Self AAR 2


November 2005

วันที่ 2 พ.ย. คณะเราได้ผู้นำภาควิชาใหม่แล้ว 2 ท่าน  หนภ.รังสีเทคนิค  อ.ศุภวิทู  สุขเพ็  และ หนภ.เทคนิคการแพทย์ ผศ.ดร.อรทัย  ตั้งวรสิทธิชัย  อึม! ดิฉันยินดีและมีพลังใจจนรู้สึกหัวใจพองโต เพราะรับรู้ได้ด้วยใจว่าอาจารย์ทั้งสองท่านยินดีและเต็มใจรับตำแหน่ง พร้อมสู้งานอย่างเต็มที่

บทเรียน การสร้างงานสำคัญที่ใจสู้ ถึงอายุจะน้อย ประสบการณ์ไม่สูง หากทำด้วยความเต็มใจ ผลที่ได้ย่อมดีไปกว่าครึ่งแล้ว

วันที่ 3 พ.ย.สถาบันเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน : Nice (Naresuan Institute for Community Empowerment) หน่วยงานใหม่ของ มน. (ชื่อย่อฝรั่ง ดี๊ดี) ยกทีมขอเข้าเยี่ยมชมงานด้านประกันคุณภาพและงาน 5 ส  ของคณะฯ  พวกเราเตรียมการต้อนรับอย่างสมเกียรติ เล่าเรื่อง QA ให้ฟังประกอบสไลด์ ถึงภาพรวมทั้งระดับมหาวิทยาลัยและคณะ และเชื่อมโยงถึงเรื่อง KM ด้วย เพราะอยากให้หน่วยงานน้องใหม่ก้าวตามโลกประกันคุณภาพตามสไตล์ของ มน.ให้ทัน คุณอนุวัทย์  เรืองจันทร์  เลขานุการคณะฯ ก็ทุ่มพลังเสริมเรื่อง 5 ส แบบมืออาชีพจริงๆ  ดิฉันโฆษณาให้ได้เลยว่า หากท่านใด หน่วยงานไหนอยากเชิญไปเป็นวิทยากร 5 ส  ไม่ผิดหวังแน่ๆ

บทเรียน  จับตามองให้ดี หน่วยงานที่เริ่มงานด้วยระบบคุณภาพ ต้องมีผลงานคุณภาพปรากฎภายในไม่ช้านี้แน่ๆ  

ปลายๆ สัปดาห์แรก  มีการกระดมกำลังสมองขุนพลทุกท่านในการประชุมวาระจร เกี่ยวกับการสนองนโยบาย Medical Hub ของ มน.  idea ดีๆ พรั่งพรูออกมามากมาย  นับตั้งแต่ Hydrotherpy Center, Women Center, CVT international short course training program, Bio-sensor Research Center ฯลฯ  แล้วต่างคนก็รีบแยกย้ายกันไปสุมหัวในแต่ละภาคกันต่อ เพื่อทำ concept paper ส่ง มน.

บทเรียน  ยังไง ยังไง หลายหัวย่อมดีกว่าหัวเดียวกระเทียมลีบ โอกาสย่อมเป็นของผู้ที่ฝันเป็น

สัปดาห์ที่ 2  สิ่งที่ทำควบคู่ไปสลับกันไปหลายๆอย่าง ได้แก่ การวางแนวปฏิบัติในการควบคุมภายในของคณะ  การปรับแผนยุทธศาสตร์ตามข้อเสนอแนะ/ข้อวิพากษ์ของบุคลากร  การวิเคราะห์งานของบุคลากรในทุกตำแหน่งจากแบบสอบถามการปฏิบัติงานที่ให้บุคลากรทุกคนเขียนเอง เพื่อเขียนเป็น JD ที่สมบูรณ์ทั้งระดับบริหารและระดับปฏิบัติ  การวางแนวปฏิบัติงานที่ยังไม่ชัดเจนในหลายงาน เช่น การขออนุมัติไปราชการ  การส่งซ่อมครุภัณฑ์  การใช้อาคารปฏิบัติการนอกเวลาราชการ  ขั้นตอนการไหลของหนังสือเข้า-ออก .....เป็นต้น

บทเรียน  องค์กรยิ่งใหญ่ เรื่องก็ยิ่งมาก คนยิ่งมาก เรื่องก็ยิ่งยุ่ง ต้องวางระบบให้ครบวงจร  เส้นทางของงานตั้งแต่ต้นจนจบ เป็นเรื่องที่ต้องเรียนรู้และเข้าใจ  ต้องเรียนจากคนที่ปฏิบัติจริง  ต้องถาม ถาม ถามและถาม  พูดคุยพร้อมหน้ากับผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด อย่าพูดคุยทีละคน เพราะต่างคนก็มองต่างมุม พบหน้ากันจะได้เรียนรู้ปัญหาของผู้อื่นบ้าง ไม่จมอยู่แต่กับปัญหาของตัวเอง  

วันที่ 15  นิเทศนิสิตฝึกงานที่ รพ.ลพบุรี หากยังมีแรงที่จะช่วยงานภาควิชาได้ ก็ต้องช่วย เพราะอาจารย์ในภาคฯ น้อยมาก และการเดินทางไม่ว่าจะไปที่ใดก็ตาม ดีกว่าอ่านหนังสือ 10 เล่ม ร้อยเล่ม ได้พบปะผู้คน  เห็นสภาพจริง เข้าใจสถานการณ์จริง ดีกว่าอยู่แต่ในห้องสี่เหลี่ยมแน่นอน และก็เป็นเช่นนั้นจริง เพราะได้ของแถมไปเยี่ยมชมศูนย์มะเร็งลพบุรีที่อยู่ตรงข้าม รพ.ลพบุรี ด้วย ประจักษ์แจ้งแก่สายตาว่า มะเร็งยังเป็นปัญหาอันดับต้นของประเทศ  ผู้ป่วยมากมายเหลือเกิน  ขยายโรงพยาบาลเท่าไรถึงจะพอ?

บทเรียน  ทำอย่างไรให้บ้านเราทุ่มเทเรื่องเฝ้าระวังป้องกันโรคให้มากกว่าทุ่มเทเรื่องรักษาโรค  เฮ้อ!  เหนื่อยแทนบุคลากรด้านการแพทย์  ศูนย์มะเร็งแต่ละศูนย์ต้องทุ่มงบประมาณซื้อเครื่องฉายรังสีรักษาโรคกัน หลายสิบหลายร้อยล้าน 

คำสำคัญ (Tags): #self#aar
หมายเลขบันทึก: 7702เขียนเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2005 00:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท