ชีวิตที่พอเพียง  4477. ทำงานเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา  ๑๙๘. สะท้อนคิดข้อเรียนรู้จากการลงพื้นที่โรงเรียนพัฒนาตนเองจังหวัดขอนแก่น ๒๓ - ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖


 

ทีมบริหารโครงการ TSQP นำโดย อ. เพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ จัดกิจกรรมลงพื้นที่โรงเรียนพัฒนาตนเอง จังหวัดขอนแก่น วันที่ ๒๓ - ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖ ผมขออนุญาตลูกสาวไปร่วมตลอดรายการ เพราะเขาต้องเข้าเวรดูแลแม่แทนผม

ไม่ผิดหวัง   เพราะได้เรียนรู้มาก   หากไม่ไปสังเกตพฤติกรรม และปฏิสัมพันธ์ สารพัดด้าน  ของสารพัดคน   ก็จะไม่เข้าใจว่า wicked problem  (ปัญหาโหด) ของระบบการศึกษาไทยเป็นอย่างไร

ผมรู้สึกชื่นใจ ที่ได้ไปเห็นพัฒนาการของกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ในโรงเรียน ที่เป็นการเรียนรู้เชิงรุก   ที่โรงเรียนและห้องเรียนเป็นทั้งที่เรียนรู้ของนักเรียน และของครู    เห็นผู้บริหารโรงเรียนที่เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง อย่าง ผอ. สันติ มุ่งหมาย โรงเรียนบ้านทุ่ม (ทุ่มประชานุเคราะห์)  อ. เมือง จ. ขอนแก่น 

ผมนึกในใจว่า โครงการมหกรรมคุณภาพการศึกษาไทย ได้ตัว ผู้อำนวยการต้นแบบ สำหรับเชิญไปเล่าอุดมการณ์ หลักการ และวิธีการบริหารงานโรงเรียนเพื่อนักเรียน เพื่อคุณภาพการเรียนรู้ของนักเรียน 

เช้าวันที่ ๒๔ ในเวที เสวนา ระบบและกลไก ที่สนับสนุนโรงเรียนพัฒนาตนเอง ที่สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน มข.    ผมก็ได้ผู้อำนวยการต้นแบบอีกท่านหนึ่งคือ ส.ต.ท. พลทอง เพ็งวงษา โรงเรียนคูคำพิทยาสรรค์    ฟังคำอธิบายตอบคำถามของท่านแล้ว มั่นใจได้ว่า เป็น ผอ. ต้นแบบตัวจริง     

ข้อเรียนรู้ข้อที่ ๑ ของผมคือ บัดนี้ ประเทศไทยมีผู้อำนวยการโรงเรียนเพื่อศิษย์จำนวนหนึ่งแล้ว     พร้อมสำหรับการจัดมหกรรมคุณภาพการศึกษาไทย อย่างมั่นใจว่า มีตัวอย่างดีๆ สำหรับแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างมีพลัง 

ข้อเรียนรู้สำหรับ ผอ. โรงเรียนที่มีค่ายิ่งคือ เทคนิคการบูรณาการคำสั่งจากเบื้องบน เข้ากับงานสร้างสรรค์เพื่อผลลัพธ์การเรียนรู้ระดับสูงของศิษย์ ที่โรงเรียนทำอยู่แล้ว    แล้วรายงานผลงานให้แก่ต้นสังกัด   โดยไม่ต้องลุกลี้ลุกลนทำงานแบบแยกส่วนทีละคำสั่ง     

ผมขอเรียก ผอ. โรงเรียนที่มีทักษะและวิถีปฏิบัติแบบนี้ว่า agentic school director (ผอ. ผู้ก่อการ)   ที่เป็นหลักการสำคัญต่อการเป็นโรงเรียนพัฒนาตนเอง    คือไม่ใช่คนที่ลนลานทำตามคำสั่ง    แต่รู้จักตีความคำสั่ง เอามาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อการทำงานตามอุดมการณ์ของตน และของครูทั้งโรงเรียน   คืออุดมการณ์ทำเพื่อศิษย์   

ข้อเรียนรู้ข้อที่ ๒ คือ    ประเทศไทยมีโรงเรียนเพื่อศิษย์ ที่จัดการเรียนรู้สมัยใหม่   นักเรียนและครูเกิดการเรียนรู้ครบด้าน VASK ในระดับเชื่อมโยง (transfer learning)    คือเป็นโรงเรียนคุณภาพสูง อย่างแน่นอน    พร้อมสำหรับการจัด มหกรรมคุณภาพการศึกษาไทย  ที่เป็นกลไกหนุนการเปลี่ยนขาด (transform) ระบบการศึกษาไทย ได้อย่างทรงพลัง

ข้อเรียนรู้ข้อที่ ๓ คือ   พลังของ  การเปลี่ยนขาด (transform) ระบบการศึกษาไทย ต้องหวังพึ่งพลังเปลี่ยนจากฐาน (bottom-up) ร้อยละ ๗๐   หวังพึ่งพลังเปลี่ยนจากยอด (top-down) ได้ไม่เกินร้อยละ ๓๐ (หรือไม่เกินร้อยละ ๒๐)    ข้อสรุปนี้ผมได้จากวงเสวนา “ระบบและกลไกที่สนับสนุนโรงเรียนพัฒนาตนเอง” เช้าวันที่ ๒๔    ที่โชคดีที่ทีมจัดการสามารถเชิญผู้บริหารระดับสูงจากส่วนกลางไปเป็นวิทยากรร่วมเสวนา    โดยที่ท่านเคยเป็นครู ผู้บริหารโรงเรียน และผู้อำนวยการเขต   คือเป็นดาวเด่นของกระทรวงศึกษาธิการ   รวมทั้งข้อเสนอของท่านสะท้อนว่าท่านเป็นคนเก่ง และเข้าใจสภาพความเป็นไปของระบบการศึกษาไทยเป็นอย่างดีเยี่ยม

แต่ท่านตอบไม่ตรงคำถาม    เพราะคำถามของ รศ. ดร. ธันยวิช วิเชียรพันธ์ ผู้ดำเนินรายการคือ ระบบและกลไกสนับสนุนจากส่วนกลางเพื่อให้โรงเรียนพัฒนาตนเอง ควรเป็นอย่างไร     แต่ท่านกลับตอบว่า โรงเรียนควรทำอย่างไร   คือเลี่ยงไม่ตอบคำถาม   

ทำให้ผมตีความว่า ท่านตอบคำถามนี้ไม่ได้   เพราะระบบบริหารการศึกษาไทยที่ส่วนกลางไม่เคยมีข้อตกลงกลไกสนับสนุนหน่วยปฏิบัติ ตามในคำถาม    มีแต่กลไกบังคับบัญชา หรือกลไกควบคุมและสั่งการ     

ไม่ทราบว่า ผมตีความผิดหรือเปล่า

ที่ผมแน่ใจ คือ ท่านเลี่ยงไม่ตอบคำถาม   เพราะเมื่อผมปรารภข้อสังเกตนี้กับผู้ที่ร่วมฟังการเสวนาหลายท่าน    ก็ได้รับความเห็นพ้อง   

ข้อเรียนรู้ข้อที่ ๔ คือ   มีความพร้อมต่อการสร้างความเปลี่ยนแปลงระดับพื้นที่ (เช่นเขตพื้นที่การศึกษา) บางแห่ง    เพราะในเขตพื้นที่นั้น มีโรงเรียนแกนนำ, ผอ. แกนนำ,  ศน. แกนนำ,  ผู้ปกครองแกนนำ,   ผู้นำชุมชนแกนนำ ฯลฯ  ต่อการยกระดับคุณภาพการศึกษาในพื้นที่     ที่น่าจะเชื้อเชิญมาเสนอใน มหกรรมคุณภาพการศึกษาไทย  

ข้อเรียนรู้ข้อที่ ๕  โรงเรียนไทย ไม่ว่าจะอยู่ห่างไกลแค่ไหน   ไม่ได้ขาดปัจจัยสนับสนุนเชิงกายภาพ   ผมไปเห็นโรงเรียนบ้านโนนทันวิทยา อ. หนองเรือ  จ. ขอนแก่น    ที่มีนักเรียนไม่ถึง ๒๐๐ คน    แต่มีพื้นที่และอาคารกว้างขวาง     พร้อมรองรับการใช้งานสร้างสรรค์     โดยเฉพาะการจัดการเรียนรู้แบบ authentic learning    และแบบ service learning แก่นักเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักเรียนชั้นมัธยมขยายโอกาส    ที่จะต้องเน้นการสร้างโอกาสมีอาชีพ มีชีวิตที่ดี ให้แก่นักเรียน      

ข้อเรียนรู้ข้อที่ ๖   คำพูดของผู้คนในในเวทีเสวนา “ระบบและกลไกที่สนับสนุนโรงเรียนพัฒนาตนเอง” ที่เอ่ยถึง     ขบวนการใช้ PA model ของการเลื่อนวิทยะฐานะครู   ของ กคศ. บ่อยมาก    บ่งชี้ว่า ระบบความก้าวหน้าของครู ผ่านระบบ PA report น่าจะเป็นเรื่องที่มีค่ามากสำหรับการขับเคลื่อนยกระดับคุณภาพการศึกษาไทย     โดยผมขอเสนอว่า น่าจะมีโครงการวิจัยเชิงระบบสนับสนุน   หรืออาจใช้ DEเป็นเครื่องมือ ช่วยการปรับปรุงการใช้งานระบบดังกล่าว ให้บรรลุผลตามเป้าหมาย   ไม่ถูกมิติด้านลบของพฤติกรรมมนุษย์มาเป็นตัวปิดกั้น   

กคศ. น่าจะให้ทุน สนับสนุนให้มีการจัดวง online PLC เรื่อง การทำรายงาน PA อย่างสร้างสรรค์ ได้ประโยชน์ทั้งต่อนักเรียน และต่อครู    โดยครูภูมิใจว่า เป็นรายงานที่ตรงตามความเป็นจริงหรือซื่อสัตย์ ไม่ได้เบี้ยวหรือทำหลอกๆ    ยืนยันว่า เป็นการทำหน้าที่ครูอย่างมีค่านิยม (V - values) ในเป้าหมายการพัฒนา VASK ของนักเรียน (และครู) สูงส่ง   เป็นตัวอย่างแก่นักเรียนได้ ในเรื่องค่านิยมด้านความซื่อสัตย์    

เรื่อง การทำรายงาน PA อย่างสร้างสรรค์และซื่อสัตย์ นี้    น่าจะเป็นหัวข้อของการเสวนาในห้องย่อยของ  มหกรรมคุณภาพการศึกษาไทย  

ข้อเรียนรู้ข้อที่ ๗ PLC คุณภาพสูง   เสนอต่อทีมเตรียมงาน มหกรรมคุณภาพการศึกษาไทย ของมูลนิธิสยามกัมมาจล และ กสศ.   ว่า น่าจะเตรียมห้องย่อยเสนอ PLC คุณภาพสูงหลากหลายแบบ    ซึ่งหมายความว่า มีได้หลายห้องย่อย    แต่ละห้องย่อยเสนอวง PLC ที่มีคุณภาพสุงต่างเป้าหมาย ต่างรูปแบบ   โดยมีข้อมูลหลักฐานว่า นักเรียนได้รับประโยชน์   คือมีหลักฐานว่าผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียนสูงขึ้น    และเป็นผลลัพธ์การเรียนรู้ที่ครบด้าน VASK

ข้อเรียนรู้ข้อที่ ๘   PLC ศึกษานิเทศก์    ผมขอเสนอ (ไม่ทราบว่าเป็นข้อเสนอของคนหน่อมแน้มหรือเปล่า) ว่าควรมี ชุมชนเรียนรู้วิชาชีพศึกษานิเทศก์  และควรเชิญท่าน ศน. สุดสงวน กลางการ  ศน. สพป. ขอนแก่น เขต ๑   และ mentor ของท่านที่เกษียณอายุราชการไปแล้ว คือ ศน. พรพิมล  เป็น ศน. ต้นเรื่อง     เสนอเทคนิคการทำหน้าที่ ศน. ยุคใหม่ ที่เข้าไปร่วมวง PLC ในโรงเรียน    เริ่มตั้งแต่การเข้าร่วมกับครูออกแบบชั้นเรียน   การเข้าร่วมสังเกตชั้นเรียน   เข้าร่วม PLC ของโรงเรียน    ด้วยท่าทีของผู้ร่วมเรียนรู้    ไม่ใช่ท่าทีของผู้รู้    

ฟัง ศน. สุดสงวน เล่าวิธีเข้าร่วมเรียนรู้ในวง  Lesson Study (LS) กับครูแล้ว    ผมคิดว่า LS ก็คือรูปแบบหนึ่งของ PLC นั่นเอง   ยิ่งใช้ร่วมกับ OC – Open Class ก็จะยิ่งช่วยให้ PLC มีพลัง    และช่วยให้ ศน. ทำหน้าที่อย่างสร้างสรรค์    โดยเฉพาะที่ ศน. สุดสงวนเผย work ethics ของท่านออกมาว่า    ครูต้องอยู่ทำงานถึง ๖ โมงเย็น ก็อยู่ด้วย   ครูว่างหารือกันวันเสาร์หรืออาทิตย์หรือวันหยุด ก็สู้    ตรงกับความเชื่อของผมว่า ต้องหาทางหนุนให้ครูไทยไม่ทำงานแบบจับจด เอาเวลาเป็นตัวตั้ง    หลีกเลี่ยงการทำงานนอกเวลาราชการ   

ผมเชื่อว่า ยังมี ศน. อีกหลายท่าน ที่ควรเชิญเข้าร่วมงาน มหกรรมคุณภาพการศึกษาไทย เพื่อให้เล่าวิธีทำงานแนวใหม่   ที่ใช้ปฏิสัมพันธ์แนวราบกับครูและโรงเรียน    เน้นทำงานสนองนักเรียนมากกว่าสนองนาย    ในสัดส่วน 70:30   

ข้อเรียนรู้ข้อที่ ๙  PLC ผอ. โรงเรียน    สมัยนี้ การจัดวง PLC online ทำได้สะดวกมาก     กสศ. จึงน่าจะสนับสนุนการตั้งวง Online PLC ผอ. โรงเรียนพัฒนาตนเอง    โดยเชิญ ผอ. ต้นเรื่องมาเล่ากลเม็ดเด็ดพรายการทำหน้าที่ ผอ. ของตน    ให้สมาชิกวงได้ถามประเด็นท้าทาย    แล้วให้สมาชิกวงกลับไปลองปรับใช้และนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในวงถัดไป    โดยน่าจะจัดเป็นประจำทุกเดือน เช่นทุกวันพฤหัสสัปดาห์ที่ ๒ ของเดือน   เวลา ๑๔ - ๑๖ น.   มีผู้ทำหน้าที่ Fa  และ Note Taker เอาไว้สรุปประเด็นสั้นๆ สองสามนาทีในเดือนถัดไป    และขึ้นเว็บของ กสศ. ไว้ ที่หน้าต่าง Online PLC ผอ. โรงเรียนพัฒนาตนเอง   รวมทั้งมีลิ้งค์ไปยัง VDO ของ PLC ครั้งก่อนๆ ให้ผู้สนใจเข้าไปฟังได้   

ข้อเรียนรู้ข้อที่ ๑๐ โครงการยกระดับคุณภาพการศึกษาในโรงเรียนมัธยมขยายโอกาส    เน้นที่ระดับ ม. ๑ - ม. ๓ ว่าคุณภาพการเรียนรู้ของนักเรียนกลุ่มนี้ มีลักษณะจำเพาะอย่างไร    ดำเนินการอย่างไร   มีตัวอย่างโรงเรียนที่ดำเนินการได้ผลดี (best practice) ที่ไหนบ้าง   สำหรับเป็นโรงเรียนต้นแบบ

โดยในยุคนี้น่าจะทำเป็น online PLC   แล้วเมื่อเห็นว่าน่าจะยกขบวนผู้เอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้ ลงพื้นที่ดูงานและตั้งวงเรียนรู้ ก็จัดคล้ายๆ กับกิจกรรมเมื่อวันที่ ๒๓ – ๒๔ กุมภาพันธ์ ตามที่เล่ามานี้

ขอเสนอให้สำนักครู ของ กสศ. ลองพิจารณาดำเนินการตามแนวของข้อเรียนรู้ (จริงๆ แล้วเป็นข้อเสนอ) ข้อ ๑๐ นี้ 

แม้การเดินทางไปร่วมลงพื้นที่ เป็นงานที่เหน็ดเหนื่อยสำหรับคนแก่อายุเกิน ๘๐  แต่ก็ให้คุณประโยชน์คุ้มค่า    คือได้การเรียนรู้สำหรับขับเคลื่อนคุณภาพระบบการศึกษาไทย    ที่มี real-world evidence   ไม่ใช่แค่ใช้ความรู้เชิงทฤษฎี   

ขอแสดงความขอบคุณ อ. อ้อย เพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ ที่ออกแบบการลงพื้นที่ครั้งนี้อย่างดีเยี่ยม   ได้ตัวบุคคลที่เป็นตัวจริง มีผลงานสร้างสรรค์จริง มาเป็นวิทยากรแลกเปลี่ยน   ช่วยให้ผมได้มีโอกาสฝันบรรเจิด ๑๐ ข้อดังข้างบน     เพื่อเป้าหมาย ร่วมกันยกระดับคุณภาพการศึกษาไทย   

วิจารณ์ พานิช

๒๕ ก.พ. ๖๖

 

 

 

                   

หมายเลขบันทึก: 712997เขียนเมื่อ 31 พฤษภาคม 2023 17:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 พฤษภาคม 2023 17:38 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท