๒. เพลงประจำโรงเรียน


" การศึกษาแห่งนี้ของเด็กน้อย ครูจึงคอยดูแลให้ทั่วถึง การเรียนรู้เร่งสัมฤทธิ์ติดตราตรึง เฝ้าคำนึงให้ก้าวหน้าวิชาการ สัญลักษณ์น้ำเงินเหลืองเรื่องนิสัย สามัคคีมีวินัยและกล้าหาญ คุณธรรมนำความรู้บูรณาการ สื่อสารการละเล่นเน้นความเป็นไทย"

        เสียงปรบมือดังก้องไปทั่วสนามหน้าเสาธง เป็นอันว่าครูหนึ่งได้แนะนำตัวต่อหน้าคณะครูและนักเรียนอย่างเป็นทางการแล้ว ความรู้สึกตื่นเต้นลดน้อยลง การพูดในที่ชุมชนแบบนี้ ครูหนึ่งเคยมีประสบการณ์มาก่อนที่โรงเรียนเก่า ซึ่งมีนักเรียนเกือบหนึ่งพันคน

        การพูดในวันนี้ต่อหน้านักเรียนไม่ถึงหนึ่งร้อยคน จึงไม่รู้สึกยากเย็นแต่อย่างใด แต่ภาระงานต่อจากนี้เป็นต้นไป นอกจากจะยากแล้ว ยังเป็นเรื่องที่ท้าทายอยู่ไม่น้อย ครูหนึ่งเริ่มสัมผัสได้ถึงความรู้สึกอึดอัดเล็กน้อย ก่อนจะตัดสินใจก้าวเดินเข้าสู่ห้องเรียนและคิดว่าจะผ่านวิกฤตนี้ไปให้ได้

       ครูหนึ่งยืนอยู่กลางห้องเรียน กวาดสายตาไปรอบๆห้อง สายตาทุกคู่จับจ้องมาที่ครูหนึ่ง นักเรียนแต่ละคนไม่มีใครพูดอะไร โต๊ะเก้าอี้นักเรียนถูกจัดแยกซ้ายแยกขวา เป็นการเรียนรวมกันของชั้นป.๓ กับ ป.๔ มีนักเรียนทั้งหมด ๑๙ คน

       หลังจากทำความรู้จักและทักทายนักเรียนจนครบทุกคน รวมทั้งหัวหน้าชั้นเรียนทั้งสองชั้นที่มาเรียนรวมกันในห้องเดียว เป็นประสบการณ์แรกที่ครูหนึ่งเพิ่งเคยเจอ จึงคิดที่จะบริหารจัดการชั้นเรียนเสียก่อน เริ่มจากการหาข้อมูลวิธีเรียนและวิธีสอนที่ผ่านมา…

        นักเรียนบอกว่า…เรียนกับทีวีทุกวัน ซึ่งหมายถึงเรียนกับ DLTV ที่จัดการเรียนการสอนทางไกลผ่านดาวเทียม หนึ่งในโครงการพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ ๙ 

        “ทีวีมีสองเครื่อง ทำไมต้องหันหน้ามาทางเดียวกันล่ะ” ครูหนึ่งถาม “แล้วเรียนกันยังไง”

         “ทีวีที่อยู่หลังห้องมันเสียค่ะ”หัวหน้าห้องป.๔ บอก “ครูเขาให้หนูดูเครื่องเดียวไปก่อน ถ้า ป.๓ ดูทีวี พวกหนูก็จะทำแบบฝึกหัดค่ะ” ครูหนึ่งพยักหน้าเหมือนจะเข้าใจ และเริ่มมองเห็นวิธีการแก้ปัญหาในเบื้องต้นได้แล้ว

          ครูหนึ่งเริ่มจัดการเรียนการสอนตามที่นักเรียนคุ้นเคย โดยใช้ทีวีเป็นเครื่องมือและใช้หนังสือแบบเรียน ตลอดจนแบบฝึกหัดนำร่องไปพลางก่อน รอจังหวะที่จะปรับเปลี่ยนให้บางสิ่งบางอย่างลงตัวยิ่งขึ้น

          โดยเฉพาะทีวีอีกเครื่องหนึ่งที่อยู่ด้านหลังห้องที่นักเรียนบอกว่าเสีย ครูหนึ่งตรวจสอบแล้วพบว่ายังใช้ได้ดี เพียงแต่ไม่มีกล่องรับสัญญาณเท่านั้น และครูหนึ่งก็ยังพบอีกว่ามีกล่องสัญญาณกล่องใหม่ที่ยังไม่มีห้องเรียนไหนนำไปใช้ จึงถูกวางอยู่ในห้องพักครู เขตพื้นที่การศึกษาอาจจะส่งมาให้ แต่ครูผู้สอนต้องการใช้ทีวีในห้องเพียงเครื่องเดียวมากกว่า

         ครูหนึ่งได้ข้อมูลที่เป็นอุปสรรคและปัญหามากมายในแต่ละวัน ล้วนเป็นปัญหาที่ไม่ส่งเสริมบรรยากาศการสอน แต่ปัญหาก็มีทางออกอยู่เสมอ ด้วยการแก้ไขไปตามลำดับ หลังจากติดตั้งกล่องรับสัญญาณและเชื่อมต่อกับทีวีเป็นที่เรียบร้อย ครูหนึ่งได้สังเกตลักษณะของทีวีทั้งสองเครื่องในห้องเรียน เป็นทีวีรุ่นใหม่จอแบน รับสัญญาณอินเตอร์เน็ตได้ และในห้องก็มีคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะอยู่ใกล้ๆกับโต๊ะครู ติดตั้งอุปกรณ์ไวไฟไว้พร้อม

        จึงหมดเวลาแล้วที่นักเรียนทั้งสองชั้น จะหันหน้าไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อมองกระดานดำและทีวีเครื่องเดียวกัน ไม่เช่นนั้นจะเป็นปัญหาการเรียนการสอนอย่างยิ่ง  ยังไม่รวมถึงระเบียบวินัยในชั้นเรียนที่ควบคุมยากมาก ครูหนึ่งจึงเริ่มปรับระบบใหม่

        จัดนักเรียนนั่งหันหลังให้กัน ชั้นป.๓ อยู่ข้างหน้า ให้มองเห็นกระดานดำ ส่วนป.๔ ไม่มีกระดานดำ แต่มีไวท์บอร์ดและทีวีจอแบน ๑ เครื่อง ขนาดเท่ากับทีวีชั้นป.๓ ที่อยู่หน้าห้อง เว้นช่องตรงกลางห้องเอาไว้เดินเพื่อความสะดวก

        ครูหนึ่งไม่ทันได้ถามนักเรียนว่าชอบการจัดชั้นเรียนแบบนี้หรือไม่ แต่ก็เห็นนักเรียนให้ความร่วมมือ มีความกระตือรือร้นและมีความสนใจที่จะเรียนรู้มากขึ้น  มีแววตาที่ตื่นเต้นเล็กน้อยกับบรรยากาศของชั้นเรียนที่เปลี่ยนไป

         ตอนแรก..ครูหนึ่งก็หวั่นใจ กลัวว่าเสียงทีวีที่ต้องเปิดพร้อมกันในบางช่วงเวลาและบางเนื้อหา จะทำให้รบกวนซึ่งกันและกัน แต่เมื่อลองปรับระดับเสียงให้ได้ยินแต่พอดี  ก็ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด แต่ครูหนึ่งก็ไม่ได้เปิดพร้อมกันทุกชั่วโมง มีเว้นวรรคบ้างในช่วงที่ครูบรรยายและช่วงเวลาที่นักเรียนทำแบบฝึกหัด

         “ครูคะ…ครูจัดห้องเก่งจัง” นักเรียนหญิงชั้นป.๔ กล่าวชมครู เมื่อเห็นครูหนึ่งจัดโต๊ะครูประจำชั้นและโต๊ะคอมพิวเตอร์ ให้อยู่ในมุมที่เหมาะสม มองเห็นนักเรียนได้ถนัดทั้งสองห้อง ส่วนคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะเลื่อนไปอยู่ใกล้ๆกระดานดำของฟากฝั่งป.๓  “หนูจะได้เรียนกับคอมพิวเตอร์ไหมคะ”

          “ได้เรียนสิครับ เดี่ยวรอให้ครูต่อสายเข้ากับทีวีเสียก่อน แล้วค่อยสลับที่กับป.๓ ในบางชั่วโมง นะ..” ครูหนึ่งตอบ

            นักเรียนทั้งสองชั้น ให้ความสนใจในการปรับเปลี่ยนภายในห้องเรียน สังเกตการทำงานของครูอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่จัดโต๊ะเก้าอี้นักเรียน เปลี่ยนมุมหนังสือและโต๊ะครูประจำชั้น เปลี่ยนที่วางเอกสารและตู้เก็บของ ทำให้ห้องเรียนมองดูกว้างขวางและเป็นระเบียบเรียบร้อยมากขึ้น

            สิ่งที่ครูหนึ่งคิดว่ายังไม่ลงตัวคือ ข้อมูลเกี่ยวกับสูตรคูณและอาขยาน ยังไม่รู้เลยว่าทั้งสองชั้นนี้ มีทักษะมากน้อยแค่ไหน แต่ชั้นอื่นๆ ได้ยินเสียงท่องกันอย่างชัดเจนทั้งก่อนเรียนและก่อนกลับบ้าน

            เพลงก็เหมือนกัน ไม่เคยได้ยินเลยแม้แต่เพลงเดียว ทั้งๆที่ข้างห้องและชั้นป.๕ - ป.๖ ที่เรียนอยู่ที่อาคารหลังใหม่ ร้องกันเสียงดังฟังชัด ได้ยินไปถึงหน้าโรงเรียน ทั้งเพลงจิตอาสา เพลงสดุดีจอมราชัน และเพลงมาร์ชหนองผือ

            ครูหนึ่งสนใจบทเพลงทุกเพลงที่นักเรียนชั้นอื่นๆร้องกันทุกวัน เพราะครูหนึ่งเป็นครูที่มีวิชาดนตรีเป็นวิชาเอก จึงเห็นคุณค่าของบทเพลงไทย โดยเฉพาะเพลงประกอบเนื้อหาในบทเรียนและเพลงส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรม

            ความรู้สึกที่แปลกใหม่ในโรงเรียนขนาดเล็กแห่งนี้ ที่ครูหนึ่งมองว่าไม่เหมือนใคร คือการที่ครูให้เด็กร้องเพลงในช่วงเวลาต่างๆ เมื่อเด็กขับร้องบ่อยๆก็จะคุ้นชินกับเนื้อร้องและทำนอง อีกทั้งจังหวะก็เป็นเรื่องที่สำคัญ ที่นักเรียนจะได้รับการฝึกโดยไม่รู้ตัว

             ครูหนึ่งจดจำชื่อเพลงได้แล้ว เนื่องจากได้ยินป.๕-๖ ร้องกันทุกวัน เพลงสดุดีจอมราชัน ถือเป็นเพลงเอกที่แสดงให้เห็นุถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เพลงค่านิยม ๑๒ ประการ..เพลงหน้าที่เด็ก..ทำให้นักเรียนได้เรียนรู้ถึงความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม และเพลงจิตอาสา ที่ฟังครั้งใดก็ไพเราะ และช่วยส่งเสริมการเป็นผู้ให้ที่ดีมากๆ

             ส่วนเพลง"มาร์ชหนองผือ" ที่เข้าใจว่าเป็นเพลงประจำโรงเรียน ครูหนึ่งยังไม่ได้ยินเสียงร้องจากนักเรียนชั้น ป.๓ - ๔ ภายในใจที่กำลังคิดอยู่ก็คืออยากรู้ความเป็นมาเป็นไป ใครเป็นผู้คิดเรื่องนี้ขึ้นมา ใครเป็นคนแต่งเนื้อร้องและทำนอง

           “พ่อครับ เพลงมาร์ชหนองผือ…มีที่มายังไงครับ…”  ครูหนึ่งถามพ่อ หลังจากทานอาหารมื้อเย็นเสร็จเรียบร้อย

           “คิดยังไง จึงถามเรื่องเพลงประจำโรงเรียน หรือว่านักเรียนเริ่มร้องกันบ้างแล้ว"  พ่อถาม

          “ครับ ร้องกันได้หลายห้องแล้ว ยกเว้นชั้นป.๓ - ๔ ผมยังไม่ได้ยินเสียงเลยครับ” 

          “เปิดเทอมใหม่ก็จะอย่างนี้แหละ พอได้ร้องสักเที่ยวสองเที่ยว เดี๋ยวก็ร้องกันไม่หยุด”

          “ใครเป็นคนแต่งครับพ่อ”  ครูหนึ่งถามซ้ำ ทำให้พ่อยิ้มก่อนจะตอบคำถามที่ครูหนึ่งสงสัย “พ่อแต่งเองทั้งเนื้อร้องและทำนอง จากนั้นก็ให้ครูนิรุตไปจ้างเขาทำดนตรี โดยครูนิรุตเป็นคนร้องเอง บันทึกเสียงตั้งแต่ปี ๒๕๕๖”

           “เยี่ยมมากเลยครับ เป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่มีเพลงเป็นของตัวเอง” ครูหนึ่งกล่าวชม

           “พ่อต้องการให้มาร์ชหนองผือ มีเนื้อหาและเสียงดนตรีที่เป็นศูนย์รวมใจให้เป็นหนึ่งเดียว เกิดพลังในการมุ่งมั่นทุ่มเท มีศักดิ์ศรีมีความรู้สึกที่ภูมิใจในตนเอง และพร้อมที่จะพัฒนาตนเองพัฒนาโรงเรียนให้เจริญก้าวหน้า”

           ครูหนึ่งนิ่งไปพักใหญ่ รู้สึกได้ถึงความประทับใจที่รู้ว่าพ่อ ผู้ซึ่งเป็นอดีต ผอ.ร.ร.เป็นคนคิดและเขียนเพลงประจำโรงเรียน มันไม่ง่ายเลยที่จะทำให้เกิดขึ้นได้ในโรงเรียนเล็กๆแบบนี้

           “ลูกอยากได้เนื่้อเพลงก็เข้าไปดูที่เว๊บไซต์ของโรงเรียนนะ  หรือถ้าอยากร้องตอนนี้เดี๋ยวพ่อจะปริ๊นให้”

           พ่อเดินเข้าไปในห้อง สักพักก็กลับออกมา พร้อมกับยื่นกระดาษบันทึกเนื้อเพลงมาร์ชหนองผือ ส่งให้ครูหนึ่ง แล้วก็กลับเข้าไปในห้องหนังสือ ปล่อยให้ครูหนึ่งอ่านคำร้องของบทเพลง ซึ่งมีเนื้อหาสั้นๆ แต่ได้ใจความทุกบรรทัด

          " การศึกษาแห่งนี้ของเด็กน้อย   ครูจึงคอยดูแลให้ทั่วถึง  การเรียนรู้เร่งสัมฤทธิ์ติดตราตรึง เฝ้าคำนึงให้ก้าวหน้าวิชาการ  สัญลักษณ์น้ำเงินเหลืองเรื่องนิสัย สามัคคีมีวินัยและกล้าหาญ คุณธรรมนำความรู้บูรณาการ  สื่อสารการละเล่นเน้นความเป็นไทย"

            "เราอ่านคล่องเขียนคล่องทั้งน้องพี่ หนองผือมีแหล่งเรียนรู้ดูสดใส เทคโนโลยีสื่อสารผ่านทางไกล พร้อมก้าวไปให้ประจักษ์ทักษะวิชา  สถานศึกษาเล็กเล็กเด็กหนองผือ เรายึดถือภารกิจการศึกษา ครูมีน้อยก็ไม่ยอมพร้อมพัฒนา
คือคุณค่าหนองผือระบือนาม "

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

 

 

หมายเลขบันทึก: 714957เขียนเมื่อ 14 ตุลาคม 2023 06:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 เมษายน 2024 15:07 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท