BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

ศีล


ศีล

ศีล เป็นคำสันสกฤต บาลีใช้ สีล ซึ่งเรารับรู้กันว่าแปลว่า ปรกติ ... ผู้เขียนยังไม่เจอที่มาว่า การแปลศีลว่าปรกติ ในเมืองไทยนี้ ได้รับอิทธิพลมาจากใครหรือหนังสือเล่มไหนเป็นสำคัญ เพราะตามคำภีร์ที่เจอมาบ้าง ท่านให้ความหมายอื่นๆ ไว้อีกหลายนัย และนัยเหล่านั้นรู้สึกว่าจะสำคัญกว่าความหมายว่า ปรกติ ตามที่พวกเราจำๆ กันมา...

คัมภีร์อภิธานัปปทีปิกาฎีกา ตั้งวิเคราะห์ไว้ว่า สิโนติ จิตฺตเมเตนาติ สีลํ บุคลย่อมผูกจิตไว้ด้วยคุณชาตินี้ ดังนั้น คุณชาตินี้ชื่อว่า ศีล (เป็นเครื่องผูกจิตไว้) ...ตามนัยนี้ ศีล มาจาก สิ รากศัพท์แปลว่า ผูก ส่วน .ลิง เป็นปัจจัย...นั่นคือ การที่เราจะล่วงละเมิดตัวเองหรือผู้อื่นนั้น เกิดจากจิตที่ประกอบด้วยความจงใจ ถ้ามีศีลแล้ว ศีลก็จะคอยยับยั้งมิให้เราล่วงละเมิตตนเองและผู้อื่น ดังนั้น ศีลจึงคล้ายๆ เชือกที่คอยผูกจิตไว้ฉะนั้น...

คัมภีร์วิสุทธิมรรค หัวข้อ สีลนิเทส ได้อธิบายเรื่องศีลไว้อย่างละเอียด เช่น ศีล แปลว่า รวบ หมายถึง รวบกายและวาจาไว้ให้เป็นปรกติ ไม่ให้ล่วงละเมิดตนเองและผู้อื่น... และจำแนกศีลไว้หลายนัย เช่น ศีล ๒ อย่าง คือ โลกิยศีล (ศีลชองผู้ที่ยังข้องอยู่ในโลก) โลกุตตรศีล (ศีลของผู้ข้ามพ้นโลกคือพระอริยเจ้า)...ศีล ๓ อย่าง คือ จุลศีล (ศีลน้อยๆ ) มัชฌิมศีล (ศีลพอประมาณ) มหาศีล (ศีลระดับสูง) ...เป็นต้น

ถามว่า คนนอนหลับมีศีลหรือไม่ ? ตอบว่า กล่าวไม่ได้ว่ามีศีลหรือไม่มีศีล เพราะ ศีลจะมีได้จะต้องเกิดจาก วิรัติ คือ เจตนาหรือความจงใจที่จะงดเว้น ซึ่งอาจจำแนกการจงใจที่จะงดเว้นนี้ได้ ๓ นัย คือ

  • สมาทานวิรัติศีล หมายถึง ศีลที่รับจากพระ-เณร หรือจากใครก็ตามแล้วก็จงใจที่จะงดเว้น ในคราวที่มีอารมณ์บางอย่างมากระทบ เช่น เห็นของมีค่า เกิดโลภะอยากจะขโมย แต่ระลึกได้ว่าวันนี้เรารับศีลแล้วจึงได้งดเว้น ...
  • สัมปัตตวิรัติศีล หมายถึง ศีลที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ นั่นคือ แม้ว่าเราจะไม่ได้รับศีล แต่จงใจที่จะงดเว้นการขโมยของคนอื่นในยามมีโลภะเกิดขึ้น ...
  • สมุจเฉทวิรัติศีล หมายถึง ศีลของอริยบุคลผู้ได้บรรลุแล้ว จะมีศีลโดยอัตตโนมัติ ...

 อนึ่ง ศีล กำจัดกิเลสระดับหยาบที่จะพึงล่วงละเมิดทางกายและวาจาเท่านั้น ถ้าเป็นกิลเสภายในใจก็ต้องกำจัดด้วย สมาธิและปัญญา

 

คำสำคัญ (Tags): #ศีล
หมายเลขบันทึก: 83314เขียนเมื่อ 11 มีนาคม 2007 19:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มิถุนายน 2012 23:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

บางท่านก็ว่า...หากต้องการให้เกิดปัญญาอันแท้จริง...ต้องมีศีล แล สมาธิ ก่อน...

 

บางท่านก็ว่าหาได้เป็นเช่นนั้นไม่...ปัญญาอาจเกิดก่อน...ไขปัญหาพาไปสู่การรักษาศีล และมีสมาธิ...

 

บางกลุ่มก็มุ่งมั่นฝึกฝนสมาธิเพื่อให้มีปัญญา แล้วรักษาศีล...

 

ที่จริงอยากถามพระอาจารย์ แต่คำตอบคงไม่ห่างไกลจาก...ทำตามที่ตนถนัด หรือ ตรงจริต...เริ่มตรงไหนไม่สำคัญ...จบที่นิพานเท่านั้นพอ...ใช่หรือไม่ครับพระอาจารย์...อิอิ

ชอบที่พระคุณเจ้าเขียนว่า ศีล กำจัดกิเลสระดับหยาบที่จะพึงล่วงละเมิดทางกายและวาจาเท่านั้น ถ้าเป็นกิลเสภายในใจก็ต้องกำจัดด้วย สมาธิและปัญญา มากครับ

"ปัญญา" ในทางพุทธศาสนาหมายถึงอะไรครับ (อยากให้อธิบายแบบเดียวกับการอธิบายคำว่าศีลครับ)

P

ถูกต้องครับ ท่านเลขาฯ (ตำแหน่งใหม่) ขึ้นอยู่กับจริตของแต่ละคน..

การจัดไตรสิกขา เป็น ศีล สมาธิ ปัญญา ประสงค์เอาการกำจัดกิเลสเป็นเกณฑ์ ...

แต่ ถ้าจัดตามลำดับความสำคัญ ปัญญาเบื้องต้นซึ่งเรียกว่า สัมมาทิฎฐิ คือ ความเห็นชอบต้องมาก่อน โดยมี อริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นข้ออ้าง

....

 

P

คุณโยมลองดู ปัญญา ปรัชญา  และหัวข้ออื่นๆ ก็เคยเขียนอธิบายไว้แล้ว แต่จำไม่ได้ว่าอยู่ตรงไหน...

เจริญพร 

ดูแล้วครับ ของพระคุณมากครับ

อ่านแล้วเกิดความคิดขึ้นมาว่า หากผู้เรียนบาลี ได้เรียนลาตินด้วยก็จะมีประโยชน์มาก

คำว่า Philosophy มาจาก Phil- (หรือ phile, philo) แปลว่า ความรัก

กับคำว่า -sophy (หรือ sophia) แปลว่า ความรู้

ผมคิดว่า wisdom กับ knowledge น่าจะมีความหมายที่ต่างกันอยู่(บ้าง)ครับ

P

ด้วยความยินดีครับ...ถ้าเป็นอย่างอาจารย์ว่าก็คงจะดี...

โดยส่วนตัว... อยากจะไปเรียนสันสกฤตที่อินเดีย ป.ตรี หรือป.โท ก็ได้ แต่ก็ยังไม่มีโอกาส บางครั้งโอกาสก็ประกอบด้วยปัจจัยหลายอย่าง... มิใช่ว่ามีทุนและมีความสามารถก็จะมีโอกาสได้ไปเรียนเสมอไปครับ...

อันที่จริงภาษาก็ไม่ค่อยแตกต่างกัน ในหนังสือนิรุกติศาสตร์ของพระยาอนุมานฯ บอกไว้ทำนองว่า ..ผู้ใดศึกษาภาษาหนึ่งภาษาใดได้แตกฉาน ถ้ามีความเพียรพอก็สามารถศึกษาทุกภาษาให้แตกฉานได้...

เฉพาะคำว่า philosophy ในหนังสืออนุสรณ์ นายปาล พนมยงค์ ได้วิจารณ์คำนี้ไว้น่าสนใจครับ  ดังเช่นในหน้า ๒๒ บอกไว้ว่า...

กรีกโบราณเรียก ฟิลอสโซเฟีย ...

อังกฤษแผลงเป็น ฟิลอสโซฟี ...

ถ้าเราจะเรียนแบบมาใช้ให้ตรงกับบาลีหรือสันสกฤตก็น่าจะใช้คำว่า

พิลาสสวโพธิ ...

พิลาสโสโพธิ ...

วิลาสสวโพธิ ...หรือ

วิลาโสโพธิ ...

แต่ เรากลับนำคำว่า ปรัชญา มาใช้แทนซึ่งไม่ตรงตามความหมายเดิมของคำศัพท์... และอันที่จริง philosophy นี้ อินเดียเค้าก็มีคำว่า ทรรศนะ ใช้มานานแล้ว...

ดังนั้น สวามี สัตยานันทะ บุรี จึงบอกว่า เบื้องต้นของ philosophy มี ปรัชญา เป็นจุดหมาย ... อะไรทำนองนี้..

เล่าเล่นๆ นะครับ..

เจริญพร   

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท