AutoMODs ระบบสังเกตความไวต่อยาด้วยกล้องจุลทรรศน์: ยกมาตรฐานการวินิจฉัยและรักษาวัณโรค


โทมัส อัลวา เอดิสัน เคยกล่าวไว้ว่า กว่าจะประดิษฐ์หลอดไฟฟ้าได้สำเร็จ เขาต้องล้มเหลวมาเกือบ 2,000 ครั้ง แต่สาเหตุที่เอดิสันไม่ละความพยายามก็เพราะเขาเชื่อว่าเขาไม่ได้ล้มเหลว เพียงเรียนรู้วิธีการประดิษฐ์หลอดไฟที่ไม่สำเร็จมาเกือบ 2,000 ครั้ง และในที่สุดเขาก็ค้นพบวิธีประดิษฐ์หลอดไฟได้สำเร็จ

AutoMODs ระบบสังเกตความไวต่อยาด้วยกล้องจุลทรรศน์

ยกมาตรฐานการวินิจฉัยและรักษาวัณโรค

หมายเหตุ: ผมได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งของทีมงานนิตยสาร BrandAge ที่เขียนงานในโอกาสครบรอบ 10 ปีรางวัลสร้างสรรค์นวัตกรรมไทย ของ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ เมื่อปี พ.ศ 2558 โดยได้รับมอบหมายให้สัมภาษณ์คุณบุญชัย ไชยาศิรินทร์โรจน์ นักนวัตกรที่ได้รับรางวัล แม้เนื้อหาจะผ่านพ้นมาเกือบ ๆ จะ 10 ปี นวัตกรรมที่ปรากฏในบทความก็อาจจะล้าสมัยไปตามกาลเวลา แต่ในทางกลับกันเมื่อผมได้มาอ่านและย้อนระลึกถึงช่วงเวลาที่ได้เดินทางขึ้นไปสัมภาษณ์คุณบุญชัยที่เชียงรายก็ได้แรงบันดาลใจอะไรบางอย่าง  คุณบุญชัยเล่าว่าสมัยเรียนปริญญาตรี เฉียด ๆ โดนรีไทร์ และชีวิตก็ผ่านอะไรมามากมาย ตอนนี้ผมไม่ทราบว่าคุณบุญชัย และผลงานการประดิษฐ์ ทั้ง AutoMODS รวมทั้งผลงานอื่น ๆ ที่คุณบุญชัยได้พัฒนาขึ้นเป็นอย่างไร แต่แง่มุมที่ผมต้องการจะบอก็คือ คนเราจะทำอะไรให้ประสบความสำเร็จต้องมีทั้งความเชื่อมั่นและมุ่งมั่น ผมชอบคำว่า No Pain No Gain พร้อม ๆ กับนึกถึง เพลงฤดูที่แตกต่าง ของคุณบอย โกสิยพงษ์ ท่อนที่ว่า “หากไม่รู้จักเจ็บปวด ก็คงไม่ซึ้งถึงความสุขใจ” และที่สำคัญ…บางครั้งปริญญาก็ไม่ใช่เป็นสิ่งสำคัญ หรือไม่สามารถไปใช้ได้ในทุกสถานการณ์ของชีวิต

                                         

          วัณโรค หรือที่รู้จักกันในชื่อ TB (Tubercle Bacillus) เป็นโรคติดต่อเรื้อรังที่ผู้ป่วยในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนสูงขึ้น จนองค์การอนามัยโลกได้ประกาศเมื่อ พ.ศ. 2550 ให้ไทยติดอันดับที่ 18 จาก 22 ประเทศที่มีผู้ป่วยวัณโรคสูงสุด ในปัจจุบัน การรักษาพยาบาลผู้ที่ได้รับเชื้อวัณโรคยังคงเป็นปัญหา เนื่องจากมีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยไม่ปฏิบัติตามแนวทางการรักษาของแพทย์ ไม่ทานยาตามกำหนด จนเกิดการดื้อยา ทำให้การรักษายากขึ้น และมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น

          จากการทำงานกับมูลนิธิวิจัยวัณโรคและโรคเอดส์ของ คุณบุญชัย ไชยาศิรินทร์โรจน์ ในตำแหน่งผู้ประสานงานฝ่ายห้องปฏิบัติการ ทำให้เขาได้มีโอกาสสัมผัสกับปัญหาการดื้อยาของผู้ป่วยวัณโรค และเป็นแรงบันดาลใจให้ประดิษฐ์ระบบสังเกตความไวต่อยาวัณโรคด้วยกล้องจุลทรรศน์อัตโนมัติขึ้น โดยใช้ชื่อว่า AutoMODS เพื่อยกระดับการเข้าถึงมาตรฐานการวินิจฉัย และรักษาโรคของผู้ป่วยวัณโรคให้มีโอกาสหายขาดได้มากขึ้น จนได้รับรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2555 รางวัลชนะเลิศ ด้านสังคม จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.)

เริ่มสนใจอิเล็กทรอนิกส์ ตั้งแต่ประถมศึกษา

          จุดเริ่มต้นที่หล่อหลอมให้คุณบุญชัยเป็นผู้ที่ชอบประดิษฐ์คิดค้น ชอบดัดแปลงสิ่งต่าง ๆ มาใช้ประโยชน์ในการทำงาน เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยเรียนชั้นประถมศึกษาที่บ้านเกิด ในจังหวัดเชียงราย เริ่มจากการซื้อ หูฟังแร่ ซึ่งเป็นชุดอิเล็กทรอนิกส์สำเร็จรูป มาบัดกรีจนได้ยินเสียงของวิทยุแร่ นับเป็นความสำเร็จที่ทำให้เขาเกิดความภาคภูมิใจ และขวนขวายที่จะหาความรู้เกี่ยวกับเรื่องอิเล็กทรอนิกส์ผ่านการอ่านจากสื่อต่าง ๆ และเมื่อโตขึ้นความสนใจของเขาก็หันเหไปศึกษาโปรแกรมคอมพิวเตอร์มากขึ้น จนความชอบได้กลายเป็นความสามารถที่ติดตัเขามาตั้งแต่ตอนนั้น

          คุณบุญชัยยอมรับว่า ขณะที่กำลังศึกษาอยู่ที่คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ผลการเรียนบางช่วงของเขาจวนเจียนที่จะพ้นสภาพนักศึกษา แต่ในวันที่เขามีโอกาสได้กลับไปบรรยายให้นักศึกษารุ่นน้องฟัง ในฐานะที่ได้รับรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ เขาไม่อายที่จะนำผลการเรียน ที่บางวิชายังมีร่อยรอย F และ D ปรากฏให้เห็น เพียงเพื่อต้องการจะบอกให้รู้ว่าการเรียนหนังสือไม่เก่ง ก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำอะไรไม่ได้ ขอเพียงแค่สนใจในสิ่งที่ทำ ความสำเร็จก็จะอยู่แค่เอื้อม

          หลังจากสำเร็จการศึกษาก็ได้ทำงานในโรงพยาบาลเอกชนที่ จ.เชียงใหม่ 6 ปี เมื่อคุณแม่เสียชีวิตจึงกลับมาดูแลคุณพ่อที่ จ.เชียงราย และมาสมัครงานที่มูลนิธิวิจัยวัณโรคและโรคเอดส์ ซึ่งคุณบุญชัยเล่าให้ฟังว่า มูลนิธินี้มีความตั้งใจจริงที่จะช่วยผู้ป่วยวัณโรคและโรคเอดส์ โดยเกิดขึ้นจากกลุ่มนักศึกษาระดับปริญญาเอกชาวไทยและชาวญี่ปุ่นที่เข้ามาทำวิจัยเกี่ยวกับโรคดังกล่าวใน จ.เชียงราย เมื่อ พ.ศ. 2536 และใน พ.ศ. 2539 นักวิจัยชาวญี่ปุ่นได้เสนอแผนไปยังสถาบันวิจัยวัณโรค สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศญี่ปุ่น และก่อตั้ง สำนักงานวิจัยวัณโรคเชียงรายขึ้น โดยร่วมมือกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงราย โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ และสำนักวัณโรค กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ต่อมาในเดือนมิถุนายน 2545 ได้จดทะเบียนก่อตั้งมูลนิธิวิจัยวัณโรคและโรคเอดส์ขึ้น ตลอดระยะเวลา 15 ปี ที่คุณบุญชัยได้ทำงานร่วมกับมูลนิธิ เขาได้ใช้ความสนใจในการประดิษฐ์มาพัฒนานวัตกรรมเพื่อช่วยผู้ป่วยวัณโรค และได้รับการสนับสนุนทั้งกำลังใจ งบประมาณ จากมูลนิธิ และองค์กรต่าง ๆ เป็นอย่างดี

          ปัญหาวัณโรคเป็นงานที่มูลนิธิให้ความสำคัญมาก เนื่องจากปัจจุบันมีหลายองค์กรที่ให้ความสำคัญในการเข้าไปศึกษา วิจัย และให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยเอดส์ ในขณะที่วัณโรคมีหน่วยงานที่เข้าไปดูแลไม่มากนัก ทั้ง ๆ ที่วัณโรคเป็นโรคที่มีความน่ากลัวไม่แพ้โรคติดต่ออื่น จากการศึกษาขององค์การอนามัยโรค 1 ใน 3 ของประชากรโลกเคยได้รับเชื้อวัณโรค และผู้ที่ได้รับเชื้อ 100 ราย จะมี 10 ราย ที่เป็นผู้ป่วยวัณโรค ส่วน 90 รายที่ไม่ป่วย เนื่องจากมีภูมิคุ้มกันที่กำจัดเชื้อวัณโรคออกจากร่างกายได้  และในแต่ละปีจะมีผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ของไทยประมาณ 9 หมื่นคน และตัวเลขในปี พ.ศ. 2555 มีจำนวนผู้เสียชีวิตประมาณ 12,000 คน

          แนวทางการรักษาผู้ป่วยวัณโรคระยะเริ่มต้นทั่วโลกจะใช้วิธีการที่เหมือนกันคือ ทานยา 4 ชนิดทุกวัน ติดต่อกัน 6 เดือน ค่ายาที่ใช้รักษาประมาณ 2,000 บาท ถ้าปฏิบัติตาม โอกาสที่จะรักษาหาย 95% แต่เนื่องจากต้องทานยาทุกวันและวันละหลายเม็ด จึงทำให้ผู้ป่วยบางส่วนทานยาไม่ต่อเนื่อง เมื่อไปตรวจก็จะพบว่าเกิดอาการดื้อยา ทำให้ต้องเปลี่ยนยาขนาดใหม่ ๆ จากที่ทานยาต่อเนื่อง 6 เดือนก็ต้องเปลี่ยนเป็น 2 ปี ค่ายาก็เพิ่มขึ้นเป็น 80,000 บาท โอกาสหายก็ลดลงเหลือไม่ถึง 70% ผลข้างเคียงก็มีมากขึ้น ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่ได้เพาะเชื้อเพื่อดูการดื้อยา ถึงแม้จะทานยาครบ 6 เดือน แต่ถ้าเชื้อดื้อยาไปแล้ว ยาที่ทานไปก็ไม่มีผลในการรักษา และยังเกิดผลข้างเคียงกับร่างกายได้มาก ที่สำคัญผู้ป่วยสามารถแพร่เชื้อให้คนอื่นได้ตลอดเวลา ปัจจุบันองค์การอนามัยโลกรณรงค์ให้มีการเพาะเชื้อในผู้ป่วยวัณโรคเพื่อทดสอบการดื้อยา จากรายงานเมื่อปี 2008 พบว่าทั่วโลกมีผู้ป่วยที่ได้รับการเพาะเชื้อและทดสอบความไวต่อยาแค่ 5% แต่ในปี 2012 ตัวเลขผู้ป่วยที่มีโอกาสได้รับการเพาะเชื้อมีจำนวนที่เพิ่มสูงขึ้นจาก 5% เป็น 9% แต่ก็ยังเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก

          มูลนิธิได้เริ่มเข้าไปประสานงานกับโรงพยาบาลต่าง ๆ ใน จ.เชียงราย ตั้งแต่ พ.ศ. 2539 เมื่อพบผู้ป่วยวัณโรคให้ส่งตัวอย่างเสมหะมาที่ห้องทดลองของมูลนิธิ เพื่อเพาะเชื้อตรวจว่าผู้ป่วยดื้อยาหรือไม่ หลังจากที่เพาะเชื้อเสร็จแล้ว จะส่งไปทดสอบการดื้อยา จากรายงานเมื่อปี 2008 พบว่าทั่วโลกมีผู้ป่วยที่ได้รับการเพาะเชื้อและทดสอบความไวต่อยาแค่ 5% แต่ในปี 2012 ตัวเลขผู้ป่วยที่มีโอกาสได้รับการเพาะเชื้อมีจำนวนที่เพิ่มสูงขึ้นจาก 5% เป็น 9% แต่ก็ยังเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก

          มูลนิธิได้เริ่มเข้าไปประสานงานกับโรงพยาบาลต่าง ๆ ใน จ.เชียงราย ตั้งแต่ พ.ศ. 2539 เมื่อพบผู้ป่วยวัณโรคให้ส่งตัวอย่างเสมหะมาที่ห้องทดลองของมูลนิธิ เพื่อเพาะเชื้อตรวจว่าผู้ป่วยดื้อยาหรือไม่ หลังจากที่เพาะเชื้อเสร็จแล้ว จะส่งไปทดสอบความไวต่อยาหรือยาที่สำนักวัณโรค กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นการทำวิจัยร่วมกัน หลังจากทดสอบเรียบร้อย ก็จะส่งผลกลับมาให้มูลนิธิ และมูลนิธิก็จะส่งผลไปให้โรงพยบาล

          กระบวนการเพาะเชื้อและสังเกตความไวต่อยาระบบอัตโนมัติที่กรุงเทพฯ จะให้เวลาทังหมด 1 เดือน ซึ่งใน 1 เดือนนั้น จะแบ่งเป็นขั้นตอนการเพาะเชื้อและสังเกตความไวต่อยา โดยใช้เครื่องระบบอัตโนมัติประมาณ 2 สัปดาห์ และอีก 2 สัปดาห์จะเป็นกระบวนการการเพาะเชื้อ จัดส่งตัวอย่าง รอผลที่ส่งกลับมา และงานเอกสาร คุณบุญชัยให้ข้อมูลว่ามีไม่กี่จังหวัดที่ใช้วิธีการนี้ นอกนั้นจะใช้การตรวจในห้องทดลองของโรงพยาบาลเอง ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 2 เดือนกว่าจะรู้ผล และยิ่งรู้ผลช้าก็ทำให้การรักษาทำได้ยากขึ้น และโอกาสแพร่กระจายของเชื้อโรคก็มีเพิ่มขึ้น แต่ปัจจุบันการใช้ AutoMODS จะช่วยลดเวลาการทดสอบการดื้อยาให้สั้นลงได้มาก

          นอกจาก AutoMODS แล้ว มูลนิธิยังได้มีนวัตกรรมที่ยังอยู่ในระหว่างการวิจัยคือ CARE-Call ระบบมอนิเตอร์การรับประทานยาของผู้ป่วยแบบไร้สาย เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถรับประทานยาได้อย่างต่อเนื้อง และยังสามารถติดต่อสื่อสารระหว่างผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์เพื่อให้คำปรึกษาได้อย่างรวดเร็วและถูกต้อง ซึ่งได้รับทุนวิจัยจาก Grand Challenge Canada: Stars in Global Health (Round 5)

          คุณบุญชัย เริ่มต้นพัฒนา AutoMODS จากความเชื่อที่ว่ามีความเป็นไปได้ในการพัฒนา โดยเริ่มจากการสำรวจรายงานวิจัยที่เกี่ยวข้องพบว่าเคยมีการศึกษาที่ประเทศเปรูเมื่อปี 2006 ซึ่งได้รายงานผลว่าการเพาะเชื้อบนอาหารเหลว และส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์สามารถให้ผลดีเทียบเท่ากับเครื่องเพาะเชื้อสังเกตความไวต่อยาเชิงพาณิชย์ ที่เรียกว่า MODS (Microscopic Observation Drug Susceptibility) แต่สภาพการทำงานจริงในห้องทดลอง คุณบุญชัยอธิบายว่า วิธีการดังกล่าวมีความเสี่ยงสูง ถ้าเกิดการร่วงหล่นก็จะมีโอกาสติดเชื้อ และถึงขั้นที่ต้องปิดห้องทดลอง

          แต่การพัฒนา AutoMODA จะคำนึงถึงความปลอดภัยในการทำงาน ตั้งแต่การใช้หลอดทดลองที่ปิดสนิท ผลการทดสอบก็ต้องสอบทวนได้ เนื่องจากใช้วิธีการถ่ายภาพ สามารถกลับมาดูผลจากไฟล์ภาพได้ซ้ำ คุณบุญชัยเล่าให้ฟังถึงขั้นตอนการพัฒนา AutoMODS ในช่วงแรก ก่อนที่จะพัฒนาให้สมบูรณ์ขึ้นในระยะต่อมาว่า

          “เริ่มต้นผมใช้ฟิวเจอร์บอร์ด กล้องเว็บแคมตัวเดียว และโน้ตบุ๊คธรรมดาตัวหนึ่ง ทดสอบคอนเซ็ปต์ พอจะไปได้ เลยขออนุญามูลนิธิว่าเป็นไปได้ไหม เราอยากทำตัวนี้ แล้วมีผลดีหลายอย่าง ซึ่งน่าจะคุ้มค่า ทั้งเรื่องของค่าใช้จ่าย แทนที่จะต้องซื้อของต่างประเทศมาใช้ ก็น่าจะลองเตรียมเอง ทำเอง ไม่น่าจะถึงขั้นใช้เทคโนโลยีสุดยอดอะไร เราก็ลองดู เขาก็อนุญาต”

          เมื่อมูลนิธิอนุญาตให้ทำการพัฒนา ศาสตราจารย์ ดร.ยูทากะ ยาซูอิ มหาวิทยาลัยอัลเบอร์ตา ประเทศแคนาดา ซึ่งได้ทำงานร่วมกับมูลนิธิเห็นถึงความเป็นไปได้ จึงให้การสนับสนุน โดยติดต่อกองทุนแห่งหนึ่งที่แคนาดาทำให้ได้งบประมาณมาพัฒนาจนสามารถนำมาใช้ทดลองกับตัวอย่างจริงของคนไข้

          สำหรับชื่อ AutoMODS นพ.สุรัคเมธ มหาศิริมงคล กรรมการของมูลนิธิเป็นผู้ตั้งชื่อ และเป็นผู้ที่เดินทางไปสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ร่วมกับคุณบุญชัยเพื่อไปปรึกษาควาเป็นไปได้ที่จะขอรับการสนับสนุนในโครงการกล่องยาที่ใช้ระบบติดตามการกินยาของคนไข้แบบไร้สาย (CARE-Call) แต่เนื่องจากสำนักงานมีนโยบายสนับสนุนงานที่เสร็จแล้ว มากกว่างานที่กำลังพัฒนา จึงเป็นที่มาของการนำเสนอ AutoMODS เพื่อพิจารณารางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ และในที่สุดก็ได้รางวัลชนะเลิศด้านสังคม ประจำปี พ.ศ. 2556

          คุณบุญชัย ให้ข้อมูลว่าเครื่องเพาะเชื้อและทดสอบความไวต่อยาอัตโนมัติที่จำหน่ายเชิงพาณิชย์ มีผู้ผลิต 3 บริษัทด้วยกัน โดยบริษัทผู้นำตลาดได้ตั้งราคาจำหน่ายเมื่อ 6 ปีที่แล้ว ประมาณ 2,500,000 บาท

          หลักการทำงานของเครื่องเพาะเชื้อและทดสอบความไวต่อยาอัตโนมัติ บริษัทแรก จะใช้การเคลือบสารฟลูออเรสเซนต์หรือสารเรืองแสงไว้ที่ก้นหลอดทดลอง พอเชื้อมีการเจริญเติบโต ในหลอดก็จะมีเครื่องอ่านสัญญาณ บริษัทที่สอง จะใช้อินดิเคเตอร์ที่เปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีเหลือง เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงของคาร์บอนไดออกไซด์ที่อยู่ในหลอด ส่วนบริษัทสุดท้ายจะใช้หลักการวัดความดัน ถ้ามีการเจริญเติบโตในอาหาร ความดันก็จะเปลี่ยน

          แต่ AutoMODS ใช้หลักการประมวลผลภาพหรือ Image Processing คุณบุญชัยอธิบายว่า เป็นการใช้การถ่ายภาพผ่านกล้องจุลทรรศน์ เพื่อสังเกตการณ์เจริญเติบโตของเชื้อในแต่ละวัน ซึ่งแตกต่างจากเครื่องเพาะเชื้อและทดสอบความไวต่อยาอัตโนมัติที่มีอยู่

          ต้นทุนการพัฒนาต้นแบบ AutoMODS มีราคาไม่สูง เนื่องจากเป็นการนำอุปกรณ์ และชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่หาได้ไม่ยากมาประกอบขึ้นเป็นตัวเครื่อง ในขณะที่เมื่อเทียบกับเครื่องเพาะเชื้อและทดสอบความไวต่อยาอัตโนมัติเชิงพาณิชย์ที่ราคาจำหน่ายเป็นหลักล้านบาท พบว่ามีประสิทธิภาพการทดสอบผลที่ใกล้เคียงหรือเทียบเท่า

          แม้ระบบสังเกตความไวของยาด้วยกล้องจุลทรรศน์อัตโนมัติ AutoMODS จะพัฒนาต้นแบบเป็นรูปเป็นร่างแล้วก็ตาม แต่การเพาะเชื้อในห้องทดลองจะใช้เครื่องที่มีมาตรฐานสูงก็ไม่สามารถให้ผลที่ถูกต้องได้ 100% คุณบุญชัยให้ข้อมูลว่า เครื่องเพาะเชื้อและทดสอบความไวต่อยาอัตโนมัติที่จำหน่ายเชิงพาณิชย์ ก็ยังต้องมีการควบคุมคุณภาพ โดยการส่งไปทดสอบกับห้องทดลองอื่นปีละ 30 ตัวอย่าง

          ดังนั้น การประเมินประสิทธิผลในการทำงานของ AutoMODS ก็เช่นกันที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง จึงต้องมีการประเมินกับกลุ่มตัวอย่างที่มากขึ้น แม้หลักการในการทำงานจะเชื่อถือได้ แต่ที่ต้องปรับปรุงคุณภาพให้ดีขึ้นก็คือ วัตถุที่ใช้ประกอบเป็นเครื่องต้นแบบ ซึ่งคุณบุญชัยเล่าว่าต้องหาซื้อแผ่นอะคริลิค เหล็ก อะลูมิเนียม แผ่นกันความร้อน และต้องไปเดินหามอเตอร์แถวบ้านหม้อ ที่กรุงเทพฯ จึงยังต้องการการปรับเปลี่ยน

          แต่เป็นที่น่ายินดี หลังจากได้รับรางวัลชนะเลิศ ด้านสังคม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติได้ให้การสนับสนุน และให้พัฒนา AutoMODS อีก 2 เครื่อง โดยใช้วัสดุอุปกรณ์ที่มีมาตรฐานเชิงอุตสาหกรรมมากขึ้น คุณบุญชัยอธิบายถึงสิ่งที่จะเปลี่ยนไปก็คือ รูปทรง (Body) ของเครื่องจะแตกต่างจากต้นแบบ อาจจะมี 2 รูปแบบ คือ รองรับผู้ป่วยจำนวนมาก และผู้ป่วยจำนวนน้อย การใช้งานจะง่ายขึ้น และปลอดภัย นอกจากนี้คุณบุญชัยยังเสนอยังกองทุนโลก (The Global Fund) ซึ่งเป็นกองทุนที่ต่อสู้กับปัญหาโรคเอดส์ วัณโรค และมาลาเรีย เพื่อขอรับการสนับสนุนในการนำเครื่อง AutoMODS ไปทดสอบตามสถานพยาบาลที่มีผู้ป่วยดื้อยาจำนวนมาก เช่น สถาบันโรคทรวงอก สำนักวัณโรค เป็นต้น เพื่อสร้างความมั่นใจในผลการทดสอบให้มีมากขึ้น

บทเรียนจากความสำเร็จ: From Zero to Hero

          ประโยชน์ของ AutoMODS ที่เห็นได้อย่างชัดเจนก็คือ ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการเพาะเชื้อและทดสอบการดื้อยา ซึ่งถูกกว่าเครื่องเพาะเชื้อและทดสอบความไวต่อยาอัตโนมัติที่จำหน่ายเชิงพาณิชย์ถึง 5 เท่า ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสในการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยวัณโรคให้มีมากขึ้น และที่สำคัญถ้าพบคนป่วยที่ดื้อยา 1 รายได้อย่างรวดเร็ว ก็จะช่วยลดการติดต่อไปยังคนอื่น ๆ ได้อีกมาก นับว่าเป็นการหยุดวงจรการแพร่ระบาดได้เป็นอย่างดี

          กับคำถามทิ้งท้ายให้คุณบุญชัยวิเคราะห์ว่า ทำไมสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติถึงมอบรางวัลชนะเลิศด้านสังคมให้แก่ผลงานการประดิษฐ์ AutoMODS คำตอบที่ถ่อมตัวทำให้เข้าใจมุมมองของเขาที่คิดเสมอว่าความสามารถหรือความสำเร็จในการทำบางอย่างของคนเรา ไม่จำเป็นต้องมาจากปริญญา แต่เกิดจากความมุ่งมั่น และตั้งใจจริงมากกว่า

          “ผมก็ยังแปลกใจอยู่ แต่คิดว่าเพราะมีผลกับคนโดยรวม แล้วเป็นเรื่องสุขภาพที่มีผลกระทบกับคนส่วนใหญ่ ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ยินดี เนื่องจากตัวผมไม่คิดว่าเครื่องเป็นเรื่องนวัตกรรมอะไรมาก ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีสุดยอดที่ต้องใช้ดอกเตอร์ปริญญาเอกมาคิด ผมคิดแบบบ้าน ๆ แล้วทำจากสิ่งที่คิดว่าน่าจะเป็น และไม่ได้ใช้เทคโนโลยี หรืออะไรซับซ้อน เพียงแต่เราใช้อะไรที่ยังไม่เคยมีใครทำ Image Processing กับ TB เราก็มาทำเหมือนทุกอย่างลงตัวกับงานชิ้นนี้เท่านั้นเอง”

          บทเรียนจากความสำเร็จของคุณบุญชัยสะท้อนความเชื่อของเขาที่ยืนยันอย่างหนักแน่นว่า จินตนาการมาก่อนความรู้ ทำให้ทุกวันนี้เขาต้องชมภาพยนตร์แทบจะทุกเรื่อง เพื่อสร้างจินตนาการ นอกจากนี้เขายังได้แรงบันดาลใจจาก โทมัส อัลวา เอดิสัน ที่เคยกล่าวไว้ว่า กว่าจะประดิษฐ์หลอดไฟฟ้าได้สำเร็จ เขาต้องล้มเหลวมาเกือบ 2,000 ครั้ง แต่สาเหตุที่เอดิสันไม่ละความพยายามก็เพราะเขาเชื่อว่าเขาไม่ได้ล้มเหลว เพียงเรียนรู้วิธีการประดิษฐ์หลอดไฟที่ไม่สำเร็จมาเกือบ 2,000 ครั้ง และในที่สุดเขาก็ค้นพบวิธีประดิษฐ์หลอดไฟได้สำเร็จ

          แม้รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2556 รางวัลชนะเลิศ ด้านสังคม จะได้มอบให้คุณบุญชัย ไชยาศิรินทร์โรจน์ไปแล้ว แต่สำหรับภารกิจของเขาก็ยังคงเดินต่อไป เพื่อให้สิ่งประดิษฐ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้มีโอกาสช่วยเหลือผู้คนที่ต้องทรมานกับวัณโรคให้หายขาดจากโรคร้ายนี้

 

หมายเลขบันทึก: 714846เขียนเมื่อ 9 ตุลาคม 2023 22:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 ตุลาคม 2023 07:56 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท