วิธีการ "ไม่บรรยาย" KM


         สืบเนื่องจากบันทึก http://gotoknow.org/blog/thaikm/81134   เราได้ไปทดลอง "ไม่บรรยาย KM"  เมื่อวันที่ 22 มี.ค.50 ให้แก่นักศึกษา นบม. รุ่นที่ 17 เรียบร้อยแล้ว  และได้ผลดีมากครับ

         เป้าหมายก็คือ  การทำให้นักศึกษา (ก็คือผู้บริหารระดับสูงในมหาวิทยาลัยนั่นแหละ) เข้าใจหรือรู้จัก KM โดยไม่บรรยาย   แต่ให้ทำกิจกรรมเพื่อสร้างความเข้าใจ KM จากภายในตน   ไม่ใช่จากมีคนไปบอก   เราดำเนินกิจกรรมตามบันทึกข้างบนทุกประการ

         ตอนกล่าวนำ  ผมบอกท่านผู้บริหารที่เป็นนักศึกษาว่า  เราขอทดลองวิธีใหม่ที่เชื่อว่าดีกว่าการบรรยาย   โดยท่านจะเข้าใจ KM ได้ลึกกว่าการฟังบรรยาย   เป็นการทำความเข้าใจ KM โดยฝึกปฏิบัติ KM ไปด้วย   ท่านจะต้องฝึกใช้ deep listening,  dialogue,  storytelling,  appreciative inquiry   หัดใช้ประสาทสัมผัสขั้นสูงที่รับ "ความรู้" ผ่านอารมณ์ความรู้สึก   ผ่าน non - verbal communication    ดังนั้นท่านต้องมีสมาธิจดจ่ออยู่กับปัจจุบันขณะมาก   สิ่งรบกวนสมาธิจะขัดขวางการเรียนรู้   จึงขอทำความตกลงให้ปรับโทรศัพท์เป็นโหมดไม่มีเสียง   และถ้าจะพูดโทรศัพท์ก็ขอให้ไปพูดนอกห้อง   จะได้ไม่รบกวนสมาธิคนอื่น

         ผมบอกด้วยว่าตอนประชุมกลุ่มคนที่มาจากสถาบันเดียวกันหรือมีประสบการณ์คล้ายกัน   คิดเหมือน ๆ กัน   อย่าเข้ากลุ่มเดียวกัน   เพราะเราจะฝึกรับฟังความคิดที่แตกต่างหลากหลาย   รับฟังความคิดที่ไม่ตรงกับความเชื่อของเรา   ซึ่งเป็นหัวใจอย่างหนึ่งของ KM

         วิทยากรในการ "ไม่บรรยาย" ครั้งนี้มี 3 คน  คือ ผม,  รศ. มาลินี  ธนารุณ  และคุณธวัช

         แม้ว่าตอนเริ่มเปิดวีซีดีจะมีคนเพียงประมาณ 30 จากทั้งหมด 41 คน   และมีคนทยอยมาหลังจากฉายวีซีดีแล้ว   และบางคนมาในช่วงประชุมกลุ่ม   แต่การประชุมกลุ่มลื่นไหลและดูสนุกสนานมาก

         ตอนนำเสนอผลการประชุมกลุ่มก็ทำได้ดี  สาระดี  สมกับเป็น นบม.   โดยเฉพาะผู้เสนอที่เป็นอาจารย์นิด้า 2 ท่านนำเสนอได้ชัดเจนเป็นพิเศษ   สะท้อนภาพว่านิด้าได้เอา KM ไปใช้ในการพัฒนากิจกรรมขององค์กรจริง ๆ    อาจารย์ของนิด้าชื่อ สุรสิทธิ์  วชิรขจร  เป็นวิทยากร KM ด้วย

         ในช่วงตอบคำถามและสรุป   ได้ตกลงกันว่า  ในวันรุ่งขึ้น (23 มี.ค.50) รศ. มาลินี ธนารุณ (http://gotoknow.org/officekm) จะพูดเรื่อง AAR และเรื่องบล็อก gotoknow.org ให้เพื่อนนักศึกษาฟังด้วย

         เอามาเล่าสู่กันฟังว่าวิธี "ไม่สอน KM" วิธีนี้ได้ผล   อย่างน้อยก็ในกลุ่มผู้บริหารระดับสูงในมหาวิทยาลัย   แต่เวทีนี้ผมได้โชคช่วยด้วย  คือมี รศ. มาลินี  ธนารุณ  และผู้บริหารจากนิด้า 2 ท่านที่รู้ KM ดี   รวมทั้งอาจมีผู้บริหารอีกหลายท่านที่คุ้นกับ KM อยู่แล้ว

                   

บรรยากาศระหว่างฉายวีซีดี KM รพ. บ้านตาก  ที่นั่งว่างเกือบ ๑๐ ที่

                   

รศ. มาลินี ธนารุณ ร่วมเป็นวิทยากร กำลังอธิบายวิธีประชุมกลุ่ม

                    

                     บรรยากาศการประชุมกลุ่มย่อย

                    

 อ. สุรสิทธิ์ วชิรขจร จากนิด้า กำลังนำเสนอผลการประชุมกลุ่ม

                    

        อาจารย์อีกท่านหนึ่งจากนิด้า ที่ดูจะรู้เรื่อง KM ดี

                   

                           ถ่ายรูปหมู่กันไว้เป็นที่ระลึก

วิจารณ์  พานิช
 23 มี.ค.50

หมายเลขบันทึก: 85866เขียนเมื่อ 23 มีนาคม 2007 10:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤษภาคม 2012 10:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • เป็นต้นแบบที่ผมได้ เอาไปทดลองแล้ว ครับ
  • คิดว่าได้ผล แม้ยังไม่มีประสบการณ์มากพอในการดำเนินการ ประกอบกับห้องที่ใช้ไม่เป็นห้องที่เอื้อต่อการทำ workshop กลุ่มมากนัก
  • เรายังขาดรูปหมู่ตอนจบครับท่านอาจารย์ จะแก้ตัวครั้งต่อไป
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท