พอเพียงไม่มีขาย..อยากได้ต้องทำเอง


  จากกระบวนการทำงานที่ยากและมากไปด้วยปัญหาและอุปสรรค เนื่องจากขาดทักษะและประสบการณ์ เพียงแต่มีความปรารถนาดีต่อโรงเรียนและนักเรียน จึงทำให้ลืมนึกถึงคุณค่าของความพอเพียง ทั้งๆที่เดินอยู่บนเส้นทางเดียวกัน เมื่อบรรลุจุดหมายปลายทาง ภาพแห่งความพอเพียงจึงได้ฉายออกมาอย่างชัดเจน

   พอเพียงไม่มีขาย..อยากได้ต้องทำเอง

        บันทึกเรื่องเล่าเร้าพลัง ที่เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมบูรณาการปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในโรงเรียนขนาดเล็ก ตอนนั้นพยายามทำเรื่องใหญ่ให้เป็นเรื่องเล็ก ทำเรื่องยากๆให้ง่าย และสร้างกิจกรรมให้มันหลากหลาย ลองติดตามดูครับ…

        นักวิชาการของ ศธ.เคยบอกผมว่า โครงการต่างๆที่ดำเนินงานตามปรัชญาของเศรษฐกิจแบบพอเพียง ถ้าเป็นโครงการที่มีผลิตผลเพื่อการจำหน่าย เป็นรายได้เข้าสู่องค์กร ไม่ควรนึกถึงผลกำไรมากนัก แต่ควรให้ลูกค้าหรือชุมชน ได้กินได้ใช้ของดีมีประโยชน์ เป็นการช่วยเหลือสังคม และเป็นการประชาสัมพันธ์แนวคิดการบริหารจัดการที่ดี ตลอดจนเป็นภูมิคุ้มกันให้โรงเรียนได้อีกทางหนึ่งด้วย

        ผมเข้าใจแบบไม่ชัดเจนนัก ต่อเมื่อมาเลี้ยงปลาดุกในโรงเรียน จำนวน ๓๐๐ ตัว ในบ่อดินเล็กๆ เวลาผ่านไป ๕ เดือนเศษ ปลาดุกตัวโตแหวกว่ายอยู่เต็มบ่อ ผมตัดสินใจวิดน้ำออกหมด เพื่อเตรียมปรับแต่งบ่อให้ใหญ่ขึ้น ตั้งใจจะเทปูนซีเมนต์ แล้วเปลี่ยนเป็นเลี้ยงปลาแรด หรือปลานิลบ้าง

        พอวิดน้ำออกจากบ่อหมดแล้ว พบว่าปลาดุกตัวโตไม่เท่ากัน ปลาตัวใหญ่รวมกันชั่งได้ราวๆยี่สิบกิโลกรัม ผมนำไปขายเพื่อจะได้ทุนคืน ส่วนปลาขนาดกลางๆ ซึ่งมีจำนวนมาก ผู้ปกครองที่มารอรับนักเรียนขอซื้อไป ผมคิดกฺิโลกรัมละ ๒๐ บาท ที่เหลือผมแบ่งให้นักเรียนชั้น ป.๓ - ๖ ซึ่งมีส่วนช่วยเลี้ยงมาตลอด แบ่งให้คนละ ๕ ตัว นักเรียนที่ได้ปลากลับบ้าน ต่างยิ้มแย้มแจ่มใสอย่างมีความสุข

        เหลือปลาเล็กปลาน้อยที่ไม่ได้ขาย ผมให้ครูไปปล่อยลงสระน้ำ เรียกว่าหลากหลายกิจกรรมสำหรับบ่อปลาดุกรุ่นนี้ คือ มีทั้งขาย ทั้งแจก ทั้งแถมและให้ฟรีๆ จึงรู้สึกอิ่มเอมใจว่าได้ดำเนินการได้ครบถ้วน ถึงเวลาประเมินผลโครงการ ปรากฎว่าประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย ทั้งในด้านแหล่งเรียนรู้และการปฏิบัติกิจกรรมของนักเรียนเป็นการบูรณาการสู่การเรียนการสอน และได้ความสัมพันธ์ชุมชนด้วย

       จากกระบวนการทำงานที่ยากและมากไปด้วยปัญหาและอุปสรรค เนื่องจากขาดทักษะและประสบการณ์ เพียงแต่มีความปรารถนาดีต่อโรงเรียนและนักเรียน จึงทำให้ลืมนึกถึงคุณค่าของความพอเพียง ทั้งๆที่เดินอยู่บนเส้นทางเดียวกัน เมื่อบรรลุจุดหมายปลายทาง ภาพแห่งความพอเพียงจึงได้ฉายออกมาอย่างชัดเจน

       ข้อคิดที่ได้ก็คือ ต้องลงมือทำทุกงานในโรงเรียนอย่างจริงจังตามบริบทของโรงเรียนและชุมชน ตลอดจนต้อง มุ่งมั่นและตั้งใจ เพราะความพอเพียงหาซื้อไม่ได้... อยากเห็นอยากได้..ต้องทำเอง

       ปัจจุบัน…บ่อปลา..ยังอยูู่และสมบูรณ์มากขึ้น  เลี้ยงและดูแลง่าย กลายเป็นกิจกรรมที่มั่นคงและยั่งยืนต่อไป

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

 หมายเหตุ

เรื่องเก่ามาเล่าใหม่..นำมาจากบันทึกเรื่องเล่าในโรงเรียนเล็ก เขียนไว้เมื่อ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๕๔ (๑๒ ปีที่ผ่านมา)

หมายเลขบันทึก: 716215เขียนเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2023 08:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2023 07:56 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท