ชีวิตที่พอเพียง  4647. อ่านหนังสือ กว่าจะครองอำนาจนำ


 

ผมค่อยๆ ละเลียดหนังสือ กว่าจะครองอำนาจนำ การคลี่คลายขยายตัวของเครือข่ายในหลวงภายใต้ปฏิสัมพันธ์ชนชั้นนำไทย ทศวรรษ 2490 – 2530  โดย อาสา คำพา ในช่วงเดือนธันวาคม ๒๕๖๖  มาอ่านจบเอาตอนวันหยุดยาวปีใหม่     

ระหว่างอ่านก็ใคร่ครวญสะท้อนคิดไปด้วยว่าหนังสือเล่มนี้บอกอะไรผม   โดยหนังสือเล่มนี้ปรับปรุงจากวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกด้านประวัติศาสตร์    ที่เป็นที่ยกย่องกันว่าเป็นวิทยานิพนธ์คุณภาพสูงเด่น   

ผมคิดว่า ประวัติศาสตร์เป็นแขนงหนึ่งของมนุษยศาสตร์   เรื่องราวในประวัติศาสตร์จึงสะท้อนมิติของความเป็นมนุษย์ของผู้เกี่ยวข้อง    โดยมีสมมติต่างๆ ในสังคมเข้ามาเป็นตัวเชื่อมหรือเป็นพื้นฐาน   ให้ตัวละครหรือตัวแสดงต่างๆ แสดงบทบาทในสภาพชีวิตจริง   

ผู้เขียนหนังสือ ให้ข้อมูลโดยมีแหล่งอ้างอิงมากมาย   เพื่อนำสู่ข้อสรุปเป็นตอนๆ เกี่ยวกับพระราชอำนาจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช    ที่มีความซับซ้อนยิ่ง   ข้อมูลและการตีความผมไม่เคยรู้หรือไม่เคยตระหนักมาก่อน   

ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์ร่วมสมัยสำหรับผม    เพราะในช่วงปี 2490 – 2530 เป็นช่วงที่ผมมีอายุ ๕ - ๔๕ ปี   กว่าครึ่งของช่วงดังกล่าวผมทำงานแล้ว และอ่านหนังสือมากมายทั้งเกี่ยวกับสังคมไทย และหนังสือด้านวิชาการ    แต่หนังสือ กว่าจะครองอำนาจนำ ก็ให้ข้อมูลและการตีความที่น่าตื่นตาตื่นใจสำหรับผม

ผมบอกตัวเองว่า หนังสือเล่มนี้เน้นการตีความเข้าหาอำนาจ    เน้นที่อำนาจของการเป็นพระเจ้าอยู่หัว    คนที่คิดว่าชีวิตของพระเจ้าอยู่หัวมีความสมบูรณ์พูนสุข    อ่านหนังสือเล่มนี้แล้วจะเปลี่ยนใจ    และเห็นชัดว่า เป็นชีวิตที่มีความเครียดสูง    เพราะต้องรับผิดชอบประเทศทั้งประเทศ   

อ่านแล้วจะประจักษ์ชัดว่า สังคมไทยเราสุดแสนจะโชคดีที่มีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราชในช่วงนั้น   เพราะพระองค์ท่านทำหน้าที่พระเจ้าแผ่นดินที่มีความรับผิดชอบสูงยิ่ง   โดยที่ท่านทำหน้าที่เปลี่ยนไปตามสถานการณ์บ้านเมือง   รวมทั้งทำหน้าที่ท่ามกลางข้อจำกัดทางสังคมในแต่ละช่วง   เพราะตัวละครในเหตุการณ์ต่างก็มีวิธีคิดและผลประโยชน์ของตนหรือพวกตน       

ชื่อหนังสือชี้ไปรวมศูนย์อยู่ที่พระเจ้าอยู่หัว    แต่ในชีวิตจริงแต่ละคนเอาตนเองเป็นศูนย์กลาง   เรื่องราวในหนังสือจึงเต็มไปด้วยความซับซ้อน    โดยผมเชื่อว่า ยังมี “ความจริง” ที่หนังสือเล่มนี้เข้าไม่ถึง   หรือเข้าถึง แต่ตีความเพียงด้านเดียว ไม่ครบทุกด้านของความซับซ้อนทางสังคม 

ผมเคยเขียนบันทึกว่า ประวัติศาสตร์ไม่ได้มีไว้เชื่อ   แต่มีไว้ให้ตั้งข้อสงสัย    เอาไว้หมุนวงจรการเรียนรู้ผ่านการตีความ (๑)    สาระส่วนเหตุการณ์ในหนังสือเล่มนี้ ยังเอาไปตีความในมุมอื่นๆ ได้อีกมาก   

ตีความต่อว่า การที่หนังสือแบบนี้ตีพิมพ์เผยแพร่ในสังคมไทยได้   สะท้อนว่าสังคมไทยเรามีความอดทนอดกลั้นต่อกันมากขึ้น    โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในส่วนของการตีความ (และวิพากษ์วิจารณ์) พฤติกรรมของพระเจ้าอยู่หัว จากมุมมองทางวิชาการ    และอย่างเป็นกลาง   

สะท้อนคิดต่อ ว่า ไม่มีอำนาจใดมีพลังเท่าอำนาจของความจริงใจ   และอำนาจของการทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม   ผู้ครองอำนาจเพื่อตนเองและ/หรือพวกพ้อง ครองได้ชั่วคราวเท่านั้น    อำนาจถาวรคืออำนาจแห่งความดีงาม    และอำนาจที่เป็นไปตามธรรมชาติ      

วิจารณ์ พานิช

๒๗ ธ.ค. ๖๖

 

หมายเลขบันทึก: 717170เขียนเมื่อ 28 มกราคม 2024 17:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 มกราคม 2024 17:33 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สะท้อนคิดต่อ ว่า ไม่มีอำนาจใดมีพลังเท่าอำนาจของความจริงใจ และอำนาจของการทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ผู้ครองอำนาจเพื่อตนเองและ/หรือพวกพ้อง ครองได้ชั่วคราวเท่านั้น อำนาจถาวรคืออำนาจแห่งความดีงามและอำนาจที่เป็นไปตามธรรมชาติ

เรื่องจริงค่ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท