โรงเรียนข้างถนน : เด็กเร่ร่อน : ป้องกันที่ต้นเหตุสร้างชุมชนสังคมให้เข้มแข็ง


เด็กเร่ร่อน : ป้องกันที่ต้นเหตุสร้างชุมชนสังคมให้เข้มแข็ง

      เด็กเร่ร่อน : ป้องกันที่ต้นเหตุสร้างชุมชนสังคมให้เข้มแข็ง เด็กเร่ร่อน ปัญหาที่ดูคล้ายจะไกลตัว แต่แท้ที่จริงเป็นเรื่องใกล้ตัวของทุกคนในสังคม ไม่ว่าจะเป็น ใครในชุมชน ในสังคม ต่างก็สามารถเป็นได้ทั้งผู้ป้องกันการเร่รอนของเด็ก หรือจะกลายเป็นผู้ผลักดันผลักไสเด็กให้ออกมาสู่ถนนเพื่อเป็นเด็กเร่ร่อน ก็แล้วแต่จะเลือกเอง ครูอาจารย์ เป็นบุคคลอีกกลุ่มหนึ่งที่ตกเป็นจำเลยของเด็กที่ออกมาเร่ร่อน จากคำบอกเล่าของเด็กจำนวนหนึ่งที่ออกมาเร่ร่อนอยู่ตามท้องถนน จะได้ยินว่าเด็กจำนวนหนึ่งโดนทำโทษอย่างรุนแรงทั้งด้วยการกระทำ เฆี่ยนตี, หยิก, ทุบ, ถอง ใช้คำพูดรุนแรงกับเด็ก หรือแม้กระทั่ง นำเด็กไปเปรียบเทียบกับเพื่อนในชั้นเรียนจนเกิดความอับอายล้วนแล้วแต่เป็นเหตุผลที่เด็กไม่อยากไปโรงเรียนทั้งสิ้น แต่นั่นก็เป็นเพียงเหตุผลจากทางฝ่ายเด็กเท่านั้น เพราะจากประสบการณ์การทำงานกับเด็กเร่ร่อนมาระยะเวลาหนึ่งพบว่า แท้จริงแล้วครูอาจารย์ หรือโรงเรียนส่วนมากจะเป็นเพียงฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้เด็กตัดสินใจออกมาสู่ถนน และใช้ชีวิตที่เสี่ยงภัยต่าง ๆ อีกมากมายที่ตามมา ทั้งยาเสพติด, การขายบริการ และอื่น ๆ ดังนั้นเมื่อพบว่าสังคมกำลังบีบคั้นเด็กรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ การแก้ไขปัญหาจึงไม่สามารถโยนภาระไปให้ใครเพียงฝ่ายเดียวได้ จำต้องมาร่วมกันแก้ไขและป้องกันความรุนแรงของปัญหา ช่วยกันคิดค้นว่าจะทำอย่างไร ไม่ให้จำนวนของเด็กเร่ร่อนที่มีอยู่เพิ่มมากขึ้น และหลังจากนั้น ค่อย ๆ ชักชวน ชักจูงให้เด็กที่เร่ร่อนอยู่กลับเข้ามาสู่ชุมชน และสังคมอย่างละมุนละม่อม ประการหนึ่ง คือ ต้องสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ภายในสถานศึกษา หรือโรงเรียนให้น่าเรียน มีความสนุกสนาน เด็กอยากที่จะมาเรียน เมื่อมีปัญหาก็กล้าที่จะเล่าให้ครูฟัง ครูก็ต้องเข้าใจเด็กและเรียนรู้เรื่องราวของเด็กด้วยความใส่ใจ มีความเป็นกันเอง เสมือนเพื่อ เสมือนพี่ ของเด็ก

     ที่กล่าวมาก็ล้วนแต่เป็นทฤษฎีที่ใครต่อใครที่เป็นนักปฏิรูปการศึกษาพูดกันมาตลอดระยะเวลาของกระบวนการปฏิรูปการศึกษากว่า 3 ปีที่ผ่านมา แต่ในความเป็นจริง ครูอาจารย์เองก็มีภาระหน้าที่มากมาย ทั้งเรื่องแผนการสอน และกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอยู่แล้วในรอบการศึกษา แต่ถ้าจะพิจารณากันให้ดีดี กิจกรรมต่าง ๆ ที่ทั้งครูอาจารย์ที่เป็นผู้ทำการสอนและผู้บริหารเองทำกันอยู่ สามารถนำมาประยุกต์ให้เป็นกิจกรรมประกอบหลักสูตรได้เป็นอย่างดี โดยการมอบบทบาทหน้าที่ให้เด็กได้มาร่วมคิด ร่วมทำ ตามความสามารถ ตามความต้องการของเด็กเอง ก็จะเกิดกระบวนการสร้างสรรค์กิจกรรมที่เป็นกระบวนการเรียนรู้เฉพาะขึ้นมาเป็นของตนเอง เป็นเอกลักษณ์ของโรงเรียน ของชุมชนของตัวเอง การนำชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างบรรยากาศที่สนุกสนานในการเรียนรู้สำหรับเด็กนั้น นอกจากจะเป็นการสร้างความสนุกแล้ว ยังทำให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้เรื่องราวของชุมชนของเขาเอง และเมื่อเขารู้จักชุมชนจากการเรียนรู้ร่วมกันกับชุมชนแล้ว เขาก็จะเกิดความรักในชุมชน รักที่จะมาเรียนรู้ร่วมกันกับเพื่อน ๆ และคนในชุมชน การที่จะคิดออกไปเร่ร่อนก็จะมีโอกาสน้อยลง ก็เท่ากับว่าเป็นการป้องกันปัญหาไปได้ส่วนหนึ่ง

     สำหรับเด็กที่ออกมาเร่ร่อนแล้วระยะหนึ่ง และคิดที่จะกลับมาเรียนต่อ ครูอาจารย์เอง ทั้งที่เป็นผู้บริหาร และผู้ทำการสอนก็ต้องให้โอกาสเด็กคนนั้น ๆ ได้เรียนรู้ไปพร้อม ๆ กับเพื่อน โดยหลีกเลี่ยงที่จะพูดเรื่องเก่า ๆ ที่ผ่านไม่จำเป็นต้องย้ำเตือนถึงความผิดพลาดของเด็กคนนั้นบ่อย ๆ เพราะนอกจากจะไม่เป็นการช่วยเหลือเด็กแล้ว ยังจะเป็นการตอกย้ำสิ่งที่เด็กกระทำว่าเป็นเรื่องที่เลวร้ายไม่น่าให้อภัย ทั้งที่สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในท้องถนนนั้นเป็นการลงโทษเด็กมากพออยู่แล้ว บทบาทของครูอาจารย์ต่อเด็กลุ่มนี้ก็คือ ต้องทำราวกับว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น สิ่งที่เด็กกระทำนั้นเหมือนไม่เคยเกิดขึ้น แต่ไม่ใช่ว่าไม่ใส่ใจเด็กคนนั้น กลับต้องใส่ใจและดูแลความรู้สึกมากขึ้นด้วยซ้ำไป แต่ต้องไม่ทำต่อหน้าเพื่อน ๆ คนอื่น ๆ เช่น แสดงความเห็นใจเด็กต่อหน้าเด็กคนอื่น ๆ เพราะสิ่งนั้นจะกลายเป็นดาบสองคม คือ เด็กอาจเกิดความอับอาย และมีพฤติกรรมที่แย่ลงไปกว่าเดิม หรือเด็กอาจรู้รู้ว่าสิ่งที่เขาทำนั้นเป็นที่ยอมรับ และได้รับผลประโยชน์ คือความเห็นใจที่เป็นพิเศษจากครู ซึ่งจะต้องระมัดระวังให้มากเป็นพิเศษ

 

หมายเลขบันทึก: 86141เขียนเมื่อ 24 มีนาคม 2007 14:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท