เจงกีสข่าน ตอนที่ 5: เมื่อกุบไลข่านบุกตะลุยยึดเมืองจีน


เรื่องกฏหมายนั้นออกมาเพื่อเป็นการจัดการกับปัญหา เป็นการสร้างความสมานฉันท์ เพราะว่าบังคับใช้กับคนทุกคนเท่ากัน สร้างความยุติธรรมให้เกิด รวมไปถึงการคงไว้ซึ่งความสงบในการปกครองของมองโกล มองโกลนั้นไม่ได้สร้างกฏหมายขึ้นมาเพื่อชี้โทษว่าใครผิดใครถูกแต่เพียงอย่างเดียวครับ

สวัสดีครับ

ต้องขอโทษด้วยนะครับที่ไม่ได้เขียนเรื่องเจงกีสข่านมาถึงอาทิตย์ เรื่องของเรื่องก็คือคุณพ่อมาเยี่ยมนะครับ เลยพาคุณพ่อไปเที่ยวและไปสานสัมพันธ์ฉันลูกชายกับคุณพ่อครับ ผมเล่าความสนุกของการเดินทางของคุณพ่อผมไว้ที่นี่นะครัย

วันนี้เรามาต่อกันที่เรื่องของกุบไลข่านครับ กุบไลข่านนั้นเป็นหลานปู่ของเจงกีสข่าน ซึ่งจริงๆแล้วกุบไลข่านนั้นไม่ได้เป็นคนเก่งกาจทางด้านสงครามสักเท่าไร เรื่องนี้เล่าไปในตอนที่ 4 แล้วครับ จะเห็นได้ว่าถ้าเทียบกับข่านคนอื่นแล้วกุบไลข่านนี่รบไม่ได้เรื่องเลยครับ เพราะตอนที่โดนส่งไปบุกเมืองจีนนั้น กุบไลข่านส่งแต่คำแก้ตัวว่าทำไมยึดไม่ได้ ไม่ค่อยมีข่าวชัยชนะมาสักที ถึงขนาดพี่ชายมองเก้ข่านนั้น ต้องมาคุมด้วยการรบด้วยตัวเอง แต่สวรรค์ไม่เป็นใจอยู่ดีๆก็มาเสียชีวิตไปซะก่อน

เมื่อมองโกลบุกยึดเมืองจีน เรามารวมชาติกันเถอะนะ

กุบไลข่านนั้นค่อยๆรุกคืบไปในการยึดเมืองจีนครับ วิธีการที่ใช้นั้นกุบไลข่านนั้นใช้การเปลี่ยนแปลงความคิดของคนจีนเป็นหลัก แล้วก็ใช้วิธีการทหารเป็นงานรอง

Dr. Weatherford บอกว่า สมัยก่อนเนี่ยคนจีนนะกระจัดกระจาย แต่ละท้องถิ่นก็พูดภาษาที่ต่างกัน มีวัฒนธรรมค่อนข้างจะต่างกัน ไอ้ที่เหมือนกันนะคือภาษาเขียน ดังนั้นคนจีนนั้นรวมกันได้ก็ได้อย่างหลวมๆผ่านวรรณกรรมตัวอักษรของจีนนั่นแหละครับ แล้วไอ้วรรณกรรมของจีนนั้นก็พยายามพูดถึงการรวมชาติที่แท้จริงของคนจีนที่รวมกันทั้งหมดทั้งด้านภาษาพูด ภาษาเขียนและวัฒนธรรมหลักๆ

กุบไลข่านนั้นก็รู้เรื่องนี้ดีครับ เพราะว่าในราชสำนักของกุบไลข่านก็มีคนจีนทำงานกันหลายคน กุบไลข่านก็เลยขายฝันให้คนจีน โดยบอกว่าตัวกุบไลข่านนี่แหละจะเป็นคนรวมชาติจีนทั้งหมดเอง

แล้วจะทำยังไง กุบไลข่านก็ดำเนินตามแนวทางของเจงกีสข่านในการรวมมองโกลครับ คือสมัยเจงกีสข่านเนี่ยรวมเผ่ามองโกล ก็ใช้มองโกลเป็นหลัก

แต่กุบไลข่านนั้นต่างกัน จะใช้มองโกลเป็นหลัก แล้วจะเรียกว่านโยบายรวมชาติจีนได้อย่างไร เพราะฉะนั้นก็ใช้คนจีนเป็นหลัก (ใช้คนฮั่นนะครับ)  พอคิดได้เช่นนั้นแล้ว กุบไลข่านก็เปลี่ยนแปลงตัวเองเป็นคนจีนซะเลย มีการเปลี่ยนชื่อเป็น Zhiyuan ที่แปลว่าการเริ่มต้นที่สมบูรณ์ มีการตั้งราชวงศ์ต้าหยวนขึ้นมา ที่หมายความว่า การเริ่มต้นใหม่ที่ยิ่งใหญ่

แต่แค่เปลี่ยนชื่อมันจะไปรอดหรือครับ ดังนั้นท่านกุบไลข่านของเราก็เปลี่ยนโฉมมองโกลซะใหม่ โดยการรับเอาวัฒนธรรมจีนบางส่วนมาเช่น การสร้างสุสาน ซึ่งผิดหลักการคนมองโกลมาก เนื่องจากคนมองโกลนั้นไม่ยุ่งอะไรกับคนที่ตายไปแล้ว นอกจากสร้างสุสานแล้วก็มีการตั้งป้ายชื่อบรรพบุรุษ แล้วก็มีการวาดรูปเหมือนของเจงกีสข่านให้ด้วย

แค่นั้นยังไม่พอครับ เพราะท่านกุบไลข่านของเรานั้นเท่สมาร์ททันสมัยมาก เอากำลังทหารยึดเมืองเมืองไหนได้ก็ตาม จะรีบตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ขึ้นมาในทันที โดยคณะกรรมการสมานฉันท์นั้นจะรีบเข้าไปดูแลพื้นที่ ซ่อมแซมความเสียหายของวัด โรงเรียน ศาลเจ้าในเมืองนั้นๆ ไปดูแลสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนในเมืองที่ถูกยึด

เพราะฉะนั้นเราจะเห็นได้ว่า กุบไลข่านนั้นดูจะเป็นนักปกครองมากกว่านักรบนะครับ มีการสนใจถึงความรู้สึกของประชาชนด้วย ผิดกับข่านมองโกลคนอื่นๆ

เมื่อบุกไปเรื่อยๆ แล้วก็ต้องทำตัวเป็นคนจีนด้วย จะให้ท่านข่านอยู่แบบเผ่าเร่ร่อนก็คงจะไม่ได้แล้ว กุบไลข่านก็เลยสร้างวังขึ้นมาครับที่เมืองใหม่ชื่อว่าเมือง DaDu หรือปัจจุบันก็คือเมืองปักกิ่งนี่เอง

Dr. Weatherford นั้นบอกว่าการสร้างเมืองปักกิ่งเนี่ย มองโกลมีการวางผังเมืองด้วยนะครับ คือเมืองจะเป็นรูปสี่เหลี่ยม  เป็นตารางๆครับ แล้วมาโคโปโลนั้นก็เดินทางมาเยี่ยมเยือนตะวันออกสมัยกุบไลข่านที่เมือง DaDu นี่แหละครับ ซึ่งตามบันทึกของมาโคโปโล เมืองนี้นั้นเต็มไปด้วยคนแทบทั่วทุกมุมโลก ทุกศาสนาจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นพวกโรมันคาทอลิก พวกมุสลิม คนพุทธ โยคะอินเดีย เต๋า ขงจื้อ เรียกว่าอยู่รวมกันภายใต้ชายคากุบไลข่าน

แต่ไม่ว่ากุบไลข่านจะโพทนาว่าตัวเองนั้นเป็นคนจีนยังไง แต่จริงๆแล้วท่านข่านนั้นอยู่แบบมองโกลแท้ๆครับ เพราะภายใต้กำแพงวังที่สูงสง่านั้น กลับเป็นทุ่งหญ้ากว้าง ที่มีสัตว์มีม้ามากมายวิ่งกันอยู่ เรียกว่ายกทุ่งหญ้า steppe ที่บรรพบุรุษเคยอยู่มาไว้ภายในกำแพงวังนี่แหละ คนมองโกลที่อยู่ในวังก็อยู่เป็นเต๊นท์ๆ ซึ่ง Dr. Weatherford นั้นเชื่อว่านี่คือที่มาของลักษณะพระราชวังต้องห้ามที่มีการแบ่งเป็นตำหนักๆครับ

มองโกลกับการปกครองในจีน

กุบไลข่านนั้นใช้วิธีการยึดไปเรื่อยๆครับ (ผมเองไม่แน่ใจนะครับแต่ผมว่า มังกรหยกนี่ดูเหมือนอยู่ในยุคนี่แหละครับ) สมัยนั้นราชวงศ์ซ่งเองก็อ่อนแอ ขุนนางก็ขี้โกง ด้านการทหารมองโกลเองก็แข่งแกร่งมาตั้งนานแล้ว แถมรบทีไรก็เน้นการโฆษณาชวนเชื่ออีก แต่ที่กินใจประชาชนสุดๆก็คือการปกครองครับ

เมื่อมองโกลนั้นได้ออกกฏหมายปกครองหลายๆอย่างในเมืองจีน เช่น การรับรองสิทธิในพื้นที่ของคนจีน การลดภาษี พัฒนาถนนหาทาง ลดโทษให้กับนักโทษ มีการออกกฏหมายให้ดูมีมนุษยธรรมมากขึ้น เพื่อให้ไม่ดูป่าเถื่อนเหมือนที่คนจีนแต่เดิมคิดไว้ เช่นไม่มีการทรมานให้สารภาพผิด นอกเสียจากว่าหลักฐานนั้นมัดแน่น

รวมไปถึงการตั้งระบบควบคุมนักโทษ คือนักโทษที่ถูกขังจนครบกำหนดแล้ว ต้องมารายงานตัวที่ผู้คุมทุกๆกี่เดือนกี่ปี เพื่อควบคุมความประพฤติด้วยนะครับ

มีการใช้ระบบโจรจับโจร มีการให้ลงลายนิ้วมือ มีการออกหนังสือสอนวิธีการเก็บหลักฐาน การตรวจศพ มีการพิมพ์กฏหมายแจกประชาชนเรียกว่าระบบสืบสวนสอบสวนและลงโทษนั้นเปลี่ยนเกือบหมดครับ 

Dr. Weatherfod นั้นบอกว่าสำหรับมองโกลนั้น เรื่องกฏหมายนั้นออกมาเพื่อเป็นการจัดการกับปัญหา เป็นการสร้างความสมานฉันท์ เพราะว่าบังคับใช้กับคนทุกคนเท่ากัน สร้างความยุติธรรมให้เกิด รวมไปถึงการคงไว้ซึ่งความสงบในการปกครองของมองโกล มองโกลนั้นไม่ได้สร้างกฏหมายขึ้นมาเพื่อชี้โทษว่าใครผิดใครถูกแต่เพียงอย่างเดียวครับ

นอกจากเรื่องการเปลี่ยนกฏหมายใหม่แล้ว มองโกลยังมีการกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของแต่ละอาชีพด้วย คิดง่ายๆครับว่ามองโกลนั้นคิดเรื่องการออกใบอนุญาตประกอบอาชีพ เป็นชาติแรกๆของโลกครับ

แต่ที่น่าแปลกก็คือ Dr. Weatherford บอกว่ามองโกลนั้นปกครองโดยใช้สภาขุนนางครับ แต่ในสภาขุนนางนั้นจะมีขุนนางที่เป็นมุสลิมซะส่วนมาก ตัว Dr. Weatherford นั้นบอกว่าน่าจะเพราะว่ามุสลิมนั้นเก่งการปกครองและแม่นกฏหมายครับ

แต่จะให้ขุนนางมีแต่มุสลิมทั้งหมด มันก็จะไม่ได้เรื่องครับ ดังนั้นสภาขุนนางนั้นก็จะประกอบไปด้วยคนสามส่วน คือพวกจีนเหนือ จีนใต้และพวกต่างชาติ เพื่อที่จะให้คานอำนาจกันและก็ปกครองให้ยังผลแก่ประชาชนมากที่สุด อ่านถึงตรงนี้แล้ว เหมือนกับระบบวุฒิสภาเมืองไทยไหมครับ

การปกครองก็จะให้สภาขุนนางนั้นตัดสินออกเสียง แต่วิธีการปกครองนี้ก็ถูกล้มลงหลังจากที่ราชวงศ์หมิงนั้นมาปกครองเมืองจีนครับ

มองโกลกับเศรษฐกิจ

ผมว่าถ้าหลายๆคนอ่านตรงนี้แล้วอาจจะช็อคเหมือนผมก็ได้นะครับว่า เงินกระดาษที่เราใช้นั้นเกิดมาจากมองโกลครับ เมื่อกุบไลข่านนั้นคิดเรื่องระบบเงินกระดาษขึ้นมา ทำให้การค้าขายนั้นเจริญรุ่งเรืองไม่ต้องไปแบกเงินแบกทองมาแลกให้หนักและวุ่นวาย

พอมีระบบเงินกระดาษมาใช้ ระบบเครดิตก็แพร่หลายครับ ทำให้เกิดการล้มลายทางการเงินตามมา และแน่นอนครับกฏหมายล้มละลายก็ออกมาช่วงนี้แหละครับ

แต่การล้มละลายของมองโกลนั้น ไม่ได้ดูเป็นปกติเหมือนของอเมริกานะครับ ที่ถ้าบริษัทใดล้มละลายก็ไปลงทะเบียน chapter 7 chapter 11  ก็ว่ากันไป เพราะมองโกลนั้น ถ้าล้มละลาย 3 ครั้ง โทษถึงประหารครับ

นอกจากนี้รัฐบาลกุบไลข่านนั้นก็มีวิธีการจัดการคนจนด้วยครับ โดยจัดคนจนเป็น 50 ครอบครัว (ไม่รู้เรียกว่าลงทะเบียนคนจนหรือเปล่า) แต่ละ 50 ครอบครัวนี้จะมีผู้นำหนึ่งคนครับ โดยที่ผู้นำนั้นจะทำการวางแผน แบ่งหน้าที่ให้แต่ละครอบครัวนั้น ไปทำอะไร เช่นปลูกผัก ทำนา ทำไร่ จัดการเรื่องน้ำ เรื่องอาหาร รวมทั้งเสริมสร้างความรู้ภูมิต้านทานความจนด้วย โดยบังคับให้เด็กๆต้องไปเรียนในฤดูหนาวครับ ว่ากันว่าสมัยนั้นมีโรงเรียนรัฐบาลถึง 20,166 โรงเลยทีเดียว

มองโกลกับการศึกษา ศิลปะ และภาษา

นอกจากการสร้างโรงเรียนที่มากมายแล้ว กุบไลข่านนั้นยังส่งเสริมการศึกษาประวัติศาสตร์จีนด้วย ศึกษาเพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการปกครองของมองโกลให้ดียิ่งขึ้น

มากไปกว่านั้น กุบไลข่านยังพยายามออกภาษาที่ใช้ได้ในทุกท้องที่ที่มองโกลนั้นยึดได้ ดังนั้นก็เลยมีการระดมความรู้จากนักภาษาศาสตร์ทั้งหลายเพื่อสร้างภาษาใหม่ขึ้นมา แต่เนื่องจากว่ามองโกลนั้นไม่มีการบังคับใช้ครับ ดังนั้นภาษาที่คิดไว้ก็เลยไปไม่รอด ไม่ได้รับการยอมรับจากคนจีน แล้วพอราชวงศ์หมิงยึดได้ทุกอย่างก็หายไป น่าคิดเหมือนกันนะครับว่าถ้าทำได้จริงๆ เราอาจจะต้องไปเรียนภาษาที่มองโกลคิดก็ได้

เรื่องศิลปะนั้น มองโกลนั้นได้ส่งเสริมการละคร มีการสร้าง Broadway ขึ้นมาเลยครับ คือเป็นแหล่งละครในเมือง ทำให้คนละครนั้นได้รับการยกระดับขึ้นมา ไม่ได้ถูกมองว่าเป็นคนเต้นกินรำกินเหมือนก่อน

Dr. Weatherford นั้นบอกว่าเพราะการผสมผสานของดนตรีมองโกลกับละครจีนเนี่ยแหละครับที่ทำให้เกิดงิ้วให้เราดู

ยึดเมืองจีนหมดแล้ว

กุบไลข่านนั้นชนะราชวงศ์ซ่งได้ โดยใช้การกัดเซาะ ยึดไปเรื่อยๆ ทำให้คนรู้สึกว่ามองโกลนั้นเหนือกว่า ในขณะที่ราชวงศ์ซ่งของขุนศึกตระกูลหยางและท่านเปานั้นมีการปกครองที่หย่อนยาน ไม่สนใจการทหาร

แต่ตัวกุบไลข่านเองก็ไม่ใช่คนเก่งการรบครับ ตัวกุบไลข่านเองท่านเก่ง marketing ครับ เรื่องประชาสัมพันธ์เป็นเลิศ เรื่องรบนั้นโยนไปให้คนอื่นทำตลอด

นักวิชาการญี่ปุ่นบางรายถึงกับบอกว่าประวัติศาสตร์จีนจริงๆน่าจะเริ่มที่ราชวงศ์หยวนนี่แหละ เพราะเป็นคนที่รวมจีนเข้าไปด้วยกันอย่างจริงๆ ทำให้ภาษาจีนนั้นใช้กับทุกภาคทั้งเมืองจีน แถมยังรวมพื้นที่อื่นๆเข้าไปในการปกครองของจีนด้วย

ยึดหมดแล้วทำไง

พอยึดจีนหมดแล้ว ก็ไม่เหลือภาคพื้นดินให้รบแล้วครับ ทำไงอ่ะครับ

กุบไลข่านก็สั่งยึดทางทะเลครับ ตอนแรกก็ส่งทูตไปญี่ปุ่นก่อนครับ บอกให้ยอมแพ้ ไม่ยอมแพ้จะยึด แต่ญี่ปุ่นนั้นไม่ยอมครับ

กุบไลข่านก็เลยส่งทหารออกไป แต่มองโกลนั้นรบในน้ำเป็นซะที่ไหนครับ ก็เลยต้องใช้ทหารเรือของจีนเป็นหลักไป โดยมีทหารร่วมรบไปกว่า 23000 คนมาจาก 3 ชาติคือทหารราบจีนกับเกาหลีและทหารม้ามองโกล มีเรือออกไปกว่า 900 ลำทีเดียว การเดินทางนั้นเดินทางจาก เกาหลีไปญี่ปุ่นระยะทางประมาณ 110 ไมล์ หรือประมาณ ไม่ถึง 200 กม ครับ

พอไปถึงยกพลขึ้นฝั่ง ซามูไรก็มาต้อนรับครับ เรียกว่าพร้อมที่จะมาสู้กันแบบตัวต่อตัว แหมแต่มองโกลไม่เน้นศักดิ์ศรีขอแค่ชนะครับ ก็เล่นโยนระเบิดกันเลย ซามูไรญี่ปุ่นสู้ไม่ได้ก็ถอยจากหาดเข้าไปในป้อมครับ

แต่มองโกลนั้นไม่ไปบุกประชิดป้อมนะครับ กลับถอยกลับไปนอนเล่นในเรือเหมือนกัน ซึ่งถ้าอ่านถึงตรงนี้และได้ติดตามตอนเก่าๆ ก็จะรู้ว่า มองโกลนั้นเน้นเรื่องข้อมูลมาก อาจจะเป็นไปได้ครับว่าข้อมูลไม่แน่น ก็เลยถอยกลับไปนอนเล่นในเรือ แล้วก็ถอยกลับ

พอตอนตกเย็น ขนทหารกลับขึ้นเรือหมดแล้ว ก็เรื่องไม่คาดฝันขึ้นคือ กามิกาเซ่ (ลมสวรรค์ หรือ พายุหมุน) พัดขึ้นฝั่ง เรือก็เลยเละไปเลยครับ แตกกระจาย ทหารตกน้ำป๋อมแป๋มเลย

ว่ากันว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เจอพายุแล้วเรือแตกหมด เพราะว่ากุบไลข่านนั้นเร่งสร้างกองทัพเรือ เรือที่ทำนั้นใช้ไม้สองชิ้นมาประกอบกัน ไม่ใช่ไม่ชิ้นเดียว ทำให้เรือนั้นไม่แข็งแรงและก็เรือแตกง่ายครับ

พอกุบไลข่านรู้ข่าว ก็ส่งทูตไปอีก ขอให้ยอมแพ้อีก แต่มีหรือว่าญี่ปุ่นจะยอมเพราะว่าสวรรค์เข้าข้างเห็นๆ คราวที่แล้วก็เห็นๆกันอยู่

คราวนี้ท่านข่านของเราก็หมายมั่นปั้นมือใหม่ครับ กะจะบี้ญี่ปุ่นให้อยู่หมัด คราวนี้มองโกลนั้นตั้งใจจะยกไปสองกองทัพ โดยส่งเกาหลีไปก่อน แต่กองทัพนั้นมีขนาดเท่าเดิมคือประมาณ สองหมื่นกว่าคน อีกทัพเป็นทัพของจีน ซึ่งจะขนคนไป แสนคน

พอนัดแนะดีแล้ว มองโกลเองก็เรียนรู้จากความผิดพลาดสมัยก่อนครับ ก็เลยเลื่อนให้ไปบุกเร็วขึ้นครับ ทัพเกาหลีคนน้อยก็ออกไปรอที่ที่นัดหมายที่เกาะแห่งหนึ่ง รอแล้วรอเล่าทัพจีนก็ไม่ยอมมาซะที แถมเจอโรคระบาดอีก เจอเรือญี่ปุ่นมารังควานอีก ก็เลยถอยออกมา แล้วก็รอต่ออีกสักสองอาทิตย์ ก็เจอเรือจีน แต่ตอนเรือจีนมานั้นสายไปแล้วครับ

เพราะว่าพี่จีนเล่นมา ก็มาตอนปลายสิงหาคมแล้วซึ่งเป็นตอนเดียวกับที่เจอกามิกาเซ่เลย แล้วสมัยก่อน Green House Effect ก็ไม่มี กามิกาเซ่ก็มาตรงเวลาสิครับ ก็เล่นเอาทหารอีกแสนของมองโกลนั้นต้องเสียชีวิตไป  กุบไลข่านก็เลยต้องจำใจเลิกบุกญี่ปุ่นไป

พอเลิกบุกญี่ปุ่นก็เลยหันมายึดพม่า เวียดนาม แล้วก็ตอนใต้ของอินเดียแทน

Dr. Weatherford บอกว่า เพราะมองโกลนี่แหละครับที่ทำให้เกิดการรวมชาติกันขึ้นมา เช่นที่เกาหลี ที่วัฒนธรรมเหมือนกันแต่ก็สู้กัน หรือว่าอย่างไทย เวียดนาม นอกจากนี้ Dr. Weatherford ทางแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเรานั้น รับเอาวัฒนธรรมของอินเดียเป็นส่วนมาก แต่พอมองโกลเป็นใหญ่นั้นก็มีการใช้พวกจีนอพยพมาเผยแพร่วัฒนธรรมของจีนที่พื้นที่แถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เลยกลายเป็นอินโดจีนครับ แต่ตัว Dr. Weatherford เองก็ไม่ได้บอกนะครับว่า แล้วรวมกันยังไง เหตุผลอะไรถึงรวมกัน ผมเดาว่า เรื่องการรวมชาตินี้น่าจะเริ่มขึ้นหลังจากที่มองโกลนั้นหมดอำนาจไปแล้ว

มองโกลนั้นบุกไปที่ชวาด้วยนะครับ แล้วก็ชนะด้วยตอนแรกๆของสงคราม แต่พอพวกชวานั้นจะทำพิธีครองราชย์ให้พระราชาตัวเอง พวกชวานั้นก็หลอกพวกมองโกลไปฆ่าทิ้ง เล่นเอามองโกลนั้นไม่ประสบความสำเร็จในการรบทางทะเลเลย

ยุคกุบไลข่านนั้นรุ่งเรืองมากครับ เพราะว่ามองโกลนั้นได้ดินแดนจรดอียิปต์ โปแลนด์ และก็ตกทะเลไปทางจีนครับ

พอตอนปลายรัชสมัยกุบไลข่าน ท่านข่านก็เริ่มใช้ชีวิตแบบคนจีนหนักเข้าทุกอย่างดูหรูหราฟุ่มเฟือยไปหมด

บทสรุป 

จะว่าไปแล้วเราอาจจะเห็นได้นะครับว่า ต่อให้เรามีความสามารถแค่ไหนถ้าโฆษณาตัวเองไม่เป็น ไม่รู้จักเรียนรู้ความต้องการของผู้ใต้ปกครองของเรา เราก็ไม่สามารถที่จะปกครองคนอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 อีกอย่างที่เราเห็นได้ชัดๆเลย คือการปกครองของมองโกลนั้น อาจจะดูไม่แตกต่างจากการปกครองปัจจุบันมากนัก เมื่อมองโกลต้องการรวมชาติจีน และพยายามสร้างกฏหมายให้ศักดิ์สิทธิ์ ยุติธรรม และสร้างความสมานฉันท์ให้กับคนในปกครองของตัวเอง

ตอนหน้าจะเป็นตอนจบของเรื่องเจงกิสข่านครับ เราจะคุยกันเรื่องการปกครองของมองโกลหลังยุคกุบไลข่านและความเสื่อมสลายของมองโกลครับ

อีกเรื่องครับ คือว่าผมอ่านเรื่องเจงกีสข่านจบแล้ว ตอนนี้มีหนังสือที่อยากอ่านอยู่สามเล่ม คือ

  1. Overthrown: ว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยซีไอเอ ของอเมริกาครับ
  2. Evolve your brain: ว่าด้วยเรื่องของสมองล้วนๆ ว่าสมองเรานั้นคิดอะไรยังไง ทำงานยังไง
  3. The cash nexus: ว่าด้วยเรื่องเศรษฐศาสตร์การเมืองครับ

ตอนนี้มีคน text message มาบอกว่า Overthrown กับ The cash nexus อย่างละหนึ่งเสียงเท่ากันครับ ถ้ายังไง ผมเปิดให้ text message จนถึงวันจันทร์นะครับ ถ้าไม่มีใคร text message เข้ามาเพิ่ม เรื่องต่อไปจะเป็น overthrown ครับ เพราะผมถือหลัก ประชาธิปไตยมาก่อน แต่ถ้าเสียงเท่ากัน ใครขอก่อนมีสิทธิก่อนครับ :D

 ที่มา: Weatherford, J. Genghis Khan, Three river press, NY, 2004. ISBN: 0-609-80964-4

 

หมายเลขบันทึก: 86126เขียนเมื่อ 24 มีนาคม 2007 12:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 16:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (16)
  • ตามมาอ่านเรื่อง กุบไลข่าน
  • มาขอบคุณสำหรับคำแนะนำดีๆๆ
  • เคยเขียนบทความเกี่ยวกับวิทยานิพนธ์ไว้แล้วที่
  • ที่นี่ครับ
  • ขอบคุณมากครับผม
  • ทำไมมีความรู้มากจังเลยครับ  ผมอยากมีบ้าง

ไปอ่านหนังสือ...

สนุกดี...

อ่านๆ ไปก็มีความเห็นแย้งเชิงปรัชญานิดหน่อย... กล่าวคือ คนเขียนและคนอ่านมาเล่า อาจตรวจสอบข้อมูลทางประวัติศาสตร์ด้วย แว่นปัจจุบัน จึงมีความเห็นว่าคล้ายคลึงกับปัจจุบัน...

ส่วนประเด็นที่จะเล่าเรื่องต่อไป ก็ขึ้นอยู่กับผู้เล่า ครับ...

เจริญพร

สวัสดีครับอาจารย์ขจิต

ขอบพระคุณมากครับที่ได้ติดตามมาอ่านครับ

ผมได้ตามไปอ่านทีอาจารย์แปะลิงค์เรื่องบทความมาให้แล้วครับ ดูน่าสนใจมากทีเดียวครับ

อ่านแล้วก็ดีนะครับ ที่เราจะเห็นเด็กไทยนั้นฝึกทักษะกระบวนการความรู้ทางด้านภาษาเพิ่มขึ้น

ผมว่าอาจารย์ขจิตกล่าวเกินไปแล้วครับ ผมนะความรู้เท่าหางอึ่งครับ จะออกตัวว่ารู้เยอะก็จะเป็นแต่แมงป่องซะเปล่าๆครับ

ใน gotoknow นี้มีคนรู้เยอะกว่าผมหลายท่านด้วยกันครับ ไม่ว่าจะเป็น พระคุณเจ้าพระมหาชัยวุธ อาจารย์ด็อกเตอร์บัญชา อาจารย์ครูบาสุทธินันท์ อาจารย์สมพร อาจารย์ลูกหว้า อาจารย์ราณี อาจารย์ขจิต และอีกหลายต่อหลายท่านครับ

ผมก็แค่คนอ่านหนังสือแล้วเล่าต่อจากหนังสือครับ

กราบนมัสการพระคุณเจ้าครับ

ตามความคิดส่วนตัวของผมนะครับ ผมเชื่อว่าความรู้ทุกอย่างนั้นสามารถประยุกต์ถึงกันได้หมดครับ และอีกอย่างผมเชื่อว่าความรู้นั้นเป็นเซ็ทจำกัดครับ คือถึงจุดๆหนึ่งเราจะไม่สามารถพัฒนาความรู้ให้ขึ้นมาใหม่ได้ครับ (หมายถึงตัว concept นะครับ ไม่ได้หมายถึงตัววิธีการ)

ถ้าเราไล่หาว่าความคิดนั้นเกิดมาได้อย่างไร เหมือนที่อาจารย์ด็อกเตอร์บัญชานั้นได้เขียนไว้ในเรื่องทฤษฏีโลกใบเล็ก เราก็อาจจะพบว่าความคิดหรือความรู้นั้นออกมาจากต้นตอเดียวกันก็เป็นได้ครับ

หรือว่าในบล็อกของอาจารย์สมพรที่เขียนว่าด้วยเรื่องการเขียนบทความสี่ห้าอันกันทุกวันความรู้จะหมดไหม ซึ่งในบล็อกดังกว่า ผมได้พิสูจน์ว่าภายใต้ข้อสมมติฐานบางประการ เราจะไม่สามารถสร้างความรู้ใหม่ๆได้อีกครับ (แต่ต้องไปหาหน่อยนะครับ)

ดังนั้นผมเชื่อว่าถ้าเราไปค้นไปหาไปศึกษาประวัติศาสตร์ดีๆ เราอาจจะพบอะไรหลายๆอย่างที่ไม่ต่างจากปัจจุบันครับ

ยกตัวอย่างนะครับ ผมเคยดู discovery channel หรือ history channel ก็จำไม่ได้ครับ เขาเอาเครื่องมือแพทย์ปัจจุบันกับเครื่องมือแพทย์สมัยโบราณ เช่นพวกอียิปต์บางอย่างนั้นแทบไม่ต่างกันเลยครับ

หรือในหนังสือเรื่อง Derivatives: the wild beast of finance ที่ว่าด้วยเรื่องการเงินนั้น ก็ยกตัวอย่างถึงความคิดแบบ options (สิทธิที่จะซื้อหรือขายหุ้นในราคาที่กำหนดล่วงหน้า) ว่ามีมาตั้งแต่หลายร้อยปีมาแล้วครับ

หรือว่ายกตัวอย่างเรื่องปรัชญาการผลิตครับ ที่ปรัชญาการผลิตปัจจุบันนั้นได้ปรับเปลี่ยนไปเป็น Just in time, Lean manufacturing หรือแม้แต่เป็น Cell manufacturing ซึ่งวิธีการทั้งหมดมุ่งเน้นไปอย่างเดียวคือ ผลิตให้ได้เร็วที่สุด ลดการสูญเสียให้ได้มากที่สุด ถ้าไล่กันดีๆ วิธีการของ Just in time, Lean manufacturing แทบจะไม่ต่างกันเลยครับ แล้วก็พัฒนาต่อมาเป็น cell manufacturing (การผลิตที่แบ่งเป็นระบบย่อยๆ ที่ผลิตเสร็จในตัวครับ)

ดังนั้นสำหรับผมนะครับ ไม่ว่าจะแว่นปัจจุบันหรือแว่นอดีต ผมเชื่อว่าเหตุการณ์หรือวิธีการทางการจัดการหรือความคิดอาจจะคล้ายหรือเหมือนกันครับ แต่เหตุผลที่เป็นต้นคิดว่าจะจัดการอย่างไร อาจจะต่างกันครับ ตามภาวะ ปัจจัยและสิ่งแวดล้อมในขณะนั้นๆครับ

แต่ด้วยความเคารพครับ ความคิดทั้งหมดนั้นเป็นความคิดผมแต่เพียงผู้เดียวครับ

นั่นคงจะเป็นสาเหตุหนึ่งให้ผมพยายามหาความรู้หลายๆด้าน อ่านหนังสือหลายๆเล่ม เพื่อที่จะเอาความรู้มาประยุกต์ใช้ต่อกันครับ

กราบนมัสการพระคุณเจ้าด้วยความเคารพอย่างสูงยิ่งครับ

กราบนมัสการพระคุณเจ้าอีกรอบครับ

กลับมาอ่านคอมเม้นท์ของตัวเองพบว่ามีช่องโหว่อยู่นิดหนึ่งครับ คือว่าในตัวอย่างนั้นได้พูดถึงเรื่องอุปกรณ์การแพทย์ และก็ในเรื่องของ options ของการเงิน นั้นพูดว่าสิ่งเหล่านั้นนั้นมีอยู่แล้ว

หลายท่านอาจจะแย้งได้ว่า ก็มีเพราะมีอยู่แล้วไง ดังนั้นสิ่งที่เราเห็นในปัจจุบันมันก็เลยไม่ต่างจากในอดีต

แต่จริงๆแล้วไม่ใช่ครับ เพราะสิ่งเหล่านั้นที่มีอยู่ในอดีตนั้น ในช่วงหนึ่งแห่งการเวลาได้หายไปครับ

ไม่อย่างนั้นตลาด options หรือตลาดซื้อขายล่วงหน้า ก็คงดังกระฉูดโลกมานานแล้วครับ คนประยุกต์ใช้กันตั้งร้อยกว่าปีแล้วครับ ไม่ใช่เพิ่งมาดังเมื่อไม่ถึง 50 ปีที่ผ่านมา และก็แพร่หลายมาไม่เกิน 30 ปีครับ (ถ้ามองเมืองไทย รู้สึกว่าเพิ่งจะมีเมื่อไม่ถึง 5 ปีนี้เองนะครับ)

ดังนั้นมันจึงน่าแปลกใจไงครับที่วิทยาการบางอย่างที่หายไป แต่คนเรากลับสร้างสรรค์มันให้กลับมาได้คล้ายกับของเดิมที่มีอยู่ในอดีตครับ

กราบนมัสการพระคุณเจ้าด้วยความเคารพอย่างสูงยิ่งครับ

กราบนมัสการพระคุณเจ้าครับ

กราบขอบพระคุณพระคุณเจ้ามากครับที่ได้กรุณาเสียสละเวลาเข้ามาติดตามการบันทึกโดยตลอดครับ

กราบนมัสการพระคุณเจ้าด้วยความเคารพอย่างสูงยิ่งครับ

  • ตามมาขอบคุณ
  • ดีใจที่ได้พบคนเก่งๆๆใน gotoknow
  • นมัสการหลวงพี่ครับ

เห็นด้วยกับ อ.ขจิต ครับ

  หวังว่าคุณไปอ่านหนังสือคงได้มาเล่าเรื่องน่าสนใจ และได้ความรู้ให้ฟังอีกเรื่อยๆนะครับ

   ป.ล. เมื่อไหร่เมืองไทยจะมีตลาด options ครับ

สวัสดีครับอาจารย์ขจิต

ผมก็ดีใจเหมือนกันครับที่ได้มีโอกาสมาแลกเปลี่ยนความรู้กับบรรดาผู้รู้หลายๆท่านใน gotoknow แห่งนี้ครับ :D

 

สวัสดีครับคุณนักลงทุนตัวน้อย หรือ น้องเดอ

เราอาจจะเป็นรุ่นเดียวกันหรือไม่ต่างกันมากก็ได้นะครับ

ขอออกตัวก่อนว่า ผมเล่ายังไงๆ ก็ไม่สนุกเหมือนน้องเดอเล่าหรอกครับ ผมยังแอบไปอ่านทุกครั้งที่น้องเดอเขียนบล็อกอันใหม่เลยครับ

ส่วนเรื่องเล่าเรื่องอื่น ผมจะพยายามไปสรรหาหนังสือสนุกๆมาอ่านแล้วมาเขียนเล่าสู่กันฟังต่อไปครับ ถ้าจะว่าไปแล้ว หนังสือสนุกๆก็มีเต็มบ้านแหละครับ แต่ยังอ่านไม่จบซักกะที

เรื่องตลาด options ในเมืองไทยมีแล้วครับ ถ้าสนใจ เชิญตามลิงค์นี้เลยครับ

 http://www.tfex.co.th/th/knowledge/academy.html

ถ้าสนใจหนังสือ ก็ตามลิงค์ข้างล่างไปเลยครับ

http://www.chulabook.com/cgi-bin/main/2003/description.asp?barcode=9789749873892เป็นหนังสือแปลของ John Hull ซึ่งเป็น textbook ที่นิยมมากนะครับ ผมก็มีเวอร์ชั่นเก่า ว่าจะอัพเดทซื้อเวอร์ชั่นใหม่ล่าสุดเหมือนกันครับ

 

 

สวัสดีอีกรอบครับ

เป็นความผิดพลาดของผมเองครับที่ผมแปะลิงค์หนังสือไม่ดี มาแปะใหม่ครับ

http://www.chulabook.com/cgi-bin/main/2003/description.asp?barcode=9789749873892

ลิงค์นี้ไปถึงแน่นอนครับ

แล้ว TFEX นี่ Future ไม่ใช่เหรอครับ ต่างจาก Options ยังไงอ่ะครับ เคยอ่านแล้ว แต่จำไม่ได้ละครับ มันน่างงมากๆๆ อิอิ

 ขอบคุณพี่ต้นที่แนะนำครับ

สวัสดีครับน้องเดอ

นี่จะเอาไปเขียนในบล็อกตัวเองหรือเปล่าครับเนี่ย (แถวบ้านเรียกว่าอู้นะครับ) ล้อเล่นครับ

ตอนแรกจะมาเขียนตรงนี้ เปลี่ยนใจ ไปเขียนเป็นบล็อกอันใหม่ละกันนะครับ เผื่อคนอื่นอ่านด้วย

 

  • ตามมาอ่านต่อค่ะ
  • ดูหนังเรื่องมังกรหยก ทำให้ราณีรู้จักมองโกลเยอะขึ้น ยิ่งน้องมาเล่าเป็นเรื่องอย่างนี้ ต้องบอกคำเดียวว่า ขอบคุณค่ะ
  • ชอบคำพูดที่ว่า "ไม่รู้จักเรียนรู้ความต้องการของผู้ใต้ปกครองของเรา เราก็ไม่สามารถที่จะปกครองคนอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ "

สวัสดีอาจารย์Ranee  ครับ

ขอบพระคุณมากครับที่ได้ติดตามตลอดมาเลยคร้บ :D

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท