เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “โรงเรียนพัฒนาตนเอง : การจัดการศึกษาที่ตอบโจทย์ของชีวิต เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ” วันที่ 1 - 2 กรกฎาคม 2566 ณ ห้องประชุม Magnolia โรงแรมทีเค. พาเลซ โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ เช้าวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๖๖ ผมเข้าฟังการเสวนา เรื่อง ความยั่งยืนต่อเนื่องของโรงเรียนพัฒนาตนเองผ่านระบบการศึกษา ที่บ้าน ผ่าน FB Live
ฟังแล้วผมตีความว่า ผู้บริหารระดับสูงที่มาร่วมเสวนา มาพูดโดยไม่รู้จริง ว่า โรงเรียนพัฒนาตนเองเกิดขึ้นได้อย่างไร มีปัจจัยสำคัญอะไรบ้างที่ช่วยหนุนเสริม ที่ต้นสังกัดจะเรียนรู้และหาทางหนุนเสริมด้วยปัจจัยเหล่านั้น ท่านมาพูดจาก กระบวนทัศน์ และหลักการบริหารแบบเดิมของต้นสังกัด ไม่ได้มาเรียนรู้เรื่องโรงเรียนพัฒนาตนเอง ไม่มีความเข้าใจว่าสภาพความสำเร็จที่เห็นในปัจจุบันเป็นฝีมือของการเรียนรู้และพัฒนาของครูและโรงเรียนในสังกัดของตนเองอย่างไร จึงไม่เข้าใจว่า หากจะให้โรงเรียนเหล่านี้พัฒนาได้ต่อเนื่องและขยายผลไปยังโรงเรียนอื่นๆ หน่วยเหนือต้องหนุนเสริมอย่างไร
ไม่ทราบว่ารุนแรงเกินไปไหม หากผมจะสรุปว่า ในระบบนิเวศการบริหารการศึกษาไทย ผู้บริหารในระบบการศึกษาไม่สนใจการเรียนรู้จากการทำงาน หรือสนใจน้อยมาก มองการบริหารระบบ (การศึกษา) เป็นสิ่งที่หยุดนิ่งตายตัว ตามรูปแบบที่กำหนดจากเบื้องบน
ข้อตีความในสองย่อหน้าบน (ซึ่งอาจตีความผิด) ทำให้ผมคิดต่อว่า กสศ. น่าจะสรุปข้อค้นพบหรือข้อเรียนรู้จากโครงการ TSQP ที่ทำร่วมกับ สพฐ. ให้ชัดเจนเข้าใจง่าย เอาข้อสรุปไปนำเสนอใน กพฐ. เพื่อให้เป็นที่เข้าใจร่วมกันว่า โรงเรียนพัฒนาตนเองเป็นอย่างไร มีคุณค่าอย่างไร เกิดขึ้นได้จากปัจจัยสนับสนุนอย่างไร หากจะให้พัฒนาต่อเนื่องยั่งยืนต้นสังกัดต้องหนุนเสริมอย่างไร
แต่แม้ไปเสนอใน กพฐ. แล้ว ผมก็ไม่มั่นใจว่าต้นสังกัดจะเปลี่ยนพฤติกรรมการบริหารของตน (เพราะเป็นระบบที่ไม่เรียนรู้ ไม่มีกลไกรับผิดรับชอบ) ดังนั้น จึงต้องหวังพึ่งปัจจัยภายนอก เพื่อหนุนเสริมให้โรงเรียนพัฒนาตนเองได้ต่อเนื่องยั่งยืน ซึ่งก็คือกลไกหนุนให้ครูและโรงเรียนมีระบบเรียนรู้ร่วมกันจากการปฏิบัติ โดยใช้เครื่องมือที่ กสศ. ใช้ชื่อขึ้นต้นด้วย Q ทั้งหลาย และเครื่องมือสำคัญที่สุด ๒ ตัวคือเครื่องมือหนุนการเรียนรู้ คือ DE กับ Online PLC
จึงขอเสนอให้ กสศ. วางระบบหนุนเสริมความต่อเนื่องยั่งยืนของ TSQM โดยเน้นเครื่องมือ ๓ ชิ้นคือ DE, Online PLC และ มหกรรมการศึกษาคุณภาพสูง : โรงเรียนและครูเรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง หากจะมีเครื่องมือชิ้นที่สี่ ผมเสนอให้ประโคมสื่อสังคม ด้วยตัวอย่างผลลัพธ์การเรียนรู้ที่น่าประทับใจของนักเรียนทีละโรงเรียน ทำอย่างสม่ำเสมอทุกสัปดาห์ ชี้ให้เห็นว่า ในโรงเรียนนั้น นักเรียนเรียนรู้ต่างจากวิธีการเดิมๆ อย่างไร โดยครูและผู้บริหารร่วมกันเรียนรู้หาทางหนุนนักเรียนอย่างไร หากมี ศน., เขตพื้นที่, ผู้ปกครอง และกลไกในพื้นที่ร่วมหนุน ยิ่งดี
ขอชื่นชมคุณสมศักดิ์ พะเนียงทอง (นักธุรกิจจากระยอง) ว่าเป็นวิทยากรที่พูดเข้าเป้าที่สุด เสนอว่าจะให้เกิดความยั่งยืนและต่อเนื่อง ต้องสร้างปัจจัยของความต่อเนื่องขึ้นในพื้นที่ (เพราะกลไกราชการไม่มีความต่อเนื่อง) โดยท่านเสนอ ๓ กลไก คือ (๑) area manager (ท่านบอกว่า ท่านเป็น area manager ของระยอง) (๒) องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และ (๓) การกระจายอำนาจ โดยจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ อาศัยกลไกพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
รวมแล้ว ในการเข้าฟังการเสวนาครึ่งวันในครั้งนี้ ผมสะท้อนคิดสรุปกลไกหนุนความยั่งยืนต่อเนื่องของ TSQM ได้ ๗ กลไก โดย ๔ กลไกแรกอาศัยพลังของทุนปัญญา และทุนสังคม ที่โครงการ TSQP สร้างขึ้น
วิจารณ์ พานิช
๒ ก.ค. ๖๖
ไม่มีความเห็น