หลายคนคงจะสงสัยว่า ๓ คำนี้ แตกต่างกันอย่างไร และหลายคนรวมทั้งผู้เขียนด้วยก็เขียนผิดบ่อยๆ เหมือนกัน ... เกษียร แปลว่า น้ำนม เกษียน แปลว่า เขียน และ เกษียณ แปลว่า สิ้น ...อันที่จริง ๓ คำนี้ มิใช่คำบาลีเลย สองคำเป็นสันสกฤต และอีกคำเป็นไทยที่ล้อเลียนสันสกฤต...
ความแตกต่างอย่างหนึ่งระหว่างบาลีและสันสกฤต คือ ข.ไข่ ในบาลี จะเปลี่ยนเป็น ก.ไก่ กับ ษ.ฤาษี ในบาลี (ข - กษ) ..
เกษียร มาจากสันสกฤตว่า กษิระ แปลว่า น้ำนม ..กฺษีระ แปลงเป็นบาลีจะได้ว่า ขีระ ...เมื่อแปลงเป็นไทย กษีระ ก็เป็น เกษียร โดยแปลง สระ อี เป็น สระ เอีย (มีอีกหลายคำที่แปลงทำนองนี้ เช่น พิริยะ ก็แปลงเป็น เพียร) ...สำนวนที่พอนึกได้ก็เช่น เกษียรสมุทร แปลว่า ทะเลน้ำนม
เกษียณ สันสกฤตว่า กฺษีณะ แปลว่า สิ้น บาลีใช้ ขีณะ ...พอเป็นไทยก็เป็น เกษียณ (เอา อี เป็น เอีย เหมือนกัน) ...ที่ใช้เป็นทางการก็เช่น เกษียณราชการ
เกษียน น่าจะเป็นไทยแท้ๆ โดยผู้ช่ำชองภาษาใช้ล้อสันสกฤต...นั่นคือ คำไทยว่า เขียน แปลง ข. เป็น กษ ก็กลายเป็น เกษียน ...ทำให้ผู้เชี่ยวชาญก็แปลไม่ถูกในบางครั้ง 5 5 5 ...ที่มีใช้ก็อาจารย์สอนสันสกฤตของผู้เขียนท่านหนึ่งเคยบอกบ่อยๆ เกษียนไว้ ๆ ตรงนี้สำคัญ (5 5 5)
หมายเหตุ
ข ในบาลี และ กษ ในสันสกฤต ...ซึ่งในภาษาไทยเจอบ่อย โดยบางคำก็ใช้เฉพาะสันสกฤต บางคำก็ใช้ทั้งบาลีและสันสกฤต ก็เช่น
เขตตะ, ขัตติยะ - เกษตร, กษัตริย์
เขมะ - เกษม
อายุขัย - สิ้นชีพตักกษัย