ชีวิตที่พอเพียง  4600. ทำงานเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (๒๑๙) สนับสนุนให้โรงเรียนพระปริยัติธรรมพัฒนาตนเองได้อย่างต่อเนื่อง


 

กสศ. จัดเวทีนำเสนอผลงานวิชาการ ถอดบทเรียนการพัฒนาโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษาวันที่ 11 ตุลาคม 2566 เวลา 10.00 – 12.00 น.   ที่ผมคิดว่าเป้าหมายสำคัญที่สุดคือ การหาทางหนุนให้ โรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา (ที่ทั้งประเทศมีกว่า ๔๐๐ โรงเรียน) สามารถพัฒนาตนเองได้อย่างต่อเนื่อง   

ซึ่งปัจจัยสำคัญที่สุดคือ ครูและผู้บริหารในโรงเรียนพระปริยัติธรรมต้องมีทักษะเรียนรู้จากประสบการณ์    คือหมุนวงจร Kolb’s Experiential Learning Cycle เป็น    หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งต้องทำให้ โรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา เป็นชุมชนเรียนรู้    โดยใช้แนวทาง “ศึกษาบทเรียน” (Lesson Study) เน้นศึกษาพฤติกรรมการเรียนรู้ของนักเรียน   

ผลงานวิจัยที่นำเสนอ เป็นการทำความเข้าใจอดีต   ผมสังเคราะห์และสะท้อนคิดสู่การดำเนินการในอนาคต    ซึ่งผมมองว่า เป็นการเปลี่ยนขาด (transform) ระบบงานของสำนักเขตการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา    ให้เปลี่ยนมาทำงานแบบ empower โรงเรียน    ให้โรงเรียนจัดการเรียนรู้แบบ เรียนรู้เชิงรุก เรียนแบบบูรณาการ และแบบร่วมมือ   เน้นปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนด้วยกัน และระหว่างนักเรียนกับครู    โดยผมเดาว่าเวลานี้ไม่ได้เป็นเช่นนั้น 

กล่าวใหม่ว่า กว่าร้อยละ ๕๐ ของเวลาเรียน นักเรียนต้องได้เรียนจากการปฏิบัติแล้วสะท้อนคิด    ที่เรียกว่า reflective learning  หรือ experiential learning   และ collaborative learning  ในปี ๒๕๖๓ – ๒๕๖๔ โรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษาจำนวน ๕๑ โรงเรียน ได้เข้าร่วมโครงการพัฒนา เพื่อฝึกการสอนแบบ RBL (Research-Based Learning) หรือให้ทำโครงงาน     ในปี ๒๕๖๕ – ๒๕๖๖ กสศ. ได้มอบหมายให้ ผศ. ดร. จตุภูมิ เขตจตุรัส และคณะ จากคณะศึกษาศาสตร์ มข. ดำเนินการวิจัย ดูผลกระทบจากโครงการดังกล่าว   

การที่มีข้อมูลว่า เมื่อทีมวิจัยดำเนินการเก็บข้อมูล    มี ๔ โรงเรียนขอถอนตัว   และอีก ๔ โรงเรียนไม่ให้ข้อมูล น่าจะบอกอะไรเราลึกๆ ได้ ในเรื่องการต่อต้านการเปลี่ยนแปลง     

ฟังจากการนำเสนอของทีมวิจัยและการเสวนาโดยผู้ปฏิบัติงานในสำนักเขตการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา    และโดยผู้ทรงคุณวุฒิแล้ว   ผมคิดว่างานวิจัยนี้ให้ข้อมูลเรามากพอที่จะตัดสินใจได้ว่าจะสนับสนุนโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษาอย่างไร

การที่ไม่มีคนในสำนักเขตการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษาที่ส่วนกลางเข้าร่วมประชุมบอกอะไรผมบางอย่าง    แต่มีผู้เข้าร่วมจากเขต ๒ ภาคใต้ ๑ รูป และ ๑ ท่าน         

 ผมจึงมีความเห็นว่า กสศ. ต้องช่วยให้โรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา บางเขต บางโรงเรียน ที่มีความต้องการพัฒนาตนเอง ได้พัฒนาขึ้นเป็นโรงเรียนผู้นำการเปลี่ยนแปลงให้แก่ โรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ทั้งหมด   และแก่โรงเรียนในสังกัดอื่นๆ ด้วย   โดยสนับสนุนตามที่ท่านพระครูสิริวินัยบรรหาร ประธานเขต ๒ ภาคใต้แนะนำ คือหนุนการพัฒนาครูอย่างเป็นระบบ   โดยกิจกรรมที่ทำโดยครูแกนนำของโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา เอง    ร่วมกับอาสาสมัครในพื้นที่    ใช้แนวทางขององค์กร Pratham ที่คุณหมอสุภกรเล่าให้ที่ประชุมคณะอนุกรรมการโครงการพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบฟังเมื่อวันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๖๖   โดยมีเป้าหมายตามที่เขียนข้างบนตอนต้นบันทึก   

เสริมด้วยการเรียนรู้ด้วยโครงงานรับใช้สังคม (service learning) ร่วมกับผู้นำชุมชนและ อปท.   เพื่อให้เยาวชนที่เป็นเณรเหล่านี้ได้ทำหน้าที่ผู้สร้างสรรค์แก่สังคมในชุมชนท้องถิ่น    คือฝึกเป็นผู้ให้แก่สังคม    และจากกิจกรรมนี้ จะดึงดูดคนในชุมชนให้บริจาคหรือเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครมากขึ้น    ครูของโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษาต้องฝึกเป็น “ครูฝึก” (coach) ในกระบวนการเรียนรู้จากประสบการณ์นี้   ฝึกทำหน้าที่ตั้งคำถาม ให้นักเรียนสะท้อนคิดสิ่งที่พบเห็นจากกิจกรรมสู่การเรียนรู้หลักการหรือทฤษฎีเกี่ยวกับ VASK   เน้นที่ V – values - ค่านิยม   ซึ่งก็คือศีลธรรม คุณธรรม รวมทั้งคุณค่าของการเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม ประโยชน์ของชุมชน   

อีกคำแนะนำหนึ่งจากผู้ทรงคุณวุฒิ คือหนุนให้ร่วมมือกับวิทยาลัยอาชีวศึกษา   เพื่อให้เณรได้ฝึกทักษะอาชีพ   

ดูจากภาพในห้องเรียนของโรงเรียนที่ทีมวิจัยบอกว่าเป็นโรงเรียนที่จัดการเรียนรู้ได้ดี    ก็เห็นภาพของ passive learning ชัดเจน    จึงเป็นความท้าทายที่จะเข้าไปหนุนให้เปลี่ยนเป็น active learning   ให้เป็น high-functioning classroom   ก็จะเกิดประโยชน์แก่เณรเหล่านี้ในชีวิตอนาคต   

ยุทธศาสตร์สำคัญของ กสศ. คือทำหน้าที่ catalyst for transformation    ทำงานกับโรงเรียนที่เอาจริง  เน้นชี้จุดที่เขาต้องเปลี่ยนแปลงตนเอง    ซึ่งในกรณีนี้คือสมรรถนะของครู ที่จะต้องฝึกให้เขาวัดกันเอง ว่าครูยังขาดสมรรถนะตรงไหน   ส่วนที่ท้าทายคือส่วนที่ดำเนินการผิดทางคือยึดสมรรถนะของ passive  learning   ต้องหาทางทำให้เขารู้ว่าต้องเปลี่ยน   และเข้าไปช่วยให้เขาเรียนรู้และเปลี่ยนใจตนเอง ไปพร้อมๆ กันกับการฝึกสมรรถนะใหม่ จากการเรียนรู้จากประสบการณ์         

วิจารณ์ พานิช

๑๑ ต.ค. ๖๖

 

หมายเลขบันทึก: 716370เขียนเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2023 19:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2023 19:38 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท