บทเรียนของชีวิต (Life Lessons)


ขณะที่สอนวิชาแผนและนโยบายวันก่อนมีลูกศิษย์คนหนึ่งอยากให้ผมแชร์บทเรียนชีวิตที่ผมเชื่อว่าเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตของผมคืออะไร ซึ่งผมบอกลูกศิษย์ว่าบทเรียนชีวิตเกิดขึ้นทุกวัน และการตัดสินใจทุกขณะจิตคือบทเรียนชีวิต การตัดสินใจแต่ละครั้งเป็นทางเลือกที่เราต้องเดินต่อ ไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไรก็ต้องยอมรับผลเรียนรู้จากการตัดสินใจและประสบการณ์ดังกล่าว หรือที่ผมเรียกว่า     ‘การเรียนรู้เพื่อเรียนรู้’

ตอนเกษียณอายุราชการ 65 ปี (ด้วยผมได้รับสิทธิ์ให้ขยายอายุราชการเป็น 65 ปี) ผมได้เขียนหนังสือ ‘บทเรียนชีวิต: เส้นทางสูู่ความสำเร็จ’ เป็นที่ระลึกในวาระดังกล่าว ผู้สนใจหาอ่านได้จากห้องสมุดมหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งผมส่งมอบหนังสือที่ผมเขียนให้ประจำอยู่แล้ว หรือไม่ก็หอสมุดแห่งขาติ อย่างไรก็ตาม จากวันนั้นถึงวันนี้หากจะต้องสรุปแก่นของบทเรียนสัก 3 บทเรียนแล้วผมสรุปได้ดังนี้ครับ 

ปลี่ยนแปลงเป้าหมายชีวิตให้สอดคล้องกับสภาวะ 

ชีวิตคือการเรียนรู้ ดังนั้ันเราไม่ควรติดยึดกับสิ่งที่เราคิดว่าดีแล้ว เพราะเมื่อสิ่งต่างๆ เปลี่ยนไป และเรามีบทเรียนมากขึ้น ต้องปรับเป้าหมายชีวิต และปรัชญาชีวิตให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับตนเอง และเพื่อนมนุษย์ ตลอดจนสรรพสิ่งให้มากที่สุดเท่าที่สติปัญหาของเราจะคิดได้ 

ก่อนนี้ผมเชื่อว่า เมื่อเราตั้งเป้าหมายอย่างไร เราต้องทำให้ได้จึงจะถือว่าเป็นผํู้ประสบความสำเร็จ และมีปรัชญาชีวิตว่า ‘งานไม่เสร็จ คนเสร็จ คือยอมตายดีกว่าล้มเหลว’ ซึ่งนำไปสู่ความผิดหวัง มากกว่าความสมหวัง และเครียด ไม่มีความสุข และแล้วช่วงที่กำลังเรียนปริญญาเอกอยู่นั้นก็ได้บทเรียนใหม่คือ ‘ทำไมเราได้ทำทุกอย่างให้ดีที่สุดเท่าที่ศักยภาพเรามี ทำแล้วผลจะเป็นอย่างไรก็ต้องยอมรับ และเรียนรู้จากประสบการณ์ดังกล่าว’ แล้วปรัชญาชีวิตก็เปลี่ยนไปเป็น ‘ทำทุกอย่างให้ดีที่สุด ผลจะเป็นอย่างไรก็ต้องรับได้ และปล่อยงาง  หรือ Do your best, and let it go’ หลังจากนั้นก็พบว่าชีวิตดีขึ้น มีความสุุขขึ้น ครับ 

การเรียนรู้เพื่อเรียนรู้

จากการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดและปรัชญาข้างต้น ผมก็ได้หลักคิดใหม่ว่า ‘นอกจากชีวิตคือการเรียนรู้แล้ว การเรียนรู้ที่ดีก็คือการเรียนรู้เพื่อเรียนรู้ต่อไป และมากขึ้น' นี่คือความจริงของชีวิต โดยเฉพาะสภาวะโลกในปัจจุบันซึ่งมีสภาวะการเปลี่ยนแปลงที่ไร้ทิศทาง รวดเร็ว รุนแรง และไร้แบบแผน หรือคลุมเครือ ดังนั้นเราต้องพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงบนฐานการเรียนรู้ สิ่งที่เคยถูกต้อง หรือทำได้ หรือแก้ปัญหาได้ในอดีต อาจจะใช้ไม่ได้ในปัจจุบัน หรืออนาคต นักวิทยาศาสตร์ที่ฉลาดที่สุดคนหนึ่ง คือ ไอสไตน์ บอกว่า ‘มีแต่คนโง่เท่านั้นที่ทำเหมือนเดิม แต่อยากให้ผลแบบใหม่’ ดังนั้นการเรียนรุ้ เพื่อเรียนรู้จึงเป็นวิถีใหม่ของการดำรงชีวิตครับ

ที่สำคัญคือเราไม่สามารถรู้ทุกอย่าง และทำเองได้ทั้งหมดการมีเพื่อนและเครือข่ายเป็นสิ่งสำเคัญในการเรียนรู้ครับ การแบงปันเป็นหัวใจสำคัญของการเรียนรู้และเครือข่ายครับ ดังสโลแกนชีวิตของผมที่ว่า  ‘รู้อะไรไม่สู้รู้จักกัน’ แต่รู้จักการเพื่อสร้างสรรค์สิ่งดีงามให้กับตนเองและเพื่อนมนุษย์ครับ นี่คือการเรียนรู้ที่แท้จริงครับ 

ความสำเร็จสะสมสำคัญกว่ามหากาพย์ความสำเร็จ 

เรื่องสุดท้ายคือ ความสำเร็จสะสมสำคัญกว่ามหากาพย์ความสำเร็จ หรือความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ เพราะถ้าเรามัวรอความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่อย่างเดียว เราอาจจะไม่มีวันประสบผลสำเร็จ แต่ถ้าเราพึงพอใจในความสำเร็จที่เราทำได้ในแต่ละนาที แต่ละชั่วโมง และแต่ละวันแล้ว เราก็จะประสบผลสำเร็จทุกวัน มีความสุุขทุกนาที ทุกชั่วโมง และทุกัน 

จริงอยู่เราอาจจะมีเป้าหมายสูงสุด หรือเป้าหมายมหาภาคของชีวิต แต่เราก็ควรจัดแบ่งเป้าหมายดังกล่าวให้เล็กลง มีขนาดพอที่จะทำให้ในเวลาไม่มากนัก ถ้าเราทำสำเร็จและสละสมความสำเร็จเหล่านั้นไปทุกวันเราก็จะมีแรงจูงใจ มีความสุข และกำลังใจในการทำงานต่อไป จริงอยู่การทำงานก็ต้องเหนื่อย แต่เราควรเหนื่อยแล้วสุข หรือเหนื่อยแล้วทุกข์ ก็เลือกเอานะครับ

สมาน อัศวภูมิ

16 กันยายน 2566

หมายเลขบันทึก: 714447เขียนเมื่อ 16 กันยายน 2023 07:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 กันยายน 2023 07:10 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท