อาจารย์หมอประเวศ วะสี นอกจากเป็นอาจารย์ที่สร้างตัวตนของผม และอีกหลายๆ คนขึ้นมา ยังเป็นปูชนียบุคคลของคนไทยทั้งประเทศ เป็น role model ของคนจำนวนมาก ในการดำรงชีวิตเพื่อสังคม แต่ไม่ว่าจะสูงส่งเพียงใด ก็ไม่พ้นธรรมชาติของเกิด แก่ เจ็บ ตาย
ในวัย ๙๓ ปี “อาพาธ” ของท่าน ซับซ้อนมาก เป็นอาพาธตามธรรมชาติของชราภาพ ของทุกส่วนของร่างกาย ชราภาพของผิวหนังทำให้เกิดการติดเชื้อ ชราภาพของหลอดเลือดหัวใจทำให้ หลอดเลือดแข็งและตีบ ต้องได้รับการผ่าตัดต่อหลอดเลือดหัวใจถึง ๓ เส้น ตามด้วยอาการซึมเศร้า ตามที่เล่า และมีการคัดลอกลงใน เฟสบุ๊กของ ศ. ดร. สุวินัย ภรณวลัย ที่ (๑)
บ่ายวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๖๗ ได้ฤกษ์นัดไปเยี่ยมอาจารย์ที่บ้าน โดยคุณแอ็ค ชลลดา สิทธิฑูรย์ เป็นผู้ประสานงาน โดยศิษย์ก้นกุฏิที่เป็นหมอ ๔ คนไปพร้อมกัน คือ ปรีดา มาลาสิทธิ์, สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์, บัญชา พงษ์พานิช และผม
อาจารย์ปรารภพฤติกรรมไม่ปกติของตนเอง ที่ท่านวินิจฉัยอาการของตนเองว่าเป็น manic depressive คือบางช่วงสมองฟุ้ง บางช่วงแฟบ ตอนฟุ้งมีอาการพูดมาก เพราะความคิดแล่น ท่านถามผมว่า ตอนไปเยี่ยมที่โรงพยาบาลที่เป็น mania ใช่ไหม ผมตอบว่าใช่ แต่ก็เป็นลักษณะปกติของท่าน ที่เวลาคุยกับลูกศิษย์มักให้การบ้านเอาไปทำเพื่อประโยชน์ของสังคม ซึ่งอาจารย์หมอจันทพงษ์ (ภรรยาของท่าน และเป็นเพื่อนร่วมรุ่นศิริราช ๗๑ กับผม) ก็เห็นด้วย
ที่แปลกคืออาการ depressive ที่ท่านวินิจฉัยตนเอง ตามที่ ดร. ภรณวลัย เอามาลงไว้แล้ว ที่เหล่าสานุศิษย์ปรึกษากันว่า เป็นไปได้อย่างไร ที่คนฝึกสติและสมาธิช่ำชองอย่างอาจารย์หมอประเวศคุมอารมณ์ของตนเองไม่ได้ ผมจึงได้ข้อสรุป (ไม่ทราบว่าสรุปถูกหรือผิด) ว่า อ. หมอประเวศ เผชิญความเจ็บป่วยทางกายที่นำสู่อาการซึมเศร้า ไม่ใช่ซึมเศร้าเพราะอาการป่วยทางอารมณ์ และโชคดีที่ อ. หมอประเวศ ท่านเขียนอธิบายความรู้สึกซึมเศร้าของท่านไว้
ท่านปรารภเรื่องการเรียนรู้ที่แท้จริง ที่นำสู่ปัญญา ว่าต้องเรียนรู้ร่วมกันผ่านการปฏิบัติ ไม่ใช่เรียนรู้คนเดียวจากการอ่านหรือการรับถ่ายทอดจากผู้รู้ ที่ผมตีความว่า เป็นการเรียนรู้ผ่านการสะท้อนคิดโดยมีข้อมูลจากการสังเกตผลของการปฏิบัติเป็นต้นเรื่อง ของ experiential learning หรือการเรียนรู้จากประสบการณ์ ที่การสะท้อนคิดนั้น นำสู่การตกผลึกหลักการหรือทฤษฎี ที่เรียกว่า abstract conceptualization ที่ อ. หมอประเวศ เป็นเอตะทัคคะ หาคนเสมอเหมือนได้ยากมาก ทั้งหมดนี้ ผมเขียนไว้ในหนังสือชุด การเรียนรู้ ‘ขั้นสูง’ จากการปฏิบัติ
ผมตกใจ ที่ท่านเอ่ยเรื่องการที่ท่านเสนอในการประชุมมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล เมื่อหลายปีมาแล้ว ให้จัดตั้งสถาบัน Prince Mahidol Global Health Institute ขึ้นในมูลนิธิ แต่ไม่ผ่าน เพราะประเด็นห่วงใยด้านการเงิน ผมเรียนท่านว่า ตอนนี้ สถาบันนี้กำลังจะเกิด เพราะผู้ทำงานใน PMAC – Prince Mahidol Award Conference ค่อยๆ เห็นพ้องร่วมกันมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า PMAC และมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล น่าจะทำประโยชน์แก่โลกได้มากกว่านี้ โดยทำงานสร้างผลกระทบ เพิ่มจากงานประชุมที่ทำได้ดีเยี่ยมมายาวนาน ท่าน อ. หมอประเวศ สะท้อนคิดออกมาเป็นวาจา ว่า “คงต้องปล่อยให้ค่อยๆเกิดตามธรรมชาติ” ผมจำคำของท่าน นำมาบันทึกไว้
ตอนหนึ่งท่านเอ่ยเรื่องการบริกรรม พุทโธๆๆๆๆ..... เพื่อให้จิตว่าง เป็นวิธีการพัฒนาหรือฝึกจิต
ท่านชวนคุยเรื่องหอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ หรือสวนโมกข์กรุงเทพ ที่คุณหมอบัญชาดูแลอยู่ คุณหมอบัญชาจึงชวนท่านไปพูดในระหว่างเข้าพรรษานี้ (เข้าพรรษา ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๖๗) ท่านรับปาก พวกเราก็เห็นด้วยว่า อาจารย์มีสุขภาพกลับคืนสู่ปกติแล้ว ยกเว้นยังผอมกว่าเดิม เข้าใจว่า ภาวะเจริญอาหารยังไม่กลับสู่ปกติ
วิจารณ์ พานิช
๑๒ ก.ค. ๖๗
1 ถ่่ายกับ นพ. วิชัย โชควิวัฒน ๒ กรกฎาคม ๒๕๖๗ ตอนไปประชุมสภา มศว.
2 บ่ายวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๖๗ ที่บ้านท่านอาจารย์
ขอให้อาจารย์หมอประเวศฯ หายป่วยโดยเร็ว…วิโรจน์ ครับ
บทความที่ต่อเนื่องจาก ดร.สุวินัยฯ ก็ให้รายละเอียดที่ดีมากครับ ทำให้เข้าใจว่าเหมือนกับ สาเหตุเป็นลักษณะที่ผมอยากจะเรียกว่า self-bully ทำนองนั้น คือติติงตัวเอง…วิโรจน์ ครับ