เรื่อง สวรรค์ – นรก – เทวดา – พรหม มีจริงหรือ ? (ตอนที่ 3)


เรื่อง สวรรค์ – นรก – เทวดา – พรหม มีจริงหรือ ? (ตอนที่ 3)

 

เล่ม ๑๓ หน้า ๔๒๙

พระ เจ้าปเสนทิโกศลทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็เทวดามีจริงหรือพระเจ้าข้า” ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงซักว่าเหตุใดจึงถาม พระเจ้าปเสนทิโกศลทูลตอบโดยถามต่อไปว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เทวดาเหล่านั้นมาสู่โลกนี้หรือไม่มาสู่โลกนี้พระเจ้าข้า” พระพุทธเจ้าตรัสบอกว่า “ดูกร มหาบพิตร เทวดาเหล่าใดมีทุกข์ เทวดาเหล่านั้นมาสู่โลกนี้ เทวดาเหล่าใดไม่มีทุกข์ เทวดาเหล่านั้นไม่มาสู่โลกนี้ ขอถวายพระพร”

     ตรงนี้เห็นจะต้องขยายความเล็กน้อยว่า คำถามว่ามาสู่โลกนี้หรือไม่มาสู่โลกนี้ น่าจะมีความหมายถึงการกลับมาเกิด ซึ่งพระพุทธเจ้าตอบว่าเทวดาที่ยังไม่พ้นทุกข์ก็กลับมาเกิด ไม่ใช่หมายความถึงเทวดาที่มีความทุกข์ร้อน

เล่ม ๑๓ หน้า ๔๓๑

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็พรหมมีจริงหรือ”

     คำถามคำตอบดำเนินไปอย่างเดียวกับคำถามเรื่องเทวดา

เล่ม ๒๕ หน้า ๒๖๗

กล่าวถึงนิมิต ๕ ประการ ซึ่งแสดงว่าถึงเวลาที่เทวดาจะต้องจุติแล้ว คือ
- ดอกไม้เหี่ยวแห้ง
- ผ้าเศร้าหมอง
- เหงื่อไหลจากรักแร้
- ผิวพรรณเศร้าหมอง
- ไม่ยินดีในทิพยอาสน์ของตน

     เมื่อได้นำมาแสดงถึงแค่นี้ ก็ควรจะเป็นเครื่องยืนยันได้ว่าพระพุทธเจ้ารับรองว่ามีเทวดา มีพรหมแน่นอน แต่เพื่อป้องกันความสงสัย จึงขอกล่าวรวมๆ ไว้ว่า ในพระไตรปิฎกกล่าวถึงเทวดา ๖ ชั้น มีพระอินทร์เป็นราชาเท่านั้น ไม่มีพระอิศวร พระนารายณ์ พระพิฆเณศวรอะไรเหล่านั้น ซึ่งเป็นเทวดาของลัทธิพราหมณ์เขา เทวดาทางพุทธที่มีบทบาทมากเห็นจะเป็นเทวดาทหาร คือ เทวดาชั้นจาตุโลกบาล มีลูกน้องตามลำดับลงมาตั้งแต่อินทกะ อากาศเทวา ภูมมเทวดา รุกขเทวดา ฯลฯ ส่วนพรหมก็มี ๑๖ ชั้น มีท่านสหัมบดีพรหมเป็นหัวหน้าเท่านั้น

     นักวิทยาศาสตร์จะไม่ยอมเชื่อว่ามีเทวดา มีพรหม ถ้าหากว่าเขาไม่เห็นท่านเหล่านั้นด้วยตาของตนเอง ที่โง่หนักถึงกับกล่าวเสียงดังฟังชัดไปทีเดียวว่า เทวดาไม่มี พรหมไม่มี เขาพวกนี้ถ้าหากโลกปราศจากเสียซึ่งกล้องจุลทัศน์ เขาก็คงกล่าวว่าเชื้อโรคไม่มีเหมือนกัน

     พูดกับท่านพวกนี้แล้ว น่าจะขู่กันเสียหน่อยว่า ก็สมมติว่าท่านเหล่านั้นท่านอยู่ในมิติอื่นล่ะ นักวิทยาศาสตร์จะมองเห็นได้ไหม ? ท่านมีวิธีที่จะมองเห็นไหม ? ถ้าไม่มีก็เผื่อว่าคนอื่นเขามี ท่านจะเชื่อเขาไหมล่ะ ?

เล่ม ๑๓ หน้า ๓๐๓

“ดูกร อุทายี ภิกษุในธรรมวินัยนี้บรรลุจตุตถฌาณไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์และดับโทมนัสในก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ ยืนด้วยกัน เจรจากัน สนทนากันกับเทวดาทั้งหลายผู้เข้าถึงโลกที่มีสุขโดยส่วนเดียวเหล่านั้นได้”

เล่ม ๑๔ หน้า ๒๕๔

ท่าน พระอนุรุทธกล่าวกับท่านกัจจายนะว่า “ผมเคยอยู่ร่วมเคยเจรจาร่วม และเคยสนทนาร่วมกับเทวดาเหล่านั้นมานานแล” (ท่านผู้นี้เป็นผู้มีบุพเพนิวาสานุสติญาณเป็นเยี่ยม)

เล่ม ๒๖ หน้า ๓๙๐

“ภิกษุ ใดรู้แจ้งมนุษยโลก เทวโลก พร้อมทั้งพรหมโลก อันมีประเภทจั้งพันได้ในเวลาครู่เดียว ทั้งเป็นผู้เชี่ยวชาญในคุณ คือ อิทธิฤทธิ์ และในจุติ และอุปัติของสัตว์ทั้งหลาย ภิกษุนั้นย่อมเห็นเทพเจ้าทั้งหลายได้ตามความประสงค์”

เล่ม ๙ หน้า ๓๗๐ “เธอได้เข้าสมาธิชนิดที่เมื่อจิตตั้งมั่นแล้ว ทางไปสู่เทวโลกปรากฏได้”


เล่ม ๙ หน้า ๓๗๑ “ภิกษุได้เข้าสมาธิชนิดที่จิตตั้งมั่นแล้ว ทางไปสู่พรหมโลกปรากฏได้”


เล่ม ๑๐ หน้า ๒๒๙ “ญาณ เป็นเครื่องเห็นพวกอมนุษย์”


เล่ม ๑๓ หน้า ๕๒๙ “ผู้ใด รู้ญาณเครื่องระลึกชาติก่อนได้ เห็นสัตว์และอบาย และบรรลุธรรมเป็นที่สิ้นชาติ เราเรียกผู้นั้นว่าพราหมณ์”


เล่ม ๑๔ หน้า ๓๓๓ “ถูกต้องเจโตสมาธิ มีรูปทำนองที่เมื่อจิตตั้งมั่นแล้ว ย่อมเล็งเห็นบุคคลโน้นผู้มักทำชีวิตให้ตกล่วง...ฯลฯ ผู้นั้นตายไปแล้ว*เข้าถึงอบาย* ทุคติ วินิบาตนรก ได้**ด้วยจักษุเพียงดังทิพย์** อันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์”

เล่ม ๒๐ หน้า ๑๘๙ “ผู้ใดตรัสรู้ บุพเพนิวาสานุสติญาณ เห็นสวรรค์ เห็นอบาย”

     ขอปิดท้ายด้วยการยืนยันของพระพุทธเจ้า

เล่ม ๑๔ หน้า ๒๙๕ “ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็เรื่องนั้น(หมายเหตุ : คือเรื่องนรกที่ทรงเล่าให้ภิกษุฟัง) เรามิได้ฟังต่อสมณะหรือพราหมณ์อื่นๆ แล้วจึงบอก ก็แลเราบอกเรื่องที่เรา **รู้เองเห็นเอง** ปรากฏเองทั้งสิ้น

เล่ม ๑๖ หน้า ๒๕๕ “เรา **เห็น** คนบางคนในโลกนี้ อันสักกายะครอบงำย่ำยีจิตแล้ว เมื่อ**ตาย**ไปเพราะกายแตกทำลาย ต้องเข้าถึงอบายวินิบาต**นรก**” 

     นักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายจะเห็นได้จากข้างบนนี้ว่า ท่านในสมัยโน้นท่านเห็นสวรรค์ นรก เทวดา พรหม กันด้วยสภาพจิตที่ฝึกเป็นพิเศษ คือ ฝึกจิตให้เป็นสมาธิจนเป็นฌาณ ๔ (รูปฌาณ) แล้วน้อมจิตไปในบุพเพนิวาสานุสติญาณ จึงจะเป็นทางให้เห็นด้วยจิตเข้าไปในอีกมิติหนึ่งได้ วิธีเห็นอาจจะมี ๒ วิธี คือ เห็นด้วยจิต และเห็นด้วยตาทิพย์ ข้อนี้ท่านไม่กล่าวไว้กว้างขวางนักในพระไตรปิฎก แต่นักปฏิบัติที่ฝึกจิตแล้วจะเข้าใจได้ การเห็นด้วยจิตนั้น ในเล่ม ๑๔ หน้า ๓๓๓ ข้างบนท่านกล่าวว่า “จักษุเพียงดังทิพย์อันบริสุทธิ์”

     นอกจากมนุษย์จะสามารถเห็นเทวดาได้ด้วยตาทิพย์ของจิตที่รับการฝึกแล้ว หากเทวดาประสงค์จะอนุเคราะห์ ท่านก็อาจจะแสดงร่างให้ปรากฏแก่ตาคนธรรมดาได้ ในการแสดงนั้นอาจแสดงให้คนทั้งกลุ่มมองเห็น หรือให้เห็นแต่เฉพาะเป็นบางคนก็ได้

เล่ม ๑๘ หน้า ๓๓๒

(กล่าว ถึงจิตตคฤหบดีซึ่งป่วยหนัก แล้วมีอารามเทวดา วนเทวดา รุกขเทวดา (และ) เทวดาที่สิงสถิตอยู่ที่ต้นไม้เป็นยา หญ้า และพญาไม้ มาร่วมประชุมกัน แล้วกล่าวกับจิตตคฤหบดีว่า) “ดูกร คฤหบดี ท่านจงปรารถนาว่าขอให้เราเป็นพระเจ้าจักรพรรดิราชในอนาคตเถิด” เมื่อพวกเทวดากล่าวอย่างนี้แล้ว จิตตคฤหบดีจึงได้กล่าวกะเทวดาเหล่านั้นว่า แม้การเป็นเช่นนั้นก็เป็นของไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน จำจะต้องละไป พวกญาติมิตรจึงกล่าวว่า “ข้าแต่ท่านผู้เป็นบุตรนาย ท่านจงตั้งสติไว้ อย่าเพ้อไป” ความนี้แสดงว่าเทวดาทั้งหลายปรากฏให้จิตตคฤหบดีเห็นคนเดียวด้วยตาคนธรรมดา

เล่ม ๒๓ หน้า ๖๓ ถึง ๖๔

นันทมารดาอุบาสิกา สวดปารายนสูตรในเวลาใกล้รุ่ง ท้าวเวสสุวัณผ่านมาจึงอนุโมทนาว่าสาธุ นันทมารดาถามว่าท่านนั้นคือใคร(แสดงว่ารูปร่างแตกต่างจากเมื่อครั้งเป็น มนุษย์)ท้าวเวสสุวัณตอบว่า “ดูกร น้องหญิง เราคือท้าวเวสสุวัณมหาราช ภาดาของเธอ” นันทมารดาเล่าให้ท่านพระสารีบุตรฟัง ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า “น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้วที่ท่านเจรจากันต่อหน้าได้กับท้าวเวสสุวัณมหาราช ฯลฯ”

     ความนี้แสดงว่า ที่เทวดาจะปรากฏตัวให้มนุษย์เห็นและพูดจากันได้นั้นไม่ใช่เหตุการณ์ธรรมดา

เล่ม ๒๔ หน้า ๑๗๐

โกกาลิกภิกษุ (กลุ่มของเทวทัต) กล่าวโทษท่านสารีบุตรกับท่านโมคคัลลานะว่า “เป็นผู้มีความปรารถนาลามก ลุอำนาจแห่งความปรารถนาลามก” พระพุทธเจ้าทรงห้ามและให้ถอนคำถึง ๓ วาระ ก็ไม่ยอมถอน ต่อมาไม่นานมีตุ่มขึ้นเล็ก ๆ ทั่วตัว แล้วใหญ่ขึ้นจนมีขนาดเท่าผลมะตูมและแตกออก มีตุทิยปัจเจกพรหมมาหาและบอกว่า “ดูก่อน โกกาลิกะ ท่านจงยังจิตให้เลื่อมใสในพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะเถิด เพราะพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะเป็นผู้มีศีลเป็นที่รัก” พระโกกาลิกะกลับเอ็ดเอาว่าเป็นพระอนาคามีแล้วยังจะมายุ่งอีก ลงท้ายเมื่อตายไป พระพุทธเจ้าทรงบอกแก่ภิกษุทั้งหลายว่าไปเกิดในปทุมนรก (มีกำหนดระยะเวลานานจนนับไม่ไหว)

เล่ม ๒๖ หน้า ๑๔๑

“เพราะอุบาสกนั้นเป็นเหตุ ข้าพเจ้าจึงมาแสดงตนให้ปรากฏ ดูกร พ่อค้าทั้งกลาย เพราะฉะนั้น พวกท่านจึงได้เห็นข้าพเจ้า”

เล่ม ๒๖ หน้า ๒๑๙

“ถ้าพระองค์จักเป็นผู้ไม่มีศรัทธา มีความตระหนี่ มีจิตไม่เลื่อมใส พระองค์จักไม่ได้เห็นข้าพระองค์”

     ตัวอย่างที่ยกมาเพียงเล็กน้อยนี้ เพื่อความมุ่งหมายจะแสดงให้เห็นว่าการที่เทวดาจะมาปรากฏให้มนุษย์มองเห็น ด้วยตาเนื่อธรรมดาได้นั้น ก็ต่อเมื่อท่านมีความประสงค์จะสงเคราะห์มนุษย์ผู้นั้นเท่านั้น

***มีคำถามหนึ่งที่มักจะถามกันเนืองๆ คือ คนชาติอื่นจะมีสวรรค์เดียว นรกเดียวกับชาวพุทธหรือไม่ ?

     คำถามนี้ต้องย้อนมาถึงความจริงที่ว่า นี่เป็นศาสนาเดียวที่แท้จริง ที่เป็นทางให้ถึงพระนิพพานอันเป็นอมตะ ศาสนาอื่นไม่มี อังนั้น นรก สวรรค์ จึงเป็น สากล ทั้งนี้ไม่มีพูดไว้ในพระไตรปิฎก แต่สันนิษฐานได้จากข้อดความบางตอนที่บ่งว่าคนในศาสนาอื่นก็เป็นเทวดาได้

เล่ม ๑๑ หน้า ๑๗๔

“ท้าว เวสสุวัณกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โดยมากพวกยักษ์มิได้เลื่อมใสต่อผู้มีพระภาคเลย” พวกยักษ์(ความจริงเขียนว่า ยักข์) เป็นเทวดาเหล่าจาตุมหาราชิกา เป็นบริวารของท้าวเวสสุวัณ ท่านผู้รู้กล่าวว่า เทวดาเหล่านี้เวลาปฏิบัติหน้าที่จะแต่งสีแดงทำรูปเหมือนยักษ์ แต่เวลาไปเข้าพิธีทางการอะไรก็ทำรูปเป็นเทวดา สวยงาม

เล่ม ๑๕ หน้า ๙๔ กล่าวถึง “เทพบุตรผู้เป็นสาวกเดียรถีย์ต่างๆ “

การ ที่เทวดาบริวารท้าวเวสสุวัณไม่เลื่อมใสพระพุทธเจ้า ย่อมแสดงว่าท่านเหล่านั้นมิได้นับถือศาสนาพุทธ ด้วยเหตุนี้ จึงพอจะสรุปได้ว่าสวรรค์ นรก เป็นของสากล แต่ก็ต้องขอติงว่า คนในศาสนาอื่นก็คงเป็นได้แค่เทวดาชั้นไม่สูงนัก ยกเว้นพวกเล่นทางฌาณ ไม่ว่าศาสนาใดก็ไปเป็นพรหมได้(ถ้าตายโดยเข้าฌาณตาย) แต่จะไม่มีผู้ใดเข้าถึงพระนิพพานอันเป็นอมตสุขได้เลย

***คำ ถามอีกประการหนึ่งที่ชอบถามก็คือว่า เหตุใดพระพุทธเจ้าซึ่งสอนให้ไปนิพพาน จึงต้องอ้างเทวดา หรือสอนให้เห็นความดีของการไปแค่สวรรค์ด้วย ?

     ความจริง จะอ้างเทวดา อ้างสวรรค์ นรก หรือไม่ก็ตาม การปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าในด้าน อริยสัจ ๔ และปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์ ๘ ก็สามารถทำให้หลุดพ้นได้อยู่แล้ว แต่ความจริงก็มีอยู่ว่า ด้วยความเป็น “สารถี” ที่ดีของพระองค์ ท่านจึงได้ต้องสอนให้เหมาะกับวิสัยของผู้ฟังเทศน์แต่ละครั้ง ๆ หากไม่เหมาะสมที่จะสอนถึงระดับนิพพาน ท่านก็ต้องสอนเฉพาะที่วิสัยของคนผู้นั้นจะสามารถเข้าใจ และเข้าถึงได้ ว่ากันไป ทำไมมี ขอท่านผู้อ่านถามตัวเองแล้วตอบด้วยความสุจริตใจว่า ท่านรักพระนิพพานหรือไม่ ? ถ้ารัก ท่านได้เอาจิตจับอยู่ที่พระนิพพานตลอดเวลาหรือไม่ ท่านรู้หรือว่าถ้าจะเข้าพระนิพพานต้องทำอย่างไร และท่านกำลังปฏิบัติตัวเพื่อเข้าพระนิพพานอยู่หรือเปล่า โปรดตอบ ! เชื่อว่ากว่า ๙๐ เปอร์เซ็นต์ต้องตอบว่า เปล่า ฉะนั้น ไม่ต้องไปหาพยานที่ไหนก็ได้ สำหรับบุคคลประเภทนี้ยังไง ๆ จับขึ้นสวรรค์ไปก่อนก็ยังดีกว่าปล่อยให้ตกนรก นี่แหละเป็นเหตุผลว่าเหตุใดจึงยังต้องทรงสอนเรื่องสวรรค์ทั้งๆ ที่ตรัสว่าจุดหมายปลายทาง คือ พระนิพพาน

เล่ม ๒๕ หน้า ๑๒๗

“ลำดับ นั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงกำหนดใจของบริษัททุกหมู่เหล่าด้วยพระทัยแล้ว ได้ทรงกระทำไว้ในพระทัยว่าในบริษัทนี้ ใครหนอแล ควรจะรู้แจ้งธรรม”

     ท่านผู้รู้กล่าวว่า พระพุทธเจ้าทรงปฏิบัติเช่นนี้ทุกครั้งที่จะทรงแสดงธรรม(อย่าลืมในตถาคตพล ๑๐ นั้นทรงรู้ถึงความยิ่งและความหย่อนของอินทรีย์ของบุคคล) ดังนั้นหากในบริษัทนั้นไม่มีผู้ใดมีวิสัยจะเป็นพระอรหันต์ได้ ท่านก็เทศน์ระดับต่ำลงมาให้เหมาะกัน และสำหรับคนทั่ว ๆ ไปแล้ว คงจะควรแก่ระดับสวรรค์เสียเป็นส่วนมาก ท่านจึงทรงเทศน์แต่สวรรค์ในครั้งนั้น

     อันที่จริง สำหรับภิกษุในพุทธศาสนาซึ่งอุทิศตัวแล้วเพื่อพระนิพพาน ผู้ใดหวังแค่เป็นเทวดา ท่านก็ทรงตำหนิเอา

เล่ม ๑๒ หน้า ๑๖๖

เครื่องผูกพันใจ ๕ ได้แก่
๑. ไม่ปราศจากความกำหนัดในกาม
๒. ไม่ปราศจากความกำหนัดในร่างกาย
๓. ไม่ปราศจากความกำหนัดในรูป
๔. ประกอบความสุขในการนอน
๕. ปรารถนาเทพนิกายอันใดอันหนึ่ง

“ภิกษุ รูปใดรูปหนึ่งไม่ละตะปูตรึงใจ ๕ ประการเหล่านี้ ไม่ถอนเครื่องผูกพันใจ ๕ ประการเหล่านี้ ภิกษุนั้นหนอจักถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ในพระธรรมวินัยนี้ ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้”

     เท่าที่กล่าวมาแล้วนี้เป็นปัญหาเรื่องที่ว่าเทวดามีหรือไม่มีกันแน่เท่านั้น จะเห็นได้ว่าไม่ได้กล่าวถึงประโยชน์หรือความจำเป็นของเทวดา หรือว่าถ้าไม่มีเทวดาแล้วคำสอนของพระพุทธเจ้าจะเป็นไปไม่ได้ ลองค้นดูในทางธรรมในแง่ที่ว่า พระพุทธศาสนาจะอ้างเทวดาเพื่อให้คน(ป่าเถื่อน)เลื่อมใสกระมัง ก็มีคำตอบ ในเล่ม ๒๕ หน้า ๒๒๑

“ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พรหมจรรย์นี้ภิกษุไม่อยู่ประพฤติเพื่อประจบคน ไม่อดยู่ประพฤติเพื่อหลอกลวงประชาชน ไม่อยู่ประพฤติเพื่อประจบคน ไม่อยู่ประพฤติเพื่ออานิสงค์ คือ ลาภ สักการะ ความสรรเสริญ ไม่อยู่ประพฤติด้วยคิดว่าชนจงรู้จักเราด้วยอาการอย่างนี้ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ที่แท้พรหมจรรย์นี้ ภิกษุย่อมอยู่ประพฤติเพื่อการสำรวม และเพื่อการละ”

     เรื่องนี้ใครๆ ก็เห็นได้ว่าเป็นความจริง ยกตัวอย่างพระพุทธเจ้า ท่านจะเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์หรืออย่างน้อยเป็นพระเจ้าแผ่นดินก็ได้ ท่านสารีบุตรและท่านโมคคัลลาก็มีทรัพย์องค์ละ ๘๐ โกฏิ ท่านก็ละเสีย มาบิณฑบาตข้าวชาวบ้านกิน ซึ่งแปลว่าหากไม่มีใครใส่บาตรก็ต้องอด เมื่อท่านประพฤติเช่นนี้แล้ว การปั้นเรื่องว่ามีเทวดาเพื่อจะให้คนเลื่อมใสก็เป็นเรื่องที่ขัดกันอย่าง ยิ่ง

     ที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนนั้นส่วนมากไม่ทรงสอนถึงตัวเทวดาโดยตรง แต่มักจะทรงเน้นเรื่องสวรรค์นรกเป็นพิเศษอยู่บ่อยๆ (ตามที่เหมาะสมกับวิสัยของผู้ฟัง)ที่เป็นดังนี้ ก็เพราะพระเมตตาคุณของพระองค์นั่นเอง ความจริงจุดหมายที่ทรงกล่าวถึงสุคติ(โลกสวรรค์ เป็นต้น)นั้นน่าจะไม่ทรงมุ่งที่ตัวสวรรค์เองเท่าใดเลย หากจุดมุ่งสำคัญ คือ ทรงต้องการป้องกันไม่ให้คนลงนรกต่างหาก ถ้าใครยังไปนิพพานไม่ได้ อย่างน้อยก็ควรไปได้ถึงสวรรค์ อย่าได้พลัดลงนรกไปเลย

เล่ม ๒๒ หน้า ๓๖๕

“เรา ย่อมไม่พิจารณาเห็นเรือนจำอื่นเพียงแห่งเดียว ซึ่งร้ายกาจเป็นทุกข์ กระทำ**อันตรายต่อนิพพาน**ซึ่งเป็นธรรมเกษมจากโยคะ หาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ อย่างนี้ เหมือนเรือนจำคือ **นรก** หรือเรือนจำคือ กำเนิดสัตว์เดียรัจฉานเลย”

     คนบางคนไม่กลัวนรก คงจะคิดว่านรกก็เหมือนคุกในเมืองมนุษย์ อยากจะลองดูสักตั้งเหมือนกันว่ามันแน่แค่ไหน

เล่ม ๒๕ หน้า ๔๑๓ (คาถาประพันธ์ของพระพุทธเจ้า)

“สัตว์นรกทั้งหลาย จะพูดก็พูดไม่ได้ จะวิ่งหนีก็ไม่ได้ ไม่มีที่ต้านตานเลย”
ความต่อไปบอกว่านายนิรยบาลทำอะไรกับสัตว์นรกเหล่านั้นบ้าง ขอย่อมาดังนี้

- ลากขึ้นไปนอนบนภูเขาถ่านเพลิง ย่อมเข้าไปสู่กองไฟอันลุกโพลง
- เอาข่ายเหล็กพัน ตีด้วยค้อนเหล็ก
- เอาเข้าไปลอยในหม้อเหล็กที่มีไฟลุกโพลง
ฯลฯ

     รายละเอียดการลงทัณฑ์ชนิดอื่น น่าจะไม่จำเป็น เพราะเพียงถูกน้ำร้อนลวกนิดหนึ่งหรือไฟแลบไหม้นิ้วนิดเดียว เราก็ปวดแสบปวดร้อนแทบแย่อยู่แล้ว ไม่พึงประมาทคิดว่านรกเป็นที่ซึ่งจะอยู่ได้สบาย ๆ 

     นอกจากความทุกข์ทรมานสาหัสเช่นนี้แล้ว ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่านรกเป็นศัตรูใหญ่ของพระนิพพานนั้น น่าจะอยู่ที่ความนานของระยะเวลาในการรับโทษมากกว่าอย่างอื่น ยกตัวอย่างการตกปทุมนรกของพระโกกาลิกะเล่ามาแล้ว

ในเล่ม ๑๕ หน้า ๒๑๑

พวกภิกษุได้ฟังแล้วเกิดอยากทราบว่าปทุมนรกจะตกนานเท่าใดจึงทูลถาม

“เมื่อ พระผู้มีพระภาคตรัสเช่นนั้นแล้ว ภิกษุรูปหนึ่งได้ทูลคำนี้กะพระผู้มีพระภาคว่า พระเจ้าข้า ประมาณแห่งอายุในปทุมนรกนานเท่าไรหนอ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุ ประมาณแห่งอายุในปทุมนรกนานแลอันใครๆ ไม่กระทำได้โดยง่าย เพื่ออันนับว่าเท่านี้ปีหรือว่าเท่านี้ร้อยปี หรือว่าเท่านี้พันปี หรือว่าเท่านี้แสนปี”
ภิกษุนั้นทูลถามว่า “พระเจ้าข้า พระองค์อาจที่จะทรงกระทำอุปมาได้หรือ”
“พระ ผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกร ภิกษุ เราอาจอยู่ แล้วตรัสว่า ดูกรภิกษุ เปรียบเหมือนเกวียนบรรทุกงาแห่งชาวโกศลซึ่งบรรทุกงาได้ ๒๐ ขารี บุรุษพึงเก็บงาขึ้นจากเกวียนนั้นโดยล่วงร้อยปี ๆ ต่อเมล็ดหนึ่ง ๆ ดูกรภิกษุ เกวียนบรรทุกงาแห่งชาวโกศลซึ่งบรรทุกงาได้ ๒๐ ขารีนั้น พึงถึงความสิ้นไปหมดไปเพราะความเพียรนี้เร็วกว่า ส่วนอัพพุทนรกหนึ่งยังไม่ถึงความหมดสิ้นไปเลย ดูกรภิกษุ
“ ๒๐ อัพพุทนรก เป็นหนึ่ง นิรัพพุนรก
๒๐ นิรัพพุนรก เป็นหนึ่ง อพพนรก
๒๐ อพพนรก เป็นหนึ่ง อฏฏนรก ดูกร ภิกษุ
๒๐ อฏฏนรก เป็นหนึ่ง อหหนรก
๒๐ อหหนรก เป็นหนึ่ง กุมุทนรก
๒๐ กุมุทนรก เป็นหนึ่ง โสคันธิกนรก ดูกร ภิกษุ
๒๐ โสคันธิกนรก เป็นหนึ่ง อุปปลกนรก
๒๐ อุปปลกนรก เป็นหนึ่ง ปุณฑริกนรก
๒๐ ปุณฑริกนรก เป็นหนึ่ง ปทุมนรก
“ดูกร ภิกษุ ก็ภิกษุโกกาลิกเข้าถึง ปทุมนรกแล้วแล เพราะจิตอาฆาตในภิกษุชื่อว่าสารีบุตรและโมคคัลลานะ”

     เราลองสมมติว่า เม็ดงา ๑ เล่มเกวียนมี ๑ ล้านเมล็ด(ควรจะมากกว่า) ถ้า ๑๐๐ ปี หยิบออก ๑ เมล็ด ก็กินเวลา ๑๐๐ ล้านปีจึงจะหยิบออกหมด เป็นระยะเวลาของ ๑ อัพพุทนรก คำนวณดูแล้ว ถ้าตกปทุมนรกจะต้องอยู่ที่นั่นประมาณ ๕๐๐ ล้านล้านล้านปี (เลข ๕ แล้วมีศูนย์ต่ออีก ๒๐ ศูนย์) หลุดจากที่นั่นยังมาผ่านการเป็น เปรต อสุรกาย สัตว์เดียรัจฉาน และมนุษย์ไม่สมประกอบอีกมากมายจึงจะเป็นคนที่สมบูรณ์โดยปกติ ถ้ามาเกิดในเวลาที่ไม่มีพระพุทธศาสนา หรือมีแต่ไปเกิดในประเทศที่ไม่ได้ยินถึงพระพุทธศาสนาเข้าอีกด้วยก็ยิ่งแย่

     โดยสรุปแล้ว ที่ทรงกล่าวถึงสวรรค์(สำหรับผู้ยังมีวิสัยไม่เข้าถึงพระอริยะ) ก็ด้วยเมตตาป้องกันมิให้คนลงนรกนั่นเอง ไม่ใช่ต้องการแต่งขึ้นมาขู่คนโง่สมัยนั้น ตามที่มีบางคนชอบพูดกัน พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้บอกเท่านั้น ไม่เคยอ้อนวอนให้ใครเชื่อ และไม่ต้องถึงกับแต่งเรื่องขู่ผู้อื่นให้เชื่อด้วย

***อย่างไรก็ดี อาจจะมีคนสงสัยว่า แล้วเรื่องผีล่ะ มีจริงหรือ ?

     เรื่องผีหรือปีศาจนี้ พระไตรปิฎกไม่ให้ความกระจ่างว่าเป็นอะไรกันแน่ อาจกินความรวมไปถึงเทวดาด้วยก็เป็นได้ เพราะพระอินทร์เองก็มีชื่อว่า จอมภูต ตามเรื่องที่ปรากฏนั้น ไม่ปรากฏว่ามีผีออกมาแสดงบทบาทจริงจังอะไร มีแต่การกล่าวถึงบ้างเท่านั้น

เล่ม ๑ หน้า ๓๗๘ พระวินัยบัญญัติว่า ภิกษุหมอผีปลงชีวิตยักษ์เป็นอาบัติถุลลัจจัย ท่านกล่าวไว้แค่นี้ ไม่ทราบว่ายักษ์กับผีอันเดียวกันหรือไม่

เล่ม ๑ หน้า ๓๘๑ เล่าเรื่องภิกษุถูกผีเข้า แล้วถูกเพื่อนประหาร ไม่ได้อธิบายประกอบว่าผีคืออะไร

เล่ม ๔ หน้า ๒๘๗ “ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ภิกษุทั้งหลายในศาสนานี้ จำพรรษาแล้วถูกพวกปิศาจรบกวน มันเข้าสิงบ้าง พาเอาไปบ้าง พวกเธอพึงหลีกไปด้วยสำคัญว่านั่นแลอันตราย ไม่ต้องอาบัติแต่พรรษาขาด”

เล่ม ๕ หน้า ๔๒ “เราอนุญาตเนื้อดิบ เลือดสดในพระอาพาธเกิดแต่ผีเข้า”
(คือปรากฏเรื่องมาก่อนว่าผีเข้าแล้ว ภิกษุนั้นเดินไปกินเนื้อดิบ เลือดสดเข้า ก็หายเหมือนปลิดทิ้ง)

เล่ม ๔ หน้า ๒๑๕ ทรงอนุญาตให้สวดปาฏิโมกข์ย่อได้ในเมื่อภิกษุถูกผีเข้า

     นอกจากนี้แล้วยังมีอีกหลายแห่ง แต่ก็เป็นไปในลักษณะเดียวกัน คือ ไม่ได้บอกว่าเป็นอะไร เช่น เล่ม ๒๗ หน้า ๔๓๖ เป็นชาดกกล่าวว่า “ยักษ์ก็ดี ปีศาจก็ดี หรือเปรตก็ดี โกรธเคืองแล้วย่อมเข้าสิงมนุษย์ได้ แต่ไม่สามารถเข้าสิงมัจจุราชได้”

     พิจารณาดูแล้ว ผีหรือปีศาจก็คงจะเป็นอะไรที่มองไม่เห็นตัวอย่างหนึ่งที่มีความชำนาญเป็น พิเศษในการเข้าสิง แต่ในเมื่อไม่มีบทบาทเกี่ยวข้องในการปฏิบัติธรรม ก็ย่อมไม่มีความสำคัญ หากมีใครถามว่าผีมีจริงหรือ อย่างดีที่สุดคงจะตอบได้แต่เพียงว่า ผีมี เพราะเห็นมีกล่าวถึงไว้ในพระไตรปิฎก

******

สมถะ

---------------------------------------------

 

 

 



ความเห็น (2)
มีจริง ๆ นะค่ะ

มีจริงครับ ผมยืนยัน อยากทราบ อมนุษย์ ผี เทวดา ประสบกาณ์จริงในยุคนี้ พ.ศ นี้ แล้วพิมพ์ว่า อมนุษย์ ผี เทวดา มีจริง

ที่นักวิทยาศาสตร์ยังพิสูจน์ไม่ได้ (ลองอ่านประสบการณ์ของกระผมดู)☺☺☺

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท