อุดมศึกษาไทยในปัจจุบันต่างจากในอดีตโดยสิ้นเชิง


มหาวิทยาลัยต้องมีบริการหลากหลายแบบ ให้บริการแก่นักศึกษาหลากหลายพื้นฐาน หลากหลายจริต แต่ที่จะต้องมั่นคงอยู่เสมอ คือ มหาวิทยาลัยมีหน้าที่บ่มเพาะ และขยายพืชพันธุ์ความดีที่มีอยู่แล้วในมนุษย์ทุกคนให้งอกงาม

          ผมติดใจคำอภิปรายของ ศ.นพ.อดุลย์   วิริยะเวชกุล   อธิการบดี มมส.   ในฐานะกรรมการสภาวิชาการของ มอ.   ในการประชุมสภาวิชาการ มอ. เมื่อวันที่ ๕ ม.ค. ๕๐ มาก   เรียกว่าเป็นคำพูดที่ช่วย "เปิดกระโหลก" ผมทีเดียว

          พวกเราฝังใจอยู่กับสภาพมหาวิทยาลัยที่มีนศ. ที่ผ่านการคัดเลือกมาแล้วอย่างดี   เรียกว่าเป็นพวกสมอง, ความประพฤติ และแรงบันดาลใจ ระดับหัวกระทิ   สภาพเช่นนั้นไม่มีแล้วในภาวะการณ์ปัจจุบัน   ที่ประเทศไทยได้ใช้นโยบาย "อุดมศึกษาเพื่อมวลชน"  (massification of higher education)  มาแล้วกว่า ๑๐ ปี   ทำให้ทั้งมหาวิทยาลัยและนักศึกษาในมหาวิทยาลัยเปลี่ยนสภาพไปโดยสิ้นเชิง

          ประชากร "นักศึกษา" ในแต่ละมหาวิทยาลัยในปัจจุบัน มีความแตกต่างหลากหลายมากในด้านความสามารถของสมอง  พื้นความรู้  แรงบันดาลใจ  ความชอบ  ความถนัด  พื้นเพวัฒนธรรมเดิม ฯลฯ   เรียกว่าสภาพของประชากรนักศึกษาอยู่ในสภาพ  heterogeneous สุดๆ

          ในขณะที่สมัย ๓๐-๔๐ ปีก่อน   มาจนถึง ๑๕ ปีก่อน   ประชากรนักศึกษามหาวิทยาลัยแต่ละแห่งอยู่ในสภาพ homogeneous สุดๆ

          ดังนั้น  การดำเนินการเกี่ยวกับ นศ. ในมหาวิทยาลัย   จึงต้องคิดใหม่ ทำใหม่   ดำเนินการให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงที่เปลี่ยนแปลงไป

          มหาวิทยาลัยต้องมีบริการหลากหลายแบบ   ให้บริการแก่นักศึกษาหลากหลายพื้นฐาน  หลากหลายจริต

          แต่ที่จะต้องมั่นคงอยู่เสมอ  คือ มหาวิทยาลัยมีหน้าที่บ่มเพาะ และขยายพืชพันธุ์ความดีที่มีอยู่แล้วในมนุษย์ทุกคน ให้งอกงาม

วิจารณ์   พานิช
๘ ม.ค. ๕๐

 

หมายเลขบันทึก: 72915เขียนเมื่อ 16 มกราคม 2007 16:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มิถุนายน 2012 16:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ปรัชญาท่านอธิการบดี มมส. ยอดเยี่ยมมากครับ

เห็นด้วยค่ะ "มหาวิทยาลัยมีหน้าที่บ่มเพาะ และขยายพืชพันธุ์ความดีที่มีอยู่แล้วในมนุษย์ทุกคน ให้งอกงาม"

          การที่เรามองโดยยึดเพียงแต่รูปแบบภายนอกนั้นเป็นสิ่งที่ผิดพลาด เพราะในสภาพการณ์ที่แท้จริงนั้นถูกกำหนดโดยเนื้อหา สภาพในสมัยก่อนเราเพียงแต่คิดคำนึงถึงรูปแบบมากกว่าเนื้อหามากเกินไป แต่ทั้งสองสิ่งล้วนกำหนดและเกี่ยวพันซึ่งกันและกัน บางครั้งรูปแบบก็กำหนดเนื้อหา บางครั้งเนื้อหาก็กำหนดรูปแบบ และมีลักษณะหนึ่งที่เป็นที่หนดรูปแบบลักษณะการรับคนเข้าทำงานในภาคส่วนองค์กรต่างๆมากเกินไปนั่นคือสภาวะ หรือ ลัทธิสถาบันนิยม เป็นอุปสรรคอย่างมากต่อการพัฒนาองค์กรที่เป็นเฟืองจักรสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศชาติ แต่อย่างไรก็ตามการปิดกั้นศักยภาพของผู้เรียนโดยประโยคที่ว่า นักศึกษาคนนี้เก่งเกินต้องปรามไว้บ้าง(หมายถึงกดเกรดเป็นกรณีเฉพาะ)นั้นเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องเพราะผิดไปจากหลักปรัชญาการศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีความความเจริญงอกงามแตกฉานในสาขาวิชาที่เรียนอย่างลึกซึ้ง

          จากการบรรยายลักษณะการเรียนรู้ของสมองมนุษย์ที่อาจกล่าวได้ว่ามีความวิเศษอยู่อย่างหนึ่งคือเมื่อใส่อะไรลงไปแล้วจะได้สิ่งที่ดีกว่าเดิมออกมา นั้นเล็งเห็นได้ว่าถ้าเราปิดกั้นการสื่อกระแสประสาทของมนุษย์ด้วยอารมณ์โมโหของผู้ปกครองที่มีต่อบุตรในวัยเด็กจะทำให้ระบบเดนไดรท์นั้นปิดกั้นตัวเองแล้วข้ามไปใช้เซลล์อื่นในที่สุดเซลล์เหล่านี้ก็ฝ่อลง เป็นอุทาหรณ์อย่างยิ่งสำหรับการศึกษาในระดับอุดมศึกษาไทย เพราะแท้ที่จริงเราควรจะเล็งเห็นว่าการศึกษาในระดับอุดมศึกษาก็เช่นเดียวกันถ้ามัวปิดกั้นคนที่มีศักยภาพสูงอยู่ก็พลอยจะทำให้เราไม่สามารถใช้ทรัพยากรมนุษย์ได้อย่างเต็มที่ซึ่งทรัพยากรเหล่านั้นก็คือกำลังสติปัญญาของคนทุกคนนั่นเอง

          ระบบสารานุกรมของสมองมนุษย์เป็นสิ่งสำคัญและเป็นอีกอย่างที่ระบบการศึกษาในระดับอุดมศึกษาของไทยทอดทิ้งไป  ในสมัยก่อนมีระบบสารานุกรมสมองและสารานุกรมประสบการณ์ความรู้นำมาใช้ในการเรียนระดับอุมศึกษา คือ รูปแบบของ Academy ของอริสโตเติล โดยเน้นการศึกษาในรูปแบบของสหวิทยาการเป็นหลักและความเป็นสหวิทยาการนี้จะเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องจริงๆกับภาคปฏิบัติการ เพราะในภาคปฏิบัติของการดำรงชีวิตแล้วจะเห็นได้ว่าใช้ความเป็นสหวิทยาการอย่างมากทีเดียว เช่น การที่เกษตรกรไทยมีรูปแบบการทำนาและองค์ประกอบทางเครื่องแต่งกายที่คงที่อยู่เช่นเดิมไม่มีการเปลี่ยนแปลง เพราะคนที่มีความรู้ความสามารถและสติปัญญาไม่ได้ทำงานในภาคเกษตรกรรม แต่กลับมีความเชื่อผิดๆว่าถ้าเรียนเก่งต้องเข้ารับราชการนั่นเป็นสาเหตุหลักหนึ่งในหลายอย่างที่เมืองไทยยังมีความเป็น ครีเอชั่น น้อยกว่านานาอารยประเทศอยู่ ยกตัวอย่างอิสราเอลที่มีพิ้นที่เกษตรกรรมเป็นทะเลทรายยังสามารถที่จะทำให้เพราะปลูกพืชได้โดยการนำน้ำต่อท่อเข้าไปในทะเลทรายนับร้อยกิโลเมตร  แต่ของไทยเรายกตัวอย่างเช่นในเขตรับผิดชอบการพัฒนาองค์ความรู้ของท้องถิ่นอย่างมหาวิทยาลัยมหาสารคามขามเรียงหรือ มมส.ใหม่ ที่อยู่ริมแม่น้ำชี ผลปรากฏว่าในหน้าแล้ง ในเขตที่ห่างจากแม่น้ำชี เพียงสองกิโลเมตรกลับมีความแห้งแล้งอย่างมาก พืชพันธ์ธัญญาหารเหี่ยวแห้ง โคควายล้วนแล้วแต่ซูบผอม ซึ่งมหาชนที่เป็นประชาชนทั่วไปของจังหวัดมหาสารคามที่ร้อยละ 90 ประกอบอาชีพเกษตรกรรม และในเขตนั้นก็มีแต่เกษตรกรเป็นส่วนใหญ่กลับไม่ได้รับความช่วยเหลือทางด้านวิชาการการเกษตรจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งไม่สอดคล้องกับ สโลแกนที่ว่า ผู้มีปัญญาพึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน

     สุดท้ายขอฝากข้อความทั้งหมดนี้ไว้เป็นข้อคิดถ้าผิดพลาดประการใดก็ต้องขออภัยทุกท่านไว้ ณ ที่นี้ด้วยเพราะสติปัญญาของกระผมมีจำกัดขอบพระคุณมากครับ

         

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท