ปรากฏการณ์ใหม่การเมืองไทย : อีลีทฝ่ายอนุรักษ์ยึดอำนาจ


ปรากฏการณ์ใหม่การเมืองไทย : อีลีทฝ่ายอนุรักษ์ยึดอำนาจ

15 กันยายน 2566

: ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น) [1]

 

การเมืองไทยช่วงหลังเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 มาถึง ณ ปัจจุบัน ทำเอาคนท้องถิ่นใจหายใจคว่ำ ดูทิศทางการเมืองในการกระจายอำนาจไม่ถูกว่า จะไปต่ออย่างไร เพราะมีข้อสรุปยุติว่า อีลีท (Elite) [2] ชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษ์นิยม (Conservative) [3] ได้ยึดอำนาจทางการเมืองไว้ได้แล้ว หลายคนดีใจที่เป็นประชาธิปไตยฝ่ายอนุรักษ์ และอีกหลายคนทำท่าเป็นห่วงว่า ประชาธิปไตยไทยจะไปต่อแบบไหน โดยเฉพาะประชาธิปไตยฝ่ายก้าวหน้า (Progressive/Liberal) [4] ทำเอาคนท้องถิ่นเองงงๆ กับคำว่าประชาธิปไตย เพราะคำนี้ทำเอาคนท้องถิ่นหัวเสียมานานแล้ว นับตั้งแต่สมัยผู้ใหญ่ลี (2504) [5] เป็นต้นมา มาถึงสมัยหนึ่งก็มีการประดิษฐ์วาทกรรมว่า “ประชาธิปไตยที่กินได้” [6] หรือ “ประชาธิปไตยทุนนิยมสามานย์” [7] ขึ้นมา เพื่อสร้างนวัตกรรมทางการเมืองที่แปลกๆ เพื่อการโน้มน้าว โฆษณาชวนเชื่อ หาแนวร่วม จนกระทั่งเกิดการชุมนุมใหญ่ต่อต้านรัฐบาล และเกิดรัฐประหาร เป็นวงจรอุบาทว์มาแล้วหลายๆ รอบ 

 

ประชาธิปไตยไทยโดยเฉพาะการรกระจายอำนาจ ชักเข้าชักออกมาร่วม 60 ปีกว่า 

ประชาธิปไตยไทยจึงก้าวแบบถอยหน้าถอยหลัง เหตุผลที่ ทำไมการเมืองประชาธิปไตยไทยชักเข้าชักออก [8] คืออะไร มีปัจจัยใดเข้ามาเกี่ยวข้องบ้าง คงต้องหันมามองความเห็นต่างๆ ของคน ที่ว่าคือทั้งสองอย่าง ทั้งความเห็นด้วย และความเห็นต่างรวมๆ กัน เพราะคงไม่มีความเห็นของใครคนใดคนหนึ่งถูกต้องทั้งหมดเป็นแน่ ซึ่งอาจจะเห็นผิดหรือเห็นถูกก็ได้ เพราะในหลายๆ ความเห็นนั้นเป็น “อัตวิสัย” (Subjective) [9] ที่เป็นความเชื่อส่วนบุคคล มักเจือปนด้วยอคติต่างๆ ไว้ด้วย ที่สำคัญก็คือ ต่างฝ่ายต่างคน ต่างมีขั้วของตัวเอง การแสดงความเห็นที่ออกมาจึงแตกต่างกันเป็นธรรมดา โดยเฉพาะคนที่ถือความเชื่อฝั่งอนุรักษ์นิยม ฝั่งอำนาจนิยม ฝั่งประชาธิปไตย ฝั่งก้าวหน้า คงคิดไม่เหมือนกัน มีอุดมการณ์ความเห็นที่ไม่ตรงกันแน่ๆ ต่างคนต่างคิด พวกไหนมีจำนวนมากกว่า มีพลังมากกว่า โดยเฉพาะพลังการถ่ายทอดสื่อสาร ก็ย่อมกระจายข่าวสารสู่สังคมโซเซียลได้มากกว่า เร็วกว่า วิญญูชนที่มีอยู่ทั่วๆ ไป ย่อมหยั่งรู้และใช้วิจารณญาณของตนเองได้ คงไม่ต้องมีใครมาชี้นำ เรียกว่า “หัวคะแนนธรรมชาติ” [10] เพราะ อีกฝั่งหนึ่งเกรงว่าจะมีการชี้นำ และกลัวว่าเป็นการชี้นำที่ผิดไปจากความเชื่อของตน นี่ก็คือความวิตกจริตที่เกิดขึ้นในแต่ละฝั่งฝ่าย

การกระจายอำนาจท้องถิ่น (Decentralization) [11] ล้มเหลวเพราะคนท้องถิ่นเองก็กระสันต์อยากได้อำนาจเหมือนกัน ด้วยตรรกะของกระจายอำนาจก็คือ “การกระจายการตัดสินใจ” (Decision Making) [12] ในเรื่องสาธารณะให้คนในท้องท้องได้มีบทบาท โดยมีการคัดสรรในทางเลือกต่างๆ ที่คิดว่าดีที่สุดไว้แล้ว ด้วยนวัตกรรมท้องถิ่น (Local Innovation) [13] แห่งโลกปัจจุบันที่หลากหลาย เช่น บทบาทของคณะกรรมการชุมชน (เทศบาล), กรรมการพัฒนาเทศบาล, กรรมการติดตามประเมินผลแผนพัฒนาเทศบาล หรือแม้แต่กรรมการตรวจรับงานก่อสร้าง ถนน, ทางระบายน้ำ, สวนสาธารณะ ฯลฯ รวมทั้ง อบต. อบจ. เมืองพัทยา และ กทม.ในฐานะที่เป็นท้องถิ่น (อปท.)ด้วยกัน เป็นต้น ซึ่งทฤษฎีการปกครองท้องถิ่นต่างเห็นพ้องว่า การกระจายอำนาจให้แก่ท้องถิ่นดีที่สุด

ในการมีบทบาทหน้าที่ (Role) [14] รวมทั้งความเห็น ข้อคิด ข้อเสนอแนะ แลกเปลี่ยน ฯลฯ ด้วย เหล่านี้ ย่อมเป็นผลดีต่อชุมชนในพื้นที่แน่นอน เพราะแสดงให้เห็นถึง “ความมีส่วนร่วม” (Participation) [15] ในชุมชน ทำให้เกิดสำนึกร่วมในท้องถิ่นชุมชนนั้นๆ (Social/Organizational Commitment) [16] ที่มีสำนึกรับผิดชอบ (Accountability) ว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน (Sense of Belonging & Sense of Community) มีจิตสำนึกความเป็นเจ้าของ (Ownership Quotient) เป็นสำนึกของพลเมือง เป็นสำนึกและรับผิดชอบต่อส่วนรวม (Active Citizen) แม้ในองค์กรเล็กในฐานะสมาชิกก็มีจิตสำนึกรักองค์กร (Employee Engagement) ที่นำไปสู่การเป็น “จิตอาสาสาธารณะ” (Public) หรือ อาสาสมัคร (Volunteer) ที่ถือเป็นหัวใจขององค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร[17] ซึ่งองค์กรภาครัฐก็นำหลักการนี้มาใช้ได้เช่นกัน ฯลฯ เหล่านี้เป็นต้น ซึ่งเป็นสิ่งที่พึงปรารถนาต้องการมากในทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ที่หมายรวมถึง "การบริหารการพัฒนา" (Development Administration) [18] ด้วย 

นอกจากการตัดสินใจในโครงการแล้ว ที่สำคัญมากคือ ยังมีการตัดสินใจในเรื่อง “งบประมาณ” (Budgeting) [19] ด้วย หากมองเส้นทางการเงินและบทบาทหน้าที่ จะหมายรวมถึง การจัดหารายได้, การใช้จ่าย, การติดตามประเมินผล เพื่อสะท้อนถึงความประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ความบกพร่อง ปัญหาอุปสรรคต่างๆ ได้เป็นอย่างดี แต่ที่ผ่านมาการกระจายอำนาจท้องถิ่นไทยประสบกับปัญหาและเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคต่างๆ นานา ก็เพราะว่า การบริหารราชการส่วนกลางที่ยังมีการกุมอำนาจ ในเรื่อง การอนุมัติ อนุญาต สัมปทานเอาไว้ และยังมีอำนาจแฝงในการบริหารกิจการสาธารณะ (Public Service) [20] ต่างๆ ที่อาจส่อเสี่ยงผิดกฎหมาย ศีลธรรมจรรยา เช่น ส่วยทางหลวง, ส่วยบ่อนการพนัน, ส่วยสถานบันเทิง, ส่วยหวยเถื่อน, ส่วยวินรถรับจ้าง, ส่วยป่าไม้ (รวมส่วยทรัพยากรต่างๆ อาทิบ่อทราย, โรงโม่หิน เป็นต้น) ส่วยสินค้าข้ามชายแดน, สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ ฯลฯ ถือเป็นจุดบอดของการรวบอำนาจอย่างมาก

 

เอาใจเขามาใส่ใจเรา (Sympathy & Empathy) ต่อประชาชนผู้เลือกตั้งหรือไม่ 

อาการชักเข้าชักออกของพรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ทำเอาฝ่ายประชาธิปไตยสับสนไปหมด เรียกว่าหัวหมุน ลุ้นกันใจจะขาด ทำเอาคนคิดมากคิดหลายอย่าง ว่าเป็นเกมการเมือง หรือการละคร หรือปั่นกระแสมวลชน แม้ว่าเป้าหมายสุดท้ายชัดเจน นั่นคือการให้ได้มาซึ่งอำนาจทางการเมือง (Politics) ได้เป็นรัฐบาล และ นายกฯ แต่คุณจะทำอย่างไรก็ช่าง เห็นหัวอกประชาชนหรือไม่ยังจำเป็นมาก 

ในท่ามกลางความสมานฉันท์ปรองดอง (reconciliation) [21] ที่สังคมปัจจุบันปรารถนา ในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของชุมชน/สังคม เป็นจัดการความขัดแย้งระหว่างกลุ่มในสังคมที่เคยแตกแยกกัน ซึ่งควรหลีกเลี่ยงวาทกรรมแห่งความขัดแย้ง เรียกว่า “ถูกกาลเทศะ” แม้สิ่งที่พูดออกมาจะเป็นความจริง (Inconvenient Truth) [22] ก็ตาม สังคมต้อง resilience (เด้งกลับ) [23] อ่อนโยนปรับตัวยืดหยุ่นให้สอดคล้องกับสังคมที่ disrupt อย่างรวดเร็วนี้ กล่าวคือจึงต้องมี “Sympathy & Empathy” [24] ผู้คนในสังคมต้องมีความเห็นอกเห็นใจและเข้าใจซึ่งกันและกัน เรียกว่า "เอาใจเขามาใส่ใจเรา" ด้วย นอกจากนี้ต้องมีทักษะ “Resilience Mindset” [25]ที่กลายเป็นหนึ่งในทักษะสำคัญของคนทำงานยุคนี้ การมีทักษะนี้จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งทางด้านอารมณ์ ทำให้รับมือกับปัญหาได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะในช่วงช่วงสภาวะวิกฤตอย่างในปัจจุบัน ที่มีการเปลี่ยนแปลง ปรับเปลี่ยนตลอดเวลา จนหลายครั้งที่สิ่งที่วางแผนไว้ไม่สามารถเป็นไปได้ตามที่ตั้งใจไว้ คนที่ยืดหยุ่น พร้อมจะปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ ทั้งในเชิงแผนงาน และสภาพอารมณ์จิตใจ จึงจะอยู่ได้อย่างแข็งแกร่งท่ามกลางสถานการณ์แบบนี้ และเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนองค์กร และธุรกิจให้เติบโตต่อไป ปัจจุบัน Resilience ถูกนำมาใช้กับระดับทีมด้วย เรียกว่า Group resilience

 

พันธะใน “สัญญาประชาคม” (Social Contract) ต่อประชาชนต้องมาก่อน

ไม่ว่าคณะผู้บริหารประเทศ (คณะรัฐมนตรี : ครม.) ชุดใดๆ ก็ตามจะใช้งานกลไกของรัฐในการขับเคลื่อนนโยบาย ก็ต้องใช้บุคลากร (คน) ที่เขาไว้วางใจได้ อันเป็นที่มาของระบบอุปถัมภ์ในทางการเมือง (Patronage System) [26] เชื่อว่าอีกช้าไม่นาน ตำแหน่งข้าราชการใหญ่ๆ ตามจุดสำคัญต่างๆ ทั้งในราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาค คงได้ปรับโยกใหญ่แน่นอน ไม่ว่าใครจะเข้ามาเป็นผู้บริหารประเทศ ที่มาจากพรรค การเมืองใด ทั้งที่มาจากยึดอำนาจ หรือไม่ได้ยึดอำนาจมาก็คิดเหมือนกันทั้งนั้น ทั้งนี้เพื่อให้การบริหารของตนเป็นที่ครองใจประชาชน เรียกว่า “เป็นการหาเสียง” นั่นแหละ เพียงแต่ หากเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ย่อมมีจุดเชื่อมผูกมัดยึดโยง (Connecting Points) [27] กับอำนาจของประชาชนได้โดยตรง เพราะ ประชาชนเป็นผู้เลือกตั้งเข้ามา เพื่อให้เข้ามาบริหารตาม “สัญญาประชาคม” [28] ที่พรรคการเมืองเหล่านั้นได้ให้สัจจะไว้กับประชาชน หากพรรคการเมืองใดไม่รักษาสัจจะคำพูดนั้น อีก 4 ปีข้างหน้าก็จะถูกลงโทษ อาจไม่ได้รับการเลือกตั้ง หรือไม่ชนะการเลือกตั้งด้วยจำนวน สส.ที่มากขึ้น ซึ่งแตกต่างจากคณะรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจ หรือ “การสืบทอดอำนาจ” ที่มองหาจุดเชื่อมโยงกับประชาชนไม่ได้ เพราะไม่มีจุดเชื่อมโยงกับประชาชนเลย

 

การดีลต่อรองทางการเมือง (Political Bargaining) คือ การแสวงประโยชน์ร่วมกัน

ถึงแม้จะมีระบบดีแค่ไหน หากไม่ใช่พวกกัน ก็จะไม่ใช้งาน หรือไม่เลือกเอามาเป็นพวก บกพร่องนิดเดียว (ในทัศนะของตน) ก็ไม่เอา นอกจากนี้ยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องกล่าวถึง ซึ่งน่ากลัวมากคือ กลุ่มผลประโยชน์ และ นักล็อบบี้ การดีลกันทางการเมือง หรือการต่อรองกันในทางการเมือง พูดกันภาษาบ้านๆ ก็คือ การแสวงหาประโยชน์จากผลประโยชน์ รวมทั้งการทับซ้อนในผลประโยชน์ต่างๆ (Conflict of Interest : COI) [29] ทั้งการรับเหมา การประมูลงาน ในมุมมองภาพลบก็จะรวมไปถึง “เงินใต้โต๊ะ ส่วย สินบนฯ” [30] ด้วย นานเข้านักการเมืองที่เข้าไปบริหารประเทศ เมื่อพอคุ้นชินกับกลไกระบบราชการ ต่างก็เอื้อประโยชน์พวกกัน นานวันเข้าก็กลายเป็นผู้มีอิทธิพลได้อย่างไม่ยาก เรียกว่า พวกเขาเหล่านั้นกำลังพยายาม “ดำรงสถานะตัวเองให้คงเดิมมากที่สุด” (Status Quo) [31] แน่นอนว่า การเอื้อผลประโยชน์ให้ชนชั้นนำ (Elite) ที่มีเพียงหยิบมือ หรือมีจำนวนที่น้อยกว่า ประชาชนที่เป็นเสียงส่วนใหญ่ย่อมมีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์ทักท้วงแสดงความเห็นได้เต็มที่

ประสบการณ์การเมืองไทยที่ผ่านมามีหลายสิ่งหลายอย่างผ่านมาเยอะ ที่ผู้บริหารประเทศ (รัฐบาล) ไม่ว่าชุดใด ต้องเรียนรู้และแก้ไข ขอแค่อย่าโกหกประชาชน ในอดีตยุคก่อนๆ หัวหน้าม็อบประชาชน ม็อบเกษตรกร เมื่อได้รับเงินค่าปิดปาก (ประท้วงได้เงิน) แล้วก็เลิกถอยไปก็มี หากไม่ยอมก็ใช้วิธี “การฟ้องปิดปาก หรือการแกล้งฟ้อง” (SLAPP : Strategic Lawsuit Against Public Participation) [32] เป็นการดำเนินคดี (โดยเฉพาะคดีอาญา) เชิงยุทธศาสตร์เพื่อหยุดยั้งการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน เพื่อให้ประชาชนหวาดกลัว ไม่กล้าทำ หรือดำเนินกิจกรรมที่ท้าทายรัฐต่อ เป็นเทคนิคที่รัฐบาลแต่ก่อนๆ ใช้มาตลอด โดยเฉพาะรัฐบาลฝ่ายอำนาจนิยม

และในทางกลับกัน ฝ่ายที่มาประท้วงท้าทายอำนาจรัฐก็ถูกด้อยค่า หรือถูกปรามาส หรือถูกสวนย้อนกลับว่า รับจ้างมาประท้วง หรือ “หลอกใช้เด็ก” หรือเป็นเครื่องมือของ NGO หรือการเมืองของฝ่ายตรงข้ามเพื่อการล้มล้างรัฐบาลเช่นกัน 

หลายคนเบื่อกับสังคมไทยที่เสื่อมถอย ยกตัวอย่างเช่น กรณี กำนัน น. นครปฐม หรือกรณี อ.ไซยาไนด์ หรือ ตร.หญิงเมียน้อย สว. ที่แสดงชัดเจนว่า สังคมที่เราอยู่ร่วมกันมาดีๆ มันบิดเพี้ยนไป นอกจากนี้ คำเก่าๆ ทางการเมืองที่ฝังหัวคนมากนาน คือคำว่า “เผด็จการ, เลือกตั้ง, เผด็จการรัฐสภา” รวมทั้งนักล็อบบี้งูเห่ามาเป็นพวก เหล่านี้ ในสายตาของฝ่ายประชาธิปไตยหัวก้าวหน้าไม่ยอมรับ เพราะว่าการเลือกตั้งคือ “หมุดหมายของความเปลี่ยนแปลงตามครรลองประชาธิปไตย” [33] และประชาชนยังมีช่องทางหรือพื้นที่อื่นๆ อีกตามระบอบประชาธิปไตยนอกจากการลงคะแนนเลือกตั้ง สส.หรือ ผู้แทนเข้าสภา มันตกอยู่ในวังวนอำนาจอะไรสักอย่าง ที่อธิบายไม่ได้ ภาษาศัพท์วิชาการสมัยใหม่เรียกลักษณะแบบนี้ว่า “รัฐพันลึก” (Deep State) [34] ซึ่งประเทศอื่นก็มีเช่นกัน เพียงแต่อาจต่างกันไปตามบริบทของแต่ละพื้นที่และประเทศไป

 

ไม่ว่าจะเป็น “ระบบพาไป” หรือ “ความจงใจสร้างสถานการณ์” ใดๆ ก็ตาม ยังไม่เคยปรากฏมิติใหม่ว่า ได้มีฝ่ายบริหารที่ไม่แสวงหาผลประโยชน์ใดๆ และ บริหารงานแบบตรงไปตรงมาทั้งหมด ประมาณว่าในดำมีขาว ในขาวต้องมีดำ จะไม่มีขาวตลอดแน่นอน ซึ่งประชาชนกำลังเฝ้ามองอย่างใจจดใจจ่ออยู่ว่า ผู้บริหารประเทศต้องมีสีขาว ตรงไปตรงมา เพื่อประโยชน์ของประชาชนที่มากกว่า (มีสีขาวมากกว่า) นี่เป็นจุดชี้ ที่จะเปลี่ยนสังคมได้ไม่ยากนัก ในภาวะวิกฤตทางการเมืองไทยเช่นนี้ ตรรกะย่อมไม่เพี้ยนบิดผัน สายน้ำย่อมไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ไหลกลับ หากได้เสียงส่วนใหญ่ของพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งมาเกินกว่ากึ่งหนึ่ง (มากกว่า 250 คน) โดยเฉพาะเป็นความหวังของคนรุ่นใหม่ฝ่ายประชาธิปไตยหัวก้าวหน้า (Progressive/Liberal) แม้เป็นเพียงความหวัง แต่คาดว่าคนรุ่นใหม่เหล่านั้นคงไม่ยอมโดยง่าย เพราะพวกเขายังมีระยะเวลาและมีช่วงอายุที่ยังน้อยอยู่ เป็นความหวังอันสูงสุด ที่ประชาชนหลายคนเห็นและเชื่อเช่นนั้น 

 

NB : ปรากฏการณ์ใหม่การเมืองไทย : อีลีทฝ่ายอนุรักษ์ยึดอำนาจ, 13 กันยายน 2566 : ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น), https://www.facebook.com/100062494300418/posts/pfbid021nefYZwzt2YW8KP5WXzcEWk7Vm6NYoKmMaGwvANKaEhQuSU8cMLd2v87x15xMz35l/?mibextid=cr9u03


 

[1]Phachern Thammasarangkoon & Watcharin Unarine, ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น), บทความพิเศษ, สยามรัฐออนไลน์, , 29 กันยายน 2566, 23:00 น., https://siamrath.co.th/n/481000  

[2]อีลีท (Elite)แปลว่า กลุ่มคนที่ร่ำรวยที่สุด มีอำนาจมากที่สุด และได้รับการอบรมและการศึกษาที่ดีที่สุดในสังคม เป็นอภิสิทธิ์ชน เรียกง่ายๆ ว่า กลุ่มชนชั้นสูง ในทางมานุษยวิทยา และสังคมศาสตร์ หมายถึง ชนชั้นกลางที่ถูกนำมาเป็นพวกพ้องผู้ปกครองที่ดีที่สุด คือ เหล่าบรรดากลุ่มคนเซเลบ (celebrity) หรือ ผู้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักแพร่หลาย ทั้งหลาย บ้างก็เรียกว่าเป็น ไฮโซ ก็มี แต่สรุปตามภาษาบ้านๆ Elite คือ กลุ่มชนชั้นที่มีอิทธิพลต่อรัฐบาล ตัวอย่างเช่น นักการเมือง, ข้าราชการระดับสูง, นายทุนผู้นำธุรกิจ, เจ้าหน้าที่ทหารระดับสูง และ มหาเศรษฐี เป็นต้น Elite หลายคนมีบทบาททางเศรษฐกิจสังคมวัฒนธรรม เช่น เป็นอาจารย์ เป็นเศรษฐีระดับเจ้าสัว เป็นผู้ดีเก่า ดังนั้น คนจึงมักเชื่อตามที่ Elite ชี้นำ

[3]อนุรักษ์นิยม (Conservative)หมายถึงความคิดเห็นทางการเมืองนับตั้งแต่เอียงขวาปานกลางไปจนถึงเอียงขวาแบบสุดขั้ว ถ้าเปรียบเทียบพรรคการเมืองใหญ่สองพรรคของสหรัฐฯ นับได้ว่าพรรครีพับลิกันมีความเป็นอนุรักษ์นิยมมากกว่า โดยปกติ ฝ่ายอนุรักษ์นิยมทางการเมืองของสหรัฐฯ จะสนับสนุนระบบเศรษฐกิจ แบบตลาดเสรีและอัตราภาษีที่ต่ำ และจะไม่ไว้วางใจการใช้อำนาจของรัฐบาลกลาง แต่จะเชื่อมั่นในอำนาจระดับรัฐและท้องถิ่น

หัวเสรีนิยม (Liberal) ในวงการเมืองของสหรัฐฯ นั้น กล่าวกันว่าพวก “หัวเสรีนิยม” คือพวกที่มีหัวเอียงซ้ายเล็กน้อยหรือค่อนข้างเอียงซ้าย ถ้าเทียบระหว่างพรรคการเมืองหลักสองพรรคแล้ว พรรคเดโมแครตได้ชื่อว่ามีความเป็นเสรีนิยมมากกว่า นอกจากนักการเมืองหัวเสรีนิยมจะอยากให้รัฐบาลกลางมีอำนาจมากขึ้นเพื่อแก้ไขความไม่เท่าเทียมทางสังคมแล้ว พวกเสรีนิยมยังมักจะสนับสนุนพวกที่เรียกร้องสิทธิสตรี สิทธิสำหรับชนกลุ่มน้อย และเน้นเรื่องเสรีภาพเกี่ยวกับพฤติกรรมส่วนตัว

ปัจจุบันมีแนวคิด “Neo-Conservative” หรือ “อนุรักษ์นิยมใหม่” ถูกพูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ หลังจากความพ่ายแพ้ของพรรคการเมืองที่ถูกจัดให้อยู่ในฟากฝั่งอนุรักษ์นิยม ในการเลือกตั้ง 2566 อีกทั้งยังส่งสัญญาณว่า หากพรรคอนุรักษ์นิยม ยังดำเนินแนวทางทางการเมืองแบบเดิมๆ ก็สุ่มเสี่ยงอาจสูญพันธ์ได้ในการเลือกตั้งครั้งหน้า ซึ่งวิธีที่กูรูทางการเมืองหลายคนเห็นตรงกันก็คือ “พรรคอนุรักษ์นิยม” หลายๆ พรรค ต้องอัปเกรด อัปเลเวลตัวเองให้เป็น “Neo-Conservative” หรือ “อนุรักษ์นิยมใหม่” เพื่อต่อสู้ทางการเมืองกับ “พรรคเสรีนิยม” (Liberal) ที่แน่นอนว่าจะมี “พรรคก้าวไกล” เป็นแกนนำ

ดู ทำความรู้จักแนวคิด Neo-Conservative อนุรักษ์นิยมใหม่ คืออะไร ? สัมภาษณ์ รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย, โดย ศราวุธ เอี่ยมเซี่ยม, 5 มิถุนายน 2566, https://www.springnews.co.th/news/election66/839582 & เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเลือกตั้งสหรัฐฯ: เฟซบุ๊ก U.S. Embassy Bangkok, 3 เมษายน 2555, https://www.facebook.com/usembassybkk/photos/a.351273644893784/380493628638452/?type=3

[4]คำว่า “ประชาธิปไตยเสรีนิยม” หรือ ประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม (Liberal democracy) หรือบ้างเรียก ประชาธิปไตยแบบตะวันตก เป็นทั้งคตินิยมทางการเมือง (Liberalism) และระบอบการปกครองรูปแบบหนึ่ง (วิกิพีเดีย)

พวกหัวก้าวหน้า/เสรีนิยม (Progressive/Liberal) เรียกร้องให้ได้มาจึงเป็นอุดมการณ์ขั้นพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจสูงสุด ว่ากันว่า อุปสรรคที่สำคัญที่สุดของการมีเสรีภาพในการพูดและแสดงออก (Freedom of Expression) ของไทยก็คือ วัฒนธรรมไทยเองที่รังเกียจ ประนาม และใส่ร้ายความคิดเกี่ยวกับเสรีภาพและความเสมอภาคแบบสากล สรุปว่า ระบอบที่เรียกว่าเสรีประชาธิปไตย (Liberal Democracy) มาจากก้อนเสรีนิยมก้อนหนึ่งและก้อนประชาธิปไตยก้อนหนึ่ง จุดเน้นของเสรีนิยม (liberalism) คือสิทธิและเสรีภาพเหนือร่างกาย ชีวิต และทรัพย์สินของบุคคลพลเมืองและหลักนิติธรรม ซึ่งแปลให้ง่ายที่สุดคือรัฐบาลมีอำนาจจำกัด (limited government) แปลว่าไม่ใช่รัฐบาลที่มีอำนาจสัมบูรณ์แบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

ดู เกษียร เตชะพีระ: จากจุดกำเนิดเสรีนิยมประชาธิปไตยถึงทุนนิยมเหลื่อมล้ำของ คสช., รายงานพิเศษ, ประชาไท, 4 กรกฎาคม 2562, https://prachatai.com/journal/2019/07/83279

[5]วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2504 ได้มีการประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติแผนแรกในประเทศไทย แผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับนี้เป็นแผนพัฒนาฉบับเดียวของประเทศที่เป็นแผน 6 ปี จาก พ.ศ.2504-2509 (แผน 6 ปี) โดยแบ่งเป็น 2 ช่วง เป็นเวลาช่วงละ 3 ปี คือ ช่วงแรก พ.ศ.2504 ถึง พ.ศ.2506 และช่วงที่ 2 จาก พ.ศ.2507 ถึง พ.ศ.2509 และเป็นแผนพัฒนาฉบับเดียวที่มีชื่อเพียงแค่แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ แผนฉบับต่อมามีชื่อขยายเพิ่มเรียกว่าแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, สถาบันพระปกเกล้า, http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=1_%E0%B8%A1%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%A1_%E0%B8%9E.%E0%B8%A8._2504 

[6]สืบสาวย้อนไปถึงเรื่องไพร่และศักดินา “ประชาธิปไตยที่กินได้” หรือจะเรียกว่า ประชาธิปไตยในฐานะทรัพย์สิน (property) กับ ประชาธิปไตยในฐานะทรัพยากร (resource) “ประชาธิปไตยที่กินได้” ที่หมายความง่ายๆ ว่า เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง ซึ่งหมายถึงการมอบอำนาจไว้ในอุ้งมือของนักการเมืองในนามของการเลือกตั้งเสียงข้างมาก ซึ่งในท้ายที่สุดก็มีการแปรสภาพเสียงข้างมากเป็นเสียงทั้งหมด และมีการแลกเปลี่ยนกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจผ่านนโยบายประชานิยม

ดู ประชาธิปไตยที่ห้ามกิน กับ ประชาธิปไตยที่กินได้, โดยพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์, ประชาไท, 11 เมษายน 2552, https://prachatai.com/journal/2009/04/20760 

[7]รศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์จากคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (22 กรกฎาคม 2560) กล่าวว่า “ทุนนิยมสามานย์” ในความหมายที่คนไทยใช้กัน คือ การให้อำนาจกับตลาดในการควบคุมกำกับทุกอย่าง และคอรัปชันอันเกิดจากการสมรู้ร่วมคิดระหว่างรัฐกับตลาด และการล้มล้างระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน จึงมักถูกมองว่าเป็นเรื่องเดียวกัน ในทางรูปธรรม นำไปสู่ความเชื่อผิดๆ อย่างน้อย 2 ประเภท ความเชื่อประเภทแรก ได้แก่ การล้มล้างรัฐบาลทักษิณ เท่ากับเป็นการยุติระบอบทุนนิยมสามานย์ อีกประเภท คือ ทหารหรือรัฐทหาร ไม่ใช่นักการเมือง จึงเป็นคนละเรื่องกับระบอบทุนนิยมสามานย์ ได้รัฐเผด็จการมา ยังดีกว่า

คำว่า “ทุนนิยมสามานย์” นี้ เริ่มมีการกล่าวและพูดถึงกันมากในการชุมนุมคนนับหมื่นนับแสนในปี 2548 ของพวกเสื้อเหลืองเพื่อล้มและไล่รัฐบาลทักษิณ (เรียกระบอบทักษิณ) นำโดยนายสนธิ ลิ้มทองกุล (ขบวนการพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย) จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ยึดอำนาจ 19 กันยายน 2549 คำๆ นี้ไม่น่าจะมีในภาษาอังกฤษ มีแต่คำว่าทุนนิยม ที่แปลมาจากคำว่า Capitalism ส่วนทุนนิยมสามานย์นี่ น่าจะเป็นคำที่เกิดขึ้นในไทย ทุนนิยมสามานย์ ก็ต้องแปลว่า สภาวะร่วมกันของความเป็นทุนนิยม เช่น ถ้ามีใครมาด่าเราว่า “แกมันสามานย์” ก็คือเขาบอกเราว่า “เฮ้ย แกน่ะ เหมือนกับกูแหละ” ก็เพราะมีสภาวะร่วมกัน คือสภาวะความเป็นคน ประชาธิปไตยดี ประชาธิปไตยเลว ประชาธิปไตยตะวันตก ประชาธิปไตยตะวันออก ก็เป็นประชาธิปไตยสามานย์เหมือนกัน เพราะมีสภาวะร่วมกันคือความเป็นประชาธิปไตย สามานย์จึงไม่ได้บ่งบอกความดีชั่ว ไม่ได้บอกว่าสิ่งใดเป็นอกุศล หรือ กุศล เพียงแต่บอกว่า มันมีสภาวะเหมือนกัน

เท้าความย้อนไปถึง”คดีซุกหุ้น” ที่เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2543 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. โดยนายโอภาส อรุณินท์ เป็นประธาน ตัดสินด้วยคะแนน 8 ต่อ 1 ระบุว่า ‘ทักษิณ ชินวัตร ’ จงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเป็นเท็จ และยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดตามมาตรา 295 ของรัฐธรรมนูญปี 2540 ต่อมาวันที่ 18 ม.ค. 2544 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติรับคำร้องของ ป.ป.ช. ไว้พิจารณา และ เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2544 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 8 ต่อ 7 เสียง ให้ทักษิณ ชินวัตร พ้นผิดฐานจงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ จากกรณีซุกหุ้นไว้กับคนรับใช้ สำหรับคดีที่เริ่มต้นจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เมื่อทักษิณชนะคดีซุกหุ้น ทำให้โฉมหน้าหลักการพิพากษาเพี้ยนไป เพราะกระแสสังคมชี้นำคณะตุลาการสายรัฐศาสตร์ ทำให้วลีพิษ “ความบกพร่องโดยสุจริต” 

ดู 3 สิงหาคม พ.ศ. 2544 ศาลรธน.วินิจฉัย ‘ทักษิณ’ พ้นผิดคดีซุกหุ้น กับตำนานวลีการเมือง “บกพร่องโดยสุจริต”, 3 สิงหาคม 2565, https://thestatestimes.com/post/2022080301 & ทำความเข้าใจ ทุนนิยมสามานย์, 

VOICE TV, 4 สิงหาคม 2560, https://www.youtube.com/watch?v=hbG02Mhh7i4 & ทุนนิยมสามานย์คืออะไร? โดยChohokun Ch. (โชโฮ ธรรมราชบุตร), เฟซบุ๊ก, 6 สิงหาคม 2560, https://www.facebook.com/chohovision/posts/1906477906259401/ & บทบาททักษิณ คนเสื้อแดง และศาลรัฐธรรมนูญ กับระบบการเมืองไทย, โดย ว.ร. ฤทธาคนี, 12 กรกฎาคม 2555, https://mgronline-com.translate.goog/daily/detail/9550000085857 & รำลึกการชุมนุมพันธมิตรฯ 193 วัน ครบรอบ 3 ปี, โดย ประพันธ์ คูณมี, ผู้จัดการออนไลน์, 26 พฤษภาคม 2554, https://mgronline.com/daily/detail/9540000064494 

[8]คำว่า “ชักเข้าชักออก” สื่อถึงความไม่อยู่กับร่องกับรอย ไม่แน่นอน เปลี่ยนกลับกลอกไปมา ดู วิเคราะห์การเมือง : สมการที่ไม่เคยเปลี่ยน, ไทยรัฐ, 6 กรกฎาคม 2566, อาการชักเข้าชักออกของพรรคเพื่อไทย เพราะคิดหลายอย่าง ทั้งเกมการเมือง กระแสมวลชน แต่เป้าหมายสุดท้ายชัดเจนไม่เคยเปลี่ยน คือ รัฐบาล และ นายกฯ, https://www.thairath.co.th/news/politic/2707276 & ว่าที่นายกฯไทยคนที่ 30 เปิดชื่อนักการเมืองอาวุโส ที่เคารพและชื่นชมมากที่สุด, ไทยโพสต์, 12 สิงหาคม 2566, หลังการเลือกตั้งที่ผ่านมา โดยนายเศรษฐา ระบุว่า ชักเข้าชักออกก็เป็นประเด็น อันหนึ่งที่ผมไปสารภาพบาปกับผู้สมัคร สส., https://www.thaipost.net/politics-news/429838/

[9]“อัตวิสัย” (subjectivity) หรือ “จิตวิสัย” หมายถึงมุมมองหรือความคิดเห็นของบุคคล โดยเฉพาะสิ่งที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึก ความเชื่อ หรือความต้องการ อาจหมายถึงแนวความคิดส่วนบุคคลที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ ซึ่งตรงข้ามกับความรู้และความเชื่อที่มีพื้นฐานอยู่บนข้อเท็จจริง ในทางปรัชญา คำนี้มักมีความหมายตรงข้ามกับภววิสัย อัตวิสัยเป็นทัศนะที่มีความเชื่อว่า การมีอยู่ หรือ ความจริงของสิ่งสิ่งหนึ่งอยู่กับตัวเราเองเป็นคนตัดสิน เช่น คุณได้กลิ่นน้ำหอมยี่ห้อนี้แล้วหอม แต่ในคนอื่นเมื่อได้กลิ่นแล้วเหม็นก็ได้ “ภววิสัย” (objectivity) คือสิ่งที่มีพื้นฐานอยู่บนข้อเท็จจริง เงื่อนไขที่เป็นความจริง โดยไม่ขึ้นอยู่กับจิตใจ (sittikorn saksang, 20 สิงหาคม 2558)

[10]“หัวคะแนน” มอง 2 นัยยะ คือออกไปทางลูกค้า (Customer & Clients ที่ซื้อสินค้าหรือใช้บริการ) กับ อินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) บรรดาหัวคะแนนต่างๆ คืออินฟลูเอนเซอร์ในพื้นที่ จะเป็นผู้ใหญ่บ้าน กำนัน อสม. นักการเมืองท้องถิ่น หรือใครก็ได้ที่เป็นที่รู้จัก สามารถชักจูงความคิดคนได้ นักการเมืองก็ใช้บริการคนพวกนี้ให้เพิ่มคะแนนเสียงให้ตน เหมือนการจ่ายเงินจ้างอินฟลูเอนเซอร์โปรโมทโฆษณา ซึ่งคำว่า หัวคะแนนธรรมชาติ มันเป็นการเล่นคำล้อกับคำว่าหัวคะแนนด้วย ว่ามันมาแบบ organic ไม่ได้ใช้เงินจ้าง มันไม่ได้มีความหมายเชิงดิสเครดิต แต่มันเป็นการเล่นคำมากกว่า 

หากใช้คำว่าลูกค้าต้องมีค่าบริการ แต่การใช้คำว่า หัวคะแนนธรรมชาติ คือมาใช้บริการฟรีๆ คือเขามาเองไม่ได้จัดตั้ง ไม่ได้ใช้เงินจ้าง เหมือนอินฟลูเอนเซอร์ที่เขาใช้สินค้าเราแล้วชอบเขาก็เอาไปรีวิว เอาไปแนะนำเองโดยที่เราไม่ได้ไปจ้างไม่ได้ไปขอให้รีวิว มันเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ไม่ได้แปลว่าเขาเป็นลูกน้อง เป็นลูกกระจ๊อก สรุป หัวคะแนน = ช่วยหาเสียงเพื่อให้ได้คะแนนเสียงเพิ่มขึ้น, ธรรมชาติ = ทำโดยไม่มีคำสั่ง เกิดขึ้นได้เองตามธรรมชาติ จิตสำนึก, หัวคะแนนธรรมชาติ = ช่วยหาเสียงโดยไม่มีข้อผูกมัดหรือบังคับกระทำ ทำเองล้วนๆ

ดู หัวคะแนนธรรมชาติ, 11 พฤษภาคม 2566, https://www.soccersuck.com/boards/topic/2290835/5 

[11]Decentralization ในมิตินี้หมายถึง การกระจายอำนาจการปกครอง หรือ การกระจายอำนาจทางการบริหาร (Administrative Decentralization) การกระจายอำนาจ (Decentralization ) เป็นวิธีการที่รัฐ / ราชการส่วนกลาง โอนอำนาจการปกครอง หรือ บริหารบางส่วนบางเรื่อง ที่เกี่ยวกับการจัดบริการสาธารณะให้องค์กรหรือนิติบุคคลอื่นรับไปดำเนินการแทน ภายใน อาณาเขตของแต่ละท้องถิ่น ด้วยงบประมาณและเจ้าหน้าที่ของท้องถิ่น โดยมีอิสระพอสมควร ราชการส่วนกลางเพียงกำกับดูแล (มิใช่บังคับบัญชา) เป็นหลักที่ถือเอาเสรีภาพของประชาชนที่จะปกครองตนเองเป็นที่ตั้ง

[12]การตัดสินใจ (Decision Making)หมายถึงกระบวนการเลือกทางเลือกใดทางเลือกหนึ่ง จากหลายๆ ทางเลือกที่ได้พิจารณา หรือประเมินอย่างดีแล้วว่า เป็นทางให้บรรลุวัตถุประสงค์ และเป้าหมายขององค์การ

[13]วีระศักดิ์ เครือเทพ (2556) นิยามความหมายว่า “นวัตกรรมท้องถิ่น” (Local Innovation) เป็น A good practice for a local government เป็น “การริเริ่ม คิดค้น พัฒนาการแก้ไขหรือจัดการปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชน” ที่ต้อง (1) สอดคล้องกับภารกิจหลักขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดบริการสาธารณะ การพัฒนาการเมืองการปกครอง และ/หรือการบริหารจัดการ (2) เกิดประโยชน์แก่ชุมชนท้องถิ่นที่เห็นชัดเป็นรูปธรรม (3) สามารถถ่ายทอดหรือขยายผลให้แก่ อปท.

[14]สนธยา พลศรี (2545) ให้ความหมายว่า บทบาท (Role) หมายถึง หน้าที่ของบุคคลตามสถานภาพหรือตำแหน่งฐานะที่ตนดำรงอยู่ บทบาทจึงเป็นกลไกอย่างหนึ่งของสังคมที่ทำ ให้คนที่อยู่ร่วมกันสามารถสร้างระบบความสัมพันธ์ต่อกันได้อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย

[15]โดยนัยยะนี้ หมายถึง “การมีส่วนร่วมของประชาชน” (Public Participation) คือ การเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการคิด ริเริ่ม การพิจารณาตัดสินใจการร่วมปฏิบัติและร่วมรับผิดชอบในเรื่องต่างๆ อันมีผลกระทบถึงตัวประชาชนเอง การมีส่วนร่วมเป็นการร่วมมือของประชาชน ไม่ว่าปัจเจกบุคคลหรือกลุ่มคนที่เห็นพ้องต้องกัน

การมีส่วนร่วมในทางการเมือง (Political Participation) ถือเป็นหัวใจของการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย หมายถึงการกระทำใดๆ ก็ตามที่เกิดขึ้น โดยความเต็มใจ ไม่ว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ไม่ว่าจะมีการจัดอย่างเป็นระเบียบหรือไม่ และไม่ว่าจะเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวหรือต่อเนื่องกัน จะใช้วิธีการที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ เพื่อผลในการที่จะมีอิทธิผลต่อการเลือกนโยบายของรัฐ หรือต่อการบริหารงานของรัฐ หรือต่อการเลือกผู้นำ ทางการเมืองของรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นไปในระดับท้องถิ่นหรือระดับชาติก็ตาม เพื่ออิทธิพลของกลุ่มการเมืองในการเลือกกำหนดบุคคลในวงการรัฐบาล หรือกดดันรัฐบาลให้กระทำตามที่พลเมืองผู้นั้นหรือกลุ่มนั้นต้องการ ตลอดจนมีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายของรัฐทั้งในการเมืองการปกครองระดับท้องถิ่นและระดับชาติ, สถาบันพระปกเกล้า

[16]Organizational Commitment หรือ “ความผูกพันต่อองค์การ” เกี่ยวข้องกับคำว่า “การมีส่วนร่วมและความผูกพันต่อองค์กร” (Participation & Organizational Engagement) เป็นความผูกพันด้านจิตใจ ความรู้สึกยึดมั่นกับองค์กร ความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับองค์กร และปรารถนาที่จะมีส่วนร่วมในองค์กร

ในความหมายทั่วไป ความผูกพันต่อองค์การ (Organizational Commitment) หมายถึง บุคคลนั้นยึดมั่นต่อองค์กรและรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับองค์กร รวมไปถึงการเข้าไปมีส่วนร่วมในองค์กร โดยมีจิตสำนึกที่จะคงอยู่และเต็มใจรับใช้องค์กร

เป็นภาวะที่บุคคลมีความรู้สึกยึดมั่นในองค์การของตน ยอมรับเป้าหมายขององค์การ เต็มใจที่จะทุ่มเทความรู้ความสามารถให้แก่องค์กร Steers & Porter, 1979 สรุปความหมายว่า ความผูกพันต่อองค์การ (organizational commitment) หมายถึง ภาวะที่บุคคลมีความรู้สึกยึดมั่นในองค์การของตน ยอมรับเป้าหมายขององค์การ เต็มใจที่จะทุ่มเทความอุตสาหะ ในการทำงานให้แก่องค์การ และปรารถนาที่จะอยู่ในองค์การ ต่อไป 

แยกได้ 2 ประเภท คือ ความผูกพันองค์การในความหมายการผูกพันที่เกิดจากความรู้สึกผูกพันยึดติดกับองค์การ เป็นความต้องการ (want to) ที่จะผูกพัน และความผูกพันองค์การในความหมายของการผูกพันอยู่กับองค์การ ที่ไม่ใช่ความรู้สึกต้องการผูกพัน แต่มาจากเหตุผลอื่น จึงเป็นความจำเป็น (need to) ต้องผูกพัน ในที่นี้เน้นเฉพาะ “ความผูกพันองค์การในความหมายการผูกพันที่เกิดจากความรู้สึกผูกพันยึดติดกับองค์การ” (Kanter, 1968) อธิบายว่าความผูกพันองค์การเป็นความเต็มใจของบุคลากรที่จะแสดงออกโดยการทุ่มเทความพยายามในการทำงานและมีความภักดีให้กับองค์การ

ดู ความผูกพันองค์การ (Organizational Commitment) โดย ดร. อนุรักษ์ วัฒนะถาวรวงศ์, 26 มกราคม 2561, https://anuruckwatanathawornwong.blogspot.com/2018/01/organizational-commitment.html 

[17]โดยสรุป “จิตสาธารณะ/จิตอาสาสาธารณะ” (Public)หมายถึง พฤติกรรมหรือการกระทำของบุคคลที่ เกิดขึ้นโดย ความสมัครใจ ปรารถนาที่จะช่วยเหลือ ช่วยแก้ไขปัญหาเกิดขึ้นในสังคม และตระหนักถึงความ รับผิดชอบต่อสังคม มีสํานึกในระบบคุณธรรม และจริยธรรมที่ดีงามด้วยการเอาใจใส่ดูแล เป็นธุระ ปรารถนาที่จะช่วยเหลือสังคม ต้องการแก้ไขปัญหาของสังคมด้วยการเข้าไปมีส่วนร่วมในเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม

อาสาสมัคร (volunteer)หมายถึง ผู้ที่สมัครใจทำงานเพื่อประโยชน์แห่งประชาชนและสังคม โดยไม่หวังผลตอบแทนเป็นเงิน หรือสิ่งอื่นใด บุคคลที่อาสาเข้ามาช่วยเหลือสังคมด้วยความสมัครใจ เสียสละ เพื่อช่วยเหลือผู้อื่น ป้องกัน แก้ไขปัญหาและ พัฒนาสังคม โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน, วิกิพีเดีย

[18]การบริหารการพัฒนา (Development Administration or D of A)หมายถึงความสามารถในการลงมือปฏิบัติ ตามนโยบาย แผน แผนงาน โครงการ หรือกิจกรรมพัฒนาจริงๆ เพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ตามที่ได้วางแผนไว้ ล่วงหน้า ซึ่งเน้นความเจริญเติบโตทางการบริหาร องค์ประกอบของการบริหารการพัฒนา คำนี้สื่อความหมายถึงการบริหารเพื่อการพัฒนาในประเทศด้อยพัฒนา หรือประเทศกำลังพัฒนา (Developing Country)

[19]คำว่า “งบประมาณ” (Budgeting) เป็นแผนงานโดยละเอียดในรูปตัวเลขทั้งจำนวนหน่วยและจำนวนเงินตาม แผนการดําเนินงานของกิจการสำหรับระยะเวลาใดเวลาหนึ่งในอนาคต การ จัดทำงบประมาณเป็นการ วางแผน อย่างมีหลักเกณฑ์เพื่อให้หน่วยงานสามารถดําเนินงานได้ผลสำเร็จตามเป้าหมาย ในการพิจารณาโครงการฝ่าย จัดการจะต้องคาดคะเนรายได้ที่จะได้รับแต่ละโครงการ

[20]สรุปอย่างง่าย “การบริการสาธารณะ” (Public Service)หมายความถึง กิจการที่ทำอยู่ในความอำนวยการหรือในความควบคุมของเจ้ าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ที่จัดทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประชาชน

[21]การปรองดอง หรือ การปรองดองสมานฉันท์ (reconciliation) หมายจัดการความขัดแย้งระหว่างกลุ่ม ในสังคมที่เคยแตกแยก ต่อสู้ และปะทะกัน ทั้งในระดับความคิดและในระดับการใช้ความรุนแรงทางกายภาพ ในการตกลงเพื่อเข้าสู่การเจรจาสันติภาพ ระหว่างกลุ่มต่างๆ โดยไม่ใช้ความรุนแรง และทำการสร้างองค์กรหรือสถาบันที่เป็นประชาธิปไตยในการเข้ามาช่วยปรองดองและต่อรองอำนาจระหว่างกลุ่มต่างๆ ในที่นี้อาจจะรวมถึงการใช้มาตรการออกกฎหมายนิรโทษกรรม เพื่อเป็นเครื่องมือเยียวยาความเสียหายโดยเริ่มจากการแสวงหาความจริงในอดีต สาเหตุความไม่เป็นธรรมในสังคม การช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับความเดือดร้อนจากความขัดแย้ง การแสวงหาข้อเท็จจริงของความคิดแต่ไม่หาคนผิด และการจัดสรรอำนาจใหม่ระหว่างกลุ่มต่างๆ ในสังคมให้สามารถอยู่ร่วมกันได้ แต่ควรระลึกด้วยว่า การใช้กฎหมายนิรโทษกรรมแต่เพียงอย่างเดียว ไม่สามารถนำไปสู่การปรองดองอย่างแท้จริงได้ การปรองดองจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อต้นตอของความขัดแย้งในสังคมได้รับการแก้ไข การจะเริ่มแก้ไขได้ก็โดยการพิสูจน์ทราบ บันทึก และชี้แจงข้อเท็จจริงในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะสังคมมีสิทธิในการเข้าถึงความจริง การรับทราบความจริงจึงจะนำมาสู่ความเข้าใจ การให้อภัย และเมื่อนั้นการปรองดองจึงจะเกิดขึ้นได้ (Murphy, 2010), วิกิพีเดีย

[22]Inconvenient Truth แปลว่า ความจริงที่ไม่มีใครอยากฟัง หรือ ความจริงที่ไม่อยากพูด หรือ ความจริงอันน่ากระอักกระอ่วนใจสำหรับสังคม มาจาก "An Inconvenient Truth” ว่าด้วยเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโลก จนนำมาซึ่งปัญหาโลกร้อน หรือ “Global Warming” ที่ได้ส่งผลกระทบเลวร้ายต่อผู้คนบนโลก เป็น "เรื่องจริงช็อคโลก" (An Inconvenient Truth) เป็นรายการสารคดีเกี่ยวกับภาวะโลกร้อน ที่ดำเนินการนำเสนอโดย อัล กอร์ ซึ่งเป็นอดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐ และเป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเมื่อปี พ.ศ.2550, วิกิพีเดีย

[23]Resilience แปลตรงๆ ว่า การเด้งกลับ ที่หมายถึงการยืดหยุ่นปรับตัวเข้ากับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงได้อย่างดี

[24]Sympathy, Empathy, Empathy Trap: เมื่อโลกต้องการความเข้าอกเข้าใจ…ที่ไม่มากเกิน, creativethailand, 11 มิถุนายน 2562, https://www.creativethailand.org/view/article-read?article_id=32026

[25]Resilience Mindset คนทำงานยุคใหม่ต้องล้มให้เป็น ลุกให้ไว, truedigitalacademy, 8 พฤศจิกายน 2564, https://www.truedigitalacademy.com/blog/resilience-mindset

[26]ระบบอุปถัมภ์ (Patronage System) โดยความหมายอย่างกว้าง หมายถึงการปฏิบัติการในประการต่างๆ เกี่ยวกับการแต่งตั้งบุคคลให้เข้าดำรงตำแหน่งทั้งในทางการเมืองและทางการบริหารของพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้ง การอุปถัมภ์ ในความหมายโดยทั่วไป คือ การค้ำจุน การค้ำชู การสนับสนุน การเลี้ยงดู ในทางการเมืองซึ่งใช้คำว่า ระบบอุปถัมภ์ หมายถึง การได้รับสิทธิพิเศษจากผู้ใหญ่หรือญาติมิตรของตน เป็นระบบที่ตรงกันข้ามกับระบบความชอบธรรมซึ่งนิยมใช้เป็นหลักในปัจจุบัน
"ระบบอุปถัมภ์" (The patron-client system) เป็นระบบเล่นพวกอย่างเกินขอบเขต (Spoils System) เป็นระบบที่อยู่ในสังคมจารีตนิยม ซึ่งได้แก่ ประเทศจีน ประเทศอินเดีย ประเทศไทย อินโดนีเซีย ฯลฯ ซึ่งตรงกันข้ามกับ "ระบบคุณธรรม" (Merit System) ที่เป็นระบบการคัดสรรบุคคลตามหลักความรู้ความสามารถ ปกติ ระบบคุณธรรมจะคำนึงถึงหลัก (1) ความเสมอภาค (Equity) (2) ความสามารถ (Competency) (3) ความมั่นคง (Security) (4) ความเป็นกลางทางการเมือง (Political Neutrality) เช่น การไม่เลือกปฏิบัติ ความอาวุโส คุณวุฒิ ความรู้ความสามารถ ความเป็นกลางทางการเมือง เป็นต้น

[27]คำว่า Connecting Points มีใช้ในกฎหมายระหว่างประเทศที่แสดงถึงจุดเชื่อมต่อของบุคคล เช่น ในเรื่องสัญชาติของบุคคลที่เกิด กับประเทศที่เกิด หรือตามหลักสายโลหิต

[28]สัญญาประชาคม (Social contract) ในความหมายที่นำมาใช้ในการเมืองไทยปัจจุบัน หมายถึง ความตกลงร่วมกันของประชาชน กลุ่มผลประโยชน์ร่วมกันหรือกลุ่มคนที่มีแนวความคิดเดียวกัน กับฝ่ายตรงข้าม เพื่อเป็นการแสวงความตกลงและทางออกของปัญหาซึ่งเป็นปัญหาที่มีผลกระทบในวงกว้างซึ่งหากปล่อยไว้อาจจะก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคม, วิกิพีเดีย

[29]การขัดกันแห่งผลประโยชน์ (Conflict of Interest : COI) คือ การที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอาศัยโอกาสในระหว่างการดำรงตำแหน่งกระทำการอันมีลักษณะที่เป็นการก้าวก่ายหรือแทรกแขงเพื่อประโยชน์ของตนเองของผู้อื่นหรือของพรรคการเมือง ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในกิจการหรือการดำรงตำแหน่งที่ต้องห้าม รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 จึงได้วางกลไกป้องกันตรวจสอบและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบที่เข้มงวด เด็ดขาด เพื่อมิให้ผู้บริหารที่ปราศจากคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาลเข้ามามีอำนาจในการปกครองบ้านเมืองหรือใช้อำนาจตามอำเภอใจ และมีการกำหนดมาตรการป้องกันและบริหารจัดการประเทศให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ตลอดจนการพิทักษ์รักษาผลประโยชน์ของชาติ ดังนั้นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจึงต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์

ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 หมวด 9 การขัดกันแห่งผลประโยชน์ตั้งแต่มาตรา 184-187 ซึ่งได้กำหนดข้อต้องห้าม เช่น การดำรงตำแหน่งไว้ และมีบัญญัติในมาตรา 126 มาตรา 127 และมาตรา128 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561

ดู การขัดกันแห่งผลประโยชน์ โดยแดนชัย ไชวิเศษ, สำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, ออกอากาศสถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา, รายการร้อยเรื่องเมืองไทย เมื่อ มิถุนายน 2562, https://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parliament_parcy/ewt_dl_link.php?nid=53175&filename=index

[30]สินบน (bribe) หมายถึง ทรัพย์สิน ของขวัญ หรือประโยชน์อื่นใดที่ให้แก่บุคคลเพื่อจูงใจให้ผู้นั้นกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือไม่ชอบด้วยหน้าที่ ภาษาปากเรียกว่า เงินใต้โต๊ะ หรือเงินแป๊ะเจี๊ยะ เช่น เงิน สิ่งของ การลดราคา การรับความบันเทิง การรับบริการ เป็นต้น

[31]Status Quo แปลว่า สถานะเดิม หรือสถานะปัจจุบันของเราที่เป็นอยู่ปัจจุบัน มนุษย์ทุกคนมีอคติในใจที่มีชื่อว่า Status Quo Bias หรืออคติในการยึดติดกับสถานะที่ดำรงอยู่ หรือ “status quo is not an option” (การดำรงสถานะแบบเดิมไม่ใช่ทางเลือกที่เหมาะสม) เช่น สถานะเดิมที่กระฎุมพีไทยส่วนใหญ่ต้องการเหนี่ยวรั้งไว้ให้ดำรงอยู่สืบไป (นิธิ เอียวศรีวงศ์, 2557), รัฐที่มีกรณีพิพาทดินแดน (ตามแนวเส้นประ 11 จุด : Eleven-Dot Line ในหมู่เกาะทะเลจีนใต้) เหล่านี้ก็สามารถดำรงสถานะเดิม (Status quo) ในการครอบครองกรรมสิทธิ์เหนือเกาะของตนอย่างไม่เปลี่ยนแปลง

[32]การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อหยุดยั้งการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า คดีปิดปาก มาจากภาษาอังกฤษว่า Strategic Lawsuit Against Public Participation (SLAPP) ที่แปลได้ว่า “การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของสาธารณชน”  
ดู "ปฏิบัติการตบปากด้วยกฎหมาย" เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบ, โดย iLaw, 18 สิงหาคม 2559, https://ilaw.or.th/node/4244 

[33]ในสายธารการเคลื่อนไหว: มองการเมืองภาคประชาชน การเลือกตั้ง และความหวังต่อการเมืองในสภาฯ กับ วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ โดยเพ็ญพิชชา มุ่งงาม, the101world, 21 เมษายน 2566, https://www.the101.world/witoon-leanjamroon-on-thai-civic-politics/

[34]รัฐพันลึก หรือรัฐเร้นลึก (Deep State) หรือ รัฐซ้อนรัฐ (state within a state) ทำหน้าที่เสมือน "รัฐคู่ขนาน" หรือล้อเลียนว่า รัฐพันตื้น (นิธิ เอียวศรีวงศ์, 2560) หรือ รัฐลอยนวล (นิธิ เอียวศรีวงศ์, 2561 : Tyrell Haberkorn) หรือ รัฐพิลึก (ทวี สุรฤทธิกุล , 2561) Deep State หรือที่ อาจารย์ผาสุก พงษ์ไพจิตร (พ.ศ.2559) แปลเป็นไทยอย่างแยบคายว่า “รัฐพันลึก” จากข้อเขียนของ อาจารย์เออเชนี เมริโอ (Eugénie Mérieau) พูดถึงแนวคิดเรื่อง รัฐพันลึก (deep state), รัฐธรรมนูญพันลึก (deep constitution) และอัตลักษณ์ทางรัฐธรรมนูญ (constitutional identity) ของประเทศไทย

ในทางทฤษฎี โดยมากแล้ว Deep State มักเกี่ยวข้องกับหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านความมั่นคงของรัฐโดยตรง เช่น กองทัพ ตำรวจ หน่วยข่าวกรอง และหน่วยสืบราชการลับต่างๆ หน่วยงานเหล่านี้มีอุดมการณ์ ความเชื่อ และธรรมเนียมปฏิบัติของตนเองในการทำงาน แม้ว่าผู้นำประเทศและบุคคลในรัฐบาลจะเปลี่ยนแปลงไปสักเพียงใดก็มักไม่ส่งผลกระทบต่อหน่วยงานเหล่านี้มากนัก นอกจากนั้น หน่วยงานประเภทนี้มักมีการทำงานในลักษณะที่ไม่เปิดเผยต่อสาธารณชนในวงกว้าง หรือแม้กระทั่งอยู่นอกเหนือจากระบบกฎหมายในทางใดทางหนึ่ง ซึ่งลักษณะความซ่อนเร้นเช่นนี้เป็นสิ่งสำคัญของแนวคิด Deep State นั่นเอง

ดู รัฐพันลึก – รัฐพิลึก, โดยทวี สุรฤทธิกุล, สยามรัฐออนไลน์, 9 กรกฎาคม 2561, 07:38 น., https://siamrath.co.th/c/39114 & เออเชนี เมรีโอ : ประเทศพันลึกภายใต้ "ประชาธิปไตยแบบถูกควบคุม", โดย วจนา วรรลยางกูร, The 101 World, 8 มกราคม 2563, https://www.the101.world/eugenie-merieau-interview/



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท