“จงอย่าเป็นวีรบุรุษ” : ความเชื่อที่เปลี่ยนไปในการจัดการองค์กร


วีรบุรุษในปัจจุบัน จึงหมายถึงผู้ชาญฉลาดที่สามารถประคองตนให้อยู่รอดในตำแหน่งหน้าที่ได้อย่างมั่นคง โดยงานที่รับผิดชอบก็ต้องประสบความสำเร็จ นักจัดการหลายคนในปัจจุบัน จึงชมชอบกับการอยู่ท่ามกลางเงามืดดำ เพื่อการเป็นนักเชิดหุ่นชักมากกว่าการเป็นวีรบุรุษที่อยู่แถวหน้า วีรบุรุษจึงชอบทำตัว Low Profile High Performance มากกว่า High Profile (But) Low Margin!!!!!

“จงอย่าเป็นวีรบุรุษ” 

ความเชื่อที่เปลี่ยนไปในการจัดการองค์กร

        สงครามออสเตอร์ลิตซ์ในปี พ.ศ. 2348 ทำให้โลกรู้จักวีรบุรุษที่ชาญฉลาดในการบัญชาการรบที่มีชื่อว่า “นโปเลียน” แต่หลังจากนั้น 10 ปี เขาพ่ายแพ้อย่างไม่เป็นท่าใน “สงครามวอเตอร์ลู” ต่อ “อาร์เธอร์เวล เลสลี” ดยุกแห่งเวลลิงตัน ชาวอังกฤษผู้เลื่องลือ

        การพ่ายแพ้ในสงครามก็ไม่ได้ทำให้ความเป็นวีรบุรุษของเขาเลือนหาย!!!!

        “สงครามมาราธอน” เมื่อ 49 ปี ก่อนคริสตกาล ระหว่างทหารเปอร์เซียนกับทหารชาวกรีก หลังจากกรีกรบชนะในสมรภูมิ นายฟิดิป ปิดัส วีรบุรุษชาวกรีกวิ่งเป็นระยะทาง 22 ไมล์ ไปยังเมืองเอเธนส์เพื่อแจ้งข่าวดีว่า “ไชโย! เราชนะแล้ว” และเขาก็สิ้นใจเมื่อพูดขาดคำ ทิ้งไว้แต่เพียงตำนานวิ่งมาราธอนที่สืบทอดจนมาถึงปัจจุบัน

        การตายก็ไม่ได้ทำให้ความเป็นวีรบุรุษของเขาเลือนหาย!!!

        การเป็นวีรบุรุษในสมัยโบราณ จึงเป็นภาพแห่งความเชื่อมั่น ศรัทธา เทิดทูนของผู้คนจำนวนมาก มอบให้แก่บุคคลคนหนึ่งที่ทำงานอย่างทุ่มเทแรงกายแรงใจเพื่อคนส่วนร่วม

        การเป็นวีรบุรุษ จึงไม่ใช่การเสแสร้างแกล้งทำ เพื่อให้ใครมาศรัทธา

การเป็นวีรบุรุษ จึงไม่ใช่เรื่องของการสร้างภาพ

        เพราะในสมรภูมิ ไม่ว่าจะเป็นแม่ทัพ หรือนักรบ ประตูแห่งความเป็นความตายมีเท่ากัน

        ผู้กล้าเหล่านั้นจึงเป็นวีรบุรุษ โดยที่เขาไม่ได้คิดว่าจะเป็น “วีรบุรุษ”!!!!!

                                                              * * * * * * * * * * * * * *

แต่การบริหารงานยุคใหม่

อย่าทำตัวเป็นวีรบุรุษ

        นายยอร์จ ซี. สกอต ในบทบาทของ นายพลแพทตัน กล่าวไว้ว่า “ข้าพเจ้าต้องการเตือนให้ท่านทั้งหลายระลึกอยู่เสมอว่า ไม่มีมนุษย์หน้าไหนหรอกที่จะทำให้กองทัพของตนชนะสงคราม โดยการพลีชีพตนเอง แต่เขาจะทำให้ฝ่ายตนเองชนะ โดยที่เขาสามารถทำให้ผู้อื่นพลีชีพเพื่อฝ่ายของเขาได้”

ความกล้าหาญก็ไม่ได้ทำให้กลายเป็น “วีรบุรุษ”

        หรือแม้กระทั่งนายพลเวลลิงตัน ยอดเสนาธิการเคยกล่าวไว้ว่า “กองทัพของข้าพเจ้าประกอบด้วยเดนมนุษย์ทั้งนั้น”

ความโง่เขลาก็ไม่ได้ทำให้กลายเป็นวีรบุรุษ

        วีรบุรุษในปัจจุบัน จึงหมายถึงผู้ชาญฉลาดที่สามารถประคองตนให้อยู่รอดในตำแหน่งหน้าที่ได้อย่างมั่นคง โดยงานที่รับผิดชอบก็ต้องประสบความสำเร็จ

        นักจัดการหลายคนในปัจจุบัน จึงชมชอบกับการอยู่ท่ามกลางเงามืดดำ เพื่อการเป็นนักเชิดหุ่นชัก

        มากกว่าการเป็นวีรบุรุษที่อยู่แถวหน้า

        วีรบุรุษจึงชอบทำตัว Low Profile High Performance มากกว่า High Profile (But) Low Margin!!!!!

                                                                    * * * * * * * * * * * * * *

ไม่ใช่เรื่องแปลก และก็ไม่ใช่เป็นสิ่งที่น่าขยะแขยงแต่อย่างใด

ที่ปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นเรื่องจริงของศิลปะการจัดการในยุคปัจจุบัน ที่การเป็น “วีรบุรุษ” ไม่ใช่สาระสำคัญของชีวิตนักจัดการ เพราะการทำตัวเป็นวีรบุรุษอาจทำให้เขาจัดการกับอะไร ๆ ได้ยากขึ้น และเหนื่อยขึ้น

ไม่เพียงแต่นักจัดการไม่อยากให้ตนเองเป็น “วีรบุรุษ”

ในที่ทำงานหลายแห่ง “นักจัดการ” ก็จะไม่อยากให้ “ลูกน้อง” ทำตัวเป็นวีรบุรุษอีกเช่นกัน

อัล รีส์ และแจ๊ค เทร้าส์ นักเขียนเรื่องการตลาดชื่อดัง อรรถาธิบายเกี่ยวกับสไตล์การทำงานของพนักงานบริษัทไอบีเอ็มไว้ว่า

“บริษัทไอบีเอ็มไม่ยกย่องวีรบุรุษ ไม่มีพนักงานผู้ใดที่จะได้รับเหรียญสรรเสริญหลังจากที่พวกเขาเสียชีวิตไปแล้ว”

คำกล่าวดังกล่าวอาจทำให้เรามองนักจัดการโดยคาดเดาไปได้ว่า “พวกเราคงต้องการให้ลูกน้องทำงานร่วมกันเป็นทีมเวิร์กละกระมัง”

ถึงแม้คำตอบอาจไม่กระช่างชัด แต่อย่างน้อยก็อาจทำให้คุณมีความรู้สึกดี ๆ เกิดขึ้นกับนักจัดการบ้าง

เพราะทุกวันนี้ใช่ว่าจะหาวีรบุรุษในที่ทำงานกันได้โดยง่าย

วีรบุรุษที่มีตัวตนก็ไปปรากฏกายอยู่บนเวทีมวยเสียแล้ว

ไม่เชื่อก็หันมาดูนักชกเหรียญทองโอลิมปิกของเราดูสิ!!!! 

แล้วคุณก็จะเข้าใจวีรบุรุษอีกแบบหนึ่ง ที่มีความต่างจากวีรบุรุษในประวัติศาสตร์อย่างสิ้นเชิง

ถ้าอยากรู้ว่าต่างอย่างไร คุณลองหยิบหนังสือพิมพ์ใกล้ตัว 2-3 ฉบับมาเปิดดู

.....นายกฯ มอบบ้าน.....

.....หนังสือพิมพ์มอบเงิน.....

.....ส.ส.มอบทอง.....

.....35 ล้านแล้วจ้า.....

ผมอยากเป็นวีรบุรุษอาชีพแบบนี้บ้างจังครับ!!!

หมายเหตุ ความเป็นวีรบุรุษดั่งเช่นนโปเลียน และนายฟิดิป ปิดัส ได้ถูกเปลี่ยนคำนิยามให้แตกต่างกันไปตามยุคสมัย ความมั่งคั่งสร้างวีรบุรุษยุคใหม่ให้มีภาพสวยงาม ดั่งเช่นคำคมในหมู่คนจีนว่า “เมื่อมีเงิน มนุษย์ก็สามารถจ้างผีโม่แป้งได้” ผู้ที่อาศัยวีรบุรุษเพื่อสร้างผลประโยชน์ให้กับตนเองอย่างแนบเนียน คนนั้นคือ นักจัดการยุคใหม่ ที่น่ายกย่องให้พวกเขาเหล่านั้นเป็น “อภิมหาวีรบุรุษตัวจริง” ของพวกเขา....

 

                                               ------------------------------------------------

*** เป็นผลงานตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์คู่แข่งรายวัน คอลัมน์ “Home Room” ฉบับวันที่ 20 ธันวาคม 2539 หน้า D1 การเขียนอาจจะเป็นในแนวการเสียดสีสังคม (Satire) มองโลกในแง่ร้ายไปบ้าง แต่ก็สะท้อนบริบทของสังคมในช่วงนั้น ที่ สมรักษ์ คำสิงห์ ได้เหรียญทองโอลิมปิก ปี 1996 (พ.ศ. 2539) ที่แอตแลนตา สหรัฐอเมริกา เป็นงานเขียน 26-27 ปีที่ผ่านมา โลกเปลี่ยนไปหลาย ๆ อย่าง แต่สังคมในการทำงาน หรือการเมืองในองค์กรก็คงยังไม่เปลี่ยนในสาระสำคัญ.......

หมายเลขบันทึก: 715715เขียนเมื่อ 30 ตุลาคม 2023 06:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 ตุลาคม 2023 06:49 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท