ประวัติศาสตร์การเมืองวัฒนธรรมไทย


 

คำนำเสนอหนังสือ ที่ ศ. ดร. เกษียร เตชะพีระ เขียนในหนังสือ และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ การเมือง วัฒนธรรม ของนักศึกษาและปัญญาชนก่อน ๑๔ ตุลาฯ  โดย ประจักษ์ ก้องกีรติ    นำสู่ชื่อบันทึกนี้   โดย ท่านให้ความเห็นว่า หนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องพัฒนาการของการเมืองวัฒนธรรมไทย   

ที่จริงหนังสือชุด สยามพากษ์ ทั้ง ๘ เล่ม ของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน น่าจะจัดอยู่ในหนังสือที่สื่อเรื่องการเมืองวัฒนธรรมไทย ทั้งสิ้น    และผมอ่านไปแล้ว ๒ เล่ม คือ ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรีย์   กับ กว่าจะครองอำนาจนำ    โดยตอนนั้นผมคิดว่า เป็นหนังสือเชิงประวัติศาสตร์ แนวประวัติศาสตร์การเมือง   และรู้สึกชื่นชมยินดีที่ในวงวิชาการไทยมีการเชื่อมโยงบูรณาการระหว่าง ประวัติศาสตร์ สังคมศาสตร์ และรัฐศาสตร์  ออกมาเป็นหนังสือชุดนี้ 

ดร. เกษียร ใช้คำว่า “การเมืองวัฒนธรรม”   ผมตีความต่อว่า หนังสือชุดนี้สื่อวัฒนธรรมการเมืองไทยได้ดีมาก   

ความจำเพาะหรือแตกต่างของหนังสือเล่มนี้เสนอไว้ในบทที่ ๑ ประโยคสุดท้ายของหน้า ๘ ต่อหน้า ๙   ว่า การศึกษาประวัติศาสตร์ ๑๔ ตุลาฯ มักเน้นที่เหตุการณ์    แต่หนังสือเล่มนี้มุ่งเสนอ “กระบวนการทางประวัติศาสตร์”   ที่ผมตีความว่า ประวัติศาสตร์ทั่วไปมักมุ่งเสนอ what  แต่หนังสือเล่มนี้มุ่งเสนอ why   ที่นำสู่ความซับซ้อนและไม่ชัดเจน (ambiguity) ของเรื่องราวที่นำสู่ ๑๔ ตุลาฯ 

อ่านจากบทที่ ๑ แล้ว เห็นชัดเขนว่า หนังสือเล่มนี้มุ่งเสนอให้เห็นความซับซ้อนของที่มาและที่ไปของเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาฯ     คือเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาฯ เป็นส่วนหนึ่งของภาพใหญ่ ของการเมืองวัฒนธรรมไทย    ที่มีการเคลื่อนตัวอยู่ตลอดเวลา    และปัจจัยเกี่ยวข้องก็มีความซับซ้อนมาก   มีปัจจัยจากต่างชาติเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย     

หนังสือเล่มนี้มี ๖ บท   ผมเพิ่งอ่านถึงบทที่ ๒  การก่อตัวทางสังคมของนักศึกษา และเครือข่ายวาทกรรมของปัญญาชน    โดยค่อยๆ ละเลียดทีละหน้าสองหน้า   พร้อมกับสะท้อนคิดไป ว่าหากมีข่าวฉาวจากผู้ปกครองบ้านเมืองหลากหลายฝ่ายอย่างในปัจจุบัน    เกิดขึ้นในปี ๒๕๑๔ หรือ ๒๕๑๕ นักศึกษาและปัญญาชนจะมีปฏิกิริยาอย่างไร   คนด้อยปัญญาด้านการเมืองอย่างผมนึกไม่ออก    ว่าจะอธิบายการเมืองและวัฒนธรรมไทยยุคหลัง ๙ ตุลา อย่างไร    ยิ่งหลังปี ๒๕๕๗ ยิ่งนึกไม่ออก

นึกออกอย่างเดียวว่า หลัง ๒๕๕๗ สังคมไทยเมินเฉยต่อการทุจริตกินบ้านกินเมืองมากขึ้น    ยอมรับการขึ้นสู่อำนาจเพื่อผลประโยชน์ทางลับ มากขึ้น    กลไกตรวจสอบทางสังคมอ่อนแอลง    ไม่ทราบว่าผมสรุปผิดหรือเปล่า   

วิจารณ์ พานิช

๒๖ ก.พ. ๖๗

    

       

หมายเลขบันทึก: 717420เขียนเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2024 19:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2024 19:00 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

หลัง ๒๕๕๗ สังคมไทยเมินเฉยต่อการทุจริตกินบ้านกินเมืองมากขึ้น ยอมรับการขึ้นสู่อำนาจเพื่อผลประโยชน์ทางลับ มากขึ้น กลไกตรวจสอบทางสังคมอ่อนแอลง

เห็นด้วยค่ะ แต่สังคมไทยก็ยังมีกลุ่มคนที่ลุกขึ้นมาตรวจสอบอย่างแข็งขัน และยังมุ่งมั่นที่จะทำต่อไป แต่คนกลุ่มนี้ก็ต้องถูกกล่าวหา ยัดข้อหาร้ายแรง บดขยี้อย่างต่อเนื่อง อนิจจา

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท