วันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๖๗ ผมไปร่วม “การประชุมวิชาการเพื่อพัฒนาเครือข่ายสังคมสุขภาวะและนโยบาย” ที่เราเรียกชื่อเล่นว่า ประชุมกลุ่มสามพราน จัดโดย สช. ที่วันนี้นำเสนอและเสวนากันเรื่อง การพัฒนาคุณภาพเทคโนโลยีสารสนเทศโรงพยาบาล นำเสนอโดย พญ. เอกจิตร สุขกุล รอง ผอ. สรพ. กับ นพ. กิตติ โล่สุวรรณรักษ์ ผอ. รพ. คูเมือง จ. บุรีรัมย์
ผมจึงได้รู้จักระบบ พัฒนาคุณภาพเทคโนโลยีสารสนเทศโรงพยาบาลHAIT ที่ร่วมกันพัฒนาระบบโดย สรพ. กับสมาคมเวชสารสนเทศไทย (TMI) เรียกว่า TMI Hospital IT Maturity Model ที่มี ๗ ระบบ เวลานี้เน้นที่ Level 1, 2, 3 โดยที่ทั้งระบบมีถึง Level 6 เป็นกลไกส่งเสริมคุณภาพเทคโนโลยีสารสนเทศโรงพยาบาลที่น่าชื่นชมยิ่ง และมีหนังสือ แนวทางการพัฒนาคุณภาพระบบเทคโนโลยีสารสนเทศโรงพยาบาล ออกเผยแพร่
ตัวอย่าง Digital Transformation ของโรงพยาบาลชุมชน ที่เสนอโดย นพ. กิตติ โล่สุวรรณรักษ์ ผอ. รพ. คูเมือง จ. บุรีรัมย์ ทำให้ผมนึกออกว่า กระบวนทัศน์การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในหน่วยงานไทย ในหลายกรณียังหลงผิดอยู่กับการนำมาใช้แทนกระดาษ ที่เรียกว่า paperless system คือมองที่การจดบันทึกเท่านั้น ไม่ได้มองที่พลังของเทคโนโลยีที่หากจัดระบบให้ดี (อย่างที่ นพ. กิตตินำมาเสนอ) จะช่วยอำนวยความสะดวกในการทำงานได้อย่างมากมาย ช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานทุกระดับ ทุกหน้าที่ ทำงานได้สะดวก มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย
ซึ่งหมายความว่า ต้องมีการออกแบบระบบงาน เชื่อมกับระบบไอที และมีการเรียนรู้และปรับตัวไปด้วยกันอย่างต่อเนื่อง โดยที่ระบบที่สำคัญที่สุดคือการพัฒนาผู้ปฏิบัติงาน และการบริหารระบบแบบมีส่วนร่วม
อ่านข่าว ผอ. สรพ. ลงพื้นที่เยี่ยม รพ. คูเมืองเมื่อต้นปี ๒๕๖๖ ได้ที่ (๑)
ผมลองถาม Generative AI Copilot ว่า “คุณภาพของระบบสารสนเทศโรงพยาบาลคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์มีความโดดเด่นอย่างไร นพ. กิตติ โล่สุวรรณรักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเป็นผู้มีผลงานโดดเด่นด้านการพัฒนาระบบสารสนเทศโรงพยาบาลอย่างไรบ้าง ช่วยให้ผู้ป่วยและญาติได้รับประโยชน์อย่างไรบ้าง และมีผลต่อระบบบริการสุขภาพในอำเภอคูเมืองอย่างไร”
ได้รับคำตอบดังนี้
“โรงพยาบาลคูเมือง ในจังหวัดบุรีรัมย์ ได้รับการรับรองมาตรฐานเฉพาะโรค/เฉพาะระบบ (Program and Disease Specific Certification: PDSC) และพัฒนาคุณภาพด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล (HA IT) อย่างโดดเด่น123. นพ. กิตติ โล่สุวรรณรักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลคูเมือง ได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาระบบการให้บริการ โดยมีข้อดีดังนี้:
โรงพยาบาลคูเมืองเป็นตัวอย่างที่เห็นภาพชัดในการนำระบบสารสนเทศมาใช้ในการพัฒนาคุณภาพ”
สาระที่ นพ. กิตติเล่าในที่ประชุมมีมากกว่าที่ AI รับรู้ โดยเฉพาะแนวความคิดที่จะใช้ระบบสารสนเทศดิจิทัลช่วยเชื่อมโยงบริการสุขภาพทั่วทั้งอำเภอ และเชื่อมสู่งานด้านสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคไตวายเรื้อรัง ที่เวลานี้เป็นภาระมาก
เป็น Digital Transformation ที่จะช่วยหนุนการ transform หลากหลายมิติของการพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพัฒนาระบบสุขภาพให้ดำเนินการเชิงรุก เชื่อมโยงกับการพัฒนาภาพใหญ่ของสังคม ดังที่ นพ. แสงชัย พงศ์พิชญ์พิทักษ์ ผอ. รพ. สูงเม่น จ. แพร่ เล่าสภาพของประชากรในอำเภอ ที่มีผู้สูงอายุถึงร้อยละ ๓๕ และจำนวนประชากรลดจาก ๖๙,๐๐๐ คน เหลือ ๖๑,๐๐๐ คน ท่านได้ใช้ข้อมูลประชากรนี้เสนอต่อชุมชน ปรึกษาหารือเรื่องการส่างเสริมการมีบุตร
ความหมายของ Digital Transformation เน้นที่การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ช่วยหนุนการ transform ภารกิจ โดยนอกจากการพัฒนาระบบไอที และระบบข้อมูลแล้ว ต้อง transform คน และวัฒนธรรมองค์กร
การนำเสนอและการเสวนาในเช้าวันนี้ นำสู่การที่ สสส. จะสนับสนุนการยกระดับและขยายผลของ Digital Transformation ของโรงพยาบาลชุมชน ที่นำโดยชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน และผมขอเสนอให้ใช้ DE ช่วยหนุนการพัฒนาระบบแบบ stakeholders มีส่วนร่วม และเสนอให้ชวน สวรส. มาสนับสนุนทีมวิจัยผลกระทบต่อผู้ป่วยและชุมชน รวมทั้งต่อตัวโรงพยาบาลเอง ที่เกิดจาก Digital Transformation ของโรงพยาบาลชุมชน
วิจารณ์ พานิช
๑๒ ก.ค. ๖๗
ไม่มีความเห็น