GotoKnow

Developmental Evaluation : 88. DE หนุนการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ ๓๐ บาทรักษาทุกที่

Prof. Vicharn Panich
เขียนเมื่อ 15 พฤษภาคม 2568 15:52 น. ()

 

ในการประชุมคณะกรรมการติดตามและประเมินผล สกสว. เมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๖๘  มีวาระที่ สวรส. นำเสนอ เรื่อง “ตัวอย่างผลงานเด่น : การถอดบทเรียน ความสําเร็จ และการประเมินผล ของการประเมินผลเชิงพัฒนานโยบาย ‘30 บาท รักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว’ ในพื้นที่นําร่อง”    ที่มีการประยุกต์ใช้เครื่องมือ DE – Developmental Evaluation กับ TOC – Theory of Change   

ทีมวิจัยประกอบด้วยนักวิจัยจาก HITAP, IHPP และ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี   ใช้เครื่องมือ TOC และ DE ในการทำงานหาข้อมูลระหว่างเริ่มและขยายโครงการ   feedback ให้ทีมปฏิบัติงานของโครงการปรับตัวอยู่ตลอดเวลาอย่างรวดเร็ว    สามารถขยายจังหวัดนำร่องจาก ๔ จังหวัด เป็นกว่าสิบจังหวัด ภายใน ๒ เดือน   และครอบคลุมทุกจังหวัดภายใน ๑ ปี (เริ่ม มกราคม ๒๕๖๗   ครอบคลุมทั้งประเทศ มกราคม ๒๕๖๘) โดยยังมีประเด็นให้ต้องปรับปรุงต่อเนื่อง    

ผมชื่นชมทีมดำเนินการ ที่ให้อิสระแก่ทีมปฏิบัติการของแต่ละจังหวัดใน ๔ จังหวัดนำร่อง คือ แพร่  ร้อยเอ็ด เพชรบูรณ์  และนราธิวาส    ไม่กำหนด standard procedures ให้แต่ละจังหวัดปฏิบัติตาม    โดยใช้ TOC ในการทำความเข้าใจเป้าหมายและหลักการร่วมกัน   ให้แต่ละจังหวัดออกแบบการริเริ่มระบบเอง ใช้ DE ในการเก็บข้อมูลความก้าวหน้าและปัญหาที่เกิดขึ้น    เอามาตั้งวงประชุมทำความเข้าใจวิธีปฏิบัติและผลที่เกิดขึ้น   ให้ทีมแต่ละจังหวัดนำเอาไปปรับวิธีดำเนินการ   

ผมถามว่า ข้อมูลสำคัญอะไรบ้างในช่วงเริ่มโครงการ ที่ DE ช่วย feedback ให้มีการปรับตัวของโครงการ    ดร. ปุ้ยของ HITAP ตอบว่า    TOC และ DE ช่วยตอนเริ่มโครงการ   stakeholders มาร่วมกันทำความเข้าใจ ผลลัพธ์ที่ต้องการเห็น  กิจกรรมที่ต้องทำ  อุปสรรคที่คาดว่าจะพบ  มีการแบ่งงานกันทำ    และใน phase แรกของโครงการทีม DE เก็บข้อมูลพฤติกรรมของฝ่ายประชาชนผู้ใช้บริการ  และพฤติกรรมของฝ่ายให้บริการ    นำมาประชุมหารือกัน   นำสู่การพัฒนาระบบสื่อสารสาธารณะกลาง    ไม่ใช่แต่ละจังหวัดต่างก็สื่อสารตามแนวของตน   ป้องกันความสับสน            

เป็นตัวอย่างการใช้ DE หนุนการริเริ่มดำเนินการโครงการใหญ่ระดับประเทศ    ที่ประสบความสำเร็จ   และที่ยังคงดำเนินการต่อเนื่องถึงปัจจุบัน    หากมีโอกาสผมจะไปขอความรู้เพิ่มเติมจาก ดร. ปุ้ย หัวหน้าหน่วยวิจัยของ IHPP   นำมาเผยแพร่แก่วงการ DE 

วิจารณ์ พานิช

๒๒ เม.ย. ๖๘

   

สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการ

ความเห็น

ยังไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท
ภาษาปิยะธอน (Piyathon)
เขียนโค้ดไพทอนได้ด้วยภาษาไทย