ปรับวิธีการทำงาน ลดระยะเวลา กับแนวทางการระดมสมองของหนูนิด เพื่อตาเหรียญและโรงปุ๋ยอัดเม็ดที่บุรีรัมย์


คนเราทำอะไรบางอย่างแล้ว มักจะถูกทดสอบจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตลอดเวลา ว่าสามารถที่จะผ่านความอดทนต่อความยากลำบากจนพบกับความสำเร็จได้หรือไม่
เมื่อ 4 มี.ค. 2550 หนูนิดแวะมาพบนายบอนที่ห้องสมุด มมส. และปรึกษาหารือเพื่อหาแนวคิดใหม่ๆในการระดมสมองเรื่องแนวทางในอนาคตในการทำงานในโรงปุ๋ยอัดเม็ดที่กำลังดำเนินการก่อสร้างที่บุรีรัมย์

นายบอนได้ประมวลบันทึกในบล็อก หมอดิน ที่หนูนิดกล่าวถึงตาเหรียญ เล่าถึงศูนย์เรียนรู้งานพัฒนาที่ดินที่ตำบลคูเมือง จนเกิดวิสาหกิจชุมชน กลุ่มผลิตปุ๋ยอินทรีย์บ้านกอกโคก และต่อเนื่องมาจนเกิดโรงปุ๋ยอัดเม็ด

เมื่อเจอตัวของหนูนิด นายบอนเลยถามเจาะรายละเอียดลงไป เพราะหนูนิดเขียนไว้ว่า ศูนย์การเรียนรู้นี้ มีเครือข่ายครู นักเรียน ชาวบ้านทั้งในจังหวัดและต่างจังหวัดเข้ามาเยี่ยมชม หาความรู้ที่นี่ด้วย สอบถามไปมา เครือข่ายที่ว่า คือ ชาวบ้านบ้านสกแต้ หมู่ที่ 5 ซึ่งถือว่าเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็งอีก 1 กลุ่ม นอกจากกลุ่มบ้านกอกโคกที่ตั้งของศูนย์การเรียนรู้

ตาเหรียญเป็นประธานกลุ่มเครือข่าย  12 เครือข่าย หรือ 12 หมู่บ้านนั่นเอง มี บ้านกอกโคก และบ้านสกแต้ หมู่ 5 ที่ถือว่าเข้มแข็งแล้ว ดังนั้น อีก 10 หมู่บ้าน คือเป้าหมายต่อไป

หยิบเป้าหมายหลักที่หนูนิดเขียนสรุปไว้ 5 ข้อ ตั้งแต่กระบวนการผลิตปุ๋ยให้มีคุณภาพ, การเพิ่มทักษะผู้นำกลุ่ม, เครือข่ายการตลาด, การบริหารจัดการกลุ่ม และการประชาสัมพันธ์ เมื่อนายบอนพยายามแกะ ถามเจาะรายละเอียด
พบว่า มีหลายสิ่งที่น่าจะลดขั้นตอน และทำให้ง่ายขึ้น

เป้าหมายทั้ง 5 ข้อ หนูนิดบอกว่า บางส่วนคงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบไป แต่สะดุดในกับการระบายความรู้สึกบางอย่างที่หน่วยราชการละเลยชาวบ้าน จนทำให้หนูนิดอยากจะเข้ามาอุดช่องว่างในส่วนนี้บ้าง...


เป้าหมายแรก หนูนิดอยากจะระดมความคิดเห็น ในการพัฒนาโรงปุ๋ยให้อยู่ได้ สร้างรายได้และยั่งยืนต่อไป
ดูทุนทางสังคม รายละเอียดต่างๆ แล้ว ไม่ยากนักในการทำให้เป้าหมายต่างๆสำเร็จง่ายขึ้น

นายบอนมองถึง วิธีการจัดการที่เชื่อมโยงเรื่องสำคัญที่เป็นเรื่องง่าย ให้ผู้ปฏิบัติเข้าใจ การสร้างรูปธรรมงานชุมชน เพื่อง่ายต่อการปฏิบัติและติดตามประเมินผล เพราะสะท้านใจกับข้อความที่หนูนิดเขียนในบันทึกที่ว่า ทำงานหนักอย่างนี้ “ตาเหรียญเหนื่อยมั้ย” ….

เมื่อดูแนวทางที่หนูนิดเล่าให้นายบอนฟังคร่าวๆ ท่าทางหนูนิดคงจะได้พูดคำว่า “ตาเหรียญเหนื่อยมั้ย” อีกหลายรอบแหงๆ และ ตาเหรียญคงจะพูดขึ้นมาบ้างว่า “เหนื่อยมั้ยลูก... ท้อมั้ยหนูนิด” บ้างล่ะ


หนูนิดอยากจะระดมสมองชาวบ้านทั้ง 12 เครือข่าย / 12 หมู่บ้าน เกี่ยวกับความคิดเห็นในการพัฒนาและสร้างรายได้จากโรงปุ๋ยอัดเม็ดเพื่อเศรษฐกิจในชุมชน ซึ่งหนูนิดบอกว่า คงต้องนัดประชุมใหญ่ ให้มาเสนอความคิดเห็นกันทุกคน อย่างทั่วถึง กว้างขวาง

”แล้วจะเสร็จเมื่อไหร่”
ซึ่งนายบอนได้รับคำตอบว่า น่าจะประมาณ 1-2 เดือน


แม่เจ้าโว้ย.... ระดมสมองใช้เวลาตั้ง 1-2 เดือน นานเกินไป เอาแค่ 1 สัปดาห์ก็พอแล้ว เพราะสิ่งที่ต้องการคือ ความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนาโรงปุ๋ยนะครับ ไม่ใช่สร้างโบสถ์สร้างวิหาร ที่ต้องใช้เวลาก่อสร้างกันพอสมควร


มีตัวแทนเครือข่าย 12 เครือข่าย เครือข่ายละคน แค่เพียงเรียก 12 คนมาพูดคุย แจ้งรายละเอียดให้ทราบ แล้วให้ 12 คน ไปสอบถามความคิดเห็นภายในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งอาจจะได้สอบถามเพียงไม่กี่คน  ซื่งระยะเวลาไม่ควรที่จะนานนัก แล้วนำรายละเอียดที่ได้มารวบรวมไว้ เพื่อให้ได้แนวทางของความคิดเห็นจากชาวบ้าน และเป็นการประเมินตัวเองไปด้วยว่า สิ่งที่หนูนิดแจ้งให้ทราบนั้น ตัวแทนเครือข่ายมีความเข้าใจมากน้อยเพียงใด การกำหนดระยะเวลาให้สั้นลง เพื่อให้เห็นผลเร็ว และนำข้อมูลที่ได้มาตรวจสอบว่า ใช่สิ่งที่ต้องการหรือไม่

ตัวแทนทั้ง 12 กลุ่มเครือข่าย ย่อมมีผู้ที่ฟังเข้าใจข้อมูลที่แตกต่างกัน การนำข้อมูลจากตัวแทน 12 คน ที่ไปสุ่มสอบถามชาวบ้าน แล้วนำมาประเมินตัวเอง เป็นการตรวจสอบความเข้าใจ ตัวแทนกลุ่มที่ไม่เข้าใจ จะได้ดูข้อมูลของกลุ่มที่ได้ข้อมูลที่ตรงกับความต้องการ แล้วกลับไปสอบถามให้ตรงประเด็นมากขึ้น

เมื่อรวบรวมประเด็นได้ส่วนหนึ่ง จึงนัดชาวบ้านทุกคนมาประชุมใหญ่  เขียนประเด็นความคิดเห็นที่หลากหลาย ให้ชาวบ้านทุกคนแสดงความคิดเห็น เพิ่มเติม เสนอแนะ จนได้เป็นมติของที่ประชุมออกมา

ซึ่งแนวทางนี้ จะลดระยะเวลาการทำงานเพื่อการระดมสมองชาวบ้านทุกคนลง ซึ่งจากเดิม หนูนิดคิดที่จะเรียกประชุมเครือข่ายแต่ละกลุ่ม ซึ่งจะต้องหาเวลาว่างที่ตรงกัน หาเวลาไประดมสมองทีละกลุ่มๆๆๆ จนครบ 12 กลุ่ม ซึ่งจะใช้เวลานาน และเหนื่อยด้วย แต่เมื่อปรับแนวทางใหม่ ใช้ตัวแทนไปสุ่มตัวอย่างระดมสมองรอบแรก แล้วนำข้อมูลกลับมาประเมิน รวบรวมประเด็น ก่อนนัดประชุมใหญ่ ทำให้การทำงานมีความยืดหยุ่น และเห็นผลเร็ว

การทำงานที่เห็นผลเร็ว เป็นการสร้างความเชื่อมั่นของผู้มีส่วนร่วมหลายคนได้เป็นอย่างดี เพราะความกระตือรือร้นของหลายคน ย่อมมีอยู่ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง หากปล่อยเวลาให้เนิ่นนานเกินไป ไม่เห็นผลสักที ทำให้ผู้มีส่วนร่วมเกิดความไม่มั่นใจว่า จะเอาจริงหรือไม่....

ซึ่งในวันที่ 7 มี.ค.2550 หนูนิดได้ตั้งคำถามเพื่อระดมสมอง 5 ข้อ พิมพ์แบบสอบถามแจกให้เครือข่ายละ 10 ชุด รวม 12 เครือข่าย มอบให้ตัวแทนไปสุ่มหาข้อมูล โดยหนูนิดได้ตั้งคำถามและโทรมาเล่าให้นายบอนฟังว่า ได้ตั้งคำถามในประเด็น.....

- .....ท่าน.คิดว่าโรงปุ๋ยอัดเม็ดจะสร้างรายได้อย่างไร , ท่านจะเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหาร ร่วมลงทุนอย่างไร, มีแนวทางในการดำเนินการให้โรงปุ๋ยอัดเม็ดดำเนินการสร้างรายได้อย่างยั่งยืนอย่างไร ฯลฯ



เมื่อได้แนวทางใหม่แล้ว การทำงานระดมสมองที่จะต้องใช้เวลาแรมเดือน หนูนิดช่วยลดระยะเวลาให้ตาเหรียญลงได้มากทีเดียว คุณตาเหรียญจะได้มีเวลาพักผ่อน และไปทำสิ่งอื่นๆได้บ้าง


จากข้อมูล ทุนทางสังคมในตำบล นายบอนหยิบหนังสือ วิถีชุมชน คู่มือการทำงานชุมชนให้สนุกและได้ผล มาให้หนูนิดดู ซึ่งมีเครื่องมือศึกษาชุมชนทั้ง 7 ชิ้น ได้แก่

1. แผนที่เดินดิน
2. ผังเครือญาติ
3. โครงสร้างองค์กรชุมชน
4. ระบบสุขภาพชุมชน
5. ปฏิทินชุมชน
6. ประวัติศาสตร์ชุมชน
7. ประวัติชีวิต

ซึ่งเครื่องมือบางอย่าง สามารถนำมาปรับใช้เพื่อการวางแผน การใช้ทุนทางสังคมที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ต่องานที่กำลังจะทำได้  ซึ่งเครื่องมือเหล่านี้ มีไว้เพื่อช่วยให้เกิดกระบวนการเรียนรู้วิถีชุมชน เพื่อการทำงานกับชุมชนได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันอยู่เสมอ เกิดการทบทวนปรับแก้ข้อผิดพลาดที่อาจมีขึ้น เพราะหลายสิ่งในชุมชน มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเครื่องมือต่างๆ จะทำให้วางแผนการทำงานได้ง่ายขึ้น ยืดหยุ่นมากขึ้น

เพื่อให้ความฝัน ความหวังของคนในชุมชนเกิดขึ้นจริง เพราะชาวบ้านมีความรู้ ประสบการณ์หลายอย่างอยู่แล้ว
เพียงแค่การปรับวิธีการนิดหน่อย ย่อมจะเหนื่อยน้อยลง




หมายเลขบันทึก: 82625เขียนเมื่อ 8 มีนาคม 2007 12:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 09:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีคับผมชื่อ  นาย สมหมาย โนภูเขียวบ้านอยู่ที่จ.ชัยภูมิอ.ภูเขียว อายุ15ปี ตอนนี้กำลังศึกษาอยู่ที่จ.สงขลาอ.หาดใหญ่เรียนอยู่ชั้นม.4 ผมมีความคิดและฝันว่า หลังจากที่ผมเรียนจบไปแล้วผมจะไปทำสวยอะคับผมอย่าจะทำสวนปาร์มและสวนผลไม้ต่างๆ ผมอยากรู้ว่าที่ดินแถวอ.ภูเขีวเนี้ยมันค่อนค่างแห้งแล้งผมอยากรู้ว่ามันจะพอปลูกปาร์มได้รึเปล่าคับขอควมกรุณาช้วยผมหน่อยน้าคับช้วยมาสอนผมปลูกหรือแนะนำสักหน่อยยังไง้อลองโรมาเบอร์นี้ดูหน่อยนะคับ24ชั้วโมงลองโทรมาคุยกะผมหน่อยน้าคับ( 0841993688 ) ลองโทรมานะคับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท