเครื่องแกงทั้งหมดมาโขลกให้ละเอียด แล้วนำไปผัดกับเนยจนกระทั่งหอมและสุก

2.เทกะทิลงไปผสมกับเครื่องแกง ต้มให้เดือดปรุงรสด้วยน้ำตาลปี๊บ น้ำปลา และน้ำมะนาว โดยรสชาติให้เค็มนำ หวานตาม

3.นำไก่มาหั่นเป็นก้อนสี่เหลี่ยมพอคำ แล้วนำไปหมักในน้ำเครื่องแกงกะทิค้างคืน แล้วเสียบไม้ให้หมด นำพักใส่ตู้เย็นไว้

4.เมื่อถึงเวลาจะรับประทาน ให้นำเนื้อไก่เสียบไม้ แล้วนำไปปิ้ง รับประทานเปล่าร้อน ๆ.

ไก่กอและ

ไก่กอและ (ไก่ฆอและ) (ภาษามลายู Ayam Golek) เป็นอาหารมลายูปักษ์ใต้ของไทยและมาเลเซีย

คำว่า "golek" ในภาษามลายู หรือ ฆอและ ในภาษามลายูปัตตานี หมายถึง กลิ้ง คงหมายถึงการเอาไก่ไปกลิ้งบนไฟ

อาหารการกินของคนใต้ ในท้องถิ่นต่าง ๆ

วัฒนธรรมการกินของชาวใต้ มีทั้งส่วนที่พ้องกันทั่วทั้งภาค และส่วนที่แตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น บางอย่างเกิดจากคติทางศาสนา

ชาวใต้กินข้าวเจ้าเป็นหลัก ส่วนข้าวเหนียวใช้ประกอบเป็นของหวาน เช่นเดียวกับภาคกลาง ชาวบ้านส่วนมากกินอาหารหนักสองมื้อคือ มื้อเช้าและมื้อเย็น อาหารมื้อหนึ่ง ๆ จะมีกับข้าวเพียงเล็กน้อย ถ้ามื้อใดมีกับข้าวถึงสองสามอย่าง ถือว่าค่อนข้างอุดมสมบูรณ์พิเศษ แต่ในกรณีที่มีแขกเหรื่อมาพักอาศัยอยู่ นิยมจัดกับข้าวให้ได้ไม่น้อยกว่าสองอย่าง หรือมากกว่านั้น

ถ้ามีเพื่อนบ้านใกล้เคียงมาในเวลาที่กำลังกินอาหารกันอยู่ ขอร่วมรับประทานอาหารด้วย หรือเพียงเอ่ยปากชวนก็จะร่วมวงด้วยทันที เจ้าของบ้านถือว่าเป็นการให้เกียรติ และให้ความเป็นกันเองเสมอด้วยญาติที่ใกล้ชิด

ชาวใต้ส่วนใหญ่ชองอาหารรสจัด ถ้าเป็นแกงก็มีรสกะปิเข้ม และมักมีรสฉุนของขมิ้นค่อนข้างแรง กับข้าวแต่ละมื้อส่วนมากจะไม่ขาดประเภทที่มีรสเผ็ด และประเภทที่มีน้ำแกง เช่น แกงส้ม (แกงเหลือง) แกงไตปลา (แกงพุงปลา) แกงกะทิซึ่งเป็นอาหารที่แต่ละบ้านทำหมุนเวียนอยู่เป็นประจำทุกวัน นอกจากแกงดังกล่าวแล้ว ก็มักมีน้ำพริกกะปิ

ชาวใต้สมัยก่อนนิยมกินข้าวด้วยมือ การใช้ช้อนเริ่มใช้กันในครอบครัวที่มีฐานะดี สำหรับชาวไทยอิสลามนิยมกินอาหารด้วยมือเป็นส่วนใหญ่

เนื่องจากภาคใต้อุดมสมบูรณ์ด้วยพืชนานาชนิด ผักสดจึงเป็นส่วนประกอบสำคัญของอาหารทุกมื้อ ผักสดจะมีหลายชนิด ไม่นิยมกินผักลวก ผักสดดังกล่าวได้แก่ กระถิน กระเฉด ผักบุ้ง แตงกวา ถั่งฝักยาว ลูกเนียง ฯลฯ

ชาวใต้มีวัฒนธรรมการกินอาหารที่ดีหลายประการ เช่นเดียวกับชาวไทยภาคอื่น ๆ เช่น ขณะนั่งกินอาหารทุกคนสำรวม แต่ไม่ให้เคร่งเครียด ไม่เคี้ยวให้เสียงดังจับ ๆ ไม่กินมูมมาม ลุกลนไม่ซดน้ำแกงให้มีเสียงดังผิดปกติ ไม่พูดคุยกันมากเกินควร ห้ามนำเรื่องเศร้าหรืออัปมงคลมาพูด ห้ามพูดเรื่องที่ชวนให้สะอิดสะเอียน เมื่อแต่ละคนกินอิ่มแล้ว (ยกเว้นแขก) จะต้องล้างชามข้าวของตนทันที เว้นแต่เด็กที่ยังช่วยตนเองไม่ได้และคนชรา ถือกันว่าการให้ผู้อื่นล้างชามข้าวให้โดยไม่จำเป็น ไม่เป็นมงคลแก่ตน ส่วนจานชามอื่น ๆ โดยปกติเป็นหน้าที่ของคนที่อิ่มสุดท้าย และจะต้องเก็บล้างทันที

โดยปกติขณะกินข้าวอาหารจะไม่ดื่มน้ำ เว้นแต่จะเผ็ดหรือข้าวติดคอ ภาชนะที่ใส่น้ำดื่มมักจะใช้ร่วมกัน หรือไม่ก็แยกฉพาะผู้ใหญ่กับเด็ก โดยมารยาทจึงต้องรอให้ผู้ใหญ่กินเสร็จก่อนและดื่มน้ำก่อน

การทำขนมหวานกินเองมักทำในโอกาสพิเศษ เช่น ทำบุญเลี้ยงพระมีงานมงคล เมื่อทำแต่ละครั้งมักแจกจ่ายให้แก่บ้านใกล้เรือนเคียงด้วย ขนมที่นิยมทำกันมากมีส่วนประกอบหลักอยุ่สามอย่างคือ แป้ง น้ำตาล กะทิ หรือมะพร้าวขูด อาจใช้พืชอื่นแทนแป้ง เช่น เผือก มัน ฟักทอง ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ฯลฯ น้ำตาลใช้น้ำตาลจากตาลโตนด น้ำตาลจากมะพร้าว

อาหารที่นิยมกันอย่างกว้างขวางได้แก่ ข้าวยำ แกงพุงปลา บูดู จิ้งจัง แป้งแดง หนาง ขนมหวานได้แก่ ขนมโค ลอดช่องน้ำกะทิ ขนมปลากิม กะละแม และทุเรียนกวนเป็นต้น

อาหารที่ชาวไทยอิสลามนิยมกันในภาคใต้คือ บูดู ไก่กอและ ข้าวเหนียว แกงไก่ ข้าวยำ ขนมหวาน กะละแม ไม่นิยมใช้ผักผสม ไม่นิยมกินผักดิบ ๆ นิยมเผาหรือต้มก่อน น้ำแกงนิยมยกถ้วยรินราดข้าว การจัดกับข้าวเป็นชุดนิยมตักใส่ถ้วยจัดวางในถาด หรือพานทองเหลือง แล้วใช้ฝาชีครอบ

ภาชนะที่ใช้ปรุงอมหารเดิมนิยมใช้หม้อดินและกระทะเหล็ก ต่อมานิยมใช้หม้อทองเหลือง ขันน้ำ และจาน นิยมใช้จานสังกะสีเคลือบและจานดินเผา ช้อนนิยมใช้ช้อนเคลือบ และช้อยหอย (ช้อนกระเบื้อง) เครื่องตักข้าวหรือตักแกงจากหม้อนิยมใช้จวัก

[b] - แกงไตปลา (แกงพุงปลา)[/b] เป็นแกงที่ชาวไทยพุทธนิยมกินกันทั่วไป เป็นแกงเผ็ดมีน้ำมากกว่าเนื้อ รสค่อนข้างเค็ม สีน้ำแกงคล้ำอมเหลือง ส่วนประกอบสำคัญคือ ไตปลา หรือพุงปลา ปลาย่าง ผัก เช่น หน่อไม้ มันเทศ หรือเมล็ดมะม่วงหิมพานต์

[b]- แกงเหลือง (แกงส้ม)[/b] เป็นแกงพื้นเมืองที่นิยมแพร่หลายมากในภาคใต้ มีรสเปรี้ยว ส่วนประกอบมีเนื้อปลาบางชนิดที่มีกลิ่นคาวจัดมีมันมาก เฃ่น ปลาแขยง ปลาดุก ปลาหมด ปลาเนื้ออ่อน ปลาสาด ปลากระบอก ฯลฯ จะเป็นปลาสด ปลาย่าง หรือกุ้งย่างก็ได้ ส่วนกุ้งสดที่จะใช้กับแกงส้มบางชนิดเท่านั้น ผัก ผลไม้ ที่นิยมใส่แกงส้มมี หยวกกล้วย แตงส้ม แตงไทย เปลือกแตงโม แตงกวา ถั่วฝักยาว มะเขือ ผักกาดขาว ผักกาดดอง หน่อไม้ดอง ฟักเขียว ดอกแค ผักกระเฉด มันแกว สายบัว ผักสมรม ฯลฯ

[b]- ต้มส้มปลา (ปลาต้มส้ม)[/b] ใช้ปลาสด ๆ มาขอดเกล็ด เอาแก้ม เหงือก หัว และไส้ออก ตัดเป็นชิ้น ๆ โตพอสมควร ล้างปลาให้สะอาด และวางไว้ให้สะเด็ดน้ำ

นำขมิ้นชันยาวประมาณ ๑ นิ้ว หัวหอม ๒ - ๓ กลีบ หัวกระเทียม ๔ - ๕ กลีบ เกลือประมาณ ๑ ช้อนโต๊ะ นำมาตำรวมกันให้ละเอียด นำเนื้อปลา ที่เตรียมไว้มาคลุกกับเครื่องนี้

เอาใส่หม้อตั้งให้เดือดใส่น้ำส้มสายชูลงไปประมาณ ๑ ใน ๔ ถ้วย นำกะปิพอประมาณ ตะไคร้ ๒ - ๓ ท่อน ทุบให้แตกและตัดเป็นท่อน ๆ ใส่ลงไปพร้อมปลาที่คลุกเครื่องไว้แล้ว ตั้งไฟพอต่อไป พอน้ำเดือดปลาสุกก็ใช้การได้

[b]- นาซิตาแก[/b] เป็นอาหารคาวชนิดหนึ่งของชาวไทยอิสลามคล้ายข้าวมันไทย ส่วนประกอบมีข้าวเจ้า ข้าวเหนียว ผสมกันตามสัดส่วน หุงข้าวสุกแล้วตักใส่จาน ราดด้วยแกงไก่หรือแกงปลา หรือแกงไข่ พร้อมเครื่องปรุงอีกบางอย่าง นิยมกินกันในวันสำคัญ ๆ เช่น วันตรุษ มักจะกินกันตอนเช้า

[b]- ข้าวหมกแพะ[/b] เป็นอาหารที่นิยมปรุงเพื่อใช้กินกันในงานใหญ่ ๆ ของชาวไทยอิสลามเช่น งานรับแขกผุ้ใหญ่ งานแต่งงาน และงานประเพณีต่าง ๆ ลักษณะเป็นข้าวมันสีเหลืองที่มีเครื่องปรุงผสม มีเครื่องเทศ เนย ขมิ้น และมีเนื้อแพะชิ้นโต ๆ ผสมอยู่ด้วย โดยหุงข้าวพร้อมเครื่องปรุงให้สุกก็เป็นอันเสร็จ แล้วกินกับชามาลเดอ และผักกาดหอมหรือผักอื่น ๆ ตามต้องการ

[b]- ไก่กอและ[/b] คือแกงไก่แบบพื้นบ้านของชาวไทยอิสลาม เป็นอาหารที่แพร่หลายในจังหวัดนราธิวาส การปรุงจะเคี่ยวกะทิจนแตกมัน เอาเครื่องแกงที่ประกอบด้วย พริกแห้ง หอม กระเทียม ข่า ตะไคร้ เมล็ดผักชี ยี่หร่า ลูกจันทน์ และกานพลู ตำให้ละเอียดใส่ลงไป ผัดให้เข้ากันจนมีกลิ่นหอมใส่ไก่ที่สับเป็นชิ้นใหญ่ ๆ เคี่ยวจนเนื้อเปื่อยนุ่มแล้วใส่กะปิเผา น้ำปลา มะขามเปียก และลูกกระวาน เคี่ยวและคั่วให้เข้ากัน ชาวไทยอิสลามถือว่า ไก่กอและเป็นแกงชั้นดี จึงนิยมเลี้ยงในงานที่มีเกียรติ บางท้องถิ่นจะใช้ปลาแทนไก่ เรียกว่า ปลากอและ

[b]- ข้าวยำ[/b] ชาวไทยอิสลาม เรียกว่า นาซิกราบู ประกอบด้วยข้าวสุก ราดด้วยน้ำบูดู มะพร้าวคั่ว กุ้งแห้งป่น และผักสดหลายชนิด หั่นปนลงไป แล้วคลุกให้เข้ากัน

การปรุงข้าวยำ ข้าวสุกที่หุงต้องไม่แฉะ บางทีใช้ข้าวหุงด้วยใบยอ ผักที่นิยมใช้ในการปรุงข้าวยำ ได้แก่ เมล็ดกระถิน สะตอหั่นฝอย ถั่วงอกเด็ดราก ถั่วฝักยาวหั่นฝอย แตงกวา ตะไคร้หั่นฝอย ส้มโอ หรือมะขามดิบ หรือมะม่วง หรือมะนาวหั่นฝอย

[b]- รอเยาะ[/b] เป็นอาหารพื้นเมืองที่ปรุงจากผักและผลไม้สด มีน้ำแกงราด เป็นที่นิยมของชาวไทยอิสลาม กินเป็นอาหารว่าง หรือบางแห่งกินกับข้าว

เครื่องปรุงสำคัญคือ สัปรด แตงกวา มันแกว และน้ำแกง โดยนำผักและผลไม้ดังกล่าว ที่ยังสดมาหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ ผสมเข้าด้วยกัน ส่วนน้ำแกงนั้นปรุงโดยใช้น้ำมันใส่กะทิตั้งไฟให้พอร้อน นำพริกแห้งที่ผ่าเอาเม็ดออกบดให้ละเอียดลงไปเจียวในน้ำมัน แล้วใส่น้ำส้ม (น้ำส้มสายชูหรือส้มมะขาม) ใส่ถั่วลิสงที่ตำหยาบ ๆ ใส่หอม กระเทียม ที่ซอยเป็นชิ้นเล็ก ๆ ใส่น้ำตาลและเกลือปรุงรสให้พอหวานมันเค็มตามต้องการ แล้วใช้น้ำแกงที่ปรุงดังกล่าว ราดผักและผลไม้ที่เตรียมไว้

[b]- มะแซ[/b] เป็นอาหารคาวซึ่งมีเส้นแบนยาวเป็นแถบ ๆ กว้างประมาณ ๑ เซนติเมตร คล้ายเส้นก๋วยเตี๋ยวราดด้วยน้ำแกงที่ปรุงเพื่อการนี้โดยเฉพาะ ผสมผัก ใช้กินเหมือนขนมจีน น้ำแกงเป็นน้ำข้น ๆ สีขาวนวลมีส่วนผสมคือปลาย่างหรือปลานึ่ง น้ำกะทิ หัวหอม หัวกระเทียม ขิง ส้มแขก น้ำตาลทราย ผักที่ใช้กินกับละแซคือหัวปลี ถั่วงอก ดอกกาหลา ใบจันทน์หอม ถั่วฝักยาว แตงกวา ยอดมะม่วงหิมพานต์ หรือผักอื่น ๆ นำมาหั่นให้ละเอียดแล้วผสมกับละแกซึ่งราดน้ำแกงแล้ว นอกจากนี้นิยมใส่พริกกับเกลือ ซึ่งตำให้ละเอียดผสมเป็นเครื่องชูรส

[b]- บูดู[/b] เป็นอาหารคาวมีสองชนิดคือบูดูแบบเค็ม ใช้ผักสดจิ้มกินกับข้าวสวย และบูดูแบบหวานที่เรียกว่า น้ำเคย ใช้สำหรับคลุกกับข้าวยำ

บูดูทั้งสองชนิดได้จากการหมักปลา ปลาที่ใช้เป็นปลาทะเลสดนำมาล้างให้สะอาดแล้วผสมกับเกลือเม็ด เสร็จแล้วนำมาบรรจุไหปิดฝาให้มิดชิด ผนึกด้วยปูนขาวตั้งไว้ในที่ถูกแดดในที่โล่งประมาณ ๒ - ๓ เดือน จนเนื้อปลาเหลว เมื่อหมักได้ที่แล้วจะมีกลิ่นหอม เรียกผลได้ในระยะนี้ว่า น้ำเคย แล้วนำน้ำเคยมาหมักไว้กลางแดดต่อไปอีกประมาณหนึ่งปี เนื้อปลาจะเปื่อยและหลุดออกจากก้าง นำไปกรองด้วยกระชอนหรือผ้าขาวเนื้อหยาบเพื่อแยกก้างออกทิ้งไป นำเอาน้ำที่มีเนื้อปลาละลายปนอยู่มาบรรจุขวด จะได้น้ำบูดูอย่างเค็มเพื่อใช้ปรุงเป็นอาหารต่อไป

การปรุงน้ำบูดู นำน้ำบูดูอย่างเค็มใส่ภาชนะตั้งใจแล้วยกลงปล่อยให้เย็น ปรุงรสด้วยมะนาว น้ำตาลปี๊บ กุ้งแห้ง ใบมะกรูดหั่นฝอย หอมหัวเล็กซอย พริกขี้หนูหั่นหรือทุบพอแตก ปรุงรสตามที่ต้องการ

บูดูที่ปรุงแบบนี้ใช้ผักสดกินกับข้าวสวย ถ้าจะปรุงเป็นบูดูข้าวยำ ใช้น้ำบูดูอย่างเค็มที่ยังดิบ ไปผสมกับน้ำตาลปี๊บที่เคี่ยวจนเป็นสีน้ำตาลไหม้ คนให้เข้ากัน ใช้ใบมะกรูด ข่า ตะไคร้ หอม กระเทียมที่ตำหรือทุบพอแตก ปรุงรสเคี่ยวรวมกันพอออกรสหอม จึงเติมน้ำปลาพอประมาณ ต้มจนเดือด ชิมให้ได้รสเค็มหวานตามที่ต้องการ ก็จะได้น้ำบูดูชนิดหวาน นำไปคลุกกับข้าวยำคู่กับเครื่องปรุงข้าวยำอื่น ๆ

[b]- ขนมซูราหรือซูรอ[/b] เป็นขนมที่นิยมทำกันในหมู่ชาวไทยอิสลาม มักทำกันในวันที่สิบของเดือนมาฮารัมเดือนที่หนึ่งของอิสลาม เป็นวันสำคัญของศาสนาอิสลามวันหนึ่ง พิธีที่ทำในวันอาซูราคือทำขนมซูราหรือซูรอ เริ่มแต่วันดังกล่าวแล้วทำได้ตลอดเดือนมีทำที่บ้านและที่มัสยิด

ซูรอเป็นขนมที่ทำด้วยของผสมหลายอย่าง มีข้าวเจ้า มันเทศ น้ำกะทิ ใส่เนื้อ (เนื้อไก่หรือนก) ข้าวโพด ถั่ว ฟักทอง กล้วย กุ้งป่น ผักโรยหน้า ทอดให้เป็นแผ่นแล้วหั่นบาง ๆ รวมทุกอย่างเข้าด้วยกันในกะทะแล้วกวน เมื่อสุกแล้วมีลักษณะเหลวเหมือนข้าวต้มแห้ง นำมาเทลงในถาด ปล่อยไว้ให้เย็นจึงแข็งตัวเป็นแผ่น แล้วตัดเป็นชิ้นเล็ก ๆ ใส่จานโรยสมั่นและไข่ทอดที่หั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ

อาหารการกิน

อาหารการกินในชีวิตประจำวันของชาวสตูล มีลักษณะคล้ายคลึงกับอาหารในภาคใต้

ทั่ว ๆ ไป เพราะผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งนำมาใช้เป็นอาหารนั้น เหมือนกันเป็นส่วนใหญ่ อาหารพื้นเมือง

ที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น

อาหารคาว

๑. แกงกุรุหม่าไก่ ปรุงตามสูตรของท้องถิ่น มีเครื่องปรุงหลายอย่างกลิ่นหอมน่า

รับประทาน จะทำแกงกุรุหม่าในการทำบุญตามประเพณีท้องถิ่นนิยมทำแกงกุรุหม่ากันมาก

๒. แกงปัดจาหรี เป็นกับข้าวที่มีรสเปรี้ยว เผ็ดและหวานนิดหน่อย มักใช้เป็นอาหารเลี้ยงเนื่องในการจัดงานต่าง ๆ เช่น การแต่งงาน งานบุญ

๓. แกงตอแมะ เป็นแกงที่ปรุงรับประทานกันในชีวิตประจำวัน มีกลิ่นหอมไม่เผ็ดจัดมีเครื่องปรุงไม่มากนัก แกงตอแมะ แต่นิยมกันมักใช้ปลา หรืออาจใช้ ไก่

๔. แตงจิ้ม เป็นอาหารประเภทผัก ปรุงอย่างพิเศษขึ้น มีน้ำจิ้ม ซึ่งปรุงด้วยถั่วลิสงคั่ว

น้ำตาลทราย น้ำมะขามเปียก พริกแห้ง น้ำร้อน ใช้รับประทานกับแตงกวา

๕. รอยะ เป็นอาหารพื้นเมืองที่นิยมรับประทานเป็นอาหารว่าง หรือบางครั้งก็รับประทานกับข้าว เครื่องปรุงมีสับปะรด แตงกวา มันแกว หั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้ว ราดด้วยน้ำแกง ซึ่งมีเครื่องปรุงหลายอย่าง

๖. ไก่กอและ ชาวไทยมุสลิมถือว่าไก่กอและเป็นแกงชั้นดี นิยมเลี้ยงในงานที่มีเกียรติ

รสชาติค่อนข้างอ่อนเครื่องเทศ

๗. แกงเนื้อแพะ เป็นอาหารชั้นดีของชาวไทยมุสลิม จะมีการแกงแพะเฉพาะงานมงคล เช่น งานแต่งงาน งานเข้าสุนัต ซึ่งเจ้าของงานจะเชิญแขกมารับประทานแกงแพะ ที่ภาษามาลายูท้องถิ่นเรียกว่า “มาแกกาเม็ง” (มาแก - กิน , กาเม็ง - แพะ) ผู้ได้รับเชิญจะรู้สึกว่าเป็นเกียรติ แก่ตนเอง

อาหารหวาน

๑. บูตู

บูตูเป็นขนมที่มีการปรุงโดยใช้แป้งข้าวจ้าวนวดกับน้ำตาลแว่น หรือน้ำตาลปึกให้เข้ากัน แล้วนำแป้งที่ได้ไปผึ่งแดดบี้จนร่วน นำมาใส่ถ้วยตะไลซึ่งมีผ้าขาวบางและน้ำตาลแว่นรองอยู่อีกชั้นหนึ่ง เมื่อใส่แป้งหมดแล้วนำขนมไปนึ่งทั้งถ้วย สุกแล้วยกลง เอาขนมมาคลุกกับมะพร้าวขูดที่คลุกเกลือพอมีรสเค็ม

๒. บุหงาปุดะ

บุหงาปุดะเป็นขนมที่นิยมทำกันในเทศกาลวันปีใหม่ของชาวไทยมุสลิม จังหวัดสตูล ลักษณะขนมใช้แป้งพับเป็นชิ้น ๆ สี่เหลี่ยมผืนผ้า สอดไส้ด้วยมะพร้าวอ่อนที่ผัดน้ำตาลแล้ว

๓. ลอเป๊ะ

เป็นขนมที่ปรุงด้วยข้าวเหนียว มีส่วนผสมของใบเตย ลักษณะของขนมเป็นชิ้น ๆ กลม แบน รับประทานด้วยน้ำเชื่อมที่ปรุงจากน้ำตาลแดง ซึ่งผสมใบเตยหรือดอกมะลิราดหน้าข้าวเหนียวที่เตรียมไว้แล้ว

๔. ข้าวเหนียวอัดหรือเหนียวเขียว

เหนียวเขียวเป็นขนมพื้นเมืองของชาวจีนในจังหวัดสตูล โดยเฉพาะชาวจีนพื้นเมืองในตำบลฉลุงและตำบลพิมาน นิยมรับประทานกับสังขยา (จิ้มสังขยา) เครื่องปรุง แบ่งเป็น ๒ ส่วน คือ ส่วนที่เป็นข้าวเหนียว หรือเหนียวเขียว และส่วนที่เป็นสังขยา

๕. เหนียวปิ้ง

เป็นขนมชนิดหนึ่งทำโดยเอาข้าวเหนียวมาล้างน้ำให้สะอาด แล้วแช่ให้เมล็ดพองได้ที่ นำไปนึ่งให้สุก เอาหัวกะทิผสมเกลือให้พอมีรสเค็ม บางคนจะใส่น้ำตาลทรายพอมีรสหวาน นำเอาข้าวเหนียวที่นึ่งสุกแล้วกำลังร้อน ๆ ใส่ภาชนะแล้วเอาน้ำกะทิราดลงในข้าวเหนียว รีบคนกลับไปกลับมา ให้ข้าวเหนียวกับกะทิเข้ากัน ขั้นนี้เรียกว่า “หลบเหนียว” (มูลข้าวเหนียว) แล้วนำข้าวเหนียวไปห่อด้วยใบตองให้เป็นรูปสามเหลี่ยม เอาไม้ไผ่ขนาดเท่าหัวแม่มือ ผ่ากลางประมาณ ๑ ฟุต มาหนีบห่อข้าวเหนียวตามแนวยาว ใช้เชือกผูกปลายไม้ เพื่อไม่ให้ห่อข้าวเหนียวหลุด นำไปปิ้งด้วยไฟอ่อน ๆ ให้ข้าวเหนียวกรอบเล็กน้อย จะได้ข้าวเหนียมปิ้งที่มีรสหอมมัน

๖. เหนียวกวนทอด

เหนียวกวนทอด เป็นขนมชนิดหนึ่ง ทำโดยเอาข้าวเหนียวมาล้างน้ำให้สะอาด แช่น้ำให้เมล็ดพองได้ที่ แล้วนำไปนึ่งให้สุก เอาน้ำตาลโตนด ๓ ส่วน น้ำตาลทราย ๒ ส่วน ใส่กะทิตั้งไฟเคี่ยวให้เกือบข้น แล้วเอาข้าวเหนียว มะพร้าวขูด หอมซอย ใส่ลงผัดจนแห้งได้ที่ ตักข้าวเหนียวใส่ภาชนะตั้งไว้ให้เย็น จึงนำมาปั้นเป็นก้อนกลม ๆ แล้วใช้มีดกดให้แบนออกพอสมควร ใส่ถาดวางไว้ เอาน้ำกะทิมาละลายกับแป้งข้าวจ้าวที่โม่ละเอียดแล้ว กะดูว่าเอาแผ่นข้าวเหนียวกวนมาชุบพอติดตัวขนม นำลงทอดน้ำมันที่ร้อนจนแป้งที่

ชุบข้าวเหนียวกวนสุก จึงตักขึ้นให้สะเด็ดน้ำมัน หรือจะเอาเหนียวกวนห่อกล้วยชุบแป้งทอดก็ได้

๗. ขนมลูกโดน

ลูกโดนเป็นขนมชนิดหนึ่ง ทำโดยเอาข้าวจ้าวมาล้างให้สะอาด แช่น้ำให้เมล็ดพองได้ที่ นำไปโม่ให้ละเอียด แป้งที่โม่เสร็จแล้วใส่ถุงผ้าทับไว้ให้สะเด็ดน้ำได้ นำมะพร้าวขูดคั้นเอาน้ำกะทิ ตั้งไฟพอเดือด เอาไข่ไก่ น้ำตาลทราย น้ำตาลปี๊บ และแป้งที่สะเด็ดน้ำแล้ว ผสมแล้วคนให้เข้าด้วยกัน เรียกว่า “แป้งหนม” วางแป้งหนมทิ้งไว้ประมาณ ๕ - ๖ ชั่วโมง นำพิมพ์ขนมตั้งไฟพอร้อน ใช้น้ำมันพืชกับไข่ไก่ เอาเฉพาะไข่แดงทาพิมพ์ขนม แล้วหยอดแป้งขนมลงพิมพ์ เมื่อสุกก็แคะออก เวลารับประทานจิ้มกับมะพร้าวขูดที่คลุกเกลือ

นอกจากนี้ ยังมีอาหารประเภทขนมอีกที่ทำเพื่อรับประทานหรือเลี้ยงแขก เนื่องในงานพิธีต่าง ๆ ทั้งชาวไทยพุทธและไทยมุสลิมจังหวัดสตูล เป็นขนมอย่างเดียวกัน เช่น เหนียวปิ้ง ขนมบูหลู ขนมโกยหยา(ขนมไข่) ขนมกะเปต(ขนมทองพับ) ขนมรังต่อและขนมเทียน เป็นต้น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท