เรียนรู้สู่..การเขียน


  จากประสบการณ์สอน ป.๕-๖ มาหลายปี ผมมีความเชื่อว่าการสอนแบบบูรณาการเนื้อหาสาระและกิจกรรม ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการบูรณาการเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ หากเข้าใจเทคนิคและตั้งใจออกแบบการเรียนรู้ เพื่อมุ่งสู่คุณภาพผู้เรียน เรื่องยากที่ว่าก็สามารถทำให้เป็นเรื่องง่ายได้เหมือนกัน

เรียนรู้สู่..การเขียน

       เรื่องนี้เขียนมาหลายปีแล้ว ช่วงเวลานั้นผมสอนหนังสือหนักมาก เพราะครูไม่ครบชั้น เวลาสอนก็จะพุ่งเป้าไปที่การอ่านออกเขียนได้ ทำอย่างไรเด็กจะเรียนรู้อย่างมีความสุข..เรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ผมอย่างจริงจังและต่อเนื่อง…ครับ

       นักการศึกษาให้ความสำคัญกับการเรียนการสอนในระดับประถมศึกษา ใน ๓ เรื่องหลักๆ ได้แก่ การคิดคำนวณ การอ่าน และทักษะชีวิต ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว เพราะมีความสำคัญ เป็นเครื่องมือที่จะใช้พัฒนานักเรียนให้ใฝ่รู้ใฝ่เรียน ให้มีความก้าวหน้าในการศึกษาและการทำงานในอนาคต

      ปัจจุบันโรงเรียนที่มีขนาดเล็กมาก มีครู ๓ - ๔ คน ผู้บริหารระดับสูง ก็ให้แนวคิดว่าการเรียนการสอนควรจะเน้นวิชาหลัก อาทิ คณิตศาสตร์ ภาษาไทย วิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษ ส่วนสาระวิชาอื่นๆ ให้สอนแบบบูรณาการ เสริมหรือแทรกเข้าไปในวิชาหลักก็ได้

      จากประสบการณ์สอน ป.๕-๖ มาหลายปี ผมมีความเชื่อว่าการสอนแบบบูรณาการเนื้อหาสาระและกิจกรรม ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการบูรณาการเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ หากเข้าใจเทคนิคและตั้งใจออกแบบการเรียนรู้ เพื่อมุ่งสู่คุณภาพผู้เรียน เรื่องยากที่ว่าก็สามารถทำให้เป็นเรื่องง่ายได้เหมือนกัน

       ผมบริหารจัดการห้องเรียนแบบคละชั้น โดยสอน ป.๕ - ๖ ไปพร้อมๆกัน ต้องวางแผนเนื้อหา กิจกรรมและเวลา เพื่อประโยชน์สูงสุดที่จะเกิดขึ้นแก่ผู้เรียน มีอยู่วันหนึ่งผมสอนสังคมศึกษา ในหัวข้อคุณธรรมพื้นฐาน ๘ ประการ หลังจากอธิบายสาระสำคัญของคุณธรรมในแต่ละข้อแล้ว ผมให้นักเรียนดูแผนภูมิคุณธรรม ที่มีความหมายชัดเจน โดยให้นักเรียนอ่านออกเสียงทีละคน จากนั้นให้นักเรียนเลือกคุณธรรมคนละ ๑ ข้อ แล้วคัดลอกลงสมุด

       ผมเสริมต่อกิจกรรมโดยให้นักเรียนยกตัวอย่างเรื่องราวประกอบคุณธรรมนั้นๆ เป็นเรื่องสั้นๆ อาจเป็นเรื่องเล่าจากประสบการณ์ก็ได้ หรือสมมุติขึ้นมาใหม่ จะเป็นนิทานที่เคยอ่านมา มีตัวละครและบทสนทนาก็ได้ การตั้งชื่อเรื่องต้องน่าสนใจ และไม่จำเป็นต้องใช้ชื่อหัวข้อคุณธรรมเป็นชื่อเรื่อง เดี๋ยวคนอ่านเขาอ่านเรื่องจบ ก็จะเข้าใจเองว่าเป็นคุณธรรมข้อใด

       ทุกคนลงมือเขียน นักเรียนเขียนได้ค่อนข้างยาว และแตกต่างกันไป ส่วนใหญ่เขียนเชิงจินตนาการ มีลำดับเหตุการณ์ มีบทสนทนา มีสาระสำคัญและให้คติสอนใจสอดคล้องกับคุณธรรมที่เลือก มีการตั้งชื่อเรื่องที่ชวนติดตามอ่านตั้งแต่ต้นจนจบ ผมยังไม่ให้นักเรียนเขียนเรื่องใหม่ แต่วางแผนปรับกิจกรรม ให้นักเรียนนำเรื่องไปจัดทำหนังสือเล่มเล็ก โดยจัดวางหน้า เขียนเรื่องและวาดรูป ได้ประมาณ ๔ - ๕ หน้า ทำปกและเขียนคำนำ นักเรียนมีความสุขกับการเรียนมาก เพราะได้เขียนเรื่องที่ชอบและได้ฝึกทักษะวาดรูประบายสีไปด้วย

            ผมเชื่อว่า นี่คือ..การบูรณาการ..เรียนรู้สู่การเขียน..นั่นเอง…

            ทั้งหมดทั้งมวลที่ผมเล่ามา เป็นต้นกำเนิดแห่งพื้นฐานในการอ่านออกเขียนได้ของเด็กบ้านหนองผือ..และพัฒนามาจนถึงทุกวันนี้…

 

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

หมายเหตุ

เรื่องเก่ามาเล่าใหม่..นำมาจากบันทึกเรื่องเล่าในโรงเรียนเล็ก เขียนไว้เมื่อ ๒๓ กันยายน  ๒๕๕๖ (๑๐ ปีที่ผ่านมา)

 

 

หมายเลขบันทึก: 716285เขียนเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2023 09:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2023 07:50 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท