พันธมิตร (Alliance) อิงระบบ กับ การพัฒนาทุนทางสังคม (Social capital)


ทุนทางสังคมคือ คำตอบที่สำคัญที่สุด รองลงมาก็คือทุนทางธรรมชาติที่จะต้องมี ต้องสร้าง ต้องสนับสนุน
 

ในระยะ ๒-๓ วันนี้ ความคิดของผมยังวนเวียนอยู่กับประเด็นที่ผมใช้ในการทำงานในโครงการพัฒนานโยบายน้ำเพื่อเศรษฐกิจพอเพียงที่มีนักวิชาการจากศูนย์การประสานงานวิจัยเกษตรนานาชาติ (CGIAR- Consultative Groups for International Agricultural Research) ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงโรม อิตาลี

มาติดตามดูว่างานที่ผมทำร่วมกับภาคีการเรียนรู้ (Learning Alliances) ในภาคอีสาน โดยอาศัย KM เป็นยุทธศาสตร์แกนนำในการทำงาน นั้น ได้ผลแค่ไหน อย่างไร สอบผ่านไม่ผ่าน ในเรื่องอะไร ในประเด็นใดบ้าง 

โครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อการพัฒนาเรื่องนี้ได้เริ่มวางแผนจากปรัชญาการใช้น้ำแบบหลากหลายวัตถุประสงค์ (Multiple use system- MUS) เพื่อตอบสนองความต้องการในชีวิตที่หลากหลายของผู้ใช้น้ำ ที่วางแนวคิดมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๕ สมัยที่ผมไปทำงานให้กับสถาบันวิจัยน้ำนานาชาติ (IWMI) เพื่อเชื่อมโยงการทำงานแบบพันธมิตรแบบอิงระบบแบบสามเส้า ของ สถาบันวิจัยนานาชาติ (IWMI) สถาบันการศึกษา (มหาวิทยาลัยขอนแก่น) และองค์กรในชุมชน (เครือข่ายปราชญ์อีสาน)

  แต่เมือทำไประยะหนึ่งก็พบว่า การทำงานดังกล่าวก็เริ่มมาติดขัดที่ระดับนโยบาย และการทำงานกับภาคราชการ ที่มีทั้งแนวคิดและวัฒนธรรมในการทำงานที่ยังไม่สอดคล้องกับเป้าหมายงานที่วางไว้ ที่เราได้พยายามเชื่อมโยงทั้งฝ่ายการเมือง และฝ่ายบริหารขอให้ช่วยสนับสนุนเรื่องนี้ให้ผ่านทางตันในระบบคิดเดิมๆออกไปให้ได้  

กล่าวคือ การทำงานในภาคราชการแต่เดิมจะเน้นระดับพื้นที่ใหญ่ เช่น ลุ่มน้ำ หรือ ขอบเขตการปกครองระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล หรือหมู่บ้าน เป็นหลัก โดยไม่ได้มองการทำงานระดับครัวเรือน หรือแปลง ที่เป็นระบบที่เป็นจริง และเห็นผลได้อย่างชัดเจน ทั้งเพื่อวัดผลตามขั้นตอนการทำงานและการติดตามประเมินผลโดยรวม แต่การทำงานจริงๆนั้นต้องเริ่มทำในระดับครัวเรือนขึ้นไปจึงจะเห็นผลที่แท้จริง

  

ดังนั้นทางโครงการจึงต้องมาเน้นการสร้างความเชื่อมโยงความคิดของระบบราชการที่ทำงานสนับสนุนด้านการจัดการทรัพยากรน้ำ เข้ากับระบบคิดของกลุ่มเครือข่ายปราชญ์เพื่อสร้างทุนทางสังคมที่สามารถหนุนช่วยการพัฒนาประเทศได้อย่างครอบคลุม ตั้งแต่ระดับนโยบาย วิชาการและเทคโนโลยี ชุมชน ภูมิปัญญา และการปฏิบัติระดับครัวเรือน แปลง และเทคนิคต่างๆ ที่เป็นไปได้จริงๆ ของแต่ละระบบนิเวศ ระบบสังคม และระบบวัฒนธรรม ประเพณีในระดับพื้นบ้านแต่ละแบบ

  

ในความเป็นจริงแล้ว การทำงานพัฒนาแบบนี้เป็นเพียงการเชื่อมโยงทุนทางสังคมที่มีอยู่ เปรียบเสมือนการต่อเชื่อมสายสัมพันธ์เข้าเป็นพันธมิตรแบบอิงระบบซึ่งกันและกัน ก็สามารถพัฒนานโยบายน้ำระดับประเทศให้สอดคล้องกับแผนการพัฒนาพื้นที่และแผนการทำงานระดับครัวเรือน เท่านั้นเอง ยังไม่ได้มีการพัฒนาทุนทางสังคมให้มากขึ้นแต่อย่างใด แต่ก็ทำให้ทุกฝ่ายเริ่มมองเห็นประโยน์และมีความหวังที่จะทำงานร่วมกันให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้แล้ว

  

แต่ในทางปฏิบัตินั้น ผลที่เกิดขึ้นก็เพียงมีกรณีตัวอย่าง ในระดับ

 
  • แปลงไร่นา
  • ครัวเรือน
  • กลุ่ม
  • เครือข่าย
  • ชุมชน และ
  • หมู่บ้าน

ที่คาดว่า ในระยะยาวนั้น แผนและนโยบายที่เราร่วมกันสะกิดกันไปมา และช่วยกันขัดเกลาขึ้นมานั้น จะสามารถให้ผลที่เป็นจริงได้ในอนาคตอันใกล้

  

ก่อนหน้านี้ ผมตั้งใจ แต่ไม่ค่อยกล้าตั้งความหวังอะไรมากนัก เพราะเรายังเพิ่งเริ่มงาน ไม่แน่ใจในผลการทำงานที่เกิดขึ้นว่าจะออกผลไปทางใด ได้เร็วขนาดไหน

  

แต่วันนี้ เรามีตัวอย่างที่สามารถทำให้เห็นผลได้ในระยะเวลาเพียงไม่เกิน ๒ ปี โดยเฉพาะกรณีที่ทุนทางสังคมค่อนข้างพร้อม และมีทุนทางธรรมชาติสนับสนุนอยู่บ้างพอสมควร

  

ดังนั้น จากผลการทำงานที่ผ่านมา เราได้รับบทเรียนว่า

 
  • ทุนทางสังคมคือ คำตอบที่สำคัญที่สุด
  • รองลงมาก็คือทุนทางธรรมชาติ

ที่จะต้องมี ต้องสร้าง ต้องสนับสนุน และประคับประคองให้เกิดขึ้นมาให้ได้ และถ้าใครทำได้ก่อนก็สำเร็จก่อนอย่างชัดเจน แบบไม่มีข้อกังขาใดๆทั้งสิ้น

  

ทีนี้ การพัฒนาทุนทางสังคมในเบื้องต้นอย่างที่โครงการทำไปแล้วก็คือการ

 
  • เชื่อมโยงพันธมิตรต่างๆ เข้าด้วยกัน ให้เข้าใจและหาทางทำงานแบบพึ่งพาซึ่งกันและกัน
  • ต่อไปก็เป็นการพัฒนาความเชื่อมโยงภายในกลุ่ม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ในกระบวนการจัดการการเรียนรู้

ซึ่งคาดว่าจะเป็นวิธีการพัฒนาในขั้นต่อๆไป

  

โดยสรุปแล้ว ผลการทำงานที่ผ่านมาก็คือการสร้างพันธมิตรเพื่อการเรียนรู้ (Learning alliances) เป็นเบื้องต้น สิ่งที่จะทำต่อไปก็คือ การจัดการการเรียนรู้ร่วมกัน ทั้ง

 
  • แบบ KMธรรมชาติ ในส่วนของตัวเอง และ
  • การจัดการเรียนรู้แบบมีผู้สนับสนุน (Facilitated KM) ที่จะต้องพึ่งคุณอำนวย คุณเอื้อ คุณประสาน
  • แต่ ถ้ามีทั้งสองส่วน ก็น่าจะมีแนวโน้มที่จะทำร่วมกันไปอยู่แล้วเพื่อความรวดเร็วในการทำงาน
 ในที่สุดแล้ว
  • การทำงานทั้งหมดนี้ก็จะย้อนกลับไปพัฒนาทุนทางสังคม ทุกระดับ ทุกรูปแบบ
  • ที่จะสะท้อนผลไปสู่การพัฒนาและฟื้นฟูทุนทางธรรมชาติ และ
  • สามารถย้อนกลับมาสนับสนุนการทำงานพัฒนาทุนทางสังคมได้อีกรอบหนึ่งแบบเป็นวงจรครบวงกลม ที่หมุนเร็วขึ้น ใหญ่ขึ้น เกิดผลเร็วขึ้น อย่างต่อเนื่อง และไม่มีวันสิ้นสุด ครับ
 

นี่คือส่วนหนึ่งของแผนงานที่ทำสำเร็จแล้ว และจะจะเน้นทำอย่างเข้มข้น จริงจัง ต่อไปครับ

  

พันธมิตรเครือข่ายเพื่อการพัฒนาทั้งหลาย เรากำลังรอท่านเข้ามาร่วมกันสร้างโลกนี้ให้น่าอยู่ยิ่งขึ้นต่อไปครับ

  ยินดีต้อนรับทุกท่านครับ เรากำลังทำรอท่านอยู่ครับ

 

หมายเลขบันทึก: 81046เขียนเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2007 01:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2012 23:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
ขอบคุณครับคุณวิชิต ผมชื่นชมในการทำงานของท่านเสมอครับ

เรียน อาจารย์ ดร. แสวง รวยสงเนิน

เห็นด้วยกับอาจารย์ครับว่าในการพัฒนานั้นจะต้องสร้างทุนทางสังคมก่อนจึงจะทำให้เกิดความยั่งยืน

ผมมีความเห็นว่าในการพัฒนานั้นหากเราพัฒนาแบบองค์รวมทั้งทุนทางสังคม ทุนทางปัญญา และทุนทางสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไปจะสามารถพัฒนาไปได้เร็ว และมีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้นครับ

อย่างไรก็ตามในการสร้างเครือข่าย และพันธมิตรทางวิชาการสำหรับการทำงานแบบอิงระบบนั้น ผมมีความเห็นว่าองค์กรที่มีความสำคัญอีกระดับหนึ่งคือองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ซึ่งเป็นองค์กรที่น่าจะมีศักยภาพในการที่จะร่วมพัฒนาในทุกๆ ด้านให้เกิดความยั่งยืน โดยเฉพาะปัญหาระบบน้ำซึ่งเป็นปัญหาเบี้ยหัวแตกในระดับชุมชน

เมื่อ อบต. ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการรับรู้และแก้ปัญหาร่วมกันผมคิดว่าน่าจะทำให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืนครับ

ด้วยความเคารพ

อุทัย อันพิมพ์

ผมยังไม่แน่ใจว่าจะดึง อบต เข้ามาช่องทางไหน จึงจะดีที่สุด

ที่ทำอยู่ก็เป็นเฉพาะกิจ บาง อบต แต่ถ้าจะดึงทั้งหมดนั้น ผมยังคิดแนวทางไม่ออก

กับระบบราชการผมก็ใช้ความพยายามนานมากครับ

ระยะต่อไปก็กะจะลองกับ อบต

ถ้าอาจารย์ศิริพงษ์ ขยับสักก้าวสองก้าวก็จะมองเห็นทางบ้าง

ตอนนี้ก็เลยยังคิดไม่ออกครับ

หรือมีข้อเสนออะไร เชิญเสนอได้ครับ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท