๔. ปลูกผักที่หนองผือ


“จับจ้องมองหนองผือ แท้จริงคือโรงเรียนเล็ก แน่นักรู้จักเด็ก รายบุคคลน่าสนใจ เมื่อรู้จึงเร่งรัด ที่ข้องขัดจัดแก้ไข อ่านเขียนเรียนรู้ไว คำนวณได้ฝักใฝ่ธรรม อาคารสะอาดเอี่ยม ห้องเรียนเยี่ยมสวยเลิศล้ำ ต้นไม้ได้หนุนนำ มองสระน้ำชื่นฉ่ำเย็น โคกสูงที่ริมสระ ไม่เลยละจับประเด็น คิดย้ำต้องทำเป็น จึงมุ่งเน้นเกษตรกรรม ”

       บรรยากาศในโรงเรียน ในช่วงฤดูฝนของต้นปีการศึกษา จะมองดูเขียวครึ้ม สงบ ร่มรื่น เพราะต้นไม้แผ่กิ่งก้านสาขาอย่างร่าเริงเบิกบานรับลมเย็นๆ ที่มักจะพาฝนมาตกในช่วงบ่ายๆ ใบไม้ไม่มีการร่วงหล่นแต่อย่างใด จะพบก็แต่ความเฉอะแฉะของผิวดินกับต้นหญ้าที่ขึ้นเขียวขจีเต็มไปหมด

        ครูหนึ่งรู้สึกผ่อนคลายจากการเรียนการสอนไปได้บ้าง หลังจากพานักเรียนออกไปทำกิจกรรมนอกห้องเรียน โดยเฉพาะแปลงผักปลอดสารพิษ ลงเอยได้สำเร็จเป็นรูปเป็นร่าง จัดวางผู้รับผิดชอบมอบหมายได้ครบทั้ง ๔ แปลง ในแต่ละแปลงก็จะหว่านเมล็ดพันธุ์พืชผักสวนครัวแตกต่างกันไป

        นักเรียนชื่นชอบเพราะไม่เคยปลูกแบบนี้มาก่อน มีทั้งมะเขือ ผักบุ้ง ผักกวางตุ้งและมะเขือเทศ เพิ่มความอยากรู้อยากเห็นและความสนใจที่จะรดน้ำเพื่อรอคอยผลผลิตในอีกไม่กี่วันข้างหน้า…

        ครูหนึ่งนำนักเรียนลงมือหว่านเมล็ดได้อย่างรวดเร็วทันใจ ไม่ต้องไปหาซื้อเมล็ดพันธุ์ที่ตลาด ก็เพราะในโรงเรือนเกษตรกรรมของโรงเรียนนอกจากจะมีเครื่องมือเกษตรอย่างครบครันแล้ว ยังมีตู้สำหรับจัดเก็บเมล็ดพันธุ์พืชผักสวนครัวไว้อย่างมากมาย 

       เมล็ดพันธุ์แต่ละชนิด เขียนชื่อติดไว้ที่ขวดโหลพลาสติกนับร้อยขวด จัดวางอยู่ในตู้ไม้อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย ในปริมาณที่ครูหนึ่งเห็น คิดว่าถ้าปลูกต่อเนื่องกันทั้งปีก็คงไม่หมด ส่วนคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ก็จะต้องดูกันต่อไป โดยอาศัยทักษะฝีมือของนักเรียนชั้นป.๓ และ ป.๔

       ครูหนึ่งสนใจชื่อโครงการบนป้ายไวนิลที่ติดไว้ข้างตู้ อยากรู้ที่มาที่ไปของคำว่า “ ๑๐๐ เมล็ดพันธุ์ไม้"                   คำว่า “เมล็ดพันธุ์” ครูหนึ่งเคยได้ยินในช่วงข่าวในพระราชสำนัก เคยเห็นภาพในโครงการพระราชดำริ แต่สถานศึกษาโดยทั่วไป น่าจะยังไม่แพร่หลายมากนัก

      “พ่อครับ ผมนำเมล็ดผักในตู้ไปให้นักเรียนปลูกมันจะขึ้นไหมครับ” ครูหนึ่งถาม เพื่อหาข้อมูลให้เกิดความมั่นใจ

      “รับรองขึ้นแน่นอน เพราะพ่อเป็นคนคิดโครงการนี้ขึ้นมา มันก็ต้องมีคุณภาพทุกเมล็ด” พ่อพูดพร้อมกับอมยิ้ม เพราะนานๆจะได้มีโอกาสได้คุยแบบนี้บ้าง

       “พ่อนำเมล็ดพืชผักมาจากไหน แล้วมันดียังไงล่ะครับ"

       “พ่อกับนักเรียนช่วยกันปลูกแล้วก็ช่วยกันเก็บเมล็ดไว้ บางทีก็ขอจากผู้ปกครองบ้าง ข้อดีก็คือไม่ต้องซื้อ ปลูกกี่ครั้งก็ได้ มันเหมาะกับสภาพดินในท้องถิ่นของเราด้วยนะ ที่สำคัญถ้าเราไปซื้อเขาใช้ครั้งเดียวก็จบเก็บเมล็ดไว้ใช้ต่อไปไม่ได้”  พ่ออธิบายให้ครูหนึ่งเข้าใจอย่างชัดเจน

       “ถ้างั้นผมต้องทำบ้างแล้วล่ะและจะทำแปลงเกษตรเพิ่มที่ด้านหลังโรงอาหารด้วยครับพ่อ”

       “ดีแล้วล่ะ แต่เวลาสอนนักเรียนปลูกผักสวนครัว ยังไงก็อย่าลืมบูรณาการเรื่องการอ่านการเขียนเข้าไปด้วยล่ะ ”   “ยังไงหรือครับ” ครูหนึ่งสงสัย

      “เดี๋ยวพรุ่งนี้ พ่อจะให้หนังสืออ่านเพิ่มเติมสำหรับเด็ก ลูกจะได้เข้าใจและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้”    “ครับ”

       ดึกแล้ว  ครูหนึ่งนอนดูข่าวสารการศึกษาในยูทูป นอนดูไปเรื่อยๆ แต่ใจก็ยังวนเวียนถึงคำว่า “บูรณาการ”ที่พ่อพูดถึง เป็นคำที่ครูหนึ่งรู้สึกว่ายังใหม่และทันสมัยอยู่เสมอ เมื่อมาได้ยินจากพ่อซึ่งเกษียณแล้วก็ยิ่งทำให้ครูหนึ่งสนใจ  หรืออาจเป็นเรื่องเดียวกันกับงานที่โรงเรียน ในฐานะครูโรงเรียนขนาดเล็ก ที่ครูหนึ่งเริ่มจะคุ้นชินกับการเลือกสื่อ นวัตกรรมและแหล่งเรียนรู้ที่เหมาะสม เกือบจะเรียกได้ว่าบูรณาการอย่างไม่รู้ตัวอยู่แล้ว  

        ครูหนึ่งกำลังจะขับรถออกจากบ้าน พ่อเดินมายื่นหนังสือให้ที่รถ ชื่อหนังสือ"ปลูกผักที่หนองผือ"  รูปเล่มกระทัดรัด เป็นหนังสือทำมือที่มีภาพสี และเขียนตัวหนังสือด้วยปากกา 

        “พ่อเขียนเอง ลูกจะใช้จัดกิจกรรมยังไงก็แล้วแต่ลูกเถอะ”  

        “ขอบคุณครับ”

        ตลอดทั้งวัน ครูหนึ่งวิ่งวนอยู่กับการสอน สลับห้องกันไปมา โดยใช้การสอนทางไกลผ่านดาวเทียม บางครั้งก็ต้องอธิบายซ้ำถ้านักเรียนไม่เข้าใจหรือเรียนไม่ทัน สิ่งสำคัญจะต้องสร้างวินัยในห้องเรียนอยู่เสมอ มิฉะนั้นนักเรียนที่เรียนรวมกันจะส่งเสียงดังมากเกินไป จะรบกวนซึ่งกันและกัน

        ชั่วโมงสุดท้าย ก่อนที่ครูหนึ่งจะนำนักเรียนไปรดน้ำแปลงผัก ครูหนึ่งนำนักเรียนไปอ่านหนังสือที่ห้องสมุด ตอนแรกจะถิอโอกาสสำรวจห้องสมุดเป็นครั้งแรก แต่ไม่ทันที่จะเดินดูหนังสือบนชั้นวาง ได้แต่ให้นักเรียนค้นหาหนังสือที่ถูกใจมาอ่านที่โต๊ะ ส่วนครูหนึ่งอ่านหนังสือที่พ่อให้มาเมื่อตอนเช้า

        ครูหนึ่งตั้งใจจะอ่านให้จบอย่างรวดเร็ว แต่พอเปิดเนื้อหาที่เป็นบทร้อยกรอง ก็ต้องเปลี่ยนใจมาอ่านอย่างช้าๆอย่างใจจดใจจ่อ เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับกิจกรรมทางการเกษตรที่ครูหนึ่งกำลังสนใจอยู่พอดี

        “ปลูกผักที่หนองผือ” เป็นหนังสืออ่านเพิ่มเติม  เขียนเป็นบทร้อยกรองมีภาพสีประกอบเรื่อง ครูหนึ่งกำลังอ่านและใช้จินตนาการไปทีละหน้า…ในทุกหน้าจะมี ๑ บท หรือ ๔ วรรค ไปจนถึงหน้าสุดท้าย บทร้อยกรองมีใจความว่า…

         “จับจ้องมองหนองผือ   แท้จริงคือโรงเรียนเล็ก   แน่นักรู้จักเด็ก  รายบุคคลน่าสนใจ  เมื่อรู้จึงเร่งรัด  ที่ข้องขัดจัดแก้ไข  อ่านเขียนเรียนรู้ไว  คำนวณได้ฝักใฝ่ธรรม  อาคารสะอาดเอี่ยม  ห้องเรียนเยี่ยมสวยเลิศล้ำ  ต้นไม้ได้หนุนนำ  มองสระน้ำชื่นฉ่ำเย็น  โคกสูงที่ริมสระ  ไม่เลยละจับประเด็น  คิดย้ำต้องทำเป็น  จึงมุ่งเน้นเกษตรกรรม ”

         “เริ่มงานจัดทำแปลง  ด้วยเรี่ยวแรงหลายคนทำ  นักการงานหนุนนำ  ออกแบบสวยและสร้างสรรค์  นักเรียนลงไปด้วย  เอื้ออำนวยช่วยงานกัน  จวนจบเสร็จครบครัน  ได้แปลงผักน่ารักจัง  เดินต่อท่อส่งน้ำ  ให้ชุ่มฉ่ำน้ำไม่ขัง  เสร็จแน่แต่ก็ยัง  ต้องเตรียมดินสักหนึ่งแปลง ”

         “ดินดีในท้องนา  ปุ๋ยหมักหาอย่าแชเชือน  มูลไก่ให้ลืมเลือน แต่มูลวัวคลุกทั่วแปลง คุณครูคอยช่วยเหลือ  เด็กไม่เบื่อไม่หมดแรง  รู้เรียนเพียรขันแข็ง  ครูจัดแบ่งแปลงเพียงพอ  เกษตรเพื่อชีวิต  ผลสัมฤทธิ์เร่งถักทอ  พื้นฐานงานเกิดก่อ พอเพียงได้แต่วัยเยาว์”

          คืองานเขียนที่ทำให้ครูหนึ่งเข้าถึงคำว่า"บูรณาการ"อย่างแจ่มชัด วรรณกรรมทำมือแบบง่ายๆ ทำให้ครูหนึ่งรู้ว่าพ่อได้ทำอะไรไว้ให้โรงเรียนแห่งนี้ พ่อใช้ภาษาสอนหนังสือจากเรื่องราวและกิจกรรมที่นักเรียนทำจริงๆ 

         ครูหนึ่งได้เห็นความเป็นมาของแปลงเกษตรปลอดสารพิษ หรือเกษตรอินทรีย์วิถีแห่งความพอเพียง ที่ครูหนึ่งกำลังแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนักเรียน สิ่งที่ครูหนึ่งมองเห็นและจะต้องเร่งทำให้กิดขึ้นโดยเร็วก็คือการอ่านและการเขียนจากเรื่องใกล้ตัวที่นักเรียนได้่ปฏิบัตินอกห้องเรียน

        เริ่มจากการอ่านคำแล้วนำคำมาร้อยเรียงเป็นเรื่องเล่าจากประสบการณ์ งานในแปลงเกษตรจึงเป็นเรื่องที่ดีที่สุดของนักเรียน ที่จะช่วยเชื่อมโยงประสบการณ์ทางภาษา อันนี้เองคือ"บูรณาการ"ตามที่ครูหนึ่งเข้าใจและรู้สึกสนใจมากยิ่งขึ้น

        “ไปกันเถอะนักเรียน ได้เวลาลงแปลงเกษตรแล้ว” ครูบอกนักเรียนที่กำลังนั่งอ่านหนังสือ

        “ครูคะ ผู้ใหญ่มาหาค่ะ” ครูหนึ่งหันไปมองที่ประตู ผู้ใหญ่บ้านจอดรถไถไว้ที่ถนนทางเข้าห้องสมุด แล้วเดินมาหาครูหนึ่ง

        “ครูครับ จะทำนาเมื่อไหร่ครับ ผมเห็นหญ้าในนามันรกมาก ผมจะได้ไถให้”ผู้ใหญ่บ้านถาม

        “ยังไม่ทราบเลยครับผู้ใหญ่ แต่ไถไว้ก่อนก็ดีเหมือนกันครับ” ครูหนึ่งบอก  “งั้นพรุ่งนี้ผมมาไถให้ครับ”

         ผู้ใหญ่บ้านขับรถไถออกจากโรงเรียนไปแล้ว ครูหนึ่งนำนักเรียนรดน้ำต้นไม้ที่แปลงผัก ใจเริ่มคิดคำนึ่งถึงกิจกรรมใหม่ที่จะสร้างความตื่นเต้นเร้าใจ..เพราะในไม่ช้าครูหนึ่งจะได้ทำนาเป็นครั้งแรกในชีวิต

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

หมายเลขบันทึก: 714959เขียนเมื่อ 14 ตุลาคม 2023 07:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 เมษายน 2024 20:16 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท