ชีวิตจริงของอินเทอร์น : การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อการ “ Learn – Care – Share –Shine”


ก่อนที่วันหยุดสุดสัปดาห์จะเวียนมาอีกครั้ง การสรุปตัวเองในรอบสัปดาห์ที่แล้วคงจะไม่สมบูรณ์หากขาดบันทึกที่กล่าวถึง OKLS หรือ โรงเรียนภาษาและภูมิปัญญาตะวันออก

เมื่อวันเสาร์ – อาทิตย์ที่ผ่านมาดิฉัน และคุณส้มได้มีโอกาสไปช่วย OKLS จัดกระบวนการ ลปรร.ให้กับบุคลากรในส่วนครู ส่วนสาขา และส่วนอำนวยการ จำนวน ๑๗ คน

ดิฉันตั้งเป้าหมายในการทำงานครั้งนี้เอาไว้ว่า จะเป็นการพาให้ทุกคนที่เข้ามาร่วม ลปรร. ได้สัมผัสกับคุณค่าที่แท้จริงที่เกิดจากการ ลปรร.กันอย่างเสมอภาคด้วยการ
• ออกแบบกิจกรรมให้ผู้เข้าร่วมกระบวนการได้สัมผัสกับการรู้จักที่จะ Learn –Care –Share – Shine ด้วยตัวเอง
• สร้างหัวเรื่องที่ทุกคนจะมีโอกาสในการ ลปรร.
• ได้ทดลองเก็บเกี่ยว และถอดเอาส่วนที่เป็นความรู้ฝังลึกออกมาจากความสำเร็จเล็กๆที่พบได้รายวัน
• ได้รู้จักกับเทคนิคที่สำคัญของการทำงานจัดการความรู้ ซึ่งเป็นงานที่ประณีต จากการได้ลงมือกระทำ
• ได้ร่วมกันกำหนดแนวทาง หรือ ชุดความรู้ในการทำงาน จากฐานของความสำเร็จที่มีอยู่แล้วในองค์กร

ปฏิบัติการครั้งนี้ แบ่งได้เป็น ๔ ภาค ใช้เวลาประมาณวันค่อน กิจกรรมของวันแรกเริ่มต้นด้วยการผ่อนคลาย สร้างสายสัมพันธ์ ทำความรู้จัก และพูดคุยกันถึงที่มาที่ไปของตัวเองว่ามาอยู่ OKLS ได้อย่างไร ต่อด้วยกิจกรรมการ ลปรร.ด้วย AI ที่ให้ทุกคนผลัดกันเล่าเรื่องที่เมื่อนึกถึงทีไรเป็นต้องยิ้มทุกที

ช่วงนี้เป็นช่วงที่สร้างความประทับใจให้กับผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้มากช่วงหนึ่ง ทุกคนได้พบเลยว่า สิ่งดีๆที่เกิดขึ้นกับชีวิต มีจุดเริ่มต้นมาจากจุดเล็กๆในชีวิตที่พวกเขาแต่ละคนสร้างขึ้น

หลังพักรับประทานอาหารกลางวัน เป็นการเชื่อมโยงจาก AI ที่ฝึกให้รู้จักกับการชื่นชมสิ่งดีๆที่เกิดขึ้นกับชีวิตของเราและคนอื่น เข้าสู่การมองหาเหตุและปัจจัยที่ก่อให้เกิดผลการกระทำนั้นๆขึ้น ซึ่งก็คือการรู้จักกับเรื่องเล่าเร้าพลัง หรือ AI แบบที่ต้องระบุ what why และ how นั่นเอง

ในการเล่าเรื่องนั้น ได้มีการกำหนดให้กลุ่มผู้สอนมีหัวเรื่องในการ ลปรร.คือ “รูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่ประสบความสำเร็จ” กลุ่มสาขา มีหัวเรื่องในการ ลปรร.คือ “ วิธีการบริหารจัดการสาขาที่ทุกฝ่าย ( เจ้าของ พนักงาน ลูกค้าที่มาใช้บริการ) พอใจ”

โดยบุคลากรที่มาจากฝ่ายอำนวยการนั้นจะคละอยู่ในกลุ่มทั้งสอง ตามความใกล้เคียงของประสบการณ์

เมื่อเล่ากันครบทุกคนแล้วก็ให้แต่ละกลุ่มออกมานำเสนอประเด็นของกลุ่มในรูปของผังมโนทัศน์ จากนั้นก็ให้กลุ่มคัดสรรประเด็นเด็ดที่ทุกคนสนใจไป ลปรร.กันต่อ เพื่อให้ได้งานที่จะนำไปใช้ได้จริงในส่วนงานของตน

การออกแบบกระบวนการเช่นนี้ช่วยให้ทุกคนได้ค้นพบคำตอบที่สำคัญว่า AI จะขยายไปสู่ KM ได้อย่างไร และ KM จะเข้าไปมีส่วนช่วยให้สิ่งที่เป็นปัญหา / อุปสรรค ที่เกิดขึ้นคลี่คลายไปได้อย่างไร

คำถามนี้ตอบได้ด้วยการค้นพบความสำเร็จเล็กๆ ที่จะใช้เป็นทุนรอนในการจัดการกับปัญหา / อุปสรรคใหญ่ๆ ที่ต้องนำความสำเร็จของเราทุกคนมาร่วมกัน ถ้ายังมีไม่พอเราก็สามารถมองหาจากความสำเร็จของคนจากที่อื่นได้ แต่ต้องแปลงให้เหมาะกับบริบท และวัฒนธรรมขององค์กรเราเสียก่อน

ในประเด็นที่เลือกเจาะลึกนั้น ช่วยให้ส่วนสาขาได้มองงานใหม่ ลดขั้นตอนของงานเดิมที่ซ้ำซ้อนลงไป เกิดเป็นมิติของการทำงานที่สร้างทั้งพลังและความมีชีวิตชีวาให้กับคนทำงาน ทำให้ทุกคนได้เห็นในคุณค่าของกันและกัน ทั้งๆที่เดิมก็ไม่เคยคิดว่าสิ่งที่ตนทำอยู่จะก่อให้เกิดคุณค่าอะไรมากมายได้เช่นนี้

หลังอาหารเย็น เป็นการชมภาพยนต์ยอดฮิต เรื่อง “เสียงกู่จากครูใหญ่” ร่วมกัน

รุ่งขึ้นอีกวัน เป็นการคิดคำขวัญในการทำงานร่วมกัน “เรียนรู้ แบ่งปัน สร้างสรรค์ความสุข สนุกกับงาน” คือสิ่งที่ทุกคนเห็นพ้องว่าคือแนวทางที่ทุกคนจะเดินไปร่วมกัน ก่อนจะปิดท้ายด้วยการ AAR ที่พาไปสู่งานที่รออยู่ในอนาคตอันใกล้

หมายเลขบันทึก: 76011เขียนเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2007 20:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 20:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท