เรียนประวัติศาสตร์ให้ได้รับประโยชน์เชิงคุณค่า


 

หนังสือ วินัย วิจัย วิพากษ์ ดร. วินัย พงศ์ศรีเพียร  บรรณรฤกในงานฌาปนกิจ ดร. วินัย พงศ์ศรีเพียร วันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๖๕   ส่วนรวมบทความของ ดร. วินัย พงศ์ศรีเพียร ที่ไม่เคยตีพิมพ์มาก่อน   หัวข้อ วิชาประวัติศาสตร์ไทย ระดับก่อนอุดมศึกษา   ที่ ท่านบรรยายให้แก่ สพฐ. ในปี ๒๕๕๑   อ่านแล้วประเทืองปัญญายิ่ง    นำสู่การเขียนบันทึกนี้   

ผมพยายามค้นว่า บทความนี้มีอยู่ใน digital space หรือไม่    ค้นไม่พบ แต่ไปพบเอกสารของ สพฐ. ชื่อ การสอนประวัติศาสตร์ : ประวัติศาสตร์ไทย หลากหลายวิธีเรียน    ที่ให้ความรู้มาก    อ้างคำของ ดร. วินัยว่า “ประวัติศาสตร์ วิชาสร้างนักคิด และปัญญาชน”   

ทั้งหมดนั้น ผมตีความว่า หากจะเรียนประวัติศาสตร์ให้เกิดปัญญา ต้องไม่เรียนเฉพาะเรื่องราวหลัก    ต้องเรียนรู้บริบทของยุคสมัย  และของเหตุการณ์นั้นๆ ด้วย    รวมทั้งต้องอ่านระหว่างบรรทัดให้ออกว่า ผู้เขียนประวัติศาสตร์ชิ้นนั้นต้องการยัดเยียดอะไรให้แก่เรา    ประวัติศาสตร์ไทยส่วนใหญ่ต้องการส่งเสริมบุญญาบารมีให้แก่พระมหากษัตริย์ หรือผู้เป็นฮีโร่  ที่เราต้องรู้เท่าทัน     

จะเห็นว่า ประวัติศาสตร์ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองมาทุกยุคทุกสมัย    การเรียนประวัติศาสตร์ให้เกิดปัญญาจริงๆ จึงต้องแหวกม่านมายาคติที่ถูกใส่ไว้ในการเขียนประวัติศาสตร์ออกไปเสียก่อน     ทำให้น่าเห็นใจครู ที่หากทำอย่างไม่ระมัดระวัง ก็อาจถูกข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ   หรือถูกผู้บังคับบัญชาหรือเพื่อนร่วมงานมองในแง่ลบ    ว่าเป็นคนกระด้างกระเดื่องต่อแผ่นดิน   

ในหนังสือ วินัย วิจัย วิพากษ์ หน้า ๙๒ ระบุว่า “ในโลกปัจจุบัน นักเรียนต้องเรียนประวัติศาสตร์เพื่อเข้าใจตัวเอง เข้าใจสังคม  เข้าใจโลก     และที่สำคัญยิ่งคือ การเข้าใจอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตนเอง”   และในหน้า ๙๙ – ๑๐๑ ระบุว่าการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ต้องทำความเข้าใจความหมายของประวัติศาสตร์เสียก่อน    โดยที่ให้นิยามว่า  (๑) การศึกษาเรื่องราวสำคัญที่เชื่อว่าได้เกิดขึ้นจริง  (๒) เกี่ยวกับประสบการณ์ด้านต่างๆ ของมนุษย์ในสังคมใดสังคมหนึ่ง  (๓) บนพื้นฐานของการวิพากษ์วิเคราะห์เอกสารหลักฐานขั้นต้นและเอกสารร่วมสมัยอื่นๆ  (๔) เพื่อเข้าใจปัญหาในสังคมปัจจุบัน    

ผมชอบใจข้อ (๔) เพื่อเข้าใจปัญหาในสังคมปัจจุบัน มาก   และสะท้อนคิดว่า ตัวผมเองไม่เคยเรียนประวัติศาสตร์แบบมีเป้าหมายข้อ ๔ เลย   เคยแต่เรียนเพื่อรู้เรื่องราวในอดีต   ในการเรียนไม่เคยมีกระบวนการสะท้อนคิดสู่สภาพสังคมปัจจุบัน    แต่คนแบบผมก็อดสะท้อนคิดเองไม่ได้    ว่าหากเหตุการณ์นั้นเกิดในปัจจุบัน และผมมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย จะเป็นอย่างไร    และตอบตัวเองว่า คงจะตายในพริบตา    เพราะผมรบไม่เก่ง  ทักษะทางกายภาพ เช่นการเล่นกีฬา ใช้ไม่ได้เลย   ผมจึงบอกตัวเองว่าโชคดีที่เกิดมาในสมัยนี้    ที่คนเก่งด้าน cognitive domain มีที่ยืน   

ในหน้า ๙๖ – ๙๗ ดร. วินัยระบุว่า ประวัติศาสตร์ก็เหมือนสังคมศาสตร์สาขาอื่นๆ ที่ต้องปลูกฝังให้นักเรียนเห็นความสำคัญของ ๔ สิ่งคือ  (๑) ข้อมูล  การจัดระบบข้อมูล  การวิเคราะห์ข้อมูล  (๒) การรู้จักตั้งโจทย์  (๓) ทฤษฎีและข้อสมมติฐาน  (๔) การตีความ    ซึ่งหากการศึกษาไทยเดินตามแนวทางนี้    การศึกษาไทยก็จะสร้างนักคิดและปัญญาชน   

เมื่ออ่านสาระในหนังสือ การสอนประวัติศาสตร์    ก็พบข้อความที่เตะตาในหน้าก่อนถึงสารบัญดังนี้

TextDescription automatically generated

อ่านแล้วรู้สึกชื่นชมในหลักการ    และในตอนที่ ๔ ประวัติศาสตร์ไทย หลากหลายวิธีเรียน มีตัวอย่างโรงเรียนที่จัดการเรียนรู้ตามแนวทางดังกล่าว    แต่ผมก็อดสงสัยไม่ได้ว่า วิธีการนี้แพร่หลายเพียงใด     น่าจะเป็นโจทย์วิจัยการศึกษา     และวิจัยต่อว่า นักเรียนของโรงเรียนที่นำไปใช้   กับที่ไม่ได้ใช้    มีสมรรถนะด้านต่างๆ แตกต่างกันอย่างไรบ้าง      

ผมนึกออกแล้ว    ว่าเมื่อมีเอกสารนี้เผยแพร่ออกไป    สพฐ. ควรรับสมัครโรงเรียนที่เอาเอกสารไปทำกิจกรรม PLC ร่วมกันตีความ    และร่วมกันออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้แนวยุววิจัย หรือ project-based learning   โดยน่าจะทำร่วมกับภาคีในพื้นที่ (เช่น พ่อแม่ผู้ปกครอง  กรรมการโรงเรียน  ผู้นำชุมชน ปราชญ์ชาวบ้าน  ฯลฯ)     และครูแต่ละคนนำไปให้นักเรียนดำเนินการ ในลักษณะที่ทีมนักเรียนออกแบบโครงงานของตนเอง   แล้วนำผลงานของนักเรียนนำเสนอต่อภาคีในพื้นที่    โดยทีมครูร่วมกันประเมินว่า นักเรียนเกิดการเรียนรู้ครบด้านที่ตั้งเป้าไว้หรือไม่    เกิดการเรียนรู้ในระดับใด  โดยครูประเมินนักเรียนเป็นรายคน    สำหรับเป็นข้อมูลปรับปรุงวิธีที่ครูโค้ชกิจกรรมนี้ในปีถัดไป    โดยทีมวิชาการของ สพฐ. ช่วยโค้ชโรงเรียน    และจัดทีมประเมินจัดกระบวนการแบบ DE เพื่อการเรียนรู้ทั้งของทีมกลางของ สพฐ.  ของทีมโรงเรียน  และของภาคีในชุมชน    โจทย์หลักของ DE ในมุมมองของผมคือ  นักเรียนได้ปลูกฝั่ง ๔ สิ่งสำคัญตามที่ ดร. วินัยเสนอไว้เพียงใด    คือ  (๑) ข้อมูล การจัดระบบข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล  (๒) การรู้จักตั้งโจทย์  (๓) ทฤษฎีและข้อสมมติฐาน  (๔) การตีความ สะท้อนคิดเข้าสู่สภาพสังคมที่นักเรียนกำลังเผชิญ  และจะเผชิญต่อไปในอนาคต   

เท่ากับผมเสนอให้ สพฐ. ใช้เอกสารการสอนประวัติศาสตร์ เป็นเครื่องมือหมุนวงจรการเรียนรู้ ของทีมนักวิชาการส่วนกลาง ร่วมกับทีมงานในโรงเรียนที่สมัครเป็นโรงเรียนแกนนำ   และภาคีในพื้นที่ของโรงเรียน    โดยใช้ DE ช่วยหมุนวงจรเรียนรู้นี้  แล้วนำเอาผลการเรียนรู้ออกเผยแพร่ในวงกว้าง    เพื่อกระตุ้นให้เกิดการริเริ่มสร้างสรรค์วิธีจัดการเรียนรู้ด้านประวัติศาสตร์    เพื่อบ่มเพาะเด็กไทยสู่การสร้างนักคิดและปัญญาชน   โดยเฉพาะทักษะด้านการคิดอย่างมีวิจารณญาณ (critical thinking)    

เอกสาร การสอนประวัติศาสตร์ ระบุผลวิจัยของ สกศ. ว่าการสอนประวัติศาสตร์ในระบบการศึกษาไทยยังอ่อนแอ   ผมคิดว่าสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งคือ   เพราะไม่มีการดำเนินการส่งเสริมให้ทีมงานที่โรงเรียนตีความเอกสารดีๆ อย่างเช่น การสอนประวัติศาสตร์ สู่การปฏิบัติและหมุนวงจรเรียนรู้วิธีจัดการเรียนรู้ให้นักเรียนได้เรียนประวัติศาสตร์เพื่อคิดเป็น    ไม่ใช่เรียนเพื่อท่องจำเรื่องราวได้    โดยทีมงานที่โรงเรียนดำเนินการร่วมกับทีมส่วนกลางอย่างที่ผมเสนอแล้ว   

ปัญหาการจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ในโรงเรียนไทยในสายตาของผม จึงเป็นเรื่องของการมีแนวคิดที่ถูกต้อง ในวิธีพัฒนาสมรรถนะของครูและโรงเรียน ในด้านการจัดการเรียนรู้   ที่ต้องเน้นการเรียนรู้และพัฒนาจากการปฏิบัติ (experiential learning)    ไม่ใช่แค่เรียนจากตำราหรือคู่มือ   

วิจารณ์ พานิช

๓ ม.ค. ๖๖

  

หมายเลขบันทึก: 711752เขียนเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2023 15:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2023 15:56 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

I like this “…ปลูกฝั่ง ๔ สิ่งสำคัญตามที่ ดร. วินัยเสนอไว้เพียงใด คือ (๑) ข้อมูล การจัดระบบข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล (๒) การรู้จักตั้งโจทย์ (๓) ทฤษฎีและข้อสมมติฐาน (๔) การตีความ สะท้อนคิดเข้าสู่สภาพสังคมที่นักเรียนกำลังเผชิญ…” but I would prefer a few hours of discussions on how to apply ‘ariya sacca’(อริยะ สัจจะ ๔) in today’s language and today’s situation. ‘ariya sacca’ is already well-known to Buddhist. All it needs is a good understand of what ‘dukkha’ (ทุกข์ = ปัญหา) means.

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท