คิชฌชาดก
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๙ [ฉบับมหาจุฬาฯ]
ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑
๙. นวกนิบาต
๑. คิชฌชาดก (จากพระไตรปิฎก ลำดับเรื่องที่ ๔๒๗)
ว่าด้วยนกแร้ง
(พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
[๑] หนทางที่คิชฌบรรพตชื่อปริสังกุปถะมีมาแต่โบราณ ณ หนทางนั้นมีนกแร้งเลี้ยงพ่อแม่ที่แก่อยู่ มันได้นำเอามันข้นของงูเหลือมมาให้พ่อแม่กินโดยมาก
[๒] ก็พ่อของแร้งรู้อยู่ว่า ลูกบินสูงเกินไปจะตก จึงได้สอนลูกแร้งชื่อสุปัตตะตัวแข็งแรง กล้าหาญ บินไปได้ไกลว่า
[๓] ลูก เมื่อใดเจ้ารู้ว่า แผ่นดินที่ทะเลล้อมรอบ กลมเหมือนวงล้อลอยอยู่ในน้ำ เจ้าจงกลับแค่นั้นนะ ลูกอย่าบินไปเกินกว่านั้น
[๔] ปักษีตัวมีกำลัง เป็นพญานก โผขึ้นด้วยกำลัง เอี้ยวคอมองดูภูเขาและป่าไม้
[๕] นกแร้งได้เห็นแผ่นดินที่มีทะเลล้อมรอบ กลมเหมือนวงล้อ เหมือนอย่างที่ได้ฟังจากพ่อของมัน
[๖] มันก็ยังบินเลยสถานที่ที่บิดาบอกนั้นไป สายลมอันแรงกล้า ก็ได้พัดกระหน่ำนกแร้งตัวแข็งแรงนั้น
[๗] สัตว์ที่บินเลยไป ไม่อาจจะบินกลับได้อีกเลย นกแร้งตกอยู่ในอำนาจของลมเวรัมภา ได้ถึงความพินาศแล้ว
[๘] ลูกเมียของมันและนกแร้งเหล่าอื่นที่อาศัยมันเป็นอยู่ ทั้งหมดถึงความพินาศ เพราะนกที่ไม่ทำตามโอวาทตัวเดียว
[๙] ผู้ใดในโลกนี้ไม่เชื่อฟังคำของผู้ใหญ่ทั้งหลาย ประพฤติเกินขอบเขตย่อมเดือดร้อน เหมือนนกแร้งที่ละเมิดคำสอน ผู้นั้นแลย่อมถึงความพินาศ เพราะไม่กระทำตามคำสอนของผู้ใหญ่
คิชฌชาดกที่ ๑ จบ
-----------------------
คำอธิบายเพิ่มเติมนำมาจากบางส่วนของอรรถกถา
คิชฌชาดก
ว่าด้วย ผู้ไม่ทำตามคำสอนย่อมพินาศ
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภภิกษุว่ายากรูปหนึ่ง จึงตรัสเรื่องนี้ ดังนี้.
ได้ยินว่า ภิกษุว่ายากรูปนั้นเป็นลูกผู้ดีคนหนึ่ง แม้บวชในศาสนาที่จะนำออกจากทุกข์ เมื่ออาจารย์อุปัชฌาย์และเพื่อนพรหมจารีผู้หวังดี กล่าวสอนว่า เธอพึงก้าวไปอย่างนี้ พึงถอยกลับอย่างนี้ มองไปข้างหน้าอย่างนี้ เหลียวซ้ายแลขวาอย่างนี้ คู้เข้าอย่างนี้ เหยียดออกอย่างนี้ นุ่งอย่างนี้ ห่มอย่างนี้ ถือบาตรอย่างนี้ พึงรับภัตแต่พอยังอัตภาพให้เป็นไป พิจารณาก่อนแล้วจึงฉัน พึงคุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย รู้จักประมาณในโภชนะ ประกอบความเพียรเนืองๆ พึงรู้ธรรมเนียมต้อนรับอาคันตุกะ พึงรู้ธรรมเนียมของผู้เดินทาง พึงประพฤติด้วยดีในขันธกวัตร ๑๔ และมหาวัตร ๘๐ พึงสมาทานธุดงคคุณ ๑๓ ดังนี้
เป็นผู้ว่ายากไม่อดทนต่อโอวาท ไม่ยินดีรับคำสอน กล่าวตอบว่า กระผมไม่ได้ว่าพวกท่าน เหตุไรพวกท่านจึงว่ากระผม กระผมเท่านั้นจักทำสิ่งที่เป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์สำหรับตน แล้วได้ทำตัวให้ใครๆ ว่ากล่าวไม่ได้.
ได้ยินว่า พวกภิกษุรู้ว่าภิกษุรูปนั้นเป็นผู้ว่ายาก จึงได้ประชุมกันกล่าวโทษในธรรมสภา
พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอประชุมสนทนากันถึงเรื่องอะไร เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว รับสั่งให้เรียกภิกษุนั้นมาแล้วตรัสถามว่า ได้ยินว่า เธอเป็นผู้ว่ายากจริงหรือ? เมื่อภิกษุนั้นกราบทูลว่าจริง จึงตรัสว่า เธอบวชในศาสนาที่จะนำออกจากทุกข์เห็นปานนี้ เหตุไรจึงไม่เชื่อคำของผู้ที่หวังดี แม้ในกาลก่อน เธอก็ไม่เชื่อคำ ต้องแหลกละเอียดในช่องลมเวรัมพวาตมาแล้วดังนี้ แล้วทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธกดังต่อไปนี้ :-
ในอดีตกาล พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นนกแร้งที่เขาคิชฌกูฏ นกแร้งนั้นมีบุตรเป็นพญาแร้งชื่อสุปัต ซึ่งมีกำลังมาก มีนกแร้งหลายพันเป็นบริวาร พญาแร้งนั้นเลี้ยงดูมารดาบิดา แต่เพราะความที่ตนมีกำลังมาก จึงบินไปไกลเกินควร
บิดาได้กล่าวสอนพญาแร้งนั้นว่า ลูกรัก เจ้าไม่ควรไปเกินที่ประมาณเท่านี้ พญาแร้งนั้นแม้รับคำว่า ดีแล้ว ก็จริง แต่วันหนึ่งเมื่อฝนตกใหม่ๆ ได้บินไปกับนกแร้งทั้งหลาย ทิ้งนกแร้งหลายเสีย ตนเองบินสูงเกินภูมิของนก ถึงช่องลมเวรัมพวาต ได้ถึงความเป็นผู้แหลกละเอียด.
พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น พระองค์เป็นผู้ตรัสรู้แล้ว ได้ตรัสพระคาถาทั้งหลายเหล่านี้ว่า :-
ทางบนยอดเขาคิชฌกูฏ มีชื่อว่าปริสังกุปถะมาแต่ดึกดำบรรพ์ นกแร้งเลี้ยงดูมารดาบิดาผู้ชราอยู่ที่ทางนั้น.
โดยมากไปเที่ยวหามันข้นงูเหลือมมาให้มารดาบิดาเหล่านั้นกิน ฝ่ายบิดารู้ว่านกแร้งสุปัตมีปีกแข็งแล้ว มีกำลังมาก มักร่อนขึ้นไปสูง เที่ยวไปไกลๆ จึงได้กล่าวสอนลูกว่า.
แน่ะพ่อ เมื่อใดเจ้าเห็นแผ่นดินมีทะเลล้อมรอบ กลมประหนึ่งว่ากงจักร ลอยลิบๆ อยู่ดุจใบบัวลอยอยู่ในน้ำ เจ้าจงรีบกลับเสียจากที่นั้น อย่าบินต่อจากนั้นไปอีกเลย.
นกแร้งสุปัตเป็นสัตว์ มีร่างกายสมบูรณ์ มีกำลังมาก มีปีกแข็ง บินขึ้นไปถึงอากาศเบื้องบนโดยกำลังเร็ว เมื่อเหลียวกลับมาแลดูภูเขาและป่าไม้ทั้งหลาย.
ก็ได้เห็นแผ่นดินมีทะเลล้อมรอบ กลมดุจกงจักรเหมือนคำของบิดาบอกไว้.
นกแร้งสุปัตก็บินล่วงเลยที่นั้น ไปเบื้องหน้าอีก ยอดลมแรงแข็งกล้า ได้ประหารนกแร้งสุปัตผู้มีกำลังมากนั้นให้แหลกละเอียด.
นกแร้งสุปัตบินเกินไป ไม่สามารถจะกลับจากที่นั้นได้อีก ตกอยู่ในอำนาจลมเวรัมพวาต ถึงความพินาศแล้ว.
เมื่อนกแร้งสุปัตไม่ทำตามโอวาทของบิดา บุตรภรรยาและนกแร้งอื่นๆ ที่อาศัยเลี้ยงชีพด้วย ก็พากันถึงความพินาศไปด้วยกันหมด.
แม้ในศาสนานี้ก็เหมือนกัน ผู้ใดไม่เชื่อถ้อยฟังคำของผู้ใหญ่ ผู้นั้นเป็นผู้ชื่อว่าล่วงศาสนา ดังนกแร้งไปล่วงเขตแดน ต้องเดือดร้อนฉะนั้น ผู้ไม่ทำตามคำสอนของผู้ใหญ่ ย่อมถึงความพินาศทั้งหมด.
พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ ฉะนั้น เธอจงอย่าเป็นเหมือนนกแร้ง จงเชื่อถ้อยคำของผู้ที่หวังดี ภิกษุนั้น เมื่อพระศาสดาตรัสสอนอย่างนี้แล้ว ได้เป็นผู้ว่าง่ายตั้งแต่นั้นมา.
พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดกว่า
นกแร้งว่ายากในกาลนั้น ได้มาเป็น ภิกษุว่ายาก ในบัดนี้
ส่วนนกแร้งผู้เป็นบิดาในกาลนั้น ได้มาเป็น เราตถาคต ฉะนี้แล.
จบ อรรถกถาคิชฌชาดกที่ ๑
-----------------------------------------------------
ไม่มีความเห็น