ภาพรวมการดำเนินงานของ สคส. ในปี 2548


น่าจะเดินมาถูกทาง

ภาพรวมการดำเนินงานในปี 2548


วิเคราะห์ตามยุทธศาสตร์ในการดำเนินงาน
          ในภาพรวมการดำเนินงานในปี 2548   ถือได้ว่าเป็นปีที่คณะผู้ดำเนินการรู้สึกมั่นใจและผ่อนคลาย   ว่าการดำเนินการริเริ่มสร้างสรรค์และวางรากฐานระบบการจัดการความรู้ในประเทศไทย   น่าจะเดินมาถูกทาง   และเริ่มเห็นผลของการดำเนินการจัดการความรู้ในองค์กรที่ดำเนินการอย่างถูกต้องตามหลักการและวิธีการชัดเจนขึ้น   และแนวทางของ สคส. น่าจะช่วยปูพื้นฐานการจัดการความรู้ให้แก่ประเทศอย่างแข็งแรง   เป็นพื้นฐานในการขับเคลื่อนสังคมไทยไปสู่  “สังคมที่มีความรู้เป็นฐาน”

“”


การดำเนินงานสร้างความรู้จากการปฏิบัติ
          สคส. และภาคีพันธมิตรทำงานในลักษณะ “สร้างความรู้จากการปฏิบัติ” และ “เรียนรู้ร่วมกันผ่านการปฏิบัติ” อยู่ตลอดเวลา   ในลักษณะที่บูรณาการอยู่กับงานประจำ   และบูรณาการอยู่กับกิจกรรมที่ สคส. จัด   ทั้งที่จัดภายในองค์กรและที่จัดร่วมกับภาคี   เช่นการประชุมประจำสัปดาห์   เพื่อ AAR ทบทวนและบันทึกความรู้ที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติ   ทั้งที่เป็นความรู้เชิงทฤษฎีและความรู้เชิงปฏิบัติ   บันทึกอยู่ใน “บันทึกกิจกรรม” และเผยแพร่ในบล็อก Gotoknow.org   นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมประชุมภาคีจัดการความรู้ท้องถิ่น   ซึ่งจัดทุก 2 เดือน   การประชุมวิชาการ   ซึ่งจัดทุก 1 – 2 เดือน  เป็นต้น   ความรู้ที่ได้นอกจากบันทึกในบันทึกกิจกรรมและบล็อก   ยังเผยแพร่ในจดหมายข่าว “ถักทอสายใยแห่งความรู้”    จัดทำเป็นวีซีดีหรือซีดีเพาเวอร์พ้อยท์ประกอบเสียงจำหน่าย   และได้รวบรวมเป็นหนังสือ “การจัดการความรู้  ฉบับนักปฏิบัติ”   กำหนดออกวางจำหน่ายวันที่ 1 ธันวาคม 2548


การดำเนินการยุทธศาสตร์ “พลังสาม”
          ยุทธศาสตร์ “พลังสาม”   อันได้แก่   พลังการสร้างผลงาน (ของผู้ปฏิบัติจัดการความรู้และของหน่วยงานต้นสังกัด)   พลังการสร้างคน (ผู้มีบทบาทด้านการจัดการความรู้  ได้แก่ “คุณกิจ”,  “คุณอำนวย”,  “คุณเอื้อ”,   “คุณประสาน”,  “คุณลิขิต”,   “คุณวิศาสตร์”,   และวิทยากรด้านการจัดการความรู้)   และพลังการสร้างศาสตร์ (ด้านการจัดการความรู้  ดังกล่าวแล้วในหัวข้อข้างบน)   ช่วยเป็นพลังเสริมส่งเกื้อกูลซึ่งกันและกัน (synergy)   สร้างความเข้มแข็งของการจัดการความรู้ขึ้นจากฐานของแผ่นดินไทย   เห็นได้ชัดเจนจากรายงานและข้อเขียนจากหลากหลายมิติ   หลากหลายมุมมอง   ในรายงานนี้


การดำเนินการยุทธศาสตร์ภาคีและเครือข่าย
          การดำเนินการตามยุทธศาสตร์นี้   สคส. ยึดหลักปฏิบัติ 6 ประการใหญ่ ๆ ได้แก่
(1)   ร่วมมือกับพันธมิตรที่มีความจริงจังในการนำวิธีการจัดการความรู้ไปพัฒนาผลงานของหน่วยงานของตน   โดยร่วมมือในรูปแบบที่หลากหลายตามสถานภาพของพันธมิตร   บนพื้นฐานของความเคารพในความแตกต่างในความเชื่อ  ความเห็นและวิธีการ   ส่งเสริมให้พันธมิตรปรับใช้เครื่องมือจัดการความรู้ให้เหมาะสมกับหน่วยงาน   ส่งเสริมให้เชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่น ๆ ที่ดำเนินการจัดการความรู้   และส่งเสริมให้หาทางพัฒนาวิธีดำเนินการจัดการความรู้บนพื้นฐานและประสบการณ์ของตนเอง
กล่าวโดยย่อ   สคส. เน้นการเรียนรู้ร่วมกันกับพันธมิตรผ่านการปฏิบัติอย่างเป็นอิสระต่อ
กัน   แต่มีความเอื้ออาทรต่อกัน
(2)   เชื่อมโยงสู่การดำเนินกิจกรรมร่วมกันอย่างหลากหลาย   เช่นการเชิญมาประชุมภาคีเครือข่ายร่วมกันเป็นระยะ ๆ อย่างสม่ำเสมอ,   การเชิญเข้าร่วมการประชุมปฏิบัติการแลกเปลี่ยนเรียนรู้,   การเชิญเข้าร่วมประชุมวิชาการ,   การเชิญให้เขียนบทความลงจดหมายข่าว “ถักทอสายใยแห่งความรู้,   การเชิญให้เข้าร่วมจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในงานมหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติ,   การเชิญให้เขียนบทความลงในรายงานประจำปี   เป็นต้น
(3)   แนะนำให้ไปเป็นวิทยากรในกิจกรรมจัดการความรู้   เนื่องจาก สคส. เน้นการเป็นองค์กรที่เล็กมาก   และเน้นการขับเคลื่อนเครือข่าย   จึงพยายามแนะนำหน่วยงานที่ต้องการจัดประชุม  จัดอบรม   จัดกิจกรรมด้านการจัดการความรู้   ให้เชิญผู้มีประสบการณ์ตรงและเป็นผู้มีความรู้ความสามารถไปเป็นวิทยากร   สคส. ทำหน้าที่คล้าย ๆ จะเป็น “ศูนย์ข้อมูลวิทยากรจัดการความรู้” ให้แก่ประเทศ
(4)   มีความเชื่อว่าในหลายหน่วยงาน/องค์กร   หลายชุมชน   มีการจัดการความรู้อยู่แล้ว    โดยอาจดำเนินการอย่างต่อเนื่อง   เข้มข้น   ถูกหลักการจัดการความรู้   มากน้อยแตกต่างกัน   สคส. หาทางเข้าไปทำความรู้จัก   ให้กำลังใจ   และเชื่อมโยงสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีการจัดการความรู้ร่วมกับ สคส. และเครือข่าย
ดังนั้น   ในปี 2548 นี้   สคส. และทีมประชาสัมพันธ์จึงได้ริเริ่มกิจกรรม “จับภาพ KM”
ขึ้น   โดยเสาะหาร่องรอยของกิจกรรมจัดการความรู้ที่แฝงอยู่ในกิจกรรมสร้างสรรค์หลากหลายรูปแบบในสังคม   สนับสนุนโดยภาคีที่หลากหลาย   แล้วส่งทีมไปเยี่ยมเยียน   แลกเปลี่ยนเรียนรู้   และเชื่อมโยงออกสู่วงการจัดการความรู้ของประเทศผ่านสื่อมวลชน,   ผ่านบล็อก Gotoknow.org และการเชิญเข้าร่วมกิจกรรมของ สคส.
(5)   เชื่อมโยงสู่การเคลื่อนไหวระบบและนโยบายของบ้านเมือง   เพื่อให้ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองได้เห็นด้วยตาของตนเอง   ว่าประเทศไทยสามารถสร้างคุณค่าและมูลค่าให้แก่สังคมได้อีกมากมายหลายเท่า   หากมีการประยุกต์ใช้การจัดการความรู้ในทุกภาคส่วนของสังคม   สคส. ได้จัดนวัตกรรมในการทำงานอีกรูปแบบหนึ่งคือ “KM สัญจร”   และการ “ดูงาน KM”   ซึ่งเชื่อว่าจะค่อย ๆ แทรกซึมการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในบ้านเมือง   จากการบริหารการพัฒนาแบบ “ควบคุมและสั่งการ” ไปเป็นแบบส่งเสริม (empower) การเรียนรู้จากการปฏิบัติในทุกระดับ
(6)   เน้นการขับเคลื่อนเครือข่ายโดยทำงานร่วมกับ “ศูนย์” เครือข่าย (hub)   โดยใช้พลังของแต่ละศูนย์ (hub) ในการขับเคลื่อนเครือข่ายจัดการความรู้ขององค์กรที่เชื่อมโยงกับศูนย์เหล่านั้น   ทั้งนี้การทำงานร่วมกับศูนย์เครือข่ายเหล่านี้มีหลากหลายรูปแบบและมีวิวัฒนาการเป็นความร่วมมือที่มีความใกล้ชิดและชัดเจนมากขึ้นกว่าในปีที่ 2


ยุทธศาสตร์สร้างขีดความสามารถคู่กับการสร้างกระแส
          ขีดความสามารถในการดำเนินการจัดการความรู้เกิดขึ้นจากการปฏิบัติ   ซึ่งการปฏิบัติจัดการความรู้มีทั้งแบบปฏิบัติโดยไม่รู้ตัวว่ากำลังดำเนินการจัดการความรู้และแบบที่จงใจดำเนินการจัดการความรู้     สคส. ทำงานสร้างขีดความสามารถของผู้ปฏิบัติทั้ง 2 รูปแบบด้วยวิธีที่หลากหลาย   เน้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความรู้ที่มาจากการปฏิบัติ   และเน้นการเรียนรู้จากการปฏิบัติงานจริง   หรือฝึกปฏิบัติ   ไม่เน้นการสอนทฤษฎีหรือการบรรยาย   โดยแนวทางเช่นนี้การประเมินขีดความสามารถในการดำเนินการจัดการความรู้ของประเทศไทยในปี 2548   เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2547   น่าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 4 เท่า   การประเมินนี้เป็นการคาดเดา   ไม่มีหลักฐานตัวเลขยืนยัน   เป็นประมาณการด้วยความรู้สึกส่วนตัว (subjectivity)   และไม่ได้หมายความว่าขีดความสามารถระดับประเทศที่เพิ่มขึ้นนี้เป็นผลงานของ สคส.    แต่ยืนยันได้ว่า สคส. มีส่วนสร้างความเคลื่อนไหวไปสู่การพัฒนาขีดความสามารถนี้ด้วย
          ในสังคมไทย   หน่วยงานที่มีขีดความสามารถอยู่ตามธรรมชาติในการสร้างกระแสการจัดการความรู้   คือหน่วยงานที่ สคส. มองว่าเป็นหน่วยงานระดับศูนย์กลางหรือศูนย์รวม (hub)  อันได้แก่  กพร. (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ),   สมศ. (สำนักงานมาตรฐานและรับรองคุณภาพการศึกษา),   พรพ. (สถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล),   สกศ. (สำนักงานเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษา),   สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ,   กระทรวงและองค์กรที่มีหน่วยงานลูกหรือหน่วยงานในสังกัด/กำกับ  จำนวนมาก   เช่น สกอ. (สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา),   สอศ. (สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา) เป็นต้น   สคส. ไม่มีธรรมชาติเป็นหน่วยงานที่จะสร้างกระแสการจัดการความรู้แบบเน้นปริมาณ   เน้นการแพร่ขยายโดยเร็วได้   จึงเน้นบทบาทสร้างกระแสการจัดการความรู้แบบมีคุณภาพ   มีฐานคิดที่มั่นคง   มีหลักการและวิธีการที่ถูกต้อง   และมีเป้าหมายการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
          การสร้างกระแสจัดการความรู้ของ สคส. จึงเน้นการสร้างกระแสด้วยตัวอย่างการจัดการความรู้ที่มีคุณภาพ   และเน้นทั้งการสร้างกระแสออกสู่สังคมภาพรวม   และการสร้างกระแสภายในแวดวงจัดการความรู้   ในปี 2548 ได้เกิดนวัตกรรมใหม่ในการสร้างกระแส (และกิจกรรม) จัดการความรู้คือ บล็อก Gotoknow.org   ซึ่งเป็นผลงานที่พัฒนาโดยนักวิชาการไทย   ได้แก่ ดร. จันทวรรณ  น้อยวัน และ ดร. ธวัชชัย  ปิยะวัฒน์   แห่งคณะวิทยาการจัดการ   มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์   และคาดว่าในปี 2549 จะก้าวสู่การเคลื่อนกระแสสู่วิกิไทย (Wiki Thai)


ยุทธศาสตร์การฝึกอบรมควบคู่กับการปฏิบัติ
          ยุทธศาสตร์การฝึกอบรมควบคู่กับการปฏิบัติ   เป็นยุทธศาสตร์ที่ สคส. ยึดถือและแนะนำให้ภาคีจัดการความรู้ของ สคส. ใช้   ดังนั้นผู้ประยุกต์ใช้ยุทธศาสตร์นี้คือองค์กร/หน่วยงาน   หรือชุมชนที่ดำเนินการจัดการความรู้
          น่าจะกล่าวได้ว่า สคส. เป็น “หัวขบวน” ของการจัดการความรู้ในรูปแบบที่เน้นความรู้ฝังลึกที่อยู่ในคน   และแนบแน่นอยู่กับการปฏิบัติ   เน้นการเชื่อมโยงเป็นเนื้อเดียวกันกับงานประจำ   เน้นการจัดการความรู้ของ/โดยผู้ปฏิบัติหรือ “คุณกิจ”   โดยมี “คุณอำนวย” เป็นผู้จุดประกายและช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด   และมี “คุณเอื้อ” เป็นผู้สนับสนุนเชิงระบบ   เชิงทรัพยากร   และเชื่อมโยงกับเป้าหมายหลักขององค์กร
          สคส. เชื่อว่าแนวทางอบรมสร้างความรู้ความเข้าใจการจัดการความรู้ตามแบบของ สคส.   เป็นแบบที่เน้นความเข้าใจที่เกิดจากการสัมผัสด้วยตนเอง   ไม่ใช่จากคำบอกเล่าหรือการบรรยาย   เป็นรูปแบบ (model) ที่สร้างความเข้าใจจากการปฏิบัติ   ซึ่งดำเนินการในรูปแบบของตลาดนัดความรู้หรือการประชุมปฏิบัติการ
          ผลงานที่เป็นรูปธรรม   คือรูปแบบของตลาดนัดความรู้หรือการประชุมปฏิบัติการที่เน้นการนำผลสำเร็จภายในองค์กรมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน   เน้นที่ชื่นชมยินดีและบรรยากาศเชิงบวก   เป็นจุดเริ่มต้นของการจัดการความรู้ที่องค์กร/หน่วยงานสามารถดำเนินการประยุกต์เข้าไปเชื่อมต่อกับงานประจำขององค์กรได้ทันที   และเมื่อดำเนินการซ้ำอีก 2 – 3 รอบ   ก็จะเกิด “วิทยากร KM”,  “คุณเอื้อ”,   “คุณอำนวย”,   และ “คุณลิขิต”   รวมทั้งระบบบล็อกไว้ใช้งานในองค์กร/หน่วยงานได้อย่างมีประสิทธิผล


ยุทธศาสตร์ความร่วมมือกับพันธมิตรที่ดำเนินการจัดการความรู้ในแนวทางและความเชื่อที่แตกต่างกัน
          เนื่องจากการจัดการความรู้พัฒนามาจากหลายกระแสหลายทิศทาง   และมีจุดเน้นและวิธีการที่หลากหลาย   แม้ สคส. จะพยายามพัฒนารูปแบบของการจัดการความรู้ที่เหมาะสมต่อสังคมไทยในหลายรูปแบบตามบริบทที่แตกต่างกัน   แต่ก็เป็นไปไม่ได้ที่ สคส. จะสันทัดไปหมดทุกด้าน   สคส. จึงมียุทธศาสตร์ที่เปิดกว้าง   ยอมรับและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ศาสตร์และศิลป์ด้านการจัดการความรู้ที่หลากหลาย   และส่งเสริมให้ภาคี/องค์กรที่ดำเนินการจัดการความรู้   ได้เรียนรู้และทดลองใช้หลักการและวิธีการอื่น ๆ ที่ สคส. ไม่คุ้นเคยด้วย   แล้ว สคส. ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากผลการปฏิบัติขององค์กรเหล่านั้น
          โดยยุทธศาสตร์เช่นนี้   ประเทศไทยจึงมีการพัฒนาการจัดการความรู้รุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว   และดำเนินการจัดการความรู้แพร่หลาย   ขยายวงไปอย่างกว้างขวางในทุกบริบท   ทุกภาคส่วน (sector) ของสังคม   เป็นที่ชื่นชมของวงการจัดการความรู้นานาชาติที่ประเทศไทยนำเอาการจัดการความรู้ไปใช้ในภาคประชาสังคมด้วย


ยุทธศาสตร์จุลภาคควบคู่มหภาค
            จุลภาคคือคนเป็นรายบุคคล   มหภาคคือสังคมไทยในภาพรวม   สคส. เน้นการดำเนินการส่งเสริมการดำเนินการในระดับจุลภาค   และระดับมหภาคให้เกิดพลังเสริม (sygerny) ซึ่งกันและกัน   รวมทั้งดำเนินการในระดับ “มัชฌิมภาค” คือระดับกลุ่ม   ระดับหน่วยงาน   และระดับองค์กร   ให้เกิดพลังเสริมซึ่งกันและกันด้วย
          ในภาพรวมระดับมหภาค   สคส. มุ่งเป็นส่วนหนึ่งของภาคีขับเคลื่อนสังคมไทยสู่สังคม/เศรษฐกิจฐานความรู้ในทุกภาคส่วน   ท่าทีและการดำเนินการแนวนี้ทำให้ได้รับการยอมรับเป็นภาคีของ “องค์กรยักษ์ใหญ่” หรือ “องค์กรมหาอำนาจ” ในบ้านเมือง   โดยยอมรับบทบาทของ สคส. ในฐานะหน่วยงานเล็กจิ๋วที่ทำงานขับเคลื่อน “ศาสตร์และศิลป์” ที่เป็น “ศาสตร์และศิลป์เชิงปฏิบัติ” ในการจัดการความรู้ที่เหมาะสมกับสังคมไทย
          ในระดับจุลภาค   สคส. มุ่งสร้างทักษะในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างความรู้ระดับกลุ่ม   อันจะนำไปสู่การเปลี่ยนกระบวนทัศน์ระดับบุคคล   ให้เกิดความมั่นใจในตนเอง   มั่นใจในศักยภาพของการเรียนรู้จากการปฏิบัติของตนเองร่วมกับเพื่อนร่วมงาน   อันจะนำไปสู่การเป็นบุคคลเรียนรู้   เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับวัฒนธรรม   เกิดวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ (จากการปฏิบัติ)   และเกิดการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมระดับองค์กร   เกิดองค์กรเรียนรู้
          มีข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์ว่ามีองค์กรจำนวนหนึ่งในประเทศไทย   อยู่ระหว่างการเดินทางสู่เป้าหมายนี้   และหนึ่งในองค์กรเหล่านั้นมีหน่วยงานขนาดจิ๋วที่มีพนักงานเพียง 10 คนคือ สคส. รวมอยู่ด้วย


ยุทธศาสตร์สร้างตัวคูณ
          ยุทธศาสตร์สร้างตัวคูณ   มีเป้าหมายเพื่อขยายการดำเนินการจัดการความรู้ออกไปโดยเร็ว   สคส. มีแนวทางดำเนินการใหญ่ ๆ 5 ประการ
(1)   ส่งเสริมสนับสนุนการสร้างเครือข่ายจัดการความรู้   ทั้งเครือข่ายที่เป็นทางการและการเป็นเครือข่ายร่วมมือแบบไม่เป็นทางการ
(2)   แนะนำให้องค์กรขนาดใหญ่   สร้างวิทยากรขึ้นใช้เองภายในองค์กร
(3)   เน้นการทำงานร่วมมือกับศูนย์กลางหรือศูนย์รวม (hub) ของเครือข่ายที่หลากหลาย
(4)   หาทางส่งเสริมให้ผู้มีประสบการณ์ดำเนินการการจัดการความรู้และได้ผลดี   ไม่ว่าจะในฐานะ “คุณเอื้อ”,  “คุณอำนวย”,  “คุณกิจ”,  “คุณประสาน”, “คุณลิขิต”  และ “คุณวิศาสตร์”   ยกฐานะขึ้นเป็นวิทยากร     ให้หน่วยงานที่ต้องการเชิญวิทยากรไปบรรยายหรือจัดกิจกรรม   ใช้ท่านเหล่านี้เป็นวิทยากร   เพื่อเพิ่มจำนวนวิทยากรจัดการความรู้ให้แก่ประเทศ
(5)   การจัดให้มี “ศูนย์ขับเคลื่อน” การจัดการความรู้ในภูมิภาค   ซึ่งเวลานี้กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนารูปแบบการทำงาน และจะดำเนินการในปี 2549

คำสำคัญ (Tags): #demand#–#side#km#creativity
หมายเลขบันทึก: 8496เขียนเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2005 20:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท