ถกเถียงไม่ยอมกัน อาจจะพลาดสิ่งที่ควรจะได้ทั้งสองฝ่าย


คนเราเมื่อคิดว่า ตนเองมีความชอบธรรมที่จะได้สิ่งนั้น สิ่งนี้ เพราะ อ้างเหตุผลต่าง ๆ นานาเพื่อให้คู่เจรจายอม แต่เมื่อการเจรจาถกเถียงกัน ต่างไม่ยอมกัน บางที อาจจะพลาดจากสิ่งที่ควรจะได้รับทั้งสองฝ่ายก็เป็นได้ หรืออาจะมีมือที่สามเข้ามาแทรกแซงแย่งชิงสิ่งที่ควรจะได้ไปเลยก็เป็นได้

 

 ถกเถียงไม่ยอมกัน อาจจะพลาด
จากสิ่งที่ควรจะได้ทั้งสองฝ่าย

ดร.ถวิล  อรัญเวศ

      คนเราเมื่อคิดว่า ตนเองมีความชอบธรรมที่จะได้สิ่งนั้น สิ่งนี้ เพราะอ้างเหตุผลต่าง ๆ นานาเพื่อ
ให้คู่เจรจายอม แต่เมื่อการเจรจาถกเถียงกัน ต่างไม่ยอมกัน บางที อาจจะพลาดจากสิ่ง
ที่ควรจะได้รับทั้งสองฝ่ายก็เป็นได้ หรืออาจะมีมือที่สามเข้ามาแทรกแซงแย่งชิง
สิ่งที่ควรจะได้ไปเลยก็เป็นได้

 

ทำไม ?

         เพราะเรื่องนี้เคยมีตำนาน นิทานชาดก ให้แง่คิดสอนใจไว้แล้ว ดังจะนำมาสาธก หรือนำมาเป็นอุทาหรณ์ให้เห็น

        นิทานอีสป : ทัพพปุบผาชาดก ว่าด้วย แบ่งกันไม่ลงตัวในทัพพปุบผาชาดกว่าด้วย โทษของการโต้เถียงกัน แบ่งกันไม่ลงตัวก็มีเรื่องเล่าไว้ว่า

แบ่งกันไม่ลงตัว

        ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถีทรงปรารภพระอุปนันทศากยบุตรผู้โลภมาก ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธก ว่า...

 

           กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระโพธิ์สัตว์เกิดเป็นรุกขเทวดาประจำอยู่ต้นไม้ที่ฝั่งแม่น้ำแห่งหนึ่ง

          ณ ที่ไม่ไกลจากนั้น มีสุนัขจิ้งจอกสองผัวเมียอาศัยอยู่ อยู่มาวันหนึ่งสุนัขจิ้งจอกตัวเมียพูดกับสามีว่า "พี่ ฉันแพ้ท้องอยากกินเนื้อสด ๆ ที่ยังมีเลือดอยู่ ที่ช่วยหามาหาให้หน่อยสิ"

          สุนัขสามีรับคำว่า "น้องไม่ต้องเป็นห่วงเดี๋ยวพี่จะจัดการหามาให้" จึงเดินไปตามริมฝั่งแม่น้ำนั้น

          ขณะนั้นเองมีนาก 2 ตัวหากินอยู่ฝั่งแม่น้ำนั้น ตัวหนึ่ง หากินอยู่ในน้ำลึก อีกตัวหนึ่งหากินตามฝั่ง

         วันนั้น นากตัวหากินในน้ำลึกได้ปลาตะเพียนแดงตัวใหญ่ตัวหนึ่ง แต่ไม่สามารถนำปลาขึ้นฝั่งได้ เพราะปลาตัวใหญ่เกินไป จึงเรียกนากอีกตัวมาช่วยกันลากปลาขึ้นฝั่ง

         พอลากปลาขึ้นฝั่งได้แล้วนากทั้งสองตัวทะเลาะกันตกลงแบ่งปลากันไม่ได้

         พอดีสุนัขจิ้งจอกตัวนั้นเดินไปพบเข้า นากทั้งสองตัวจึงวิงวอนให้สุนัขจิ้งจอกช่วยแบ่งปลาให้หน่อย

        สุนัขจิ้งจอกจึงบอกว่า

       "สบายมากสหายทั้งสอง เราเคยเป็นผู้พิพากษามาก่อน"

       ว่าแล้วก็แบ่งปลาออกเป็น 3 ส่วนพร้อมกับพูดว่า "ท่อนหางเป็นของนากผู้หากินตามฝั่ง ท่อนหัวเป็นของนากผู้หากินทางน้ำลึกนะ

       ส่วนท่อนกลางเป็นของเราผู้พิพากษา" กล่าวจบก็คาบปลาท่อนกลางเดินจากไป

       นากทั้งสองเห็นเช่นนั้น ก็ได้แต่นั่งซึมเศร้าพร้อมกับบ่นว่า

       "ถ้าพวกเราไม่ทะเลาะกัน ท่อนกลางก็จะเป็นอาหารของเรากินได้อีกหลายวัน เพราะทะเลาะกันท่อนกลางจึงตกเป็นอาหารของสุนัขจิ้งจอกไป"

        ฝ่ายสุนัขจิ้งจอกก็คาบปลาท่อนกลางไปให้เมียได้กินตาม

ความต้องการ

        เมียเห็นก็ดีใจพร้อมกับถามว่า

       "พี่ไปได้มาอย่างไร"

        สุนัขจิ้งจอกจึงตอบด้วยความเย่อหยิ่งว่า

       "น้องรัก คนทั้งหลายผ่ายผอมเพราะทะเลาะกัน สูญเสียทรัพย์ก็เพราะทะเลาะกัน นาก 2 ตัวก็เพราะทะเลาะกัน จึงทำให้ไม่ได้กินปลาท่อนกลางน้องรักเจ้าจงกินปลาสดเถิด"

       รุกขเทวดาผู้เห็นเหตุการณ์นั่นแล้วได้แต่ให้เสียงสาธุการ

       พระพุทธองค์เมื่อตรัสอดีตนิทานมาสาธกแล้ว จึงตรัสพระคาถาว่า

"ในมนุษย์ ข้อพิพาทกันเกิดขึ้น ณ ที่ใด พวกเขาจะวิ่งหาผู้พิพากษาเพราะผู้พิพากษาเป็นผู้แนะนำพวกเขา ฝ่ายพวกเขาก็จะเสียทรัพย์ ณ ที่นั้น เหมือนนาก 2 ตัวนั้นเอง แต่คลังหลวงเจริญขึ้น"

      นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ญาติพี่น้องเพราะทะเลากันเรื่องมรดก จึงเป็นเหตุให้เสียทรัพย์เพื่อจ้างทนายให้เป็นผู้แบ่งปันให้ ดังนั้น จึงไม่ควรทะเลาะกัน เพราะจะนำความสูญเสียทรัพย์มาให้

       แม้เรื่องการถกเถียงกัน ไม่ลงตัวนี้ ก็มีเรื่องเล่าจากนิทานอีสป

"ตาอินกับตานา" และมีผู้นำมาร้อยกรองไว้ว่า

ตาอินกับตานา                ช่วยกันหาปลาทุกวัน

ได้ปลามาแบ่งปัน             ทุก ๆ วันแสนสุขใจ

วันนี้โชคดีหนา                เพราะได้ปลาตัวโตใหญ่

แบ่งปลากันไม่ได้             เพราะว่าไม่สามัคคี

โลภมากอยากได้ปลา        ที่คิดว่าส่วนดีดี

ตาอยู่จึงได้ที                  เข้ามาชี้วิธีการ

คว้ามีดมาช่วยแบ่ง           ไม่ต้องแย่งกันเลยท่าน

หัวหางจงแบ่งกัน             ส่วนกลางนั้นข้าจะเอา

ตาอินกับตานา               ต้องเสียท่าเพราะโง่เขลา

นิทานคือเรื่องเล่า            สอนให้เราเป็นคนดี

 

ตานากับตาอิน.. ตาอยู่มาจากไหน?

            ตานากับตาอิน, บ้านแกอยู่ริมทะเล; แกเป็นเพื่อนกัน, แกเคยไปหาปลาตามชายทะเลด้วยกันเสมอ แต่หาปลาได้น้อยไม่พอกิน, ถ้าวันไรใครหาได้มาก คนนั้นก็ได้กินอิ่ม, ถ้าได้น้อยก็กินไม่อิ่ม.

           อยู่มาวันหนึ่งเมื่อถึงเวลาจะไปหาปลา, ตานาจึงพูดกับตาอินว่า "เพื่อนเอ๋ยเพื่อน, ธรรมเนียมที่เคยนั้นเราเลิกเสียเถีด; เรามาสัญญากันเสียใหม่จะดีกว่า, คือถึงเวลาจะไปหาปลาเมื่อไรก็ให้กะแยกทางกันเสีย, ว่าใครชอบจะไปทางเหนือทางใต้ หรือทางน้ำลึกน้ำตื้นอย่างไรก็ตามใจ, แล้วแต่จะตกลงกันเมื่อเวลาที่จะไป, ถ้าได้ปลามาแล้วก็มาแบ่งปันกัน."

ตาอินก็เห็นชอบด้วยจึงว่า "ดีแล้วที่แกว่านี้เป็นอย่างชอบใจเราที่สุด."

          เมื่อตานากับตาอินพูดกันตกลงแล้ว, ตาอินชอบไปหาทางน้ำตื้นแกก็ไปหาตามชายหาดทรายแลในคลอง. ตานาแกก็ไปเที่ยวหาที่ทะเลน้ำลึกๆ; หาไปๆ แกก็เอาสวิงช้อนได้ปลาฉลามใหญ่ตัวหนึ่งแล้วแกก็พามาบ้าน.ฝ่ายตาอินไปหาวันยังค่ำไม่ได้ปลาเลยสักตัวเดียว, พอเวลาเย็นก็กลับมาบ้าน.

           ตานานั่งคอยอยู่พอเห็นตาอินกลับมามือเปล่า; จึงแกล้งถามว่า "เพื่อนได้ปลากี่ตัว?" ตาอินจึงว่า "เราไปวันนี้ไม่ได้ปลาเลย;" ตานาหัวเราะแล้วจึงว่า "แกเต็มทีนัก, ไปทั้งวันจะเอาปลาสักตัวเดียวก็ไม่ได้, เราไปครู่เดียวได้ปลาฉลามมาตัวหนึ่งใหญ่สะนัด. ปลาตัวนี้เราจะให้แกครึ่งหนึ่ง; แต่เราจะเอาข้างหัว, แกต้องเอาข้างหาง.

            พอตานาว่าเท่านั้น ตาอินก็โกรธจึงว่า "เราจะเอาข้างหัว แกจะเอาข้างหางบ้างเป็นไร?" ตานาจึงว่า "เราเป็นผู้หามาได้ เราจึงจะเอาข้างหัว, แกหาไม่ได้ เราจะให้ข้างหาง, ว่าอย่างนี้จะถูกหรือผิด?" ตาอินจึงว่า "แกว่าอย่างนั้นก็จริงอยู่, แต่เดีมทำไมแกจึงไม่พูดอย่างนี้, เป็นแต่สัญญากันว่าหามาได้แล้วก็กินด้วยกันเท่านั้น, ทีเมื่อได้ปลามาแล้วจะมาว่าคนนั้นได้ข้างหัว, คนนี้ได้ข้างหาง อย่างนั้นอย่างนี้ ไม่ยอม"  ตานากับตาอินโต้เถียงกันไปมาก็ไม่ตกลงกัน.

          ฝ่ายตาอยู่   แขนคอกไปซื้อกระดาดมาจะปิดว่าวขาย; แกเดีนมาทางนั้น. ตานากับตาอินกำลังเถียงกันวุ่นวาย, พอเห็นตาอยู่ถือกระดาดเดีนมา;  นึกว่าเป็นตระลาการก็ดีใจ, เชีญตาอยู่ขึ้นมาบนเรือนแล้ว, ก็บอกเรื่องที่โต้เถียงกันนั้นให้ตาอยู่ช่วยตัดสิน ตาอยู่ก็ทำอุบายว่า "อืออือ! เหนื่อยจริงๆ เขาเชีญเราไปชำระความพึ่งกลับมาเดี๋ยวนี้, ดูดู๋ กระดาดเขียนเรื่องราวเป็นหอบสองหอบชำระเสียออกแย่แล้ว. เราว่าจะกลับไปบ้านอาบน้ำเสียให้สบายสักหน่อย, ความเล็กน้อยเท่านี้ก็ต้องมากวนเราด้วย."

       ตานากับตาอินก็อ้อนวอนไปอ้อนวอนมา. ตาอยู่ทำทีเป็นเสียไม่ได้จึงว่า "ถ้าจะให้เราชำระจริงๆ แล้ว ต้องเชื่อฟังคำเราทุกอย่างจึงจะชำระให้ได้" ตานากับตาอินดีใจก็รับว่าจะเชื่อฟังคำทุกอย่าง.

      ตาอยู่เห็นสมคะเนก็เอามีดตัดปลานั้นออก ๓ ท่อน, แล้วแกจึงบอกว่า ปลา ๓ ท่อนนี้; ให้ตานาได้ข้างหัว,เพราะเขาเป็นผู้หามาได้. ส่วนตาอินนั้นให้แกได้ข้างหาง, เราเป็นผู้ตัดสินได้ข้างกลาง,"

      พอตาอยู่ว่าอย่างนั้น, ตานากับตาอินจะไม่ยอมก็ไม่ได้, เพราะได้พูดไว้เสียแล้วว่าจะเชื่อฟังคำของตาอยู่ทุกอย่าง, ก็จะเป็นต้องให้ตาอยู่ได้ข้างกลาง, แล้วจึงคิดเห็นว่า "เราไม่พอที่เลย, เมื่อก่อนจะแบ่งปันให้กันกินเสียแต่ดีๆ ก็จะแล้วกัน, นี่ตาอยู่มาเอาไปกินเสียเปล่าๆ; แล้วเอาที่ตรงพุงมันไปกินด้วย, ไม่เป็นเรื่อง, การอะไรเราตกลงกันเสียแต่ลำพัง, คงดีกว่าหาผู้มาตัดสินเป็นแน่"

     ตั้งแต่นั้นมาตานากับตาอินไปหาปลามาได้ก็แบ่งสู่กันกินเป็นปรกติ, ไม่โต้เถียงกันอย่างแต่ก่อนอีกเลย.

 

 


 

 

ที่มา

https://www.gotoknow.org/posts/249415

https://www.kalyanamitra.org/th/Aesop_detail.php?page=5188

http://krunini.blogspot.com/2011/07/blog-post_8759.html

https://youtu.be/a9H_fm4oChY

https://hilight.kapook.com/view/80855

https://youtu.be/ABV7NTL7G38

https://siamrath.co.th/n/170229

https://www.gotoknow.org/posts/249415

หมายเลขบันทึก: 713351เขียนเมื่อ 30 มิถุนายน 2023 01:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 มิถุนายน 2023 01:01 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท