๒๔๗. เลือกตั้งซ่อม นายกฯอบจ.กาญจนบุรี


  ช่วงเวลาสำคัญ หลังจากนับคะแนนเสร็จ จะต้องนำเอกสารหลักฐานทั้งหมดใส่ถุงชั้นนอก ชั้นใน แล้วใส่ลงในหีบบัตร ขั้นตอนนี้หากผิดพลาด จะทำให้กปน.เสียเวลาเมื่อส่งหีบบัตรที่อำเภอ

เลือกตั้งซ่อม นายกฯอบจ.กาญจนบุรี

          ทางอำเภอแต่งตั้งผมให้ปฏิบัติหน้าที่วิทยากรให้ความรู้แก่กปน.(กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง) ซึ่งเป็นการเลือกตั้งซ่อมแทนตำแหน่งที่ว่าง ในวันอาทิตย์ที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๖๖

          หน่วยเลือกตั้งทั้งหมด ๘๗ หน่วย จากทั้งหมด ๗ ตำบลกับ ๒ เทศบาล จะต้องมาประชุมอบรมกันที่ห้องประชุมอำเภอ ในวันที่ ๑๗ - ๑๙ ตุลาคม ๒๕๖๖ แบ่งเป็น ๓ รุ่น รุ่นละ ๑ วัน 

          ผมเข้ารับการอบรมจากกกต.จังหวัดมาแล้ว ก็ต้องมาถ่ายทอดต่อให้กปน. ผมรับผิดชอบในหัวข้อ”การนับคะแนน” ก่อนอื่นก็ต้องเกริ่นกล่าวให้ผู้เข้ารับอบรมรู้สึกผ่อนคลายก่อนปฏิบัติงาน

          โดยผมจะบอกกปน.ว่า การเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้สมัครเพียง ๒ ท่านและเป็นการเลือกตั้งระดับจังหวัด คงไม่เคร่งเครียดเหมือนกับการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ผ่านมา

          แต่กปน.ทุกคน ก็ต้องรอบคอบให้มาก มิฉะนั้นอาจจะเครียดที่สุดเมื่อถึงเวลาใกล้ค่ำ ที่จะต้องส่งหีบบัตรเลือกตั้งหลังจากนับคะแนนเสร็จแล้ว

          งานนี้ทางจังหวัดอำนวยความสะดวกด้านวัสดุอุปกรณ์แก่หน่วยเลือกตั้งเป็นอย่างดี ทั้งเอกสารคู่มือและป้ายประกาศครบครัน ให้แม้กระทั่งนาฬิกาและธงชาติ

          ผมรู้สึกเป็นห่วง หลังจากหมดเวลาและประกาศปิดการลงคะแนน ถึงแม้คณะกปน.จะแบ่งหน้าที่ให้แก่คณะกรรมการนับคะแนน จำนวน ๔ ท่านแล้ว ขอแนะนำว่าอย่าเพิ่งรีบนับคะแนน

          ควรจะตรวจนับเอกสารหลักฐานก่อนว่ามีผู้มาลงคะแนนเสียงในหน่วยจำนวนเท่าไร ใช้บัตรไปจำนวนกี่ใบ เหลือกีใบ เพื่อการกระทบยอดที่ตรงกัน และช่วยลดปัญหาหลังการนับคะแนน

          การนับคะแนน ให้เจ้าหน้าที่ยืนประจำจุดตามคู่มือ กปน.คนที่ ๑ หยิบบัตรเลือกตั้งออกมาทีละใบแล้วคลี่ออก ไม่ต้องขานคะแนน แต่อาจจะพูดเบาๆได้ว่า บัตรดีหรือบัตรเสีย

          กปน.คนที่ ๒ ขานคะแนนด้วยเสียงอันดังและมั่นใจ ก่อนขานคะแนนต้องบอก..บัตรดี บัตรเสีย หรือบัตรไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด

          กปน.คนที่ ๓ ที่อยู่ตรงป้ายขีดคะแนน ต้องขานคะแนนอีกครั้ง จากนั้น คนที่ ๒ ยื่นบัตรเลือกตั้งให้คนที่ ๔ ถ้าบัตรเสีย กปน.ไม่น้อยกว่า ๓ คน ต้องลงลายมือชื่อสลักหลังบัตรว่า “เสีย” พร้อมระบุเหตุผลด้วยว่าเสียเพราะเหตุใด?

          กปน.คนที่ ๔ จะต้องเจาะบัตรเลือกตั้งที่ผ่านการวินิจฉัยและขานคะแนนแล้วทุกฉบับ ก่อนใส่ตะกร้าบัตรดี ตะกร้าบัตรเสียหรือตะกร้าบัตรไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด

          การเจาะบัตรเลือกตั้ง ต้องเจาะที่บริเวณมุมบนของบัตรเลือกตั้ง และเมื่อเจาะแล้วให้พับบัตรก่อนใส่ลงตะกร้าแต่ละประเภท

          ช่วงเวลาสำคัญ หลังจากนับคะแนนเสร็จ จะต้องนำเอกสารหลักฐานทั้งหมดใส่ถุงชั้นนอก ชั้นใน แล้วใส่ลงในหีบบัตร ขั้นตอนนี้หากผิดพลาด จะทำให้กปน.เสียเวลาเมื่อส่งหีบบัตรที่อำเภอ

          ขอให้จำง่ายๆดังนี้ ถุงวัสดุใสชั้นในมี ๓ ใบ สำหรับใส่บัตรดี บัตรเสีย และบัตรไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด แต่ละถุงต้องเขียนจำนวนบัตรด้วย แล้วรัดด้วยหนังยาง

          ถุงวัสดุใสชั้นนอกมี ๑ ใบ ต้องใส่แบบขีดคะแนน หรือ ๕/๖  ใส่รายงานผลการนับคะแนน หรือ ๕/๗ และบันทึกข้อมูลจำนวนบัตรเลือกตั้ง หรือ ๕/๑๖  ทุกรายการใส่อย่างละ ๑ ชุดเท่านั้น จากนั้นให้นำถุงวัสดุใสชั้นในจำนวน ๓ ถุงใส่ลงไป แล้วใช้สายรัด รัดปากถุงชั้นนอกให้เรียบร้อย

          แล้วนำถุงวัสดุใสชั้นนอกใส่ลงในหีบบัตรเลือกตั้งนายก อบจ. ปิดป้ายตรงช่องใส่บัตรด้วยแบบ ๕/๑ ก็ถือว่าขั้นตอนที่สำคัญที่สุดได้ดำเนินการอย่างถูกต้องและสำเร็จลงแล้ว

          ขั้นตอนทั่วไปในช่วงท้ายก็คือ การนำวัสดุอุปกรณ์ต่างๆที่ได้รับมาส่งคืนอำเภอ ให้ใส่ถุงหูหิ้ว แยกเป็น ๓ ถุง  แต่ละถุงประกอบไปด้วยอะไรบ้างนั้น ในคู่มือได้บอกไว้อย่างชัดเจน

          ข้อสำคัญอย่าได้นำวัสดุอุปกรณ์ในถุงหูหิ้ว ใส่ลงในหีบบัตรเลือกตั้งก็แล้วกัน ที่ผ่านมาเคยมีมาแล้ว ด้วยความรีบร้อนและหวังดี จึงใส่ลงไปในหีบบัตรแล้วปิดผนึกเรียบร้อย พอถึงอำเภอ กปน.เหงื่อตกเลย ต้องกลับบ้านเป็นชุดสุดท้าย

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๑๖  ตุลาคม  ๒๕๖๖

หมายเลขบันทึก: 715046เขียนเมื่อ 16 ตุลาคม 2023 20:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 ตุลาคม 2023 07:28 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท