การจัดการธุรกิจระหว่างประเทศ จุดเริ่มต้นแรกต้องเข้าใจคนในท้องถิ่น


ถ้ามองถึงเหตุผลความจำเป็นของการจัดการธุรกิจยุคใหม่ก็มีอยู่ 2 ประการ ที่บริษัทชั้นนำที่ต้องสอนวิชาเหล่านี้ให้กับนักศึกษาก็คือ ประการแรก การบริหารยุคใหม่ มักจะเน้นการบริหารแบบกระจายศูนย์ ที่มอบสิทธิ์ขาดบางประการให้ผู้มีอำนาจในแต่ละท้องถิ่นสามารถตัดสินใจได้มากขึ้น ส่วนประการที่สอง เหตุผลเรื่องการตลาดนำหรือ Marketing Oriented ที่ใส่ใจพฤติกรรมผู้บริโภคท้องถิ่นมากขึ้น ทำให้สินค้าทุกชิ้น ทุกรูปแบบต้องถูกสร้างขึ้นเพื่อเอาใจผู้ใช้ในตลาด เพราะตลาดยุคนี้เป็นตลาดของผู้บริโภคอย่างแท้จริง

การจัดการธุรกิจระหว่างประเทศ 

จุดเริ่มต้นแรกต้องเข้าใจคนในท้องถิ่น

หลักสูตรการศึกษาของมหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศ หลายแห่งจะบรรจุวิชาที่สอนให้นักศึกษาได้เข้าใจในวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของชนชาติอื่นไว้ในหลักสูตร

อาจจะเป็นสถาบันการศึกษาที่กำลังมองเห็นการเชื่อมกันของประชาคมโลกเข้าเป็นหมู่บ้านเดียวกัน (Global Village) โดยไร้พรมแดนมาขวางกั้น ทำให้การเข้าใจอุปนิสัย และรู้ถึงวัฒนธรรมของคนแปลกหน้าที่จะเข้ามาอยู่ด้วยกันนั้น จึงเป็นสิ่งที่จำเป็น

อย่างเช่น มหาวิทยาลัยบางแห่งในประเทศจีน ออสเตรเลียก็ได้เปิดสอนวิชาไทยศึกษา (Thai Study) เพื่อให้ผู้ที่สนใจเกี่ยวกับประเทศไทยได้มีโอกาสเรียนรู้ถึงชีวิตความเป็นอยู่ รวมทั้งนิสัยใจคอของคนไทย และรู้จักสังคมไทยดีขึ้น

หรือแม้กระทั่งภาคธุรกิจ บริษัทข้ามชาติชั้นนำหลายแห่งจะทำการฝึกอบรมคนของบริษัท เพื่อให้เข้าใจ “ท้องถิ่น” ศึกษาก่อนที่จะส่งมาประจำในท้องถิ่นนั้น ๆ

ถ้ามองถึงเหตุผลความจำเป็นของการจัดการธุรกิจยุคใหม่ก็มีอยู่ 2 ประการ ที่บริษัทชั้นนำที่ต้องสอนวิชาเหล่านี้ให้กับนักศึกษาก็คือ

ประการแรก การบริหารยุคใหม่ มักจะเน้นการบริหารแบบกระจายศูนย์ ที่มอบสิทธิ์ขาดบางประการให้ผู้มีอำนาจในแต่ละท้องถิ่นสามารถตัดสินใจได้มากขึ้น

ยุคแรกของการบุกเข้ามาตั้งสำนักงานในระดับประเทศ บริษัทแม่มักใช้วิธีการส่งคนจากบริษัทใหญ่เข้ามา ผลปรากฎก็คือ การที่ผู้บริหารไม่เคยรู้นิสัยหรือชีวิตความเป็นอยู่ของคนในประเทศนั้น ๆ มาก่อน ผลจากการทำธุรกิจก็ถือได้ว่าประสบผลสำเร็จระดับหนึ่ง อาจเป็นเพราะความใหม่ของตลาด แต่ถึงอย่างไรก็ยังไม่ถือว่าประสบความสำเร็จมากตามที่บริษัทแม่ตั้งใจไว้

ยุคที่สอง บริษัทแม่เริ่มเปิดโอกาสให้คนในระดับประเทศก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารองค์กร ทุกอย่างเป็นไปได้ด้วยดี แต่มาติดขัดที่วัฒนธรรมการทำงานของชนชาติตะวันตกกับคนชนชาติอื่นนั้นผิดกัน

และมาถึงยุคปัจจุบัน บริษัทชั้นนำส่วนใหญ่ก็เริ่มหันกลับมาไปใช้วิธีการเดิมคือ ส่งคนจากบริษัทแม่กลับมาบริหารงานอีกครั้ง แต่ผู้บริหารในยุคนี้มักจะได้รับการเทรนเพื่อให้เข้าใจสภาพสังคมในท้องถิ่นมาก่อน และเชื่อว่ารูปแบบการจัดการในลักษณะนี้จะดีกว่าสองยุคที่ผ่านมา และสามารถสร้างผลประโยชน์ได้มากขึ้น

ส่วนประการที่สอง เหตุผลเรื่องการตลาดนำหรือ Marketing Oriented ที่ใส่ใจพฤติกรรมผู้บริโภคท้องถิ่นมากขึ้น ทำให้สินค้าทุกชิ้น ทุกรูปแบบต้องถูกสร้างขึ้นเพื่อเอาใจผู้ใช้ในตลาด เพราะตลาดยุคนี้เป็นตลาดของผู้บริโภคอย่างแท้จริง

ที่ลูกค้าของแต่ละประเทศ จะมีลักษณะการใช้สินค้าที่ไม่เหมือนกัน ถ้าผู้บริหารไม่เข้าใจจุดสำคัญตรงนี้ โอกาสที่จะล้มเหลวในการทำตลาดก็มีค่อนข้างสูง

ในบ้านเรา วิชา “ภูมิภาคศึกษา” ตามมหาวิทยาลัย ยังมีไม่แพร่หลายมากนัก อาจเป็นเพราะความคิดที่ว่า เราเป็นเพียงชาติเล็ก แรงงานปัญญาชนก็ยังถูกสร้างขึ้นมาเพื่อป้อนให้กับตลาดแรงงานในประเทศเป็นหลัก จึงทำให้การศึกษาวิชาดังกล่าวตามสถาบันการศึกษาจำกัดอยู่ในหลักสูตรปริญญาโทบางสาขา

แม้ว่าในมหาวิทยาลัยเปิดบางแห่ง จะเปิดวิชาเหล่านี้เป็นสาขาวิชาเอก แต่หลักสูตรก็เป็นเพียงการเน้นที่จะเรียนรู้ทางด้านไทยคดีศึกษาเป็นหลัก เพื่อสอนให้คนไทยได้รู้จักตนเองให้ดียิ่งขึ้นเท่านั้น

สำหรับองค์กรขนาดใหญ่ที่ทำธุรกิจข้ามชาติของไทย ส่วนใหญ่ยังไม่ได้เน้นการเรียนรู้ในเชิงสังคมวิทยาของประเทศที่ไปลงทุนอย่างลึกซึ้ง ความสามารถในการใช้ภาษาท้องถิ่น จึงเป็นคุณสมบัติเบื้องต้นที่กำหนดไว้เพื่อเสาะแสวงหาคนเพื่อไปเป็นตัวแทนในการทำธุรกิจตามประเทศต่าง ๆ

การเข้าใจถึงอุปนิสัยใจคอ วัฒนธรรม และสังคมของคนในท้องถิ่น มักจะถูกมองข้าม

การทำธุรกิจของบริษัทคนไทยหลายแห่ง จึงกำลังเจริญรอยตามบริษัทชั้นนำที่เคยประสบปัญหาเหล่านั้นมาแล้ว และบทเรียนเหล่านี้ก็ได้แสดงให้เราเห็นแล้วว่า การใช้ความใหญ่ของตนเองเพื่อจะกร่างในประเทศคนอื่นนั้น อาจจะสะดุดหัวแม่เท้าตัวเองได้

เพราะการทำธุรกิจสมัยนี้ จะละเลยเรื่องเล็ก ๆ เหล่านี้ไม่ได้เสียแล้ว....

 

หมายเหตุ ตีพิมพ์เมื่อ 27 ปีที่แล้ว เนื้อหาบางอย่างก็อาจจะล้าสมัยไปบ้าง แต่ประเด็นหลักที่ยังคงนำไปประยุกต์ใช้ได้ก็คือ การทำธุรกิจข้ามชาติ การเข้าใจพฤติกรรมของคนในพื้นที่ได้มากเท่าไหร่ก็ย่อมมีชัยไปกว่าครึ่ง ส่วนบริษัทแม่จะส่งคนจากชาติใดหรือคนในท้องถิ่นขึ้นมาเป็นผู้บริหาร โดยการให้ความสำคัญกับการนำหลัก Localized มาใช้ ทั้งในด้านการตลาด หรือด้านอื่น ๆ ก็ย่อมทำให้การตอบสนองความพึงพอใจแก่กลุ่มลูกค้าก็ย่อมจะเกิดขึ้นได้มา เนื้อหาทั้งหมดตีพิมพ์ภายใต้ชื่อ “ท้องถิ่น” ศึกษา ในคอลัมน์ Home Room เซ็กชั่น Get-Rick-Quick หนังสือพิมพ์คู่แข่งรายวัน ฉบับวันจันทร์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 

หมายเลขบันทึก: 716052เขียนเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2023 16:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2023 16:32 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบพระคุณครับ ท่าน ผอ.มาลีพันธุ์

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท