ชีวิตที่พอเพียง 4628. ประวัติศาสตร์มีไว้วิพากษ์ ไม่ใช่มีไว้เชื่อ : หนังสือ ขุนศึก ศักดินา พญาอินทรีย์


 

หนังสือ ขุนศึก ศักดินา พญาอินทรีย์ : การเมืองไทยภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา โดยณัฐพล ใจจริง อ่านแล้ววางไม่ลง    คำนำเสนอที่สุดแสนจะลึกล้ำชวนให้ผมใคร่ครวญว่า ประวัติศาสตร์มีไว้วิพากษ์ ไม่ใช่มีไว้เชื่อ   ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องของการฝึกมองหลายมุม  มองด้วยการตีความที่แตกต่าง    ซึ่งณัฐพล ใจจริง ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้โด่งดังขึ้นมาก็เพราะมองต่างจากแนวคิดเดิมๆ    โดยเติมบทบาทของ “พญาอินทรีย์” เข้ามาในประวัติศาสตร์ไทยสมัย พ.ศ. ๒๔๙๑ – ๒๕๐๐ 

อ่านจบแล้ว ผมสรุปว่าหนังสือเล่มนี้บอกเราว่า   เรื่องราวทางการเมืองที่เรารับรู้กันทั่วไปนั้น เป็นเพียงผิวของเรื่องที่เกิดขึ้นจริง   เนื่องจากผู้เขียนค้นเอกสารปฐมภูมิจากทั้งภายในประเทศและจากประเทศมหาอำนาจที่ต้องการแสวงประโยชน์จากประเทศไทย    จึงได้เรื่องราวลึกๆ ที่อยู่เบื้องหลังมากมาย   ที่อาจเป็นเรื่องต้องห้ามการเผยแพร่ในอดีตที่ตัวละครยังมีชีวิตอยู่   

อ่านแล้วเข้าใจธาตุแท้ของการเมืองและนักการเมือง    และเห็นชัดแจ้งว่า “ไม่มีมิตรแท้ ไม่มีศัตรูถาวร” ในการเมือง    ประเด็นสำคัญอยู่ที่ผลประโยชน์ร่วมกัน    ดังจะเห็นว่า ในที่สุดแล้ว ฝ่าย “ขุนศึก” ที่แตกแยกกันนั้น    ฝ่ายที่เลือกเป็นพันธมิตรกับฝ่าย “ศักดินา”   ที่ “พญาอินทรีย์” หนุนหลัง     ก็ได้เถลิงอำนาจ    โดยสมประโยชน์กันทั้งสามฝ่าย   

เมื่ออ่านจบ ผมก็อยากอ่านเล่มต่อไปของ ณัฐพล ใจจริง   ที่เขียนประวัติศาสตร์การเมืองช่วงปี ๒๕๐๐ - ๒๕๒๐   ว่ามีตัวตัวละครหลักกี่ฝ่าย   มีปฏิสัมพันธ์ที่ซับซ้อนเปลี่ยนแปลงหรือย้อนแย้งต่อกันและกันอย่างไร   ไม่ทราบว่าจะเขียนโดยใช้ข้อมูลหลักฐานแนวเดียวกันนี้ได้หรือเปล่า   

เป็นหนังสือที่คนรักประวัติศาสตร์พลาดไม่ได้   อ่านแล้วจะได้ระแคะระคายความลับในบ้านเมืองมากมาย     ที่ต้องเตือนสติตนเองว่า  “ประวัติศาสตร์มีไว้วิพากษ์  หรือตั้งข้อสงสัย ไม่ใช่มีไว้เชื่อ” 

ผมมีความเห็นว่า ประวัติศาสตร์เป็นส่วนหนึ่งของมนุษยศาสตร์  เรื่องราวของมนุษย์ในประวัติศาสตร์สอนเราเรื่องธรรมชาติของมนุษย์    จึงลองถามความเห็นของ Generative AI ว่า “หนังสือ ขุนศึก ศักดินา พญาอินทรีย์  เขียนโดยณัฐพล ใจจริง สอนเราเรื่องธรรมชาติของมนุษย์อย่างไร”    พบว่า ChatGPT ไม่รู้จักหนังสือเล่มนี้    bing ให้ความเห็นด้อยกว่าความเห็นของคุณ Thanawat ที่ รีวิวหนังสือเล่มนี้ที่ (๑)   ส่วน Bard ตอบเข้าป่าไปเลย ว่าเป็นหนังสือนวนิยาย    AI ก็ควรมีไว้เป็นตัวช่วย ไม่ใช่มีไว้เชื่อ (๒)   

วิจารณ์ พานิช

 ๒๔ พ.ย. ๖๖

 

หมายเลขบันทึก: 716921เขียนเมื่อ 1 มกราคม 2024 16:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มกราคม 2024 16:30 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท