Emergent: ตัวอย่างระบบ (5) - เงิน


เงินเป็นตัวอย่างที่ดีของระบบ emergent เพราะเงินไม่ได้เกิดขึ้นด้วยตัวเอง ไม่ได้มีค่าด้วยตัวของมันเอง (ในกรณีของพันธบัตร) แต่เกิดเพราะการยอมรับร่วมกันของสังคม

เมื่อการยอมรับยังมั่นคง เงินก็จะมีค่า

เมื่อไม่เป็นที่ยอมรับ เงินก็เสื่อมค่า

เช่น สินค้าโภคภัณฑ์ในช่วงไม่กี่ปีนี้ ขึ้นไปคร่าว ๆ เท่าตัว เป็นข่าวฮือฮาว่า ทำกำไรดีกว่าการลงทุนตลาดหุ้นหลาย ๆ แห่งเสียอีก

มองในอีกมุมหนึ่ง คือความเชื่อมั่นของเงินโดยรวมคลอนแคลน ความเชื่อมั่นของสินค้าโภคภัณฑ์ยังอยู่เหมือนเดิม นั่นคือ ค่าเงินตกทั้งโลก คือคนเห็นเงินมีความหมายน้อยลง เทียบกับของ

การที่ กองทุนเห็ดฟัน  ขายเงินไปซื้อโลหะ ดูเผิน ๆ เป็นการเก็งกำไร คงไม่ตรงนัก เพราะจริง ๆ แล้วเขา "หนีตาย" ต่างหาก

Hedge fund ... ขออ่านว่า เห็ดฟัน

ที่ผมไม่อยากอ่านว่า เฮ็ดฟัน เพราะฟังแล้วบรื๋อว์...นึกถึงหมอฟัน 

เห็ดฟัน ฟังแล้วดูน่ากิน ไม่น่าสยดสยอง

เพราะใคร ๆ ก็รู้... เฮ็ดอะหยัง มิเจ็บเท่าเฮ็ดฟัน

นั่นคือ กองทุนเห็ดฟัน หนีตายจากสิ่งที่กำลังเสื่อม กำลังทรุด ไปซบพรรคอื่น..เอ๊ย .. ไปหาสิ่งที่ไม่เสื่อม..หรือเสื่อมช้ากว่า...หรือมีโอกาสรุ่งเรืองกว่า

กองทุนเห็ดฟันทำเช่นนี้ ก็เหมือนกระโดดไปตามขอนไม้ลอยน้ำ ยืนนิ่งนานไม่ได้ เดี๋ยวจม ต้องกระโดดเปลี่ยนขอนไปเรื่อย ๆ วันนึงเกาะขอนทองคำ ถัดไปอีกวันเกาะขอนน้ำมันดิบ วันถัดไปเกาะขอนเงินบาท หมุนไปเรื่อย ๆ

ความเชื่อมั่นเกิดจากประโยชน์ใช้สอย

เพราะคนเห็นประโยชน์ คนจึงยอมรับ

เพราะคนยอมรับ คนจึงเห็นประโยชน์

เกิดวงจรป้อนกลับ 

แต่วงจรป้อนกลับ ก็สามารถพังทลายได้

ดังเช่น กรณีของยูโกสลาเวีย ประเทศร่วมสมัยของเรานี้เอง ที่เงินเฟ้อไปหลายล้านเท่า เพราะความล้มเหลวทางการเมือง เพราะคนในชาติมีความสุขกับการบ่อนทำลายกันเอง

เงินเฟ้อนับล้านเท่า พูดไปอาจนึกไม่ออก

ลองนึกถึงว่า ก่่อนเฟ้อ มีเงินซื้อบ้านพร้อมอยู่ได้หนึ่งหลัง

หลังเฟ้อ เงินจำนวนเดียวกัน ซื้อลูกชิ้นไม้เสียบได้ไม้เดียว (ประเด็นนี้ไม่แน่ใจนะว่าจะถูกต้อง จริง ๆ แล้วอาจได้แค่ครึ่งไม้)

เงินเฟ้อ เพราะคนไม่เชื่อมั่นในเงิน

คนไม่เชื่อมั่นในเงินเพราะเห็นการเมืองล้มเหลว เห็นประเทศชาติกำลังสลายตัวแตกเป็นเสี่ยง ๆ

ยิ่งไม่เชื่อมั่น ก็ยิ่งเฟ้อ

ยิ่งเฟ้อ ยิ่งหมดความเชื่อมั่น 

ในสภาพกลียุค ประโยคทองคู่ไทย "เงินทองเป็นของมายา ข้าวปลาเป็นของจริง" ก็จะเป็นจริงอย่างไม่มีข้อสงสัยในหมู่ผู้คนที่ไร้ที่พึ่ง และไม่มีใครใส่ใจเมื่อปัญหาสังคมยังอยู่ไกลตัว

อีกตัวอย่างหนึ่ง สหรัฐปั๊มเงินออกมาโดยไม่ต้องมีทองมาเทียบอ้างอิง ก็เป็นตัวอย่างของ "การเดินบนก้อนเมฆ"

เป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่เศรษฐกิจของชาติมหาอำนาจ สามารถเหยียบยืนบนก้อนเมฆแห่งความเชื่อมั่นที่แสนจะเวิ้งว้างได้อย่างเป็นปรกติสุข ราวเหาะเหินบนพรมวิเศษ

หากวันใดความเชื่อมั่นเหือดหาย มนตราสูญสิ้น พรมวิเศษก็จะกลับกลายเป็นเพียงพรมเช็ดเท้า

 

คำสำคัญ (Tags): #emergent#เงิน
หมายเลขบันทึก: 78277เขียนเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2007 18:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอขอบคุณอาจารย์ wwibul...

  • ผมสังเกตว่า เงินมีแรงดึงดูด (gravity)...
  • เงินมีแนวโน้มจะจับกันเป็นกลุ่มก้อน (quantum) ถ้าไม่มีการแทรกแซง (intervention)...

Phenomena (พหูพจน์ของ phenomenon)...

  • ปรากฏการณ์แรงดึงดูดของเงินทำให้เงินมีแนวโน้มจะออกจากคนจน หรือคนที่มีทรัพย์น้อย...
  • คนที่มีทรัพย์น้อย... เมื่อแรกเริ่มอดออมจึงต้องระวังให้มาก เพราะแรง "รั่ว(ดึงออก)" จะสูงมากในช่วงแรก
  • ต่อเมื่อออมทรัพย์ได้จำนวนหนึ่ง... แรงรั่ว(ดึงออก)ลดลง แรงดึงดูดมากขึ้น ถึงจุดนี้การออมทรัพย์จะง่ายขึ้น

อีกเรื่อง...

  • อีกเรื่องคือ ไม่จำเป็นอย่าไปค้ำ(หนี้)ใคร...
  • ท่านว่า จะทำให้ "ชี่ (แรงไหลวน / aerodynamic)" ของเงินเสียศูนย์.. แกนมันจะเอียงอะไรทำนองนี้
  • ค้ำไปค้ำมาเลยล้มตามๆ กันเป็นลูกโซ่ (chain of reaction... คล้ายๆ ปฏิกริยานิวเคลียร์)
  • เห็นล้มมาแล้วหลายราย

ที่มา: Khin Maung Myint (คนปอดแหก)...

  • กลัวหนี้ กลัวค้ำ... กลัวจริงๆ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท