ก่อนจะมาเป็นการวิจัยที่ถูกทำนองคลองธรรม กับ การพัฒนาระบบที่เอื้อความสะดวกในการทำความดี


 

ก่อนจะมาเป็นการวิจัยที่ถูกทำนองคลองธรรม เป็นชื่อหนังสือที่เขียนโดย นพ. วิชัย โชควิวัฒน อ่านหรือดาวน์โหลดได้ที่ (๑)  นักวิจัยในมนุษย์ต้องไม่พลาด และยึดถือปฏิบัติ เพื่อการเป็นนักวิจัยที่ดี   และเป็นเครื่องป้องกันตัวเองจากการถูกกล่าวหา     

สมัยกว่าครึ่งศตวรรษก่อน ผมทำวิจัยในมนุษย์ เจาะเลือดผู้ป่วยมาวิเคราะห์  เปรียบเทียบกับของคนปกติ  คิดถึงคนไข้ผิวสีคล้ำ (hereditary methemoglobinemia) ที่ผมรายงานเมื่อราวๆ ปี ๒๕๑๓  ที่เมื่อพบผู้ป่วย และเจาะเลือดมาวินิจฉัยได้แล้วหาทางรักษา    ก็ค้นพบว่า ให้กิน methylene blue ที่เป็นสารเคมีที่ใช้ในห้องปฏิบัติการ   อาการเลือดสีคล้ำจะหายชั่วคราว    ค้นจนมั่นใจว่าให้กิน methylene blue เกรดห้องปฏิบัติการได้ ไม่มีอันตราย ผมก็หาแคปซูลมาบรรจุ methylene blue เอง   ให้ผู้ป่วยลองกิน  อาการหายจริงๆ  สงสัยว่าหากผมทำเช่นเดียวกันในขณะนี้ จะโดนกล่าวโทษฐานผิดจริยธรรมของการวิจัยในมนุษย์หรือไม่    ก่อนจะลองรักษาเช่นนี้ ต้องขออนุญาตจากคณะกรรมการวิจัยในมนุษย์หรือไม่     

แต่ข้อสงสัยแบบนี้ ในเรื่อง methemoglobinemia  ในสมัยนี้ไม่มีปัญหาแล้ว  โลกก้าวหน้าไปมาก   มี methylene blue ชนิดเม็ดสำหรับกินขายในท้องตลาด   

การวิจัยที่ถูกทำนองคลองธรรม ที่เป็นการวิจัยในมนุษย์ในสมัยนี้ มีขั้นตอนเพิ่มขึ้นมาก    สถาบันที่จัดระบบไม่ดี ขั้นตอนนี้กลายเป็นอุปสรรค ทำให้ทำงานวิจัยได้ล่าช้า    หนังสือเล่มนี้จึงไม่ใช่แค่มีประโยชน์ต่อนักวิจัยเป็นรายคน    แต่ที่มีประโยชน์ยิ่งกว่า คือ ใช้ในการจัดระบบงานสนับสนุนการวิจัยในหน่วยงานหรือสถาบัน   รวมทั้งจัดการพัฒนาขีดความสามารถของผู้ที่จะทำหน้าที่กรรมการ     

การวิจัยที่ถูกทำนองคลองธรรม จึงไม่ใช่เรื่องของนักวิจัยเป็นรายคนเท่านั้น   เป็นเรื่องที่สถาบันจะต้องเอาใจใส่   หาทางจัดระบบที่เอื้อให้งานวิจัยที่ถูกทำนองคลองธรรมดำเนินการได้โดยสะดวก และรวดเร็ว    เพื่อให้งานวิจัยนั้นทำประโยชน์ได้สมความมุ่งหมาย   

ที่จริง งานวิจัยที่ถูกทำนองคลองธรรม ไม่ได้เอาใจใส่เฉพาะการคุ้มครองมนุษย์ที่เป็น “วัตถุวิจัย” เท่านั้น    ยังเน้นเอื้อให้ผลงานวิจัย “เชื่อถือได้” (credible) ด้วย   ไม่ใช่แค่ reliable  คือช่วยเป็นกลไกสร้างความน่าเชื่อถือ ว่าผลงานวิจัยนั้นๆ ไม่มี “การฉ้อโกง” (fraud) ซ่อนอยู่    

ผมเคยนึกตั้งแต่สมัยหนุ่มๆ ว่าคนเราต้องเผชิญชีวิตที่มีขั้นตอนยุ่งยาก  ก็เพราะ “กรรม” ของผู้อื่น ที่ทำสิ่งไม่ถูกต้องไว้   ทำให้มีกฎเกณฑ์กติกามากมายยุ่งยาก เพื่อป้องกันความชั่วร้ายของมนุษย์    ชีวิตคนเราก็เป็นเช่นนี้เอง       

ตอนนี้ผ่านโลกมายาวนาน ๘๒ ปี   ผ่านการทำงานหรือเกี่ยวข้องกับงานวิจัยมา ๕๖ ปี    มีความเห็นว่า เราต้องช่วยกันสร้างระบบสนับสนุนการวิจัย   ที่ไม่ใช่แค่ด้านการเงิน  หากเป็นงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ในฐานะ “วัตถุวิจัย”  ต้องมีการจัดระบบอำนวยความสะดวก ให้เกิดการวิจัยในมนุษย์ที่คุ้มครองทั้ง “วัตถุวิจัย”  และผู้วิจัย    ที่ดำเนินการวิจัยได้อย่างรวดเร็ว    สร้างผลงานวิจัยที่ “เชื่อถือได้”     และเป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติ 

อีกมุมหนึ่งของหนังสือ คือการนำเสนอตัวอย่างของ “การวิจัยที่ผิดทำนองคลองธรรม”   คือ (๑) การนำเชลยสงครามไปทำวิจัยอย่างโหดร้ายทารุณในกองทัพนาซี  (๒) การวิจัยที่ผิดจริยธรรมร้ายแรงในสหรัฐฯ (๓) การวิจัยอาวุธเคมีในกองทัพญี่ปุ่น (๔) คำกล่าวขอโทษของประธานาธิบดีคลินตันต่อเหยื่อการวิจัยที่ทัสคีจี    ตัวอย่างเหล่านี้ ช่วยชี้ให้เห็นความจำเป็นให้ต้องมีการร่วมกันกำหนดหลักจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ 

คนที่จะเขียนหนังสือเรื่องนี้ ให้ได้ความลุ่มลึกในระดับนี้ได้   คือ นพ. วิชัย โชควิวัฒน 

วิจารณ์ พานิช

๒ ม.ค. ๖๗

      

 

หมายเลขบันทึก: 717273เขียนเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2024 08:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2024 08:39 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

I read this and had a thought on ‘political/social experiments’ (many seemingly illegal or unethical) that are going on around the world now. These are called ‘policies’, laws, advertisements, social media features, ‘softpower creation’, etc. and they are using people (often unaware or not-comprehending that they’re being) objects of experiments. It seems that cultures are lacking balancing power to normalize endeavors and not having written laws or upheld guidelines allows ‘any one can do what is not prohibited in writing’.

It is the same current (argument) stand as in scientific research –to advance understanding–; statistically unbiased population when they don’t have ‘pre-knowledge’ (animal objects are presumed ‘not-knowing about experiment’),…Complex, convoluted, subjective (qualitative), circumstantial (contextual),… and no one wants to tackle –head on.

การขอจริยธรรมวิจัย เป็นขั้นตอนหนึ่งที่สำคัญ ถึงแม้คณะกรรมการจริยธรรมจะพิจารณาทุกขั้นตอน แต่อย่างไรก็ตามผู้วิจัยจะต้องมีจริยธรรมในการดำเนินเก็บข้อมูลและนำผลที่ถูกต้องมาวิเคราะห์และนำมาใช้นะคะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท