เจงกีสข่าน ตอนที่ 6: ความรุ่งเรื่องและความล่มสลายของมองโกล


มองโกลนี่แหละครับที่เป็นต้นกำเนิดของคำว่าโลกาภิวัฒน์อย่างแท้จริง อาจจะเรียกได้ว่าเป็นพวก universalization คือทำให้ทุกคนอยู่ภายใต้กฏเดียวกันหมด

ตอนที่แล้วตอนที่ 5 เราพูดกันถึงว่ากุบไลข่านนั้นบุกตะลุยยึดเมืองจีนได้แล้ว และพยายามที่จะแผ่อำนาจไปทางทะเลไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น หรือชวา แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จซักกะที่ ทำให้อำนาจของมองโกลนั้นอยู่แค่ผืนแผ่นดิน พอตกทะเลก็หมดแรงซะแล้ว

ตอนนี้เรามาพูดกันถึงสาเหตุความรุ่งเรื่องและความล่มสลายของมองโกลกันนะครับ มองโกลนี่ปกครองจีนถึง 100 ปีทีเดียวก่อนที่จะถูกราชวงศ์หมิงนั้นมายึดเมืองจีนคืนไป ซึ่งก็ต้องนับว่าไม่น้อยเลยทีเดียวใช่ไหมครับสำหรับคนป่าเลี้ยงสัตว์ที่มาปกครองแหล่งอารยธรรมใหญ่ในโลกอย่างจีนถึง 100 ปีเรามาคุยกันเรื่องความเจริญของมองโกลก่อนครับ

ความเจริญของมองโกลและวิทยาการที่ได้รับจากมองโกล

สมัยกุบไลข่านนั้น ท่านข่านมีการส่งทูตไปติดต่อที่ราชสำนักยุโรปด้วย ไม่ว่าจะเป็นที่อังกฤษหรือแม้กระทั่งวาติกันซึ่งมีการติดต่อขอหมอสอนศาสนาไปครับ แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจซักเท่าไร เพราะฉะนั้นจะว่าไปมองโกลก็ใหญ่ไม่เช่นเล่นนะเนี่ย 

แต่แล้วทำไมมองโกลนั้นถึงไปซะทั่วเลย Dr. Weatherford เชื่อว่าเพราะผลประโยชน์ทางการค้าครับ สมัยกุบไลข่านเนี่ย Dr. Weatherford บอกว่า การค้านั้นรุ่งเรื่องมากจริงๆ แต่เหตุผลที่การค้านั้นรุ่งเรื่อง Dr. Weatherford เชื่อว่ามาจากระบบปันส่วน หรือระบบกงสีในครอบครัวของท่านข่านนั่นก็คือว่าทุกเขตการปกครองนั้นถือว่าเป็นของข่านทุกๆคน ดังนั้นพอมีผลผลิตออกมาก็จะแบ่งกันไป เช่นท่านข่านแห่งเปอร์เซียก็จะได้ส่วนแบ่งในพื้นที่ของจีน ในขณะเดียวกันท่านข่านแห่งเมืองจีนนั้นก็จะได้ส่วนแบ่งจากผลผลิตในพื้นที่จากเปอร์เซีย และรัสเซียด้วย

Dr. Weatherford บอกว่าเรื่องการค้าและระบบการปันส่วนเนี่ย สำหรับมองโกลนั้นยิ่งใหญ่มาก ถึงขนาดว่าถ้ามีสงครามตีกันระหว่างครอบครัว ก็ยังไม่ส่งผลต่อการค้าครับ ถึงขนาดถ้ารู้ว่าจะมีขบวนคาราวานผ่านตรงสนามรบ ทหารนั้นถึงกับต้องหยุดรบรอให้ขบวนคาราวานผ่านไปก่อนที่จะสู้กันต่อ

น่าสงสัยไหมครับว่าทำไมถึงต้องทำแบบนั้น สาเหตุนั้นมาจากว่าถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหยุดส่งส่วยหรือหยุดระบบแบ่งปันนั้น อีกคนก็จะหยุดเพื่อตอบโต้ ในสมัยโบราณที่มนุษย์เรายังไม่สามารถผลิตของทุกอย่างที่ต้องการในพื้นที่ที่ตนเองปกครองได้ อีกทั้งการใช้ชีวิตที่เคยชิน ทำให้เรื่องระบบปันส่วนและการค้านั้นสำคัญ ถึงขนาดเรียกได้ว่าผลประโยชน์นั้นมาก่อนสงครามเลยทีเดียวครับ

เมื่อมีขบวนคาราวานและมีการขนส่งสินค้าที่แพร่หลาย อีกทั้งความที่มองโกลนั้นเป็นคนที่พยายามเสาะหาข้อมูลเอาไว้ในการรบ ทำให้เกิดการเสาะหาเส้นทางใหม่ๆ และทำแผนที่การเดินทางและสภาพภูมิประเทศ เพื่อให้เกิดการขนส่งอย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้สมัยมองโกลนั้นได้เริ่มเรียนรู้แล้วว่าการขนส่งที่ดีที่สุดคือทางน้ำ เพราะสามารถขนส่งได้มากแต่ใช้คนน้อย ทำให้การขุดคลองนั้นแพร่หลายมากขึ้น

นอกจากนี้ยังมีการสร้างสถานีขนส่งทางการค้าในประเทศที่อยู่ภายใต้การปกครองของมองโกลด้วย ถ้าภาพนึกไม่ออก ผมอยากให้นึกถึง FedEx นะครับที่มีการสร้างฮับของตัวเองในเมืองสำคัญๆที่เป็นศูนย์กลางการขนส่ง

นอกจากนี้แล้วมองโกลนั้นยังทำให้พ่อค้าเป็นชนชั้นใหม่ที่ได้รับการยอมรับทางสังคมมากขึ้น เนื่องจากในสมัยมองโกลนั้นตรงกับสมัย Feudalism ในยุโรป

สำหรับพวกศักดินาในยุโรปนั้น ไม่สนใจเรื่องการค้าอยู่แล้ว เพราะว่ายุโรปสมัยนั้นเน้นเรื่องการอยู่ได้ด้วยตนเอง การค้านั้นจะเป็นการซื้อเครื่องประดับเพชรพลอยสำหรับขุนนางมากกว่าเพื่อประชาชนคนจน 

ส่วนในจีนนั้น การค้าถือว่าเป็นงานต่ำ สู้งานขุนนางไม่ได้ อีกทั้งการแลกเปลี่ยนการค้านั้นสำหรับคนจีนนั้นถือว่าเป็นการส่งส่วยไปให้รัฐอื่นๆ

นอกจากเรื่องการค้าแล้ว Dr. Weatherford ยังเชื่อว่าเหตุผลที่มองโกลเจริญรุ่งเรื่องนั้นมาจากการกระจายความเจริญ Dr. Weatherford นั้นให้เหตุผลว่า ลองดูถึงอาณาจักรสมัยก่อนเช่นโรมัน อาณาจักรเหล่านี้นั้นจะรวมเอาทรัพย์สินมาอยู่ที่เมืองเมืองเดียว เช่นเมืองโรมของโรมัน แต่มองโกลนั้นจะกระจายไปทั่วๆ สังเกตุได้จากการสร้างสถานีทางการค้าในเมืองต่าง

อีกทั้งมองโกลนั้นไม่มีอารยธรรมของตัวเองครับ ไม่มีสถาปัตยกรรม ไม่มีอะไรเลยผิดกับอาณาจักรโบราณอื่นๆ ดังนั้นเมื่อไม่มีต้นทุนพวกนี้ ดังนั้นแรงต้านทานจากพวกหัวเก่าหรือพวกอนุรักษ์นิยมก็ไม่ค่อยมี ก็เลยหยิบจับเอาวัฒนธรรมที่ดีๆของประเทศที่ตัวเองยึดได้มาเป็นของตัวเอง มาผสนผสานกันซะ

Dr. Weatherford ยกตัวอย่างว่าสมัยนั้นเนี่ย เมืองจีนนั้น เก่งด้านยาครับ แต่อาหรับเก่งด้านผ่าตัด แต่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับระบบร่างกายของคน แต่เมืองจีนนั้นมีความรู้ด้านนี้ครับ ก็เลยจับมารวมกัน นี่ยังไม่รวมถึงการผสมผสานความรู้ด้านการวิเคราะห์ลายนิ้วมือ หรืออาวุธที่รวมเครื่องยิงไฟของอาหรับกับดินปีนของจีนให้เป็นระเบิดนะครับ

นอกจากการส่งเสริมการค้าแล้ว มองโกลยังส่งเสริมการสร้าง know how ให้กับคนด้วย โดยการอพยพถิ่นฐานของช่างที่มีความรู้ในแต่ละท้องถิ่น ให้มาทำงานอยู่ในราชสำนักของท่านข่านในที่ต่างๆ เพื่อเผยแพร่ความรู้และวิทยาการต่างๆ

พอพูดเรื่องการค้าจะไม่พูดเรื่องเศรษฐกิจก็กระไรอยู่ใช่ไหมครับ Dr. Weatherford นั้นบอกว่า สมัยกุบไลข่านเนี่ยมีการตั้งคณะการปรับปรุงคุณภาพชีวิตคนจนและเกษตรกรขึ้นมาด้วย โดยที่แต่ก่อนนั้นแต่ละพื้นที่จะก็มีการปลูกพืชเศรษฐกิจเพียงชนิดเดียว แต่พอมองโกลมา มองโกลก็เอาวิทยาการอื่นๆ เอาพืชอื่นๆมาทดลองและเนะนำให้ปลูกพืชหลายๆชนิดเป็นการกระจายความเสี่ยงออกไป

นอกจากนี้นะครับ มองโกลยังมีการทำประชากรศึกษา มีการสำรวจสำมโนครัวของคนและสัตว์เพื่อให้คิดภาษีได้ถูกต้องมากขึ้น

 แล้วถ้าคุณเกลียดคณิตศาสตร์ ก็เตรียมเกลียดมองโกลไปเลยครับ เพราะว่ามองโกลนี่แหละครับที่ทำให้การเรียนคณิตศาสตร์แพร่หลาย เนื่องจากว่าในสมัยก่อนนั้น ในยุโรปก็ใช้เลขโรมัน ซึ่งการคำนวณนั้นยากครับ อีกทั้งไม่มีเลขศูนย์ด้วย แล้วก็เป็นมองโกลตัวดีนี่แหละ ที่เผยแพร่ความรู้ด้านเลขศูนย์และเลขฐานสิบของอาหรับไปทั่ว ทำให้เกิดการตื่นตัวทางคณิตศาสตร์ขึ้นมาอย่างที่ไม่เคยพบมาก่อนในยุโรป

 แต่อีกเรื่องที่มองโกลทำให้โลกเปลี่ยนโฉมไปเลยนั้นก็คือทำให้ยุโรปนั้นโตขึ้นมาครับ เพราะว่ามองโกลนั้นไปบุกยึดยุโรปถึงแค่ฮังการีและเยอรมัน ทำให้หลายๆประเทศในยุโรปสมัยนั้นไม่โดนบุกยึดและทำลายเหมือนในเอเชีย แต่กลับได้รับผลกระทบอย่างมากจากการเผยแพร่ความรู้วิทยาการและการค้า เลยทำให้ยุโรปนั้นฉกฉวยโอกาสและก้าวขึ้นมาสู่ยุคเรเนซองส์ (Renaissance) เลยทีเดียว

ความเสื่อมสลายของอาณาจักรมองโกล

เมื่อมีขึ้นก็ต้องมีลงใช่ไหมครับ มองโกลก็เช่นกันครับ เมื่อปกครองชาติอื่นมาได้สักพักก็ถึงจุดเสื่อม Dr. Weatherford นั้นเชื่อว่าสาเหตุหนึ่งคือโรคระบาดครับ มีโรคระบาดที่ชื่อว่า Bubonic plague ซึ่งเป็นโรคร้ายแรงที่น่ากลัวมาก โรคนี้นั้นเชื่อว่ามาจากทางด้านใต้ของจีน

ซึ่งตอนนี้แหละครับที่เป็นตอนที่ข่านที่ชื่อยานิเบ็ก (Yanibeg) กำลังบุกยึดเมืองแห่งหนึ่งที่คาบสมุทรไครเมีย เมื่อเกิดโรคระบาดก็ทำให้ถอยทัพครับ แต่เนื่องจากว่าเมื่อมีทหารมองโกลตายจากโรคระบาด ท่านข่านหัวใสครับก็สั่งให้เครื่องยิงหินนั้นยิงศพทหารที่ตายด้วยโรคระบาดนั้นเข้าไปในตัวเมือง สงครามนี้อาจจะเรียกได้ว่าเป็นสงครามเชื้อโรคครั้งแรกของโลกก็ได้

(อ้ออออออ ถ้าอ่านเรื่อง Gun Germ and Steels ของ Dr. Jared Diamond พวกอังกฤษก็ใช้วิธีคล้ายๆกันครับ โดยการให้ผ้าของคนที่เป็นโรค small pox ไปให้พวกอินเดียแดง เล่นเอาอินเดียแดงนั้นตายไปหลายเหมือนกัน)

พอทหารในเมืองนั้นเห็นศพยิงมา ทหารในเมืองก็เอาศพไปลอยน้ำครับ แล้วก็เลยเกิดการระบาดขึ้นมาทั้งโลก แต่ Dr. Weatherford เองก็บอกว่าเรื่องการโยนศพไปในเมืองนั้นไม่น่าจะเชื่อเท่าไรครับ แต่ผลกระทบของโรคร้ายนี้นั้นเรียกว่าหนักมากครับ เพราะว่าทำให้ประชากรทวีปแอฟริกานั้นจาก 80 ล้านนั้นเหลือแค่ 62 ล้านคน ในยุโรปจาก 238 ล้านคนเหลือ 201ล้านคน และในบางเมืองของเมืองจีนนั้นเหลือประชากรแค่ 10% เท่านั้น

นอกจากเรื่องโรคระบาดแล้ว ก็มีเรื่องระบบเงินกระดาษของมองโกลที่ไม่ได้รับการยอมรับจากคนหลายๆเชื้อชาติด้วยกัน เมื่อเงินไม่ได้รับการยอมรับระบบการค้าก็แย่ลง รวมไปถึงโรคระบาดที่เกิดขึ้นก็มีส่วนทำให้ระบบการค้าและขบวนคาราวานนั้นพลอยไม่ได้รับการยอมรับไปด้วย 

แต่ใช่ว่าพอเห็นหายนะแล้วมองโกลจะไม่แก้ครับ มองโกลนั้นก็พยายามแก้ครับ แต่ดันแก้ผิดวิธีครับ เพราะแก้โดยการแยกตัวมองโกลออกมาจากชาวจีน ทำให้เกิดการต่อต้านและท้าทายจากคนจีน และนำไปสู่การปฏิวัติและชัยชนะของราชวงศ์หมิงที่ก้าวขึ้นมาในที่สุด  

แต่ในขณะที่มองโกลในจีนนั้นแยกตัวออกจากคนจีน มองโกลในเปอร์เซียและอาหรับกลับถูกกลืนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของคนอาหรับ และนับตั้งแต่นั้นมาระบบการแบ่งปันของครอบครัวข่านก็สิ้นสุดลง

 แต่ไม่ใช่ว่ามองโกลจะล้มไปเลยนะครับ มองโกลนั้นยังเหลือลายอยู่ เพราะตอนปลายคริสตรศตวรรษที่ 14 เอเชียกลางนั้นได้อยู่ภายใต้ข่านคนหนึ่งที่ชื่อว่า Timur ซึ่งนับญาติไปนับญาติมานั้นสืบเชื้อสายมาจากลูกคนที่สองของเจงกีสข่าน เป็นใหญ่ขึ้นมาและลูกหลานของ Timur ที่ชื่อ Babur นั้นก็บุกยึดอินเดียตั้งเป็นราชวงศ์โมกุลขึ้นมาในปี 1519 นี่ยังไม่รวมถึงชาวแมนจูที่ก็อ้างสายเลือดมองโกล ว่าแต่งงานกับคนนู้นคนนี้ในครอบครัวข่านเพื่อยึดครองฮั่นด้วย

หลายคนอาจจะอ่านแล้วงงๆ ทำไมต้องมาแบบอ้างนู่นอ้างนี่ด้วย แต่ขอบอกว่าไม่แปลกเลยครับ ผมเชื่อว่าทุกคนรู้จักสงครามเมืองทรอยที่โฮเมอร์เป็นคนแต่งใช่ไหมครับ (ก็แหมหนังออกจะดังซะปานนั้น) แต่เชื่อไหมครับว่าโรมันนั้น ก็พยายามโยงตัวเองว่าบรรพบุรุษของตนเองก็คือพวกทรอยนี่แหละที่หนีจากสงครามครั้งนั้นมาได้ เรื่องนี้สามารถไปหาอ่านได้ในมหากาพย์เอเนียด (Aeniad) ของเวอร์จิล (Virgil) ครับ เรื่องการอ้างนั้นก็เพื่อความชอบธรรมในการปกครองประชาชนนั่นเองครับ   

มองโกลกับโลกปัจจุบัน

Dr. Weatherford นั้นบอกว่ามองโกลนี่เจริญมาก เป็นเหตุให้โคลัมบัส (ชาวโปรตุเกส) ไปขอทุนจากพระราชินีสเปน เพื่อเดินทางตามเส้นทางของมาโคโปโลไปจีนครับ

 หลายคนอาจจะสงสัยว่าอ้าว ก็ไหนบอกว่าแต่ก่อนนั้นยุโรปกับมองโกลยังติดต่อกันอยู่เลย แล้วจะมาจีนทำไม เรื่องของเรื่องก็คือระบบการสื่อสารนั้นถูกทำลายลงไปเรียบร้อยมานานมากแล้วครับ ทำให้พวกยุโรปนั้นไม่รู้เรื่องของมองโกลและตะวันออกไกลอีกเลย นอกจากแค่บันทึกของมาโคโปโล

พอโคลัมบัสเจออเมริกาก็เลยคิดว่าเจออินเดียครับ แล้วก็คิดว่าถ้าเดินทางต่อไป(ทางเหนือ) ก็จะไปเป็นจีน แต่ตอนนั้นก็ไม่เดินทางต่อแล้ว เพราะว่าออกทะเลมานานแล้ว

 Dr. Weatherford นั้นบอกว่าแผนที่ที่ติดตัวข้างกายโคลัมบัสนั้นเป็นแผนที่ของมาโคโปโลที่เคยใช้ไปเมืองจีนครับ (อันนี้ผมเขียนเองนะครับ โคลัมบัสอาจจะไม่รู้ก็ได้ว่า บันทึกมาโคโปโลเป็นของปลอม เพราะว่าสมัยก่อนนั้น ว่ากันว่าบันทึกนักเดินเรือนี่ชอบหมกเม็ดครับ เพราะกลัวว่าคนอื่นที่ได้ไป จะมาบุกเบิกและเอาสมบัติของตัวเองไปครับ)

 แต่น่าแปลกไหมครับที่มองโกลนั้นดูเหมือนจะยังความเจริญสู่โลกในสมัยยุคเรเนซองค์ (คริสตศตวรรษที่ 14) ในยุโรป มองโกลในสายตาของยุโรปในคริสตศตวรรษที่ 18 หรือยุค Enlightenment มองโกลกลับถูกมองว่าเป็นตัวถ่วง เป็นตัวโหดร้าย

ไม่ว่าจะเป็นบันทึกของนักปรัชญาชาวฝรั่งเศสชื่อดังที่ชื่อว่ามองเตกูร์ (Montesquieu)  ที่เชื่อว่ามองโกลนั้นโหดร้าย หรือแม้แต่ตัววอลเตร์ (Voltaire) เองที่แต่ละครเสียดสีพระเจ้าแผ่นดินฝรั่งเศสแต่ไม่กล้าด่าตรงๆ ก็เอาเจงกีสข่านนี่แหละเป็นตัวแทนพระเจ้าแผ่นดินฝรั่งเศสแล้วบอกว่าท่านข่านนี่โหดร้าย ไม่สนใจประชาชน

ไม่ใช่แค่ในทางปรัชญาและประวัติศาสตร์เท่านั้นนะครับ ทางวิทยาศาสตร์ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งเผ่าพันธุ์คนเอเชียว่าเป็นพวกมองโกลอยด์ ก็เพราะว่าฝรั่งนั้นเชื่อว่าคนเอเชียนี้มีต้นกำเนิดมาจากมองโกล รวมไปถึงการเชื่อว่าเด็กปัญญาอ่อนในยุโรปที่มีลักษณะโครงหน้าคล้ายเอเชีย นั้นต้นกำเนิดของโลกก็เพราะว่ามีเชื้อสายมองโกลซึ่งหลายประเทศเองในเอเชียก็อาจจะรับเอาความคิดนี้จากยุโรปมาครับ เนื่องจากยุคนั้นเป็นยุคจักรวรรดินิยม ยุโรปก็รบเอาชนะเอา อย่างกับมองโกลในสมัยก่อนเลย

คนแรกๆของเอเชียที่ปฏิเสธความคิดนี้คือ ยาวาฮราล เนรู (Jawaharal Neru) ครับ ซึ่งก็คือบิดาของท่านอินทิรา คานธี อดีตนายกรัฐมันตรีอินเดีย ที่ตอนติดคุกนั้นได้เขียนจดหมายสอนเรื่องประวัติศาสตร์เอเชียให้กับท่านอินทิรา เพื่อไม่ให้ท่านอินทิรานั้นตกอยู่ภายใต้การศึกษาอย่างฝรั่งมากเกินไป

นี่ยังไม่นับถึงความพยายามของญี่ปุ่นที่ได้พยายามศึกษาหนังสือมองโกลและเผยแพร่ความยิ่งใหญ่ของมองโกล เพื่อหาความลับในการรบของเจงกีสข่าน และความชอบธรรมในการกลับมายิ่งใหญ่ของคนเอเชียในสมัยสงครามโลกครั้งที่สองอีกด้วย

บทสรุป 

จะเห็นได้ว่ามองโกลนั้นสุดยอดจริงๆนะครับ แต่ถ้าจะให้สรุปว่ามองโกลนั้นมีคุณูปการใดบ้างให้กับมนุษยชาติ Dr. Weatherford นั้นกล่าวว่า มองโกลนี่แหละครับที่เป็นต้นกำเนิดของคำว่าโลกาภิวัฒน์อย่างแท้จริง อาจจะเรียกได้ว่าเป็นพวก universalization คือทำให้ทุกคนอยู่ภายใต้กฏเดียวกันหมด แต่ถ้าจะสรุปแล้วก็มีเจ็ดอย่างใหญ่ครับ คือ
  1. การค้าเสรี มองโกลนั้นสนับสนุนการค้าเสรีมากครับ จะเห็นได้ว่าในตอนที่ 4 ผมได้พูดถึงโอโกไดข่าน ที่พยายามให้ขบวนคาราวานมาขายสินค้าที่เมืองหลวงมองโกล หรือในตอนนี้ที่พูดถึงการสร้างสถานีการค้า
  2. การติดต่อสื่อสาร ผมว่าอันนี้นั้นมาพร้อมกับการค้าครับ อีกอย่างมองโกลนั้นก็พยายามสร้างภาษาที่ใช้ได้ทั่วอาณาจักร รวมไปถึงการสร้างระบบชั่งตวงวัด การเงิน ทำให้คนภายใต้อาณาจักรมองโกลนั้น ติดต่อสื่อสารกันได้อย่างเข้าใจกันมากขึ้น
  3. การแบ่งปันความรู้ เรื่องนี้ได้พูดไว้ในตอนนี้แล้วนะครับ ว่ามองโกลนั้นย้ายคนที่มีความรู้ไปด้วย ไม่ใช่แค่เอาเฉพาะตัวสินค้า
  4. การอยู่ร่วมกันของศาสนาหลายๆศาสนา อันนี้พูดได้พูดไว้ในตอนที่ 5 ว่าภายใต้เมือง DaDu หรือปักกิ่งในปัจจุบันนั้น สมัยกุบไลข่านนั้นเป็นที่รวมของศาสนาหลายๆศาสนา หรือว่าในบันทึกหลายๆอันก่อนตอนที่ 5 ก็ได้พูดไว้หลายที่เหมือนกัน
  5.  การปกครองแบบแบ่งแยก ถ้าได้อ่านตอนที่ 3 นั้นผมได้พูดถึงว่าท่านเจงกีสข่านได้สอนลูกว่าอะไรบ้าง หนึ่งในนั้นก็คือการสอนการปกครองว่าคนที่แตกต่างกันย่อมปกครองด้วยวิธีการต่างกัน หรือไม่ว่าจะเป็นระบบสภาขุนนางที่มีมาจากหลายเชื้อชาติ หลายความเชื่อ เพื่อให้ปกครองคนที่แตกต่างกันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
  6. ระบบกฏหมายระหว่างประเทศ อันนี้นั้นชัดเจนมากครับ เพราะเมื่อเป็นอาณาจักรก็ต้องมีระบบกฏหมายที่ครอบคลุมและเหมือนกันทั้งอาณาจักร
  7. สิทธิการทูต จะเห็นได้ว่าในตอนต้นๆ ที่ผมพูดถึงว่าท่านข่านยังทำสงครามเป็นมองโกลอยู่ ไม่ว่าจะเป็นตอนที่ 2 หรือ 4 ท่านข่านจะส่งคนไปเป็นทูตไปถามก่อน ว่าจะยอมแพ้ไหม ถ้าไม่ยอมก็จะสู้ แต่ถ้าอ่านดีๆ จะพบว่าสมัยนั้นนั้น ส่งทูตไปเหมือนไปตายดีๆที่เอง แต่พอมองโกลเริ่มเข้ามา สิทธิการทูตเริ่มเพิ่มขึ้นครับ คือจะไม่โดนฆ่าอย่างแน่นอนครับ

ทั้งหมดคือวิทยาการอันก้าวหน้าที่มองโกลให้สู่โลกนะครับ ไม่ว่าจะเป็นยุคเรเนซองค์ของยุโรป ศิลปะวิทยาการที่ก้าวหน้า เลขฐานสิบที่ทำให้เราสามารถต่อยอดได้ วิศวกรรมศาสตร์ การสร้างอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัย แผนที่ เป็นต้น

แต่ถ้าสังเกตแล้วจะมีข้อเสียของมองโกลอยู่อย่างหนึ่งครับ ก็คือมองโกลเป็นชาติวัฒนธรรมอ่อน เมื่อไม่มีวัฒนธรรมของตัวเอง ถึงแม้ว่าจะดีที่รับเอาความคิดที่ดีของคนอื่นได้ ประยุกต์ความรู้ของคนอื่นได้ มองโกลกลับถูกกลืนชาติไปอย่างเช่นมองโกลในอาหรับ หรือถูกไล่กลับทุ่งหญ้า อย่างเช่นมองโกลในจีน ทำให้มองโกลนั้นกลายเป็นชาติเล็กไปเลย

แต่ที่สังเกตอีกอย่างคือมองโกลนั้นไม่พยายามที่จะเก็บความรู้และวิทยาการเหล่านั้นไว้ครับ คือได้มาแล้วก็ส่งต่อ แต่ไม่พยายามที่จะศึกษาค้นคว้าโดยคนของมองโกลเอง อาจจะเป็นไปได้ที่คนมองโกลนั้นคิดว่าตนเองเป็นนักรบ มากกว่าที่จะเป็นนักประดิษฐ์คิดค้น ดังนั้นก็เลยพยายาม put the right man on the right job คนไหนเก่งคิดก็คิดไป คนไหนเก่งปกครองก็ทำไป เช่นสภาขุนนางในจีน ที่มีขุนนางชาวมุสลิมหลายคน

บันทึกเรื่องเจงกีสข่านของผมคงจบตรงนี้ครับ หวังว่าทุกท่านคงจะได้รับความบันเทิงจากเรื่องนี้พอสมควรนะครับ เรื่องต่อไปอย่างที่ได้กราบเรียนไว้แล้วว่า ได้เปิดโอกาสให้เลือกระหว่าง

  1. Overthrown  ว่าด้วยเรื่องการล้มล้างรัฐบาลของซีไอเอ
  2. Evolve your brain การทำงานของสมอง
  3. The cash nexus เศรษฐกิจการเมืองตั้งแต่ปี 1700-2000

ใครสนใจเรื่องไหนก็ text message หรือ reply มาได้เลยครับ ผมเปิดโอกาสให้ถึงวันจันทร์นะครับ เรื่องไหนได้โวตมากกว่า ก็จะอ่านเรื่องนั้นครับ ถ้าเท่ากัน เรื่องไหนมาก่อน ก็จะเป็นเรื่องเล่าเรื่องต่อไปครับ  

สำหรับท่านที่มีโอกาสเข้ามาที่นี่ครั้งแรก ผมรวมลิงค์ไว้ที่นี่ละกันนะครับตอนที่ 1, ตอนที่ 2, ตอนที่ 3, ตอนที่ 4, ตอนที่ 5

ถ้าท่านใดอยากอ่านเพิ่มเติม เรื่องเล่าเหล่านี้มาจากหนังสือเล่มข้างล่างนี้ครับ

ที่มา: Weatherford, J. Genghis Khan, Three river press, NY, 2004. ISBN: 0-609-80964-4 

หมายเลขบันทึก: 86231เขียนเมื่อ 25 มีนาคม 2007 05:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 01:29 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)
  • ขอบคุณสำหรับเรื่องสนุกๆเหมือนกลับไปอ่านหนังสือใหม่จะลองไปหาอ่านดู
  • โรคนี้เป็นแบบไหนครับ
  • คือโรคระบาดครับ มีโรคระบาดที่ชื่อว่า Bubonic plage ซึ่งเป็นโรคร้ายแรงที่น่ากลัวมาก โรคนี้นั้นเชื่อว่ามาจากทางด้านใต้ของจีน

ไปอ่านหนังสือ.....

สงสัยนิดหนึ่ง..

คนเขียนไม่อ้างถึงคนไทยบ้างหรือ...

เหมือนหนังสือเก่าๆ อ้างว่า ข่าน ก็คือ ขุน ในคำไทยเดิมๆ ของเรา (..........) 

หลวงพี่อ่านได้ทั้งนั้น จ้า

เจริญพร

สวัสดีครับอาจารย์ขจิต

เรื่องโรคระบาดที่ชื่อ Bubonic plague นั้นในหนังสือได้เขียนถึงอาการของโรคว่า จะทำให้เลือดไหลช้า ซึ่งทำให้ผิวหนังนั้นนั้นซีดครับ แล้วทำให้ต้นขา ต้นแขน (groin) นั้นโต แล้วพอเลือดไหลช้า ไม่มีการหมุนเวียน แถมมีเลือดเสียอีก ก็เลยทำให้คนป่วยดูตัวดำครับ ผมไม่แน่ใจว่าจะเหมือนกับกาฬโรค หรือเปล่านะครับ เพราะว่าตัวพาหะของโรคก็คือหนูด้วยครับ

เรื่องนี้คงต้องขอความรู้จากคุณหมอที่คอยตามอ่านจะดีกว่าครับ ผมตอนที่อ่านถึงเรื่องโรค bubonic plague นั้น อ่านข้ามๆมากครับ ไม่ค่อยเข้าใจอาการโรคเท่าไรครับ

ต้องขอโทษมา ณ ที่นี้ด้วยครับ

กราบนมัสการพระคุณเจ้าครับ

ถ้าพระคุณเจ้าหมายความถึงผู้เขียนหนังสือคือตัว Dr. Weatherford ผมคิดว่าเรื่องประเด็นเมืองไทยเล็กมากครับจึงนั้นไม่เป็นประเด็นที่ Dr. Weatherford ให้ความสำคัญในหนังสือครับ

แต่ถ้าพระคุณเจ้าหมายถึงผู้เขียนบล็อกซึ่งก็คือผมนั้น

ผมคงต้องกราบเรียนพระคุณเจ้าว่า ผมไม่ลึกซึ้งในคำไทยเท่าไรครับ ดังนั้นผมจึงไม่ทราบว่าคำว่าข่านนั้นพอมาถึงสยามประเทศแล้วกลายเป็นคำว่าขุนครับ

ต้องกราบขอบพระคุณพระคุณเจ้าที่ได้ให้ความรู้ มา ณ ที่นี้ด้วยครับ

แต่ว่า ถ้าจะเรียก กุบไลข่าน ว่า ขุนกุบไล หรือ เจงกีสข่านว่า ขุนเจงกีส ฟังแล้วมันก็ดูทะแม่งๆ เหมือนกันนะครับ :D

กราบนมัสการมาด้วยเคารพอย่างสูงยิ่งครับ

P

คุยเล่นๆ นะ ... หลวงพี่เคยอ่านหนังสือ (ไทย) ที่เค้าแต่งไว้นานแล้ว เค้าก็วิจารณ์ว่า ข่าน ก็คือ ขุน (จำชื่อหนังสือไม่ได้แล้ว....

ประวัติศาสตร์คือสิ่งที่ผ่านไปแล้ว... อ่านสารคดีด้านประวัติศาสตร์ก็สนุกไปอีกอย่าง กล่าวคือ อ่านของที่เค้าเขียนเมื่อ ๕๐-๖๐ ปีก่อน เค้าก็ใช้แว่นตอนนั้นเข้าไปจับ...๒๐-๓๐ ปีก่อน เค้าก็ใช้แว่นอีกอันเข้าไปจับ...พอมาอ่านของยุคนี้ เค้าก็ใช้แว่นปัจจุบันเข้าไปจับ....

หลวงพี่เคยแปลคัมภีร์ธัมมปทัฎฐกถา (นิทานธรรมบท) จำเรื่องราวไม่ได้... แต่จำประเด็นหนึ่งได้ว่า พระนครหนึ่งมีเศรษฐี ๕ คน... แต่อีกพระนครหนึ่งไม่มีเศรษฐีเลย พระนครนี้จึงส่งฑูตเพื่อไปขอเศรษฐีอีกพระนคร ให้เข้ามาพำนักในพระนครของตน... หลังจากได้มาแล้วก็อำนวยความสะดวกพร้อมอวยยศบางอย่างให้....

หลวงพี่พิจารณาดูแล้ว ก็คิดว่า  นี้จะเป็นเหมือนการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศในปัจจุบันหรือไม่ ?

เล่ากันอ่านเล่นๆ นะครับ.....

เจริญพร

กราบนมัสการพระคุณเจ้าครับ

หนังสือประวัติศาสตร์แต่ละเล่มที่เขียน ก็คงจะเป็นอย่างที่พระคุณเจ้าได้กล่าวไว้ครับ คือเอาสภาพสังคมในยุคนั้นมามองแล้วตัดสินว่าอะไรดีหรือไม่ดี

ในงานวิจัยบางอย่างเช่นทางด้านการเงินนั้น ก็มีนักวิจัยหลายท่านที่ได้สร้าง trading strategy (ยุทธศาสตร์การลงทุนในตลาดหุ้น) ขึ้นมา แล้วก็เอายุทธศาสตร์นั้นมาลองกับตลาดในอดีต (ซึ่งตัวเองก็จะรู้ว่า ตลาดนั้นมันขึ้นๆลงๆตอนไหน) แล้วก็จะบอกว่าวิธีที่ตัวเองสร้างนั้นดีที่สุด

ซึ่งเรื่องแบบนี้ก็มีให้เห็นอยู่บ่อยครับ แต่เราก็อาจจะแย้งได้ว่า ก็เขาเหล่านั้นรู้แล้วนี่ว่าอดีตนั้นเกิดอะไรขึ้น แต่ถ้าเอามาใช้กับตลาดหุ้นจริงๆวันนี้ตอนนี้ วิธีหลายๆอย่างที่คิดที่วิจัยกันมานั้นอาจจะไม่ได้เรื่องก็ได้ครับ

เพราะฉะนั้นการเอา"แว่นปัจจุบัน" ไปจับเหตุการณ์ในอดีต ถึงแม้จะไม่ได้ดีที่สุด แต่เราก็เรียนรู้อดีตและผลที่ตามมาได้ครับ

ต่อข้อคำถามที่ว่า เศรษฐีย้ายเมืองนั้นเป็นเหมือนการส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศหรือไม่

ก่อนตอบเราต้องมานิยามคำว่า "การลงทุนในต่างประเทศ" ก่อนครับ

ถ้าเรานิยามคำว่า "การลงทุนในต่างประเทศ" คือการที่นักลงทุนจากประเทศหนึ่งย้ายที่อยู่ไปอีกประเทศหนึ่ง

เราก็จะได้คำตอบว่า เป็นครับ

แต่ถ้าเรานิยามมากไปกว่านั้นว่า "การลงทุนในต่างประเทศ" เป็นการที่นักลงทุนจากแผ่นดิน ก ไปลงทุนในแผ่นดิน ข แล้ว แต่ตัวบริษัทแม่ยังอยู่ในแผ่นดิน ก

เราก็ต้องมาดูต่อครับว่า ถ้าเป็นแบบนี้แล้ว การกระจายเทคโนโลยีและความรู้นั้นมากน้อยแค่ไหน

ถ้าเกิดการกระจายความรู้มาก สามารถสร้างคนของประเทศ ข ให้มีศักยภาพเพิ่มขึ้นในระดับหนึ่ง

คำตอบที่ได้ก็คือเป็นครับ

แต่ถ้าไม่ใช่ ผมว่าคำตอบที่ได้ก็คงไม่เป็นครับ

ผมมองว่าการส่งเสริมการลงทุนนั้น นัยยะของความแตกต่างนั้นอยู่ตรงนี้ครับพระคุณเจ้าครับ

ความแตกต่างคือผลประโยชน์นั้นตกไปอยู่ที่มือใครมากกว่ากันครับ ยกตัวอย่างง่ายๆเหมือนบริษัทผลิตเสื้อผ้าครับ ที่โรงงานและคนงานในประเทศไทยทำงานหัวปั่นแถมหนักอีกต่างหาก โรงงานในไทยไม่ได้อะไรมากไปกว่าค่าแรง แต่บริษัทอย่างไนกี้กลับได้ประโยชน์และกำไรไปเต็มๆ

หรือว่าห้างโลตัส ที่มีมาอยู่เต็มบ้านเต็มเมือง ผมคงไม่สามารถมองได้ว่านั่นคือการส่งเสริมการลงทุนจากประเทศครับ

แต่ถ้าพระคุณเจ้าบอกว่า เป็นเหมือนการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้นั้น ผมจะเห็นด้วยกับพระคุณเจ้าทุกประการครับ เพราะการย้ายถิ่นฐานนั้น อย่างน้อยก็จำยังให้เกิดการเผยแพร่วิทยาการเกิดขึ้นบ้างครับ

กราบนมัสการพระคุณเจ้ามาด้วยความเคารพยิ่งครับ

รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง ประวัติศาสตร์มีอะไรดี ๆ ที่น่าค้นหาและสามารถใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการค้าระหว่างประเทศได้ อ่านครบ 6 ตอนแล้วค่ะ ขอบคุณนะค่ะที่นำมาเล่าสู่กันฟัง

สวัสดีครับอาจารย์Ranee

ประวัติศาสตร์นั้นสอนอะไรเรามากทีเดียวครับ เคยมีคนกล่าวว่าคนที่ไม่มีประวัติศาสตร์คือคนที่ไม่มีอนาคตครับ ซึ่งผมก็ว่าท่าทางจะจริงเหมือนกันครับ

ขอบพระคุณนะครับอาจารย์ได้กรุณาสละเวลามาอ่านครับ

ถ้าเป็นไปได้ อยากให้ช่วยเล่า ประวัติศาสตร์ของเกาหลี ก็ดีนะครับ น่าสนใจดี

ยิ่งในช่วง 3เเคว้น ใหญ่ นี่ ก็ดีไม่น้อยเลยครับ ยังไงก็ลองพิจารณาดูนะครับ

ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท