ชีวิตจริงของอินเทอร์น : BBL กับการพัฒนาการเรียนรู้


เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๑ มกราคม ๕๐ โรงเรียนเพลินพัฒนาได้จัดงาน เพลินพัฒนาวิชาการ ครั้งที่ ๑ ในหัวข้อ “สมองที่เติบโตอย่างแตกต่าง บนเส้นทางของพหุปัญญา” ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ตลิ่งชัน กรุงเทพฯ

งานนี้คุณหมอยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาการเรียนรู้ได้ให้เกียรติมาเป็นวิทยากรหลักในการบรรยายความรู้เรื่องของสมองกับการเรียนรู้ ให้ผู้สนใจได้ฟังกัน

หลักการง่ายๆที่คุณหมอสรุปไว้ในช่วงสุดท้ายของการเสวนาก็คือ หากอยากจะรู้ว่าโรงเรียนใดมีการจัดการเรียนการสอนในแนวทางที่สอดคล้องกับการทำงานของสมอง ก็ขอให้มองไปที่คุณสมบัติทั้ง ๓ ประการของสมอง ได้แก่

• Learning brain ที่มีการจัดลำดับของการเรียนรู้ ตั้งแต่ง่ายไปสู่ยาก
• Social brain ที่มีการเรียนรู้จากประสบการณ์ ที่เชื่อมโยง ไม่แยกส่วน จนเกิดเป็นวงจรการเรียนรู้ที่มีแบบแผน
• Emotional brain ที่มีการเรียนรู้ได้ดี หากอยู่ในสภาวะอารมณ์ที่สดชื่น ตื่นตัว

หากกิจกรรมการเรียนรู้ของโรงเรียนนั้นๆ มีลักษณะดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ก็เรียกได้ว่าเป็นโรงเรียนที่มีการจัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับการทำงานของสมอง

ดิฉันลองมองดูกิจกรรมการเรียนรู้ของโรงเรียนเพลินพัฒนาแล้วก็พบว่า โรงเรียนได้พยายามจัดวางหลักการจัดการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับการทำงานของสมองอย่างตั้งใจ ยกตัวอย่างเช่น

• กิจกรรมยามเช้า ที่มีการร้องเพลงที่มีท่วงทำนองไพเราะ มีเนื้อหาที่ช่วยสร้างกำลังใจ และมุมมองที่ดีต่อชีวิตกันอีก ๒-๓ เพลง หลังจากที่เคารพธงชาติแล้ว ก็เพื่อให้เด็กและครูเกิดความเบิกบานใจ ได้สูดอากาศบริสุทธิ์เข้าไปให้เต็มปอด (อากาศบริสุทธิ์ คือ อาหารสมองที่สำคัญ) เกิดความกระปรี้กระเปร่า และตื่นตัว มีความพร้อมในการเรียนรู้ตลอดทั้งวัน

นอกจากนี้การร้องเพลงยังช่วยให้พหุปัญญาด้านดนตรีของเด็กแต่ละคนพัฒนาขึ้นด้วย ส่วนนักเรียนที่มาเล่นดนตรีก็ยิ่งได้โอกาสในการพัฒนาสมองส่วน corpus callosum ซึ่งเป็นแถบเชื่อมระหว่างสมองซีกซ้ายและสมองซีกขวาให้พัฒนาได้ดี

กิจกรรมยามเช้า จึงจัดว่าเป็นกิจกรรมที่สอดคล้องกับความเป็น Emotional brain ของสมอง

• กิจกรรมการเรียนรู้ที่จัดขึ้นในช่วงต่างๆของวัน ตลอดจนถึงการจัดกิจกรรมภาคสนาม ล้วนเป็นกิจกรรมที่ผ่านการเรียงลำดับเนื้อหา จากง่ายสู่ยาก ที่มีการสร้างความเข้าใจด้วยการลงมือปฏิบัติจริงเป็นช่วงๆ เพื่อให้ผู้เรียนเกิดประสบการณ์ตรงในการทำความเข้าใจกับสิ่งที่ได้เรียนรู้ไป และยังมีการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ให้ผู้เรียนได้สอดประสานฉันทะ และความสนใจของตนลงไปในชิ้นงาน เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ผู้เรียนเชื่อมโยงสิ่งที่ได้พบเห็นในชีวิตเข้าสู่หลักวิชา จนสามารถนำลงสู่การประยุกต์ใช้

กิจกรรมการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในโรงเรียน และ กิจกรรมภาคสนาม จึงจัดว่าเป็น กิจกรรมที่สอดคล้องกับความเป็น Learning brain ของสมอง

• กิจกรรมประมวลความรู้ ทั้งการเขียนผังมโนทัศน์เพื่อเชื่อมโยงความรู้ทั้งหมดเช้าหากัน และการทำ “โครงงานชื่นใจ...ได้เรียนรู้” ทั้งที่อยู่ในรูปของสมุดประมวลความรู้รายบุคคล และการนำเสนอสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปเป็นรายกลุ่ม เป็นกิจกรรมที่มีขึ้นเพื่อให้ผู้เรียนมีเวลาในการสังเคราะห์ความรู้ใหม่ ที่ผลิตขึ้นจากความเข้าใจของตัวเอง และมีลักษณะเป็นโจทย์ปลายเปิดที่ผู้เรียนจะใช้ความคิดสร้างสรรค์ของตนได้อย่างเต็มที่

กิจกรรมประมวลความรู้ในหลากหลายรูปแบบที่ผู้เรียนได้ทำ ทั้งที่เป็นงานเดี่ยวและงานกลุ่ม จึงจัดว่าเป็นกิจกรรมการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับความเป็น Social brain ของสมอง

เงื่อนไขทั้ง ๓ ข้อนี้ คือสิ่งที่คุณครูคำนึงถึงอยู่เสมอในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้รูปแบบต่างๆ ให้กับผู้เรียนทุกช่วงวัย เพื่อให้พวกเขาได้รับมวลประสบการณ์ที่เหมาะสม และมีทรัพยากรความรู้ ความคิด ความเข้าใจที่เพียงพอต่อการพัฒนาชีวิตให้เติบโตเต็มตามศักยภาพแห่งตน

หมายเลขบันทึก: 74185เขียนเมื่อ 24 มกราคม 2007 16:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 15:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
  •  การฟังเพลง และร้องเพลงนี่นอกจากจะพัฒนาด้านสมองของเด็ก ๆ ผู้ใหญ่เราก็ชอบเช่นกันค่ะ ดิฉันเองชอบฟังเพลงมากกกก..
  • บันทึกนี้เยี่ยมมากค่ะ
  • ขอบคุณค่ะ
ขอบคุณค่ะ หากสนใจรายละเอียดเรื่องความฉลาดที่สร้างขึ้นได้จากดนตรี ขอแนะนำให้อ่านบันทึก ฉลาดได้ด้วยดนตรี (๑-๒-๓)ที่ดิฉันบันทึกไว้ก่อนหน้านี้ ที่ gotoknow.org/krumai31715 , 32162 , 32541 ค่ะ

มันจริงอย่างที่ krumai พูดไว้นะคะเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง และบทความที่ทkrimai ได้นำมาลงไว้ให้อ่านก้อมีความรู้มาก หากมีบทความดีๆมีความรู้แบบนี้อีก ก็อย่าลืมนำมาลงไว้ให้อ่านอีกนะคะ

ขอบคุณคุณตูนมากค่ะที่เข้ามาแลกเปลี่ยน :)

ครูใหม่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท