ไตรสิกขา อธิบายอย่างไร...?


ศีล สมาธิ ปัญญา

ไตรสิกขา อธิบายอย่างไร...?

 

หลักธรรมที่พระพุทธองค์ทรงสอนพระอานนท์บ้าง  แก่พระภิกษุสงฆ์ที่มาเข้าเฝ้าตามรายทางบ้าง  ในช่วงที่เสด็จพุทธดำเนินจากกรุงราชคฤห์  มุ่งตรงไปยังเมืองกุสินารา  สถานที่ดับขันธปรินิพพาน  ธรรมะที่ทรงแสดงมากที่สุด  ก็คือเรื่อง  ไตรสิกขา

ขณะประทับอยู่  ณ  เขาคิชกูฏ  เขตพระนรคราชคฤห์นั้น  พระบาลีบันทึกไว้ว่าธรรมีกถา  เรื่อง ไตรสิกขา  พระองค์ได้ตรัสสอนภิกษุทั้งหลายบ่อยที่สุด  ทรงสรุปประโยชน์ของไตรสิกขาไว้ว่า

"อย่างนี้ศีล  อย่างนี้สมาธิ  อย่างนี้ปัญญา  สาธิอันศีลอบรมแล้วย่อมมีผลใหญ่  มีอานิสงค์ใหญ่  ปัญญาอันสมาธิอบรมแล้ว  ย่อมมีผลใหญ่  มีอานิสงค์ใหญ่  จิตอันปัญญาอบรมแล้ว  ย่อมหลุดพ้นจากอาสวะโดยชอบ  คือ  กามาสวะ  ภวาสวะ  อวิชชาสวะ"

ไตรสิกขา  เป็นระบบฝึกฝนอบรมกาย  วาจา  ใจ  หรือฝึกฝนอบรมใน  ๓  ด้านใหญ่ ๆ  คือ  ทางปัญญา  ทางศีล  และทางจิต  คือ สรุปเนื้อหาของอริยมรรคมีองค์  ๘  ไตรสิกขากับอริยมรรคมีองค์ ๘  ก็เป็นอย่างเดียวกันนั่นเอง

เพราะฉะนั้น  ถ้าใครพูดว่าแนวทางปฏิบัติเพื่อพ้นทุกข์  คือ  ไตรสิกขา  เรียกว่าเขาพูดถูก  หรือใครจะพูดว่าแนวทางปฏิบัติเพื่อพ้นทุกข์  คือ  อริยมรรคมีองค์ ๘  ก็เรียกว่าพูดถูกอีกเหมือนกัน

ธรรมะเป็นอุปกรณ์หรือวิธีการปฏิบัติเพื่อบรรลุถึงที่สิ้นสุดทุกข์  เรียกโดยทั่วไปว่า  มัชฌิมาปฏิปทา  หรือ  อริยมรรคมีองค์ ๘  คือ

๑. สัมมาทิฐิ          ความเห็นชอบหรือความเข้าใจถูกต้อง

๒. สัมมาสังกัปปะ   ความดำริชอบ

๓. สัมมาวาจา        เจรจาชอบ

๔. สัมมากัมมันตะ   การงานชอบ

๕. สัมมาอาชีวะ      เลี้ยงชีพชอบ

๖. สัมมาวายามะ     พยายามชอบ

๗. สัมมาสติ          ระลึกชอบ

๘. สัมมาสมาธิ       ตั้งใจมั่นชอบ


ทั้ง ๘  ประการนั้น  "มรรค"  หรือแนวทางหรือหลักการที่จะต้องปฏิบัติควบคู่กันไปเป็นกระบวนการ  มิใช่ยกขึ้นมาทำทีละอย่าง ๆ  ให้เสร็จในตัวแบบบันได ๘ ขั้น  อะไรทำนองนั้น  หากแต่ต้องประสานกลมกลืนกัน  เกี่ยวข้องสัมพันธ์เป็นเนื้อเดียวกัน  ดุจเกลียวเชือก  เกลียวฟั่นเข้าเป็นเชือกเส้นเดียวตั้งแต่ต้นจนปลายเชือก  ฉะนั้น  ในการปฏิบัติจริงจะเริ่มจากจุดไหนก็ได้  เช่น

๑. เริ่มที่ความรู้ความเข้าใจและความคิด (  สัมมาทิฐิ  สัมมาสังกัปปะ = อธิปัญญาสิกขา)  

จะต้องมีความเข้าใจ  หรือความเชื่อที่ถูกต้องตรงแนวทางเสียก่อน  เมื่อมีพื้นฐานความเชื่อความเข้าใจที่ถูกต้องแล้ว  ค่อยขยายไปที่การควบคุมพฤติกรรมทางกาย  วาจา ( สัมมาวาจา  สัมมากัมมันตะ  สัมมาอาชีวะ  = อธิศีลสิกขา)  ให้อยู่ในสภาพที่พร้อมและเอื้อต่อการพัฒนาที่สูงขึ้น  จากนั้นจึงฝึกฝนอบรมจิตใจ (สัมมาวายามะ  สัมมาสติ  สัมมาสมาธิ = อธิจิตสิกขา)  ซึ่งเป็นชั้นภายในละเอียดกว่าให้ได้ผลดีต่อไป

ในระหว่างที่อบรมตามขั้นตอนต่างๆ นี้  องค์ประกอบแต่ละอย่าง ๆ จะค่อย ๆ พัฒนาตัวมันเอง  และเสริมหรือเกื้อหนุนขั้นตอนนั้นๆ  ให้เพิ่มพูนและชัดเจนยิ่งขึ้น

เช่นองค์ประกอบทางปัญญา  ในขณะที่ผู้ปฏิบัติฝึกฝนอบรมขั้นศีลหรือขั้นจิต  ตัวปัญญาความรู้ความเข้าใจซึ่งเป็นพื้นฐานเดิมนั้นจะค่อยๆ พัฒนาแก่กล้าขึ้น  ชัดเจนขึ้น  เกื้อหนุนให้องค์ประกอบทางด้านศีลและด้านจิตถูกต้องสมบูรณ์ขึ้น  อาศัยศีลและจิตที่สมบูรณ์นั้นเอง  ปัญญานั้นก็จะพัฒนาถึงขั้นรู้แจ้งเห็นจริง  ทำจิตให้หลุดพ้นจากอาสวกิเลสทั้งปวง  เป็นอันสิ้นสุดกระบวนการฝึกฝนอบรม

๒.  เริ่มที่การควบคุมพฤติกรรม  ( สัมมาวาจา  สัมมากัมมันตะ  สัมมาอาชีวะ  = อธิศีลสิกขา)

วิธีเน้นไปที่การฝึกฝนอบรมความประพฤติทางกายทางวาจาอย่างจริงจัง  อาศัยความรู้ความเข้าใจพอเป็นพื้นฐานเท่านั้น  เมื่อศีลถูกต้องสมบูรณ์แล้วก็ก้าวเข้าไปสู่การฝึกฝนอบรมจิตใจอันเป็นขั้นประณีตยิ่งขึ้นจนถึงระดับสุดท้าย  คือ  ทำปัญญาให้แก่กล้าจนสามารถพ้นจากตัณหาอุปาทาน

ระบบนี้นิยมทำกันทั่วไป  จนเรียกติดปากชาวพุทธทั้งหลายว่า  "ศีล - สมาธิ - ปัญญา"  อาจเป็นเพราะว่าการควบคุมพฤติกรรมทางกาย  วาจา  เห็นได้ง่าย  และทำได้ง่ายกว่าการที่จะเริ่มต้นพัฒนาจิตหรือปัญญาก็ได้  จึงเป็นที่นิยมแพร่หลาย

๓. เริ่มที่ฝึกฝนจิตหรือสมาธิ  (สัมมาวายามะ  สัมมาสติ  สัมมาสมาธิ = อธิจิตสิกขา)  

อาศัยความรู้ความเข้าใจพอเป็นพื้นฐานเท่านั้นแล้วเริ่มฝึกอบรมจิตอย่างเข้มงวด  ในระหว่างนั้นองค์ประกอบแต่ละอย่าง ๆ จะค่อยเกิดขึ้นและเสริมเติมเต็มให้แก่กัน  จิตเป็นสมาธิ  แน่วแน่ใสสะอาด  พฤติกรรมหรือศีลก็จะเกิดขึ้นเอง  เมื่อศีลสมาธิพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ  ปัญญาความรู้ความเข้าใจซึ่งเป็นพื้นฐานเดิมอยู่แล้วจะค่อยๆ พัฒนาแก่กล้าชัดเจนขึ้น  เกื้อหนุนให้องค์ประกอบทางด้านศีลและสมาธิถูกต้องสมบูรณ์ยิ่งขึ้น  อาศัยศีลและจิตที่สมบูรณ์นั้นเอง  ปัญญาก็จะสามารถรู้แจ้งเห็นจริงทำอาสวะให้หมดไปได้ในที่สุด

--->>>  ที่พูดมาทั้งหมดนี้เป็นหลักวิชา  หลักวิชาจะแจ่มแจ้งชัดขึ้นเมื่อลองปฏิบัติดู  การเกิดประสบการณ์แต่ละขั้นตอนนั้น  จะเป็นตัวทดสอบหลักวิชา  และเกิดความเข้าใจยิ่งขึ้นด้วยตนเอง


--->>>     สรุปสั้นๆ ดังนี้  

๑. สัมมาทิฐิ  สัมมาสังกัปปะ = สรุปลงในอธิปัญญาสิกขา

๒. สัมมาวาจา    สัมมากัมมันตะ    สัมมาอาชีวะ  = สรุปลงในอธิศีลสิกขา

๓. สัมมาวายามะ  สัมมาสติ  สัมมาสมาธิ = สรุปลงในอธิจิตสิกขา


ความสัมพันธ์ของอริยมรรคมีองค์ ๘  กับไตรสิกขา  มองเห็นได้ง่ายในชีวิตประจำวัน  เช่น  เมื่อมีความบริสุทธิ์ทางด้านความประพฤติ  เชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ของตน  ไม่หวาดต่อการลงโทษ  ไม่สะดุ้งระแวงต่อการประทุษร้ายของคู่เวร  ไม่หวั่นใจเสียวใจต่อเสียงตำหนิหรือความรู้สึกไม่ยอมรับของสังคม  และไม่มีความฟุ้งซ่านวุ่นวายใจ  เพราะความรู้สึกเดือดร้อนรังเกียจในความผิดของตนไม่มี  จิตใจจึงจะปลอดโปร่ง  สงบแน่วแน่  มุ่งมั่นต่อสิ่งที่คิด  คำที่พูด  และการที่ทำได้  ยิ่งจิตไม่ฟุ้งซ่าน  สงบมุ่งมั่นเน่วแน่เท่าใด  การคิดการพิจารณาการรับรู้สิ่งต่างๆ ก็ยิ่งชัดเจนและคล่องตัว  เป็นผลดีในทางปัญญามากขึ้นเท่านั้น

ความประพฤติที่บริสุทธิ์และเชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ของตน  เป็นเรื่องของศีล (สัมมาวาจา    สัมมากัมมันตะ    สัมมาอาชีวะ)  

การที่จิตปลอดโปร่ง  สงบแน่วแน่มุ่งมั่นต่อสิ่งที่คิด  คำที่พูด  การที่ทำ  เป็นเรื่องของจิตหรือสมาธิ  (สัมมาวายามะ  สัมมาสติ  สัมมาสมาธิ )

การรับรู้สิ่งต่างๆ ชัดเจนขึ้น  เข้าใจอะไรง่ายขึ้น  อันเป็นผลจากจิตสงบนั้น  เป็นเรื่องของปัญญา  (สัมมาทิฐิ  สัมมาสังกัปปะ )

-->>  ดังนั้นเรื่องของไตรสิกขา หรือ อริยมรรคมีองค์ ๘ จึงเป็นเรื่องของการทำงานร่วมกันเป็นองค์รวมเกื้อกูลกันและกันไปเป็นลำดับ  ศีล  สมาธิ  ปัญญา  เป็นเรื่องที่ต้องลงมือปฏิบัติผลอันสัมพันธ์กันและเกื้อกูลต่อการพัฒนาไปสู่ฝั่งมรรคผลนิพพานก็จะปรากฏขึ้นได้...

----------------------------------------------------------

เว็บแนะนำครับ 

www.khunsamatha.com
 

หมายเลขบันทึก: 85713เขียนเมื่อ 22 มีนาคม 2007 18:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 23:33 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

อยากได้การใช้ในชีวิตประจำวันค่ะ

ได้ไหม(ต้องการมาก)

ง่ายเหมือนกันน่ะเนี่ย

อยากได้การบูชาคะ

ต้องการพรุ่งนี้ (ด่วน)

คะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท