ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับแฟรนไชส์


"แฟรนไชส์ก่อตัวขึ้นครั้งแรกเมื่อประมาณกลางศตวรรษที่ 19 ในประเทศอังกฤษ เริ่มจากระบบการเก็บภาษี ต่อมาได้ขยายเข้าสู่อุตสาหกรรมเบียร์ และเริ่มแพร่หลายในสหรัฐอเมริกาช่วงศตวรรษที่ 20 โดยจักรเย็บผ้า Singer เป็นผู้พัฒนาระบบแฟรนไชส์ใช้เป็นรายแรกของโลก จากนั้นได้ขยายตัวไปยังกลุ่มธุรกิจอื่นๆ ได้แก่ ธุรกิจเครื่องดื่ม ฟาสต์ฟู้ด เครื่องสำอาง รวมทั้งธุรกิจโรงแรม"

Franchise

At a Glance

 

-  รากศัพท์คำว่า “Franchise”

            แฟรนไชส์ (Franchise) เป็นคำศัพท์ที่มีรากศัพท์มาจากภาษาฝรั่งเศส คือ “Franchir” แปลว่า “สิทธิพิเศษ” เริ่มต้นจากการที่สมัยโบราณนั้นพระราชามักจะพระราชทานสิทธิพิเศษที่ให้แก่ข้าราชบริพารหรือพวกขุนนาง แต่นานวันเข้าก็กลายเป็น “Franchise”

 

-  ความหมายคำว่า “Franchise”

            Franchise แปลว่า สิทธิพิเศษที่บริษัทแม่มอบให้กับผู้ที่เข้าร่วมกิจการ โดยสิทธิพิเศษนี้จะครอบคลุมระบบเกือบทั้งหมด เพื่อให้ผู้ที่เข้าร่วมกิจการนั้นสามารถทำธุรกิจได้ แม้จะไม่มีประสบการณ์มาเลย

            แฟรนไชส์ จึงหมายถึง กลยุทธ์ทางธุรกิจหรือตลาดในการกระจายสินค้าหรือบริการสู่ผู้บริโภคโดยหน่วยธุรกิจ ซึ่งประสบความสำเร็จ และต้องการขยายการจำหน่ายสินค้าหรือบริการของตน (บริษัทแม่) ผ่านหน่วยค้าปลีก (บริษัทสมาชิก) ซึ่งเป็นผู้ประกอบการอิสระ และทั้งสองฝ่ายได้ทำสัญญาหรือข้อตกลงร่วมกัน ภายใต้เครื่องหมายการค้าหรือบริการ เทคนิคการตลาด และอำนาจของบริษัทแม่ในการควบคุมหน่วยธุรกิจนั้น เพื่อแลกกับการได้รับชำระค่าธรรมเนียม และค่าลอยัลตี้จากบริษัทสมาชิกดังกล่าว

 

-  ต้นกำเนิดของ “Franchise”

            แฟรนไชส์ก่อตัวขึ้นครั้งแรกเมื่อประมาณกลางศตวรรษที่ 19 ในประเทศอังกฤษ เริ่มจากระบบการเก็บภาษี ต่อมาได้ขยายเข้าสู่อุตสาหกรรมเบียร์ และเริ่มแพร่หลายในสหรัฐอเมริกาช่วงศตวรรษที่ 20 โดยจักรเย็บผ้า Singer เป็นผู้พัฒนาระบบแฟรนไชส์ใช้เป็นรายแรกของโลก จากนั้นได้ขยายตัวไปยังกลุ่มธุรกิจอื่นๆ ได้แก่ ธุรกิจเครื่องดื่ม ฟาสต์ฟู้ด เครื่องสำอาง รวมทั้งธุรกิจโรงแรม

 

-  การเข้ามาของ “Franchise” ในไทย

            ธุรกิจแฟรนไชส์ได้เริ่มเข้ามาในประเทศไทยเมื่อประมาณ 50 ปีที่แล้ว ในช่วงแรกเป็นการนำแฟรนไชส์ Import มาจากต่างประเทศ และเป็นแฟรนไชส์ขนาดใหญ่ โดยกลุ่มทุนที่มีฐานะดี เนื่องจากการดำเนินธุรกิจแฟรนไชส์นั้น ต้องมีเงินทุนสูง

            ธุรกิจที่เริ่มใช้ระบบแฟรนไชส์ในระยะแรกๆ คือ ธุรกิจสถานีบริการน้ำมัน ธุรกิจผลิตและจำหน่าย

            หลังจากนั้นธุรกิจอาหารฟาสต์ฟู้ดจากอเมริกาก็เริ่มตามเข้ามา เช่น พิซซ่าฮัท แมคโดนัลด์ เคเอฟซี เป็นต้น ส่วนธุรกิจร้านสะดวกซื้อ อาทิ เซเว่น-อีเลฟเว่น, แฟมิลี่มาร์ท ฯลฯ และเริ่มขยายตัวจนเป็นที่แพร่หลายในปัจจุบัน

            นอกจากการขยายตัวของแฟรนไชส์ต่างประเทศแล้ว กลุ่มธุรกิจในประเทศไทยก็มีการพัฒนาธุรกิจเข้าสู่ระบบ แฟรนไชส์มากขึ้น ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา มีธุรกิจแฟรนไชส์ที่เป็นของคนไทยเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก

 

แฟรนไชส์ เป็นเถ้าแก่ไม่อยากอย่างที่คิด

 

            แฟรนไชส์ถือเป็นธุรกิจที่มีอิทธิพลต่อการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจ และสิ่งที่ทำให้การทำธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์เป็นที่นิยม น่าจะเป็นเพราะผลตอบแทนที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าการทำธุรกิจในลักษณะนี้สร้างผลกำไรจากการดำเนินงานได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากรูปแบบในการดำเนินงานง่ายต่อการเรียนรู้และนำไปใช้ อีกทั้งยังสามารถจัดตั้ง และขยายตัวต่อไปได้ไม่ยาก ต้นทุนเริ่มต้นก็ไม่สูง นอกจากนี้ในธุรกิจแฟรนไชส์ก็ยังมีรูปแบบการลงทุนที่หลากหลายให้เลือกตามความเหมาะสมของงบประมาณ และข้อจำกัดในการลงทุนของแต่ละคน

            ที่สำคัญ ธุรกิจแฟรนไชส์มีความเสี่ยงในการลงทุนและดำเนินงานที่ต่ำกว่าการเริ่มต้นธุรกิจด้วยตัวเอง เนื่องจากระบบแฟรนไชส์จะมีพี่เลี้ยงคอยถ่ายทอดกลยุทธ์ ประสบการณ์ และแนวทางการแก้ปัญหาในระหว่างที่ดำเนินกิจการ ส่วนกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่เป็นฐานลูกค้าก็มีความชัดเจนและยังมีแผนการตลาดที่ไม่ต้องลองผิดลองถูกในช่วง 2-3 ปีแรก ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ธุรกิจใหม่มีอัตราการล้มเหลวสูงสุด

            นอกจากนี้ ธุรกิจแฟรนไชส์ยังช่วยสร้างโอกาสให้แก่กลุ่มผู้ที่ขาดโอกาสในการทำธุรกิจ เช่น ผู้ที่ปลดเกษียณ ผู้ที่ถูกเลิกจ้าง ฯลฯ ซึ่งสามารถเริ่มธุรกิจใหม่ได้ด้วยตนเอง และยังเป็นการสร้างความมั่นคงในชีวิตได้อีกทางหนึ่ง

            เนื่องจากแฟรนไชส์โดยทั่วไปมักจะมีชื่อเสียงอยู่แล้ว และผู้ซื้อสิทธิ์รายใหม่ก็ไม่ต้องใช้ความพยายามในการลงทุนมากจนเครียด เพราะสินค้าและบริการส่วนใหญ่เป็นที่ยอมรับ อีกทั้งผู้ที่ทุนไม่มากก็สามารถที่จะเป็นเจ้าของกิจการได้ โดยผู้ขายแฟรนไชส์ก็ยังคอยให้คำปรึกษา และแนะนำในเรื่องเงินทุน การบริหารงาน การตลาด และการส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่อง แฟรนไชส์จึงเป็นรูปแบบธุรกิจที่น่าลงทุนอีกชนิดหนึ่ง

            แม้ว่าการดำเนินธุรกิจแฟรนไชส์จะให้ประโยชน์ทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย แต่ข้อเสียก็ใช่ว่าจะไม่มี เห็นง่ายๆ ก็คือ ผู้ซื้อ แฟรนไชส์จำเป็นต้องขาดความเป็นอิสระในการจัดการธุรกิจ และต้องจ่ายค่าตอบแทนแก่ผู้ขายแฟรนไชส์

            นอกจากนี้ บางรายอาจมีข้อจำกัดในเรื่องสินค้าและบริการที่นำมาจำหน่าย เพราะไม่สามารถสั่งซื้อจากที่อื่นได้ จะต้องรับจากผู้ขายแฟรนไชส์หรือได้รับความยินยอมจากผู้ขายแฟรนไชส์เท่านั้น จึงทำให้เสียโอกาสในการทำกำไรหรือหมดโอกาสสร้างสรรค์สินค้าอื่นๆ หรือชนิดใหม่ๆ 

            ดังนั้นการเลือกแฟรนไชส์ ควรจะต้องพิจารณาจากปัจจัยหลายๆ อย่าง ตั้งแต่ก่อนที่จะตัดสินใจเข้าร่วมแฟรนไชส์ ก็ควรตรวจสอบสภาพโอกาสที่จะประสบความสำเร็จ เงื่อนไขและข้อผูกพันของสัญญา ผู้ซื้อแฟรนไชส์ควรอ่านรายละเอียดที่ระบุไว้ในสัญญาทุกข้อให้ชัดเจน แล้วดูค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่าลิขสิทธิ์ / ค่าธรรมเนียม / ค่าสัมปทานที่บริษัทแม่จะเรียกเก็บ ซึ่งค่าลิขสิทธิ์จะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับประเภทของธุรกิจ

หมายเลขบันทึก: 713623เขียนเมื่อ 16 กรกฎาคม 2023 22:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 กรกฎาคม 2023 22:16 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท