ชีวิตจริงของอินเทอร์น : เรื่องเล่าดีๆ


  

          ที่ประชุมคณะกรรมการปฏิบัติการโรงเรียน (คปก.) วันนี้เริ่มต้นด้วยการนำเสนอ Best Practiceจากคนที่มีเรื่องดีๆที่พบจากการทำงานมาเล่าสู่กันฟัง ดิฉันขอเล่าเป็นคนแรก เรื่องที่เล่านี้เป็นเรื่องความสำเร็จของการใช้ forum เป็นสื่อในการ ลปรร.ของฝ่ายทรัพยากรเพื่อการเรียนรู้ และบุคลากรจากส่วนอื่นๆ ที่สนใจเข้ามาร่วมแจม

         หลังจากที่เปิดใช้เป็นครั้งแรกเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ เพื่อใช้เป็นช่องทางในการนำเสนอสิ่งดีๆที่ได้เรียนรู้จากหน้างานของแต่ละคน ความคึกคักก็เริ่มเกิดขึ้น จนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มีกระทู้ที่สะท้อนให้เห็นถึงความคาดหวังที่มีต่อการมาทำงานที่โรงเรียน ที่แสดงความฝัน ความหวังที่มีต่องานออกมาอย่างชัดเจน

           เกิดเป็นมิติของการเรียนรู้ที่ลึกซึ้ง บันทึกนี้เกิดจากการทบทวนเป้าหมายของตัวเอง สอบทานกับงานที่กำลังทำอยู่ว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างไร เป็นไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่  ซึ่งเป็นช่องทางที่ทุกคนจะรับรู้ได้ว่าพลังชีวิตขององค์กรเป็นเช่นไร  และเราจะช่วยนำพากันไปให้ฝันได้อย่างไร มีใครเข้มแข็ง หรืออ่อนล้าอย่างไร จะดูแลใจกันอย่างไร

          เหตุการณ์นี้ทำให้นึกไปถึงเรื่องที่อาจารย์วิจารณ์เคยเล่าว่า เมื่อไหร่ที่เราเขียนบันทึกที่กลั่นออกมาอย่างประณีตจะมีคนเข้ามาอ่านมากกว่าบันทึกทั่วไป และการเข้ามาแสดงความคิดเห็นของผู้อ่านก็จะมากด้วย อาจารย์ยกตัวอย่างเช่น บันทึกที่อาจารย์เขียนที่อเมริกา ซึ่งเขียนขึ้นในช่วงที่ใจปลอดโปร่งสังเกตว่าจะมีบันทึกดีๆ ออกมาได้มาก และสามารถดึงสิ่งที่มีอยู่ในตัวออกมาได้ลึก จนผู้อ่านสัมผัสได้และเข้าถึงคุณค่าที่แท้จริงซึ่งผู้เขียนถ่ายทอดผ่านตัวหนังสือออกมา

              เนื่องจากขณะนี้เป็นช่วงเวลาใกล้จะสิ้นสุดปีการศึกษา ที่ประชุมจึงมีวาระของการพิจารณาปรับประเมินผลการปฏิบัติงานประจำปี ๒๕๔๙ ซึ่งในเรื่องนี้ทางโรงเรียนได้เรียนรู้จาก Best Practice ของเรา คือ คุณทนง โชติสรยุทธ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน) และกรรมการบริหารโรงเรียนเพลินพัฒนา

             คุณทนงเล่าว่า ที่ซีเอ็ดมีวิธีการช่วยให้พนักงานอยู่ในองค์กรได้ดีขึ้น คือ

๑.     พนักงานใหม่ทุกคนจะมีพี่เลี้ยง ซึ่งเป็นคนที่มีไฟในการทำงาน และมีทัศนคติที่ดีต่อองค์กร เพื่อช่วยให้ผู้ที่มาใหม่เรียนรู้ที่จะปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมขององค์กรได้ดีขึ้น และเร็วขึ้น ด้วยการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติตัวของพี่เลี้ยง ที่เป็นตัวแทนวัฒนธรรมองค์กรที ่มีชีวิต

๒.    มีการวางเป้าหมายในการเรียนรู้ของพนักงานที่มาใหม่ให้ชัด โดยระบุว่าเดือนใดจะได้เรียนรู้ในเรื่องใดบ้าง ต้องผ่านงานอะไรบ้าง ซึ่งควรจะต้องมีประสบการณ์ในทุกหน้างานที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย อย่างหนัก เต็มรูปแบบ เพื่อเป็นการพิสูจน์ทั้งปริมาณงาน และคุณภาพของงาน เพื่อจะได้ประเมินกันให้รู้ไปเลยว่างานหนักขนาดนี้ เนื้องานขนาดนี้ คุณมีศักยภาพพอไหม ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องได้แบกรับความรับผิดชอบจริง ไม่ใช่ในช่วงทดลองงานได้ทำแต่งาน "หน่อมแน้ม" พอพ้นช่วงทดลองงานจึงค่อยเจองานหนัก ถ้าเป็นแบบนี้พนักงานอาจรู้สึกไม่ดีต่อองค์กร และเห็นว่าองค์กรเขี้ยว   ที่สำคัญคือหากไม่ได้ทำงานที่ต้องใช้ศักยภาพให้ถึงที่สุด  ทั้งตัวพนักงาน และองค์กรก็จะไม่รู้เลยว่า เขาคนนี้มีความเหมาะสมจริงไหม  

           เรื่องเล่าของคุณทนงทำให้ดิฉันนึกถึงตอนที่ได้ไปใช้ชีวิตเป็นอินเทอร์นอยู่ที่ สคส. ว่าอาจารย์วิจารย์ท่านให้งานที่ดิฉันต้องใช้ความสามารถรอบด้าน ตั้งแต่การเป็นวิทยากรกระบวนการซึ่งเป็นงานในหน้าที่  การเขียนบันทึกความรู้ที่ได้จากการปฏิบัติ การนำเสนอความคิด และความรู้ ซึ่งต้องอาศัยการตีความบทความและความรู้ในเชิงทฤษฎี  แล้วนำเสนอให้ผู้อื่นได้รับทราบ ด้วยการใช้ ppt. ซึ่งดิฉันไม่เคยทำมาก่อน  การวิจารณ์งานวิจัย และอื่นๆ ซึ่งถือได้ว่าเป็นประสบการณ์การทดสอบที่น่าประทับใจ และก่อให้เกิดความมั่นใจในการทำงานจัดการความรู้ที่โรงเรียนในเวลาต่อมา ซึ่งเป็นช่วงชีวิตจริงของอินเทอร์นอย่างยิ่ง

หมายเลขบันทึก: 81122เขียนเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2007 13:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 01:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท