ใครจะถ่ายทอดความรู้จากปราชญ์ชาวบ้านสู่ประชาชน


Disseminate village wisdom through Ghost writers

ผมชอบดูรายการประเภทคนค้นคน กบนอกกะลา หรือรายการทำนองสัมภาษณ์ ติดตามชีวิตชาวบ้านที่น่าสนใจ รู้สึกรายการเขาทำได้ดีจัง มีอะไรหลายๆ อย่างที่เราได้เรียนรู้จากเขา จากคำพูด จากชีวิตทั้งชีวิตของเขา จากการมองของคนรอบข้างที่มีต่อตัวเขา ฯลฯ  แต่มีคนอีกมากที่ไม่มีโอกาสได้ดูรายการแบบนี้ ไม่มีเวลา ต้องทำงาน หรือดูไป สักพักก็ลืม แล้วจะดูใหม่ก็ไม่ได้ นี่คือข้อจำกัดของรายการโทรทัศน์ดีๆ ที่ไม่สามารถเข้าถึงซ้ำได้อีก เทคโนโลยีตอนนี้เราทำได้แล้วที่จะเก็บรายการแบบนี้แบบเก็บหนังสือบนเว็บ แต่ยังไม่มีคนทำในบ้านเรา

ทำยังไงถึงจะให้แหล่งความรู้เหล่านี้เขาถ่ายทอดความรู้ประสบการณ์ออกมาได้ เพราะท่านเขียนไม่เป็น ที่ผ่านมาก็มักจะเป็นคนในราชการไปสัมภาษณ์แล้วเขียนที่สัมภาษณ์ทำนองรายงาน หรือเป็นเรื่องสั้นๆ ผลงานของเขาว่าเขาทำอะไรบ้าง ได้ผลอย่างไรบ้าง ซึ่งผมคิดว่านี่เป็นการพลาดประเด็นสำคัญ ถ่ายทอดไม่ถูกจุด น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง

สิ่งที่เราต้องการเรียนรู้คือ ท่านเหล่านี้มาถึงจุดนี้ได้อย่างไรทางความคิด ท่านผ่านการเรียนรู้อย่างไร อะไรเป็นอุปสรรคและท่านผ่านมันมาอย่างไร อะไรทำให้ท่านไม่ท้อถอย ความรู้อันละเอียดอ่อนต่างๆ ที่ซ่อนอยู่ในผลงานของท่านมีอะไรบ้าง ฯลฯ

ใครล่ะที่จะเป็นผู้ทำหน้าที่ตรงนี้ นักวิจัย อาจารย์ หรือ? ก็อาจจะดีนะ ตรงที่การถอดความรู้จะมีรูปแบบ เป็นระบบ มีการตรวจสอบ  แต่ข้อจำกัดของบุคคลเหล่านี้คือ เมื่อเขียนออกมาแล้ว ผลงานอยูู่บนหิ้งห้องสมุดครับ อาจจมีนักศึกษายืมอ่านบ้าง ถ้าอาจารย์มอบหมายให้ทำรายงาน  

ผมคิดว่าการถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์เหล่านี้ น่าจะเป็นไปในรูปแบบที่ติดดิน แบบคนทั่วๆ ไปอ่านรู้เรื่อง สนุก เหมือนกับอ่านนิยาย เรื่องของแต่ละท่านผมคิดว่ามีเกร็ดประสบการณ์และความรู้มากมายซึ่งทำให้อ่านสนุกได้  ความรู้ยิ่งกระจายมากเท่าไรก็จะยิ่งประโยชน์เท่านั้น

ผมอ่านเรื่อง คุณวิรุฬศักดิ์ แล้วทึ่งมาก

คุณวิรุฬศักดิ์เป็นผู้ที่มีความรู้ชำนาญเรื่องการเลี้ยงกบมาก ขนาดพูดภาษากบได้ (หมายความว่าอยู่กับกบมานานมากจนฟังออกหมดว่าเสียงร้องของกบแต่ละเสียงหมายถึงอะไร เป็นตัวผู้หรือตัวเมีย พวกมันต้องการอะไร ฯลฯ) ซึ่งทุกคนก็ต้องเคารพเขาในเรื่องนี้ (แม้แต่อาจารย์ที่ไปสอน)  จาก (http://gotoknow.org/blog/surachetv/81766)

น่ารู้ไหมครับ เขาแยกยังไง วิชานี้ไม่มีสอนในตำราครับ ตำราต้องมาจากท่านอาจารย์วิรุฬศักดิ์ นี่แหละ

ง้้นใครล่ะที่จะทำหน้าที่ตรงนี้  ผมขอเสนอ ghost writer ครับ

ghost writer เป็นอาชีพหนึ่งที่เฟื่องฟูในวงการหนังสือเรา เพราะยุคนี้เป็นยุคที่ดาราหรือคนดังเขาชอบแฉ หรือไม่ก็พอเรามีเงินแล้วอยากให้คนอื่นรู้จักตัวเอง ครั้นจะเขียนเอง ก็ไม่รู้จะเขียนยังไง เพราะลำพังแค่อ่านหนังสือยังไม่ค่อยจะได้อ่านเลย ทำไงดีล่ะ   ตรงนี้ก็เลยมีคนมาเติมเต็มให้ โดยแค่เราเล่าเรื่องให้เขาฟัง ให้เขาตามเราสักพักหนึ่ง จากนั้น ก็เกิดหนังสือขึ้นมาหนึ่งเล่ม ในชื่อเรา เทห์ดีจัง เผลอๆ ขายดีพิมพ์ซ้ำ 4-5 ครั้งให้ นักเขียนไส้แห่งหมั่นไส้ ก็ยิ่งดีใหญ๋  เพราะจะได้เอาเงินไปบริจาค ไปเลี้ยงเด็กตามสถานสงเคราะห์ ให้เป็นข่าวได้อีก

คิดง่ายๆ นะครับ จ้าง ghost writer  1 คน ไปขลุกกับแหล่งความรู้ของเราสัก 1 เดือน ค่าเบี้ยเลี้ยง 1 เดือน 1.5 หมื่นบาท ค่าวิทยากร 2 หมื่น ค่าเขียนเรื่อง 2.5 หมื่น รวม 6 หมื่น  ค่านักวิชาการให้คำปรึกษา 1 หมื่น  ค่าตีพิมพ์ 3-4 พันเล่ม 1.5 แสน รวมตีว่า 2.2 แสน  ปีแรกทำปราชญ์ภาคละ 10 คน 5 ภาค 50 คน มีหนังสือภูมิปัญญาปราชญ์ชาวบ้าน 50 เล่มอยู่บนแผงหนังสือ  ใช้เงิน 11 ล้านบาท

น้อยกว่างบ กอรมน ของจังหวัด 1 จังหวัดอีกมั๊ง?

แต่เราจะได้ความรู้มหาศาล ที่หลายหลาก และเป็นความรู้ของบ้านเราจริงๆ  และผู้อ่านก็อ่านสนุก นักเรียน ชาวบ้านก็อ่านได้ 

สำหรับ Ghost writer เองเขาก็คงภูมิใจกับงานของเขาไม่น้อยทีเดียว

หมายเลขบันทึก: 81808เขียนเมื่อ 3 มีนาคม 2007 23:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2012 11:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (17)
  • น่าสนใจดีครับคุณหมอ
  • จริงแล้วน่าจะส่งเสริมให้ปราชญ์เหล่านั้นเล่าออกมาได้ด้วยเช่น ท่านครูบาสุทธินันท์
  • แต่ทำอย่างไรจะส่งเสริมสนับสนุนผู้มีความรู้เหล่านั้น
  • ตอนนี้เรากำลังรวมผู้รู้ในสาขาต่างๆและพบแลกเปลี่ยนความรู้กัน
  • ไปเขียนความรู้ของปราชญ์มาไว้ที่ gotoknow
  • คุณหมอสนใจแลกเปลี่ยนเชิญที่บันทึกครูบาสุทธินันธ์ครับผม
  • ขอบคุณครับ

เรียน อาจารย์หมอมาโนช ครับ

ยินดีมากๆที่อาจารย์เขียนเรื่องแนวนี้

ผมทำงานกับชุมชนมาระยะหนึ่ง และได้เรียนรู้สิ่งดีๆที่คาดไม่ถึงว่า ภูมิปัญญาของคนท้องถิ่นจะมีมากมายและมีคุณค่ามาก ที่สำคัญคือไม่มีการถ่ายทอดออกมาครับ ...หรืออาจมีการถ่ายทอดออกมาก็เป็นเพียงส่วนหนึ่ง เสี้ยวหนึ่ง

ผมสนใจการถอดองค์ความรู้มาก เพราะงานเหล่านี้ยิ่งทำยิ่งสนุก ที่สำคัญได้ความรู้ให้กับตนเองด้วย

แต่งานแบบนี้ก็ยากครับ ต้องอาศัยกระบวนการ เทคนิค เวลา และใจรัก

ที่คุณหมอเขียนถึง  "ghost writer" น่าสนใจมากครับ ผมก็อยากเป็นแบบนั้นบ้าง...คงจะมีโอกาสสักวัน

ตอนนี้ผมเขียนหนังสือได้เล่มหนึ่งละครับ เป็นพอคเก็ตบุค อีกไม่นานคงจะคลอดออกมาครับ

คุณขจิตครับ คุณจตุพรครับยินดีครับที่สนใจความคิดเห็นของผม ผมอยากเห็นขบวนทัพ ghost writer กระจายสู่ชุมชน เพื่อถ่ายความรู้ออกมาสู่ประชาชนครับ  ถ้าจะทำจริงคงมีรายละเอียดอีกมาก เช่น การรับสมัคร การคัดเลือก การฝึกงานในการสังเกต การมอบหมายอาจารย์นักวิชาการที่เป็นพี่เลี้ยง

ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ดครงการนี้ประสบความสำเร็จอันหนึ่งคือเงินทุนครับ  เพราะคนเราต้องเลี้ยงปากเลี้ยงท้องตัวเองด้วย นอกจากการมีใจรักและเห็นประโยชน์

หนังสือก็ขายได้เงินกลับนะครับ ไม่ได้ทำแจกเปล่าๆ

นี่ถ้าผมเป็น CEO บริษัทใหญ่สักแห่งจะบริจาคทำโครงการนี้เลยเอ้า  ให้คุณ จตุพร เป็น project manager เลยนะเออ

 สนใจจังเลยค่ะ ทำงานแล้วอยากถ่ายทอด แต่มันไม่มีเวทีให้ อย่างนี้ค่อยๆทำกันไปเรื่อยเดี๋ยวก็มากเอง อ่านแต่บทวิชาการแล้วปวดหัว ตีความยาก เอาเป็นบทเรียนก็ไม่รู้ท่าไหนดี คือ มันไม่ใช่วิถีชีวิตจริงน่ะค่ะ

สวัสดี 

สวัสดีค่ะ คุณหมอมาโนช

ต้องบอกว่าแนวคิดของคุณหมอน่าสนใจค่ะ  หากได้นำเรื่องจริง วิธีการจริง มาถ่ายทอดความรู้ให้เห็นภาพจริง ๆ ก็จะสามารถกระตุ้นการเรียนรู้ได้เป็นอย่างดีค่ะ

เรื่องนี้ น่าสนใจมากทีเดียวค่ะ

เรียนคุณหมอมาโนช

      รายการทีวีที่มีสาระดี ๆ มีหลากหลายรายการ  แต่อาจจะไม่ใช่รายการที่มีเรตติ้งดีมาก  มีรายการอีกรายการหนึ่งค่ะที่อยากแนะนำคุณหมอคือรายการปราชญ์เดินดิน ที่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สัมภาษณ์พ่อทองเหมาะ แจ่มแจ้ง เจ้าสำนัก จุลินทรีย์สร้างโลก แห่งจังหวัดสุพรรณบุรี  ที่ดร.แสวง รวยสูงเนินนำมาเขียนได้อย่างน่าอ่านมากค่ะ ลองอ่านได้ที่http://gotoknow.org/blog/sawaengkku/79376

     รายการนี้มีวันอาทิตย์ เวลา 20.30 น. นะค่ะ

สวัสดีครับ อาจารย์หมอมาโนช

          ได้อ่านบันทึกของอาจารย์และข้อคิดเห็นของท่านอื่นๆ แล้ว ผมขออนุญาตให้ข้อมูลเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้องดังนี้ครับ

  • บันทึกของอาจารย์ทำให้ผมนึกถึงนักเขียนที่ทำงานด้านนี้อยู่แล้ว แต่ดูเหมือนว่าสังคมยังไม่ได้ให้ความช่วยเหลือแก่พวกเขาเหล่านี้มากนัก เช่น คุณเอนก นาวิกมูล (ผู้สร้างบ้านพิพิธภัณฑ์ และเขียนหนังสือกว่า 100 เล่ม) และคุณนิพัทธ์พร เพ็งแก้ว (หนึ่งในนักเขียนในดวงใจของผมทีเดียว - ลองอ่าน 'ถึงอย่างไรก็อยู่กันมาได้' โดยเฉพาะเรื่องหมอตำแย - อ่านแล้วขนลุกว่าสัมภาษณ์มาได้ยังไงทีเดียวครับ)
  • ผมเชื่อว่า คนที่จะทำงานได้นี้ได้อย่างมีคุณภาพ (ประเด็นน่าสนใจ ลึก ละเอียด อ่านง่าย และสร้างแรงบันดาลใจ) จะต้องมีความรักถึงขั้นลุ่มหลง (passion) ในประเด็นที่ไปบันทึกมากทีเดียว ในกรณีของคุณเอนก สรุปได้ง่ายว่า "ศรัทธาคือพลัง" ในกรณีของคุณนิพัทธ์พรเกิดจากการค้นพบตัวเอง โดยมีครูชั้นยอดชี้นำทาง)
  • อย่างไรก็ดี ผมไม่ได้หมายความว่า คนที่ไม่ถึงกับมี passion จะทำไม่ได้ดี แต่จะทำได้แบบไม่ต่อเนื่อง (เพราะไม่มีแรงขับจากภายใน) กล่าวคือ ทำเสร็จเป็นเรื่องๆ ไป ซึ่งก็นับว่ามีประโยชน์อยู่ไม่น้อย
  • มีอีกระบบหนึ่งที่ สกว. เคยใช้ และได้ผลดีระดับหนึ่ง นั่นคือ การทำวิจัยเพื่อเก็บภูมิปัญญาชาวบ้านเอาไว้ทั้งในรูปเอกสารและในตัวคน ผมเคยอ่านหนังสือ ภูมิปัญญาโลหกรรมพื้นบ้าน ซึ่งโดยแก่นสาระก็คือ เสาะหาผู้รู้ใน "เคล็ดวิชาเหล็กลาย" ที่หลงเหลืออยู่ มาสอนคนรุ่นใหม่ราว 10-20 คน และมีการบันทึกขั้นตอนการทำเอาไว้อย่างเป็นหลักฐาน (เก็บ explicit knowledge) ส่วนคนรุ่นใหม่นั้น ก็คาดหวังว่าจะทำงานด้านนี้ และส่งทอดความรู้ต่อๆ ไปเพื่อไม่ให้ความรู้สูญหาย (เก็บ tacit knowledge)
  • อย่างไรก็ดี การใช้ระบบงานวิจัยแบบไทยๆ ก็ยังมีจุดที่ไม่สมบูรณ์บางประการ (เนื่องจากโดยอาชีพแล้ว ผมเป็นนักวัสดุศาสตร์ จึงขอบันทึกความเห็นในเบื้องต้นไว้ ณ ที่นี้เล็กน้อย เพื่อขยายผลในโอกาสที่เหมาะสม) กล่าวคือ องค์ความรู้แบบภูมิปัญญาชาวบ้านยังไม่สมบูรณ์ เพราะพบว่า ในอารยธรรมอื่น เขาก็มีความรู้ในทำนองเดียวกันนี้ และ (ในกรณีเช่นนี้) มีมากและลึกกว่าเราในหลายแง่มุมอีกด้วย (แต่งานวิจัยไม่ได้กล่าวถึง)

         เอาไว้จะหาโอกาสแลกเปลี่ยนมุมมองกับท่านอื่นๆ อีกครับ ขอบคุณคุณหมอที่เปิดประเด็นนี้ครับ :-)

บัญชา

ปล. ในช่วงที่ผ่านมา ผมมีโอกาสสัมภาษณ์นักอุตสาหกรรม นักธุรกิจ นักวิชาการ นักเขียน และนักสื่อสารมวลชน จำนวนหนึ่ง (หลายสิบคน) เอาไว้จะหาโอกาสบันทึกเพื่อเปิดประเด็นนี้ด้วย คิดว่าอาจจะมีประโยชน์สำหรับอาจารย์หมอและท่านอื่นๆ ด้วยครับ

 มายกมือสนับสนุนค่ะ อย่างเช่นรายการปราชญ์เดินดิน ที่มาก่อนรายการลิงกับหมาหนะค่ะ

   อยากให้เข้าถึงชาวบ้าน คงต้องใส่ในวิทยุชุมชน หรือหนังสือพิมพ์รายวันดีไหมคะ  ลองเสนอว่าลงเรื่องนี้สักอาทิตย์ละครั้ง ดีกว่าลงรูปโป๊ๆหน้าหนึ่ง

 

อาจารย์หมอ ครับ

ถ้าไม่จ้างคน แต่ให้นักศึกษานักเรียนในท้องถิ่น เข้าไปหาข้อมูล เป็นกลุ่ม ได้ความรู้ระดับบุคคล

ค่้าเขียนเรื่องให้ ทำรายงานแทน 

ให้ตั้งอาจารย์ประจำกลุ่มหลายคน

ให้ทำทั้งขุดขุ้ย แคะแกะเกา เอาให้ได้

ผมว่าลดค่าใช้จ่าย และพร้อมทำได้เลยครับ

อยู่ที่แต่ละหัวหน้าภาควิชาที่ตรงกับ ปราชญ์ชาวบ้าน นั้นโดยตรง ว่าจะเริ่มยังงัยละครับ

ขอบคุณครับ กับข้อคิดที่แนะนำครับ 

มีเด็กโรงเรียน ผไทศึกษา ม.ต้น ถ้าจำไม่ผิดม.2ครับ

ทำรายงานกันเองเรื่อง ตามรอยสุนทรภู่ ในร่องน้ำเจ้าพระยา

เค้าตามหากันเอง ทำเป็นรายงาน CD มีคนขอไปดูกันเยอะมากเลยครับ

ไปหาข้อมูลกันเอาเอง

หลังจากนั้น เด็กๆขอออกไปหาข้อมูลนอกโรงเรียนกันเอง อาจารย์ก็สนับสนุน เพราะเค้าคิดที่จะเรียนรู้ด้วยตนเอง

ใช่ค่ะ กำลังจะบอกว่า ขอสนับสนุนความคิดเห็นของตาหยูนะคะ ภาคการศึกษาต่างๆ เช่น อาจารย์ในมหาวิทยาลัย มอบหมายให้นิสิตนักศึกษาลงพื้นที่ไปเรียนรู้-ถอดความรู้จากปราชญ์ชุมชนในท้องถิ่นตนเองค่ะ

ดร. บัญชา ครับ เห็นด้วยอย่างยิ่งครับว่าคนที่จะทำได้ดีจะต้องเป็นคนที่มี passion ในเรื่องที่ตนเองสนใจ คุณนิพัทธ์พร เพ็งแก้วเป็นนักเขียนในดวงใจของผมคนหนึ่งเหมือนกัน ผมมีเล่มนี้เหมือนกัน เธอมีความคิดที่แหลมคมและการใช้ภาษาดีมากๆ เลย ชอบตั้งแต่ช่วงที่เธอเขียนสารคดีเชิงท่องเที่ยว บันทายฉมาร์ และ เดียงพลาโต ครับ

ประเด็นที่สอง ใช้ระบบงานวิจัยแบบไทยๆ ก็ยังมีจุดที่ไม่สมบูรณ์บางประการ ผมก็เห็นด้วยครับ  ปัญหางานวิจัยบ้านเราประการหนึ่งการค้นคว้าเปรียบเทียบยั้งมีน้อย โดยเฉพาะการเปรียบเทียบกับความรู้สากล และที่สำคัญคือการขาดการสังเคราะห์ครับ

คุณ Ranee และคุณหมออนิศรา ครับรายการปราชญ์เดินดินเป็นรายการที่ดีมากๆ เลยครับ ทีวีเมืองไทยควรมีรายการแบบนี้ให้เยาวชนดูเยอะๆ แทนละครตบจูบนะครับ

คุณ ตาหยู และ หนิง  ครับ ขอบคุณครับเป็นความคิดที่ดีและทำได้จริงเลยครับ

ประเด็นที่ผมต้องการนำเสนอคือ ความรูัและประสบการณ์เหล่านี้ถ้าไม่มีผู้บันทึกและถอดออกมา อีกหน่อยก็จะสูญหายไปเหมือนกับความรู้พื้นบ้านหลายๆ เรื่องของเรา ที่ผมเสนอว่ามี ghost writer เพราะอยากให้เป็นการบันทึกและกระจายความรู้ออกในวงกว้างด้วย

ปัญหาของการวิจัยหรือการศึกษาในบ้านเราอย่างหนึ่งคือส่วนใหญ่ทำแล้วขึ้นหิ้ง ไม่มีใครรู้ว่าทำแล้ว เพราะอยู่ในซอกหลืบต่างๆ หรือรู้กันในวงแคบๆ พอเวลาผ่านไปก็เลือนไปเช่นกัน

นอกจากนี้ผลของการศึกษาวิจัยมักจะใช้ภาษาที่ชาวบ้านอ่านไม่เข้าใจ ก็ไม่มีประโยชน์ต่อการเผยแพร่ความรู้ในระดับชุมชนด้วยกันอีก

ความฝันของผมคือเรามีหนังสือทำนองนี้อยู่ทุกห้องสมุดโรงเรียนและชุมชน อาจารย์สามารถให้นักเรียนค้นคว้าต่อยอดกับความรู้ที่เขาได้จากชุมชนของเขา เกิดการเปรียบเทียบดึงความรู้จากแหล่งชุมชนอื่น เป็นความรู้ที่มีพื้นฐานจากชุมชนตนเองและผสมผสานกับความรู้จากแหล่งอื่นๆ เพื่อพัฒนาต่อไป

  • บนหิ้งในห้องสมุด สถาบันวิจัย และ...มีงานวิจัยที่น่าสนใจมากมาย และอย่างที่เราพูดถึงกัน มันก็แค่เป็นความรู้ที่วางไว้ที่นั่น
  • ผมยังคิดเล่นๆว่า หากมีนักศึกษา ป.โท ป.เอกทำวิจัยแค่รวบรวมองค์ความรู้ต่างๆที่ขึ้นหิ้งเหล่านั้นออกมาตีแผ่ "ของดีที่อยู่บนหิ้ง" ผมก็ว่ามีมากมาย  เอามาใช้ประโยชน์  หรือเอาสรุปย่อมาใส่ใน G2K นี่ก็มากมายแล้ว
  • เดาว่าแค่เอาลงทุกวัน วันละเรื่องก็น่าที่จะเป็นปีปีเลยทีเดียว
  • ผมสนใจแนวคิดของคุณหมอ เรื่องการบันทึกปราชญ์ชุมชน ซึ่งตรงกันที่ผมกับเพื่อนร่วมงานคิดกัน  แต่การให้เวลาทำมันไม่ต่อเนื่องและงานล้นมือ เลยครึ่งๆ กลางๆ ผมก็เพียงหยิบบางส่วนมาเขียนในนี้บ้าง
  • ความคิดนี้ก็ยังอยู่ในใจผมอยู่ครับ คุณหมอ

ดีใจและเป็นเกียรติครับที่คุณบางทรายซึ่งผมถือว่าเป็นผู้รู้จริง ทำจริง และขลุกกับข้อมูลตรงนี้ตลอดได้แวะมาเยี่ยมครับ ผมเห็นด้วยครับว่าน่าจะมีงานวิจัยสัก 2-3 ชิ้นที่ทำการรวบรวมผลงานบนหิ้ง เรื่องนี้มีมิติต่างๆ ให้รวบรวมมาก และควรจะมีการรวบรวมสรุปสังเคราะห์ความรู้ ซึ่งทำ 10 ปีครั้งก็น่าจะดี เพราะอีกหน่อยผ่านไปเราก็ยิ่งตามยากขึ้นๆ ไปอีก เพราะอย่างที่ทราบว่าระบบการเก็บและสืบค้นเรายังทำได้ไม่ดีเท่าฝรั่งที่เขาทำกันมานาน

การสรุปและย่อเรื่องลงอินเตอร์เน็ตผมก็เห็นด้วยอีกครับเพราะนี่เป็นการเก็บบันทึกที่ถาวรไม่เสื่อมและวืบค้นได้ง่ายโดยคนค้นไม่ต้องไปถึงที่ ผมคิดว่าวิธีก็ทำคล้ายๆ กับ G2K โดยทำเป็นเรื่องละบันทึก มีคนแสดงความเห็นหรือแจ้งความคืบหน้าเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ ได้ สอบถามได้ การทำ tag ก็ทำตามชื่อปราชญ์ชาวบ้าน ลักษณะความรู้ แหล่งที่ต้นแบับมีอยู่ ปีพศ.ที่บันทึก  เพราะฉะนั้น การสืบค้นจะทำได้ง่ายขึ้นมาก ถ้าทำได้ผมคิดว่านี่จะเป็นจุดกระตุ้นของการบันทึกและต่อยอดความรู้ด้านนี้ได้เป็นอย่างดีทีเดียวครับ แหมพูดเรื่องนี้แล้ว คึกคักครับ   ผมอยากให้มีหน่วยงานที่ให้ทุนมาจัดทำเรื่องนี้เหลือเกิน เพราะมันต้องใช้เงินและคน maintenance มันถึงจะได้ต่อเนื่อง ผมคิดว่าแค่ 2-3  ปีการรวบรวมน่าจะทำได้มากทีเดียว  ยิ่งถ้าสามารถทำให้มีการสนทนาแบบปราชญ์ต่อปราชญ์หรือปราชญ์ต่อผู้สนใจได้ แบบท่านครูบาฯ ก็ยิ่งจะดีมากๆ เลย  จบก่อนนะครับ เดี๋ยวจะฝันฟุ้งเกินไป ขอบคุณคุณบางทรายมากครับที่แวะแสดงความคิดเห็น

เรียนอาจารย์หมอมาโนช ที่นับถือ

ดิฉันเข้ามาขออนุญาตทำลิงค์ บันทึกนี้ ของอาจารย์  ไว้ที่บันทึกของคุณเบิร์ด  เรื่อง ตะวันออก..ความรู้ที่สมบูรณ์   นะคะ  ดิฉันคิดว่าบันทึกนี้ของอาจารย์เขียนไว้ดีมากค่ะ

เรียนเพิ่มเติมว่าดิฉันเข้ามาอ่านบันทึกของอาจารย์ทั้งอาทิตย์ เวียนไปเวียนมาแต่ยังไม่ครบสักที   เพราะอ่านแล้วต้องคิด

ดิฉันเชื่อว่า เรื่องที่อาจารย์เขียนมีคุณค่าต่อจิตใจของผู้อ่านมากนะคะ  ดิฉันได้เข้าใจความรู้สึกของคุณหมอที่เห็นคุณค่าของความเป็นมนุษย์ แล้วก็ถ่ายทอดแก่กันอย่างมองเห็นในความเป็นมนุษย์ ของคนไข้จริงๆ 

ดิฉันเห็นที่ นสพ.มติชนรายวัน (วันที่ 20 เม.ย.2550) หน้า 33 กล่าวถึงเรื่อง Humanized Medicine  การแพทย์ที่เน้น 'จิตวิญญาณแห่งความเป็นมนุษย์'  แล้วดิฉันก็นึกถึงคุณหมอมาโนช คุณหมอ Phoenix คุณหมอเต็มศักดิ์   และอีกหลายท่านที่ให้ความสำคัญแก่เรื่องนี้ใน  G2K

                 ดิฉันรู้สึกประทับใจมากค่ะ.....  :)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท