ประเมินความคุ้มค่าของโครงการวิจัยและพัฒนา


 

เอกสาร รายงานการศึกษา โครงการวิจัยเพื่อประเมินความคุ้มค่าของโครงการวิจัยและพัฒนา ภายใต้สำนักบริหารโครงการส่งเสริมการวิจัยในอุดมศึกษาและพัฒนามหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ(๒๕๖๐) นำสู่ข้อสะท้อนคิดนี้ 

ข้อเรียนรู้แรกคือ โครงการมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ ที่เริ่มต้นสนับสนุนทุนวิจัย ปีงบประมาณ ๒๕๕๔ และดำเนินการเรื่อยมา จนถึงปี ๒๕๖๒  ผมมองว่าเป็นโครงการสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบของอุดมศึกษาไทยที่มีค่ายิ่ง    ที่นำสู่การยอมรับว่า สถาบันอุดมศึกษามีจุดเน้นได้หลายแบบ   มีความเป็นเลิศได้ทุกแบบ   มหาวิทยาลัยวิจัยเป็นเพียง ๑ แบบ   แต่เมื่ออ่านข้อมูลของมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติในวิกิพีเดีย (๑) แล้ว  ผมก็เกิดความเสียดาย   ว่าสังคมไทยได้เรียนรู้จากโครงการนี้น้อยไป   คือไม่มีการจัดการความรู้ที่เกิดขึ้นจากโครงการนี้อย่างเป็นระบบ    หากจะมีการดำเนินการโครงการทำนองนี้อีก ผมเสนอให้มีการลงทุนทำโครงการประเมินเชิงพูนพลังเพื่อพัฒนา (Developmental Evaluation – DE) ควบคู่ไปด้วยกัน   และให้มีการบันทึกความรู้ด้านการบริหารโครงการ ไว้เป็นทุนปัญญาของสังคม      

ผมเขียนบันทึกเรื่องราวของโครงการมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ จากคำบอกเล่าของ ศ. ดร. วิชัย บุญแสง ไว้ที่ (๑) 

ข้อเรียนรู้ที่ ๒ คือ  โครงการทำนองนี้ต้องการผู้บริหารที่มีทักษะพิเศษ    โชคดีที่ได้ ศ. ดร. วิชัย บุญแสง ที่มีประสบการณ์เรียนรู้ จากการบริหารงานวิจัยเชิงวิชาการที่ สกว.  มาเป็นผู้อำนวยการโครงการ    ข้อสะท้อนคิดของผมคือ สังคมไทย (โดยเฉพาะราชการไทย) ไม่ได้เอาใจใส่พัฒนาผู้บริหารงานวิชาการ และงานวิจัยและนวัตกรรมอย่างจริงจัง   เพิ่งมาเริ่มดำเนินการพัฒนาอย่างเป็นระบบ เมื่อ สกสว. ทำหน้าที่นี้เมื่อสองสามปีมานี้เอง   

ข้อเรียนรู้ที่ ๓  เกี่ยวข้องกับความคุ้มค่าของการลงทุนวิจัย    ที่เอกสาร โครงการวิจัยเพื่อประเมินความคุ้มค่าของโครงการวิจัยและพัฒนา ภายใต้สำนักบริหารโครงการส่งเสริมการวิจัยในอุดมศึกษาและพัฒนามหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ  บอกเราชัดเจนว่า การลงทุนวิจัย (และนวัตกรรม) หากมีการจัดการอย่างถูกต้องตรงไปตรงมา  มีความคุ้มค่าทั้งสิ้น    ดังในบทสรุปของรายงาน ระบุว่า โครงการที่ผลได้ต่อทุนสูงสุด มีค่าถึงเกือบ ๑,๒๐๐ เท่า    

การจัดการการลงทุนวิจัยและนวัตกรรมเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ รวมทั้งเป็นคุณธรรมด้วย   คือต้องไม่เอาเงินไปสนองเป้าหมายอื่น  ในประเทศไทย คนที่ได้รับผิดชอบดูแลเงิน มีความยากลำบากตรงที่มักมีคนที่มีอำนาจเข้ามาล้วง   จึงต้องมีทักษะในการทำเป็นไม่เข้าใจสัญญาณนั้น    อย่างที่ผมทำอย่างสุจริตใจ (แปลว่าซื่อบื้อ) เมื่อ ๓๑ ปีก่อน       

วิจารณ์ พานิช

๒ ม.ค. ๖๗

 

หมายเลขบันทึก: 717299เขียนเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2024 17:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2024 17:31 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

Wouldn’t we love ‘evidence-based assessment of return-for-investment’ methodologies at least a best-practice guidelines on a well-defined set of key indicators.

And shouldn’t we be mindful of the ‘sin of taking the indicators to be the goal’?

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท