ชีวิตที่พอเพียง  4654. ทำงานเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (227) ห้องเรียนสาธิต ถอดรหัสการจัดการเรียนรู้เชิงรุกด้วยโครงงานฐานวิจัย


 

ดังเล่าใน ตอนที่ ๒๒๖ ว่ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ร่วมกับ กสศ., มูลนิธิสยามกัมมาจล และภาคีอื่นๆ ร่วมกันจัดกิจกรรม ฟอรั่มการจัดการความรู้ ครั้งที่ 2 ภาคใต้ “ร่วมเปลี่ยนการศึกษาเพื่อเด็กทุกคน”วันเสาร์ที่ 23 ธันวาคม 2566 เวลา 09.00-15.30 น. ณ ห้อง Conference Hall ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 

ตอนบ่ายผมเข้าห้องย่อยที่ 6 : ห้องเรียนสาธิต ถอดรหัสการจัดการเรียนรู้เชิงรุกด้วยโครงงานฐานวิจัย ที่ผสานการบ่มเพาะคุณธรรมและการรู้จักตนเองด้วยการสอนแบบ 4 ขั้น    เสนอโดยทีมงานผสมหลายหน่วย คือนักเรียนชั้นประถม ๑๒ คน มาจากโรงเรียนบ้านปากบาง  อ. จะนะ จ. สงขลา แปลกที่เป็นนักเรียนหญิงล้วน    ครูผู้สาธิตการสอน ๔ คน มาจาก โรงเรียนบ้านบ่อเตย สพป. สงขลา เขต ๓  จำนวน ๑ คน  และอีก ๓ หนึ่งมาจากโรงเรียนบ้านปากบาง    ผู้ดำเนินการกระบวนการมาจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ๒ คน    และผู้สังเกตชั้นเรียน ๒ คน เป็นอาจารย์เกษียณอายุจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์      ได้เห็นความสามารถของครูในการออกแบบการเรียนรู้เชิงรุกที่ทรงพลังยิ่ง   

นี่คือการสาธิตการเรียนรู้บูรณาการ เพื่อให้นักเรียนพัฒนาสมรรถนะเชิงซ้อนหลายด้านใส่ตัว    ที่เรียกว่า การเรียนรู้เชิงรุก (active learning)    โดยผู้จัดมีคำอธิบายแนวความคิดไว้ที่ () (ลิ้งค์ไปยังไฟล์ โครงงานฐานวิจัย)     จะเห็นว่า กระบวนการนี้จะกระตุ้นการพัฒนาแบบองค์รวม คือ สมอง  จิตใจ และร่างกาย    ผมพิศวงที่ได้เห็นนักเรียนชั้นประถมปลาย ๑๒ คน มีสมาธิอยู่กับกิจกรรม ๓ ชั่วโมงโดยไม่วอกแวกเลย   

ตอนนั่งสังเกตการณ์การสาธิตการสอน  ผมไม่ค่อยเข้าใจนัก  ว่าเขากำลังทำอะไร    แต่เมื่อ อ. นิตยา สงนวล กับ รศ. ดร. วิลาวัลย์ มหาบุษราคัม ที่เป็นทีมผู้สังเกตชั้นเรียน ร่วมกันอธิบายและให้ข้อแนะนำจากการสังเกตชั้นเรียน ผมจึงเข้าใจมากขึ้น    และเมื่อกลับมาบ้าน อ่านเอกสาร (๑) ทบทวนอีก จึงเข้าใจว่า เป็นการสาธิตการสอน ในรูปแบบที่ทีมงานของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์คิดค้นทดลองมา ๔ - ๕ ปี   ได้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่น่าตื่นตาตื่นใจยิ่ง    ผมบอกคุณยุ้ยที่เป็นทีมมูลนิธิสยามกัมมาจลว่า    เรื่องนี้เหมาะที่จะนำเสนอในมหกรรมคุณภาพการศึกษาแห่งชาติในเดือนมิถุนายน ๒๕๖๗   แต่ต้องมีการวิจัยประเมินผลต่อตัวเด็กก่อน    ว่าเด็กได้รับการพัฒนาด้านใดบ้าง ในระดับไหน    หากเห็นผลกระทบต่อด็กชัด จึงจะเชิญมาเสนอในงานมหกรรมฯ      

การวิจัยในโครงงานฐานวิจัยที่ทีม มอ. พัฒนาขึ้น เป็นการวิจัยโจทย์ที่มาจากชุมชน   นอกจากเป็นโจทย์จากเรื่องจริงในชีวิตจริง ที่ช่วยให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้แบบ “เรียนจากสถานการณ์จรอง” (authentic learning) แล้ว   เมื่อนักเรียนทำเสร็จก็มีการนำเสนอต่อชุมชน   วิธีจัดการเรียนรู้นี้จึงเป็นเครื่องมือเชื่อมโยง (engage) โรงเรียนกับชุมชน   ให้คนในชุมชนเข้ามามีบทบาทต่อการจัดการเรียนรู้(เชิงรุก)ของโรงเรียน   ได้ให้คำแนะนำสำหรับปรับปรุงการดำเนินงานรอบต่อไป    เป้นการร่วมกันสร้าง  growth mindset ขึ้นในระบบการศึกษาของชุมชน   

Community engagement เกิดสามรอบ   คือรอบที่นักเรียนไปหาข้อมูลในชุมชน   รอบที่นักเรียนทำวิจัย ต้องไปทำวิจัยในพื้นที่และสถานการณ์จริง   และรอบนำเสนอผลงานต่อชุมชน

ครูและผู้เข้าร่วมเรียนรู้ในห้องย่อยที่ ๖ นี้ เกิดการเรียนรู้และเข้าใจความสำคัญของแต่ละขั้นตอนของการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ และเอื้อกระบวนการเรียนรู้โดยครู   ที่ อ. นิตยา กับ รศ. ดร. วิลาวัลย์ ช่วยกันอธิบาย   เป็นช่วงที่มีค่ายิ่ง    โดยเฉพาะตอนที่ท่านบอกว่า ครูต้องมั่นใจและไว้วางใจเด็ก ว่าสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง   

 ยิ่งได้ฟังคำอธิบายของ ผอ. รร. บ้านปากบาง ดร. ศกลวรรณ สุขมี อธิบายวิธีที่โรงเรียนบริหารจัดการการเรียนรู้โครงงานฐานวิจัย ของโรงเรียน เชื่อมโยงสู่ความร่วมมือกับชุมชน     ที่ประเด็นสำคัญที่สุดทีท่านเล่าคือการทำความตกลงกับปราชญ์ชุมชนว่า เมื่อนักเรียนไปขอความรู้อย่าสอน อย่าบอก ให้รอนักเรียนตั้งคำถาม    แล้วจึงตอบคำถาม    สะท้อน ๒ ประเด็นสำคัญคือ (๑) ผอ. โรงเรียนทำงานเชื่อมโยงชุมชน  (๒) ผอ. ดร. ศกลวรรณ เข้าใจเรื่อง active learning ในมิติที่ลึกมาก  

ผมขาดโอกาสฟัง รศ. ดร. สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ ให้ข้อสังเกต เพราะผมต้องออกเดินทางไปสนามบินเพื่อนั่งเครื่องบินกลับกรุงเทพ     ได้ยินประโยคแรกประโยคเดียว ที่ท่านชมว่าเป็นการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ที่ละเอียดประณีตมาก   

ผมคิดต่อว่า หากครูหนุนการคิดโจทย์วิจัยที่ ตรงกับ “จุดเจ็บปวด” (pain point) ของชุมชน    และนำสู่การแก้ปัญหานั้น แม้เพียงบางส่วน    กระบวนการเรียนรู้นี้ ก็จะเป็น “การเรียนรู้แนวบริการชุมชน” (service learning)    ที่นักเรียนได้สร้างค่านิยม และเจตคติทำเพื่อส่วนรวม ให้แก่ตนเอง    

การเรียนรู้แบบนี้ จะเกิดผลต่อนักเรียนมากน้อยแค่ไหน ขึ้นกับความสามารถของครู   ในการพัฒนาการจัดการเรียนรู้ให้แก่ศิษย์ได้อย่างต่อเนื่องไม่มีสิ้นสุด    ยิ่งนำเอา “การสังเกตชั้นเรียน” (Lesson Study) เข้าไปเสริม    โดยเน้นสังเกตที่พฤติกรรมของนักเรียนตามที่เสนอไว้ในหนังสือ โรงเรียนเป็นชุมชนเรียนรู้    ยิ่งนำสู่การเรียนรู้และพัฒนาครูที่มีพลังยิ่ง   

การเรียนรู้เชิงรุก (active learning)  เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า การเรียนรู้ผ่านการสะท้อนคิด (reflective learning)  หรือการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ (experiential learning)    เพื่อให้ตนเองเข้าใจหลักการและวิธีการของ การเรียนรู้ผ่านประสบการณ์  ขอแนะนำให้ครูเข้าไปอ่านบันทึกชุด เรียนรู้ผ่านประสบการณ์ ของผม     โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ครูต้องเข้าใจหลักการและวิธีใช้ Kolb’s Experiential Learning Cycle    ซึ่งเน้นที่การสังเกตกิจกรรมแล้วสะท้อนคิดสู่การตกผลึกสร้างหลักการหรือทฤษฎีด้วยตนเอง ร่วมกับเพื่อนครู    และนำไปฝึกให้ศิษย์ทำเป็น จนเป็นนิสัยในการดำรงชีวิต 

ขอเชิญชวนให้ครูทุกคน เข้าไปอ่านเอกสาร ()  เพื่อทำความเข้าใจวิธีจัดการเรียนรู้เชิงรุก ด้วยการวิจัยชุมชน ตามแนวทางของทีมมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์นี้   

หัวข้อของการสาธิตการสอน    มีเป้าหมายการบ่มเพาะคุณธรรม และการรู้จักตนเอง   ที่ในการสอนสาธิตผมไม่เห็นหรือเห็นไม่ชัด (ผมอาจพลาดเองที่ครูจัดให้นักเรียนได้เรียนรู้ แต่ผมไม่เห็น)    ผมขอเน้นว่า ครูต้องมีวิธีตั้งคำถามเพื่อบรรลุเป้าหมายทั้สอง    ในการเรียนรู้เชิงรุกครูเน้นตั้งคำถาม  เพื่อให้นักเรียนคิดหรือสะท้อนคิด    เป้าหมายทั้งสองมีความสำคัญมากต่อนักเรียน   และท้าทายมากสำหรับครูในการตั้งคำถามเพื่อช่วยให้ศิษย์บรรลุผลดังกล่าว       

สรุปว่า ในการเรียนรู้เชิงรุก   ครูเน้นทำหน้าที่ตั้งคำถาม ไม่ใช่บอกคำตอบ    และนักเรียนฝึกตั้งคำถาม เพื่อการเรียนรู้ของตน 

วิจารณ์ พานิช

๒๕ ธ.ค. ๖๖ 

 

 

หมายเลขบันทึก: 717269เขียนเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2024 18:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2024 18:41 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท