เรื่องภิกษุอาคันตุกะ ๕๐๐ รูป
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๗ [ฉบับมหาจุฬาฯ]
ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต
พลตรี มารวย ส่งทานินทร์
๒๐ กันยายน ๒๕๖๖
๑๑. ปัญจสตอาคันตุกภิกขุวัตถุเรื่องภิกษุอาคันตุกะ ๕๐๐ รูป
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุอาคันตุกะผู้อยู่ในแคว้นโกศล ดังนี้)
[๘๗] บัณฑิตละธรรมดำ (ธรรมดำ หมายถึงอกุศลธรรม มีกายทุจริต เป็นต้น) แล้วพึงเจริญธรรมขาว (ธรรมขาว หมายถึงกุศลธรรม มีกายสุจริต เป็นต้น) ออกจากวัฏฏะมาสู่วิวัฏฏะ (ออกจากวัฏฏะมาสู่วิวัฏฏะ หมายถึงออกจากวัฏฏะที่เรียกว่า โอกะ (ที่มีน้ำ) มาสู่วิวัฏฏะที่เรียกว่า อโนกะ(ที่ไม่มีน้ำ) ได้แก่ นิพพาน)
[๘๘] ละกามทั้งหลายแล้ว เป็นผู้หมดความกังวล พึงปรารถนายินดียิ่งในวิเวกที่ยินดีได้ยากยิ่ง พึงชำระตนให้ผ่องแผ้วจากเครื่องเศร้าหมองแห่งจิตทั้งหลาย
[๘๙] บัณฑิตเหล่าใดอบรมจิตโดยชอบ ในองค์ธรรมเป็นเครื่องตรัสรู้ทั้งหลาย ไม่ถือมั่น ยินดีในนิพพานเป็นที่สละความถือมั่น บัณฑิตเหล่านั้นสิ้นอาสวะแล้ว มีความรุ่งเรือง ดับสนิทแล้วในโลก
ปัณฑิตวรรคที่ ๖ จบ
-------------------
คำอธิบายเพิ่มเติมนำมาจากบางส่วนของอรรถกถา
ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ปัณฑิตวรรคที่ ๖
๑๑. เรื่องภิกษุอาคันตุกะ [๗๐]
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพวกภิกษุอาคันตุกะ ตรัสพระธรรมเทศนานี้.
พระศาสดาตรัสเหมาะแก่ความประพฤติ
ดังได้ทราบมาว่า ภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูป จำพรรษาอยู่ในแคว้นโกศล ออกพรรษาแล้ว ปรึกษากันว่า "จักเฝ้าพระศาสดา" จึงไปยังพระเชตวัน ถวายบังคมพระศาสดาแล้ว นั่งอยู่ ณ ที่สุดแห่งหนึ่ง.
พระศาสดาทรงพิจารณาธรรมอันเป็นปฏิปักษ์แก่จริยาของพวกเธอ
เมื่อจะทรงแสดงธรรม ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า :-
กณฺหํ ธมฺมํ วิปฺปหาย สุกฺกํ ภาเวถ ปณฺฑิโต
โอกา อโนกมคมฺม วิเวเก ยตฺถ ทูรมํ
ตตฺราภิรติมิจฺเฉยฺย หิตฺวา กาเม อกิญฺจโน
ปริโยทเปยฺย อตฺตานํ จิตฺตเกฺลเสหิ ปณฺฑิโต.
เยสํ สมฺโพธิยงฺเคสุ สมฺมา จิตฺตํ สุภาวิตํ
อาทานปฏินิสฺสคฺเค อนุปาทาย เย รตา
ขีณาสวา ชุติมนฺโต เต โลเก ปรินิพฺพุตา.
บัณฑิตละธรรมดำแล้ว ออกจากอาลัย อาศัยธรรมอันหาอาลัยมิได้แล้ว ควรเจริญธรรมขาว, ละกามทั้งหลายแล้ว หมดความกังวล พึงปรารถนาความยินดียิ่งในวิเวก อันเป็นที่ซึ่งประชายินดีได้ยาก, บัณฑิตควรทำตนให้ผ่องแล้ว จากเครื่องเศร้าหมอง.
ชนเหล่าใดอบรมจิตดีแล้วโดยชอบในองค์ธรรมแห่งความตรัสรู้, (และ) ชนเหล่าใดไม่ถือมั่น ยินดีในการละเลิกความถือมั่น, ชนเหล่านั้นๆ เป็นพระขีณาสพรุ่งเรือง ดับสนิทแล้วในโลก.
ในเวลาจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลายมีโสดาปัตติผลเป็นต้น ดังนี้แล.
เรื่องภิกษุอาคันตุกะ จบ.
บัณฑิตวรรควรรณนา จบ.
วรรคที่ ๖ จบ.
-----------------------------------------------------
ไม่มีความเห็น