กศน.กับการจัดการความรู้ชุมชน


สรุปอย่างสั้นที่สุดที่ผู้อภิปรายบนเวทีพูดกันคืออยากเห็นกฏหมายการศึกษานอกโรงเรียนและการศึกษาตามอัธยาศัย และกฏหมายรัฐธรรมนูญซึ่งกำลังร่างกันอยู่ ได้บรรจุเกี่ยวกับรายละเอียดหรือหัวข้อของการศึกษาชุมชน การศึกษาภาคประชาชน ที่ประชาชนอยากรู้อยากเรียนอะไรก็มีกลไกหนุนเสริมให้ประชาชนมีสิทธิและเข้าถึงโอกาสเช่นว่านี้ได้ง่ายที่สุด

ผมเดินทางไปสถาบันการศึกษาและพัฒนาต่อเนื่องสิรินธร อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ตั้งแต่เย็นวันศุกร์ที่ 16 มี.ค. โดยรถโดยสารประจำทาง

ตีสี่กว่าของวันที่ 17 มี.ค.ก็ถึงโรงแรมเอเซีย ราชเทวี กรุงเทพฯ

นั่งรออยู่ที่โซฟาด้านหน้าจนถึงแปดโมงเช้าห้องประชุมเปิด ผมจึงคือคนแรกที่ถึงห้องประชุม

เนื่องจากว่าวันที่ผมไปถึงเป็นวันที่สองของการประชุมสัมมนาทางวิชาการ : ครั้งที่ 2 เรื่องการจัดการความรู้ : การเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างยั่งยืน ก็ไม่มีอะไรแจกแล้ว เพราะเขาแจกผู้ลงทะเบียนเข้าประชุมกว่า 500 ท่านไปหมดแล้ว แม้แต่บทความทางวิชาการที่ผมเขียนเองที่ทางฝ่ายผู้จัดคือสมาคมส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิตไทย (สศชท.)ร่วมกับสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียนขอให้ผมเขียนให้  แต่โชคดีที่ท่าน ผอ.วิมล วัฒนา ผอ.กศน.จังหวัดนครศรีธรรมราชได้รับเผื่อไว้ให้ชุดหนึ่ง

ก็ดีใจและภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมเล็กๆในงานใหญ่มหึมานี้

การประชุมสัมนนาในวันที่สองนี้ประชุมกันเพียงครึ่งวันเท่านั้น โดยเป็นการอภิปรายในหัวข้อเดียวกับชื่อการประชุมสัมมนาคือการจัดการความรู้ : การเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างยั่งยืน ผู้อภิปรายประกอบด้วย ดร.สนั่น อินทรประเสริฐ คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญและสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ นายวิชม ทองสงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ รศ.ดร.อุทัย ดุลยเกษม คณบดีสำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นายโชคชัย ลิ้มประดิษฐ์ องค์กรชุมชน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์  และนายสำราญ รอดเพชร สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดำเนินการอภิปราย

กว่าจะเริ่มอภิปรายได้ก็ล่าช้าไปราว 45 นาที ผมซึ่งพกวีซีดีเกี่ยวกับKM ไปด้วยสำหรับใช้ที่ปากช่อง โดยเฉพาะแผ่นขับเคลื่อนเครือข่าย KM ประเทศไทย (ของรางวัลที่ได้รับในโอกาสที่เป็นดาวเด่นหลังงานมหกรรม NKM 3 ) เหมาะมากกับการประชุมนี้ ได้ประสานขออนุญาตทางฝ่ายผู้จัดแล้ว แต่โชคไม่ดีที่ จทน.โรงแรมบอกว่าโน้ตบุ๊คที่ใช้อยู่มีปัญหาใช้เล่นวีซีดีที่ผมเตรียมไปไม่ได้

ภาพนี้มืดไปหน่อย ท่านผู้ว่าฯวิชม ทองสงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช กำลังอภิปรายเรื่องชุมชนเรียนรู้ ชุมชนอินทรีย์

ภาพนี้ รศ.ดร.อุทัย ดุลยเกษม คณบดีสำนักวิชาศิลปศาสตร์ ม.วลัยลักษณ์ กำลังอภิปรายให้ กศน.ปรับเปลี่ยนการเรียนรู้ของชุมชนให้เข้ากับบริบทและทุนของชุมชน

สรุปอย่างสั้นที่สุดที่ผู้อภิปรายบนเวทีพูดกันคืออยากเห็นกฏหมายการศึกษานอกโรงเรียนและการศึกษาตามอัธยาศัย และกฏหมายรัฐธรรมนูญซึ่งกำลังร่างกันอยู่ ได้บรรจุเกี่ยวกับรายละเอียดหรือหัวข้อของการศึกษาชุมชน การศึกษาภาคประชาชน ที่ประชาชนอยากรู้อยากเรียนอะไรก็มีกลไกหนุนเสริมให้ประชาชนมีสิทธิและเข้าถึงโอกาสเช่นว่านี้ได้ง่ายที่สุด

สำหรับท่านรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน แล้ว ท่านอยากจะเห็น กศน.ทำหน้าที่นักจัดการความรู้ชุมชน

ครับ! สำหรับครึ่งวันที่ผมอยู่ที่โรงแรมเอเซีย ผมได้ความรู้ประสบการณ์มากทีเดียว รายละเอียดผมจะทยอยนำเสนอในโอกาสต่อไป

สิ่งที่ได้เกินคาดคือผมได้รู้จักกับ อ.วิมลพรรณ กุลัตถ์นาม หรือน้องอ๊อด จาก กศน.จังหวัดสุรินทร์ ที่เข้ามาทักทายผม บอกว่ารู้จักผมทางบล็อก อยากเรียนรู้เรื่องบล็อกจากผม ผมบอกว่ากำลังจะเดินทางไปปากช่องเกี่ยวกับแนะนำเรื่องบล็อกอยู่พอดี ท่านก็รับปากว่าจะให้อาศัยรถของ กศน.จังหวัดสุรินทร์ แต่พอเช็คจำนวนผู้โดยสารแล้วมันเกิน ท่านก็ใช้ความพยายามหารถให้ใหม่ จนในที่สุดก็ได้อาศัยรถของ กศน.จังหวัดมุกดาหารเดินทางในครั้งนี้

น้ำใจของเพื่อนพี่น้องชาว กศน.จังหวัดภาคอีสานเปี่ยมล้นจริงๆ

เมื่อผมเดินทางไปถึงปากช่อง ก็เห็นอาจารย์อ๊อด อยู่ที่ อ.ปากช่อง (ที่ประชุมแล้ว) บอกว่าเปลี่ยนใจในระหว่างทาง ไม่กลับสุรินทร์ แต่จะขอร่วมเป็นนักเรียนเรียนเรื่องบล็อกที่ปากช่องก่อนสักครึ่งวันในวันที่ 18

แหม ! ดีใจที่ได้เพื่อนเรียนรู้ที่มีคุณภาพเยี่ยงนี้ ชื่นชมเธอจริงๆ

ขอขอบคุณทั้ง กศน.จังหวัดสุรินทร์ และมุกดาหารมากครับที่เอื้อเฟื้อการเดินทางและข้อมูล

หมายเลขบันทึก: 85772เขียนเมื่อ 22 มีนาคม 2007 22:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (21)
ครูนงเดินทางไกลจริงๆ นะคะ ทั่วประเทศไทยหรือยังคะเนี่ยะ

ผมขอยกย่องให้ครูนงเป็นวิทยากร KM และวิทยากร บล็อก ในดวงใจของผมครับ     ขอให้ได้รับปิติสุขจากการทำดีเพื่อสังคมครับ

วิจารณ์

         ขอแสดงความชื่นชมกับครูนงอีกคนครับ
ปัทมาวดี โพชนุกูล ซูซูกิ

สวัสดีค่ะครูนง    ติดตามอ่านด้วยความสนใจและชื่นชมค่ะ   

ทีม Roadmap เศรษฐกิจพอเพียงของ อ.อภิชัย พันธเสน จะจัดระดมสมองในวันที่ 19 เมษายนนี้ที่ กทม.   หนึ่งในองค์ประกอบสำคัญที่เราคิดว่าเป็นประเด็นใหญ่ประเด็นหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงคือ เครือข่ายการเรียนรู้ (ที่กว้างและเป็นพลังที่เป็นจริงสำหรับสังคมไทยมากกว่า "การศึกษาในระบบ")  คิดว่าจะเรียนเชิญครูนงและหลายๆท่านที่มีชื่ออยู่ในบล็อคของครูนงด้วยค่ะ 

โจทย์ที่เราอยากเรียนขอความเห็นในการระดมสมองคือ  ประเด็นวิกฤติในเรื่องเครือข่ายการเรียนรู้สำหรับชุมชนคืออะไร  (เช่น ในกรณีของภาคเกษตร  ประเด็นวิกฤติคือเรื่องหนี้สิน)  เป้าหมายที่อยากเห็นสำหรับเครือข่ายการเรียนรู้คืออะไร   จะฝ่าฟันประเด็นวิกฤติตรงนี้ไปสู่เป้าหมายได้อย่างไร  .... อะไรทำนองนี้ค่ะ

ขอบคุณค่ะ

 

 

ปัทมาวดี โพชนุกูล ซูซูกิ
อ้อ  ยังไม่ลืมสัญญาที่จะส่งเอกสารเกี่ยวกับยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุขจังหวัด (เท่าที่หาได้) ให้ครูนง  เพียงแต่ตอนนี้ยังวิ่งไปวิ่งมา   หยุดวิ่งเมื่อไหร่  จะจัดการให้นะคะ

คุณ หมอนนทลี ครับ

              เล็กๆน้อยๆที่อยู่ในวิสัยที่จะช่วยได้ก็ช่วยครับ คงมากมายอย่างคุณหมอว่าไม่ได้หรอกครับ ....แอะๆ โดนคุณหมอแซวอีกแล่ว...

ท่านรองฯรัฐเขต แห่งสถาบันฯสิรินธร

             ดีใจที่ท่านรองฯรัฐเขตให้ความสนใจติดตาม

ท่าน ศ.นพ.วิจารณ์

            รู้สึกว่าพรของอาจารย์หมอทำให้มีกำลังใจทำงานไม่น้อย ขอบคุณครับ

น้องสิงห์ป่าสัก ครับ

            ขอบคุณครับ .... แบบว่าทำไปเรื่อยๆ ใจมันอยากจะทำอะไรอยู่เสมอครับ หยุดคิด หยุดทำไม่ได้

ท่าน รศ.ดร.ปัทมาวดี ครับ

              เครือข่ายการเรียนรู้เป็นประเด็นที่น่าสนใจมากครับ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อใดๆก็ตาม หากสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ได้ก็จะเกิดความยั่งยืน สืบทอด และเข้มแข็งครับ

             ขอบคุณครับ

เข้ามาช้า (ดีกว่าไม่มาคะ) รู้สึกดีใจมากที่ได้มี "โอกาส" อำนวยความสะดวกให้ครูนงมากกว่า และต้องขอบคุณสถาบันฯ สิรินธร ที่ให้โอกาสให้คนกศน.ได้เข้าร่วมแจมความรู้เรื่องบล็อกจากวิทยากรชั้นนำอย่างครูนง การเดินทางแห่งความรู้นั้นมีเส้นทางที่ทอดให้เราเข้าถึงเสมอ สำคัญที่ใจใฝ่รู้เป็นพอ ขอบคุณคะ

น้องครูอ๊อด ครับ

         โปรดแจ้งชื่อบล็อก ลิ้งค์ ด้วยครับ ติดขัดตรงไหนบอกนะครับ

เมื่อวานนี้ น้องรัฐเขตไปสอนให้ตั้งบล็อก ที่กจ. งานยุ่งทั้งวันวันนี้กลับถึงบ้านกว่าจะหาบล็อกตัวเองเจอก็เหงื่อตก ลองผิดลองถูกไปเรื่อย ๆ แล้วก็แวะเข้ามาชื่นชมครูนง เป็นความภาคภูมิใจของคน กศน.จริงๆ

ครูนงเป็นหัวแรงสำคัญในการจัดการความรู้ ขอคารวะด้วยความจริงใจค่ะ

 

อ.แอ๊ว ครับ

        ดีใจที่เห็นอาจารย์แอ๊ว คนระดับบนสุดของสำนัก กศน.สนใจเรื่อง KM และหันมาเปิดบล็อกเพื่อเล่าและแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานกัน อย่าลืมบอกชื่อบล็อก ลิ้งค์ ด้วยนะครับ ขออภัยที่เจอกันที่สถาบันฯสิริธร แล้วไม่ได้วิสาสะอะไรกัน

ดีใจจังคุยกะครูนงได้แล้ว (หลังจากเปิดหาอยู่นาน)น้องรัฐเขตเขาช่วยตั้งบล็อกให้แต่ยังไม่ได้สอนวิธีใช้อธิบายนิดหน่อยแล้วก็ต้องรีบกลับสถาบัน คนแก่ๆอยากทันสมัย ก็เลยต้องลองผิดลองถูกไปเรื่อย ๆ  การบอกชื่อบล็อกลิงค์สงสัยจะทำไม่ถูก นี่แหละนาตอนครูนงสอนพวกผู้บริหาร ก็มัวแต่ไปรับวิทยากรเลยไม่ได้ฟัง สงสัยต้องรบกวนครูนงช่วยแนะนำค่ะ        

พี่แอ๊ว ครับ

               ง่ายๆเป็นดังนี้ครับ ......อย่างบล็อกของผมชื่อว่าครูนอกโรงเรียน ชื่อบล็อกนี่ก็ประมาณว่าชื่อหนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ เดิลนิวส์ มติชน ฯลฯ นั่นแหละครับ ว่าที่จริงพี่บอกชื่อบล็อกมาเท่านี้ผมก็สามารถค้นหาเข้าถึงบล็อกพี่ได้แล้ว หรือแม้แต่จากที่จริงนามสกุลจริงหรือชื่อแฝงก็สามารถค้นหาได้

                ลิ้งค์ก็คือที่อยู่ของบล็อกครับพี่ อย่างครูนอกโรงเรียน ผมใช้เป็นภาษาอังกฤษว่า nfeteacher ที่อยู่หรือลิ้งของผมคือ http://gotoknow.org/blog/nfeteacher พี่เข้าไปดูลิ้งค์หรือที่อยู่บล็อกของพี่ได้ โดยเข้าไปที่เมนูแผงควบคุม ต่อไปที่เมนูแก้ไข เท่านั้นแหละพี่มันจะโชว์ที่อยู่หรือลิ้งค์ที่พี่เคยให้ไว้เคยเขียนเอาไว้

              ลองทำดูนะพี่ ไม่ทำไม่รู้นะพี่

              อย่างไรเสียวันนี้ผมคงจะค้นหาบล็อกพี่เจอแน่นอนเพราะผมรู้ชื่อจริงนามสกุลจริงของพี่ แต่ที่บอกมาทั้งหมดอยากให้พี่ได้เรียนรู้ครับ มาเป็นนักเรียนกันครับ

        

สวัสดีค่ะครูนง

  • วันนี้งานยุ่งมากมายแต่ก็เป็นเรื่องที่ดีเพราะโครงการพัฒนาข้าราชการผ่านการเห็นชอบของสำนักฯ เรียบร้อยแล้ว ในปีนี้ข้าราชการ  ทุกคนจะได้รับการพัฒนาอย่างถ้วนทั่ว และประเด็นยุทธศาสตร์หนึ่งที่ทุกคนจะได้รับการพัฒนา คือเรื่อง การจัดการความรู้ ครูนง คงต้องมาช่วยกันพัฒนาหลักสูตรตรงนี้นะ และจะมีการติดต่อกลับไปอย่างเป็นทางการ
  • วันนี้พี่ลองเข้าระบบ ทักทายกะครูนง เสร็จแล้วจะลองทำตามคำแนะนำนะคะ ถ้าสงสัยพี่จะถามมาอีกค่ะ

เจ๊แอ๋ว ครับ

          ดีใจจังเลยที่เจ๊แอ๋วพยายามทำจนสำเร็จจนได้ ผมได้ตามไปอ่านไปชื่นชม แนะนำเพิ่มเติมแล้วครับ คลิ๊กอ่านนะครับ

http://gotoknow.org/blog/toomtip1/86791

สวัสดีค่ะครูนง

  • ตามมาอ่านบล็อกครูนงเมื่อวานท่องแพลนเน็ต (รวมบล็อก)ของครูนง โอโหได้ความรู้มากมาย ทำไมเราโง่ อยู่นาน สัญญาค่ะว่าจะชักชวนคนอื่นมาเรียนรู้ผ่านบล็อกด้วย ขอบคุณครูนง ผู้บุกเบิกชักชวนให้มีชุมชนบล็อก(กศน.)ที่เข็มแข็งอย่างนี้ค่ะ

อ.แอ๊ว ครับ

          ดีใจที่ได้มีคนอย่าง อ.แอ๊วเข้ามาร่วมก๊วนอย่างแข็งขันทำงานรับใช้ประชาชนคนที่อยู่นอกระบบ นกจะบินไกลเมื่อบินไปกับฝูง คำกล่าวนี้จะต้องเป็นจริงกับคน กศน.อย่างแน่นอน ค่อยๆจีบ ชี้แจงคนอื่นมาเป็นพันธมิตร เครือข่าย เข้ามาอยู่ในฝูง เพื่องาน กศน.เราจะได้เป็น กศน.ของประชาชนอย่างแท้จริง

          ผมรู้สึกดีใจไปกับแนวคิดและความตั้งใจจริงของ อ.แอ๊วที่จะขยายเครือข่ายของครับ ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท