เมื่อวันที่แบรนด์จีนก้าวไกลกว่าสินค้าก็อป


ปัจจุบันสินค้าจีนที่มีคุณภาพ เถ้าแก่รุ่นใหม่ ต่าง “คิดใหม่ ทำใหม่” รัฐบาลจีนเองก็มี “Made in China 2025” ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ชาติที่ประกาศเมื่อปี 2015 โดยต้องการผลักดันประเทศให้เป็นมหาอำนาจด้านอุตสาหกรรมและการผลิตโลกใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรม มีการสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรม นำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการผลิต รวมทั้งสร้างความมั่นใจในแบรนด์จีน การมองสินค้าจีนทุกวันนี้จึงมองแบบเหมารวมว่าสินค้าจีนทุกอย่างไม่มีคุณภาพไม่ได้ เพราะการผลิตสินค้าบางอย่างมีการพัฒนาเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำไปกว่าฝรั่งเสียเสียอีก

เมื่อวันที่แบรนด์จีนก้าวไกลกว่าสินค้าก็อป

 

                ความรู้สึกอย่างหนึ่งพอพูดถึงสินค้าจีน คนส่วนใหญ่มักคิดว่าเป็นสินค้าไม่มีคุณภาพ ชอบก็อปปี้คนอื่น แต่จีนเป็นประเทศใหญ่ มีผู้ผลิตเยอะ ทำให้สินค้ามีหลายระดับราคา และเป็นธรรมดาที่พ่อค้าแม่ค้าคนไทยมักจะเลือกซื้อสินค้าราคาถูกมาจำหน่าย จึงไม่แปลกที่จะเห็นสินค้าจีนตลาดล่างขายอยู่เกลื่อนเมือง หลายคนอาจสงสัยว่าสินค้าจีนบางอย่างถูกแสนถูก ผลิตแล้วกำไรจะได้จากไหน คำตอบคือ จีนมีประชากรเกือบพันสี่ร้อยล้านคน เมื่อผลิตเพื่อขายทั้งในและนอกประเทศจำนวนมากๆ ต้นทุนต่อหน่วยก็ย่อมจะถูกเป็นธรรมดา

ปัจจุบันสินค้าจีนที่มีคุณภาพ เถ้าแก่รุ่นใหม่ ต่าง “คิดใหม่ ทำใหม่” รัฐบาลจีนเองก็มี “Made in China 2025”  ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ชาติที่ประกาศเมื่อปี 2015 โดยต้องการผลักดันประเทศให้เป็นมหาอำนาจด้านอุตสาหกรรมและการผลิตโลกใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรม มีการสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรม นำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการผลิต รวมทั้งสร้างความมั่นใจในแบรนด์จีน การมองสินค้าจีนทุกวันนี้จึงมองแบบเหมารวมว่าสินค้าจีนทุกอย่างไม่มีคุณภาพไม่ได้ เพราะการผลิตสินค้าบางอย่างมีการพัฒนาเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำไปกว่าฝรั่งเสียเสียอีก ตัวอย่างเช่น โรงงานผลิตยางรถยนต์ของจีนที่มาลงทุนในประเทศไทยใช้หุ่นยนต์ควบคุมการผลิตแทนแรงงานคนแทบจะทั้งโรงงาน

                ด้วยวิญญาณพ่อค้าแม่ขายของคนจีนที่อยู่ในสายเลือด ย่อมรู้ดีว่าการสร้างแบรนด์นั้นสามารถทำกำไรได้มากกว่า และเชื่อได้ว่านับจากนี้เป็นต้นไปตลาดสินค้าเกรดเอของจีนต่างหันมาสร้างแบรนด์กันอย่างจริงจัง กลับมาคำถามที่ว่าแล้วการสร้างแบรนด์มันคืออะไร? 

คำอธิบายง่ายๆ แบบไม่อิงวิชาการ การสร้างแบรนด์คือ การสร้างความรู้สึกเชิงบวกให้เกิดขึ้นในใจกลุ่มเป้าหมาย สาระสำคัญของการสร้างแบรนด์ไม่ใช่แค่การตั้งชื่อสินค้า หรือการออกแบบโลโก้ แต่ชื่อและโลโก้จะต้องทำหน้าที่ช่วยสนับสนุนความรู้สึกเชิงบวกให้เกิดขึ้นในใจลูกค้า เช่น สินค้าประเภทสำลี คงไม่มีใครตั้งชื่อยี่ห้อว่า “ดำตับเป็ด” เป็นแน่ ส่วนใหญ่ที่เราเห็นในท้องตลาดก็จะเห็นแต่สำลีตรานางพยาบาล รถพยาบาล เพื่อสร้างความรู้สึกสะอาดบริสุทธิ์  หรือบริษัทรับขนส่งสินค้า ก็คงไม่มีใครออกแบบโลโก้เป็นรูป “เต่ากัดยาง” ที่จะทำให้รู้สึกว่าเชื่องช้าอย่างแน่นอน

แบรนด์สินค้าระดับบนของจีนที่คนไทยเริ่มเปิดใจยอมรับคุณภาพมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เหมือนกับครั้งหนึ่งเราไม่ได้ยอมรับแบรนด์เกาหลี แต่ปัจจุบันสินค้าเกาหลีบางอย่างในไทยยอดขายแซงหน้าแบรนด์ญี่ปุ่นไปไกล จึงไม่น่าแปลกที่แบรนด์ Huawei, Lenovo, Baidu, Alibaba, LeTV กำลังมาแรง แซงทางโค้ง จนทั้งแบรนด์ฝรั่ง ญี่ปุ่น เกาหลีต้องหนาวๆ ร้อนๆ ยิ่งเห็นผลการจัดอันดับของ Fortune Global 500 บริษัทที่มีผลประกอบการดีที่สุดในโลก ประจำปี 2017 บริษัทในกลุ่มพลังงานของจีนติดอันดับ 2-3-4  เริ่มจากอันดับ 2 State Grid อันดับ 3 Sinopec Group และอันดับ 4 China National Petroleum 

การผลิตสินค้าเลียนแบบ หรือการรับจ้างผลิต เห็นได้ชัดว่าอยู่บนความไม่แน่นอน แถมอำนาจต่อรองก็ยังต่ำ แต่ถ้าสร้างแบรนด์สินค้าจนประสบผลสำเร็จ ลูกค้าไว้เนื้อเชื่อใจ  ผลกำไรที่เกิดจากการตั้งราคาขายได้สูงกว่า และต้นทุนการผลิตที่มาจากการซื้อวัตถุดิบจำนวนมากแล้วซื้อได้ในราคาที่ถูก ก็ย่อมจะสร้างความได้เปรียบในเชิงธุรกิจได้มากกว่าสินค้าที่ไม่สร้างแบรนด์อย่างแน่นอน.....

 

หมายเหตุ : เป็นผลงานที่เขียนในวารสารกรมพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน

หมายเลขบันทึก: 714578เขียนเมื่อ 25 กันยายน 2023 06:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กันยายน 2023 07:01 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท