สำรวจพื้นที่ตรัง นครฯ พัทลุง (1) .....การจัดการความคิด


แม้จะเริ่มต้นโดยการจัดการกิจกรรม แต่ต่อไปก็ต้อง “จัดการความคิด” ถึงแม้จะมีงบประมาณ มีกิจกรรม แต่ก็ยังไม่ดีขึ้น ต้องทำงานทางความคิด

วันที่ 23  กพ. ได้มีโอกาสไปเยี่ยมเครือข่ายสินธุ์แพรทอง ต.ลำสินธุ์ อ.ศรีนครินทร์ จ.พัทลุง ตามคำแนะนำของคุณพัชณี จาก พอช.  เป็นกลุ่มที่น่าสนใจมากทั้งแนวคิดและกิจกรรม   โดยเฉพาะประสบการณ์และความคิดที่แหลมคมของคุณอุทัย บุญดำ ผู้นำเครือข่าย เป็นสิ่งที่น่าเรียนรู้ยิ่ง

ในขณะที่ "การจัดการความรู้"  เป็นเรื่องที่ใครๆก็พูดถึง   เราได้ยินคุณอุทัยพูดถึง "การจัดการความคิด" 

"กิจกรรมหรืองาน เป็นเครื่องมือ  แต่สิ่งที่สำคัญคือ การพัฒนาระบบคิด   ต้องสร้างผู้นำทางความคิดจึงจะเกิดการเปลี่ยนแปลง  เช่นการเปลี่ยนแปลงไปสู่วิถีเศรษฐกิจพอเพียง   ถ้าเปลี่ยนความคิดคนไม่ได้ ก็จะเดินตามกระแสทุน    แม้จะเริ่มต้นโดยการจัดการกิจกรรม  แต่ต่อไปก็ต้อง จัดการความคิด   ถึงแม้จะมีงบประมาณ  มีกิจกรรม  แต่ก็ยังไม่ดีขึ้น  ต้องทำงานทางความคิด"

ในการจัดการความคิด ดูเหมือนคุณอุทัยจะให้ความสำคัญกับกระบวนการเรียนรู้  และการเรียนรู้ที่สำคัญคือ เรียนรู้ประวัติศาสตร์ของตนเอง

"ประวัติศาสตร์สำคัญมาก  ข้อมูลรายรับรายจ่ายจะให้ข้อมูลปัจจุบัน  แต่ถ้าไม่แม่นข้อมูลประวัติศาสตร์ของพื้นที่   ฐานก็จะไม่แน่น   การทำข้อมูลประวัติศาสตร์ ใช้วิธีให้คนเก่าแก่เล่าเรื่อง  เมื่อเห็นว่าพื้นที่มีประวัติศาสตร์ก็จะเกิดความภูมิใจ"

เราคิดเชื่อมโยงเอาว่า  ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นจะสร้างความภูมิใจ  ความภูมิใจจะสร้างความเชื่อมั่นในตนเอง  เชื่อมั่นพอที่จะ "คิดต่าง"  โดยคิดวิเคราะห์จากฐานวัฒนธรรม สังคมของเราเอง  การคิดต่างเป็นเงื่อนไขที่จะขาดเสียมิได้ (เงื่อนไขจำเป็น) ถ้าจะสร้างการเปลี่ยนแปลง

... ยังมีเรื่องที่ได้เรียนรู้อีกมากจากพื้นที่นี้...

(ขอบคุณคุณพัชณีที่กรุณาแนะนำพื้นที่ ขอบคุณอาจารย์ภีมและ ม.วลัยลักษณ์ที่ช่วยเหลือในการลงพื้นที่ค่ะ)

หมายเลขบันทึก: 80492เขียนเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2007 01:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)
  • ผมว่าความคิดและความรู้เป็นสี่งที่เกี่ยวเนื่องกันอย่างแยกไม่ออกครับ
  • เห็นด้วยว่าถ้าไม่เปลี่ยนความคิดก็ไม่สามารถเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจได้ครับ ความคิดปัจจุบันโน้มเอียงไปทางทุนนิยมสุดโต่งชนิดที่จะให้คิดถึง "พอเพียง" ก็แทบจะนึกไม่ออกว่าจะทำให้เป็นจริงได้อย่างไร
  • คงต้องเริ่มจากทุก ๆ หน่วยพร้อมกันครับ ทั้งภาครัฐ ภาคสังคม และภาคเอกชน (โดยเฉพาะเอกชน คงยากที่จะทำพอเพียง)
  • อาจารย์นอนดึกจังครับ ว่าง ๆ มาร่วมชมรมคนนอนดึกได้ครับ :>

ระหว่างเขียนก็คิดไปด้วยเหมือนกันว่า  การจัดการความรู้ กับ การจัดการความคิด จะต่างกันไหม  กระบวนการอาจคล้ายกัน แต่จุดเน้นหรือเป้าหมายอาจจะต่างกันบ้าง

ต้องเรียนถาม ผู้รู้ "KM" ทั้งหลายค่ะ

แต่คิดอีกที "รู้มากแต่คิดไม่เป็น" ก็มีนะคะ (เอ๊ะ เล่นสำนวนเกินไปรึเปล่า)

ปัทมาวดี โพชนุกูล ซูซูกิ

และเพื่อให้มองอีกด้านของเหรียญ   คนที่คิดมากแต่ไม่รู้ก็มีนะคะ   นักวิชาการ (อย่างตัวเอง) บางทีคิดมากแต่ไม่รู้จริง  ... 

 

อ.ปัทมาวดีครับ

จัดการความรู้ หลายคนเข้าใจว่าจัดการกับตัวความรู้ ซึ่งถูกเพียงส่วนน้อยเท่านั้น หัวใจของจัดการความรู้คือ ความเป็นกัลยาณมิตรระหว่างคนกับคน

ที่คุณอุทัยกำลังทำสำหรับผมแล้วเป็นการจัดการความรู้ที่เยี่ยมยอดมากครับ

อ.ปัทมาวดี ครับ

          จัดการความรู้ ผมว่าคือการทำงานนั่นเอง จะคนๆหนึ่ทงทำ กลุ่มคน องค์กร เครือข่าย ทำงานนั้นให้สำเร็จได้โดยชุดความรู้อะไรมาใช้จัดการ....ที่สุดแล้วก็คือความเป็นกัลยาณมิตรนั่นแหละครับ อ.ภีม ขมวดไว้ดีแล้ว

  • เห็นจะจริงอย่างที่อาจารย์บอกครับ มีทั้งคนที่คิดมากแต่ไม่รู้และคนที่รู้มากแต่คิดไม่เป็นครับ
  • เห็นด้วยกับกัลยาณมิตรของคุณภีมด้วยคนครับ

เรียน อาจารย์ภีม อาจารย์จำนง อาจารย์Kae

ขอบคุณกัลยาณมิตร (ทาง blog) ทั้งสามท่านนะคะ ....

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท