พระพุทธพจน์


ในบทความนี้ได้รวบรวมพุทธพจน์ในวาระต่าง ๆ เท่าที่ตนเองสนใจและไม่ได้นำมาทั้งหมด ตั้งแต่พระประสูติจนถึงพระปรินิพพานของสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า มารวบรวมทั้งภาษาบาลีและแปลเป็นภาษาไทยไว้ด้วยกัน

พระพุทธพจน์

พลตรี มารวย  ส่งทานินทร์

๓๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๖

เกริ่นนำ

พระพุทธพจน์นี้ทั้งหมด แบ่งประเภทเป็น ๓ คือ ปฐมพุทธพจน์ มัชฌิมพุทธพจน์ (และ) ปัจฉิมพุทธพจน์ ในบทความนี้ได้รวบรวมพุทธพจน์ในวาระต่าง ๆ เท่าที่ตนเองสนใจและไม่ได้นำมาทั้งหมด ตั้งแต่พระประสูติจนถึงพระปรินิพพานของสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า มารวบรวมทั้งภาษาบาลีและแปลเป็นภาษาไทยไว้ด้วยกัน

 

๑. ประสูติ = อาสภิวาจา เป็นวาจาที่กล่าวอย่างอาจหาญ ในวันที่พระโพธิสัตว์ประสูติจากพระครรภ์พระมารดาในวันเพ็ญวิสาขะว่า

อคโหมสมิ โลกสส      เชฏฺโฐหมสฺมิ โลกสส   เสฏฺโฐหมสฺมิ โลกสส   

อคฺโคหมสฺมิ โลกสส    อยมนฺติมา ชาติ         นตฺถิทานิ ปุนพฺภโว

แปลว่า “เราเป็นผู้เลิศของโลก เป็นผู้ใหญ่ที่สุดของโลก เป็นผู้ประเสริฐที่สุดของโลก นี้เป็นการเกิดครั้งสุดท้าย ไม่มีการเกิดใหม่อีกต่อไป”

๒. ตรัสรู้ = หลังจากที่พระบรมโพธิสัตว์มีชัยชนะเหนือพญามารแล้ว ทรงบำเพ็ญสมาธิต่อไป เมื่อจิตตั้งมั่นบริสุทธิ์ผ่องใสปราศจากอุปกิเลสแล้ว ทรงทำอาสวกิเลสทั้งหลายให้ดับสิ้นไป จนได้บรรลุอนุตสัมมาสัมโพธิญาณ ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในเวลารุ่งอรุโณทัย ตรงกับวันเพ็ญเดือน ๖ พระองค์ทรงอุทาน เย้ยตัณหาว่า

อเนกชาติสํสารํ สนฺธาวิสฺสํ อนิพฺพิสํ     คหการํ คเวสนฺโต ทุกฺขา ชาติ ปุนปฺปุนํ

คหการก ทิฏฺโฐสิ ปุน เคหํ น กาหิสิ     สพฺพา เต ผาสุกา ภคฺคา คหกูฏํ วิสงฺขตํ

วิสงฺขารคตํ จิตฺตํ ตณฺหานํ ขยมชฺฌคา

แปลว่า “เราตามหานายช่างผู้สร้างเรือน เมื่อไม่พบ จึงเวียนเกิดเวียนตายอยู่สังสารวัฏมากมายหลายชาติ การเกิดบ่อยๆ เป็นทุกข์ นายช่างผู้สร้างเรือนเอย บัดนี้เราพบท่านแล้ว ท่านจะสร้างเรือนไม่ได้อีกแล้ว จันทันอกไก่เราทำลายแล้ว เรือนยอดเราก็รื้อแล้ว จิตของเราเข้าถึงพระนิพพาน เราได้บรรลุความสิ้นตัณหาแล้ว”

๓. ปฐมเทศนา =  เทศนากัณฑ์แรกที่พระพุทธองค์แสดงส่วนสุดโต่ง คือทั้งการหมกมุ่นในกามและการทรมานตนเองนั้น ไม่ก่อประโยชน์ในการพ้นทุกข์ พระพุทธองค์ได้แสดงทางสายกลางคืออริยมรรคมีองค์ ๘ เท่านั้น จึงเป็นปฏิปทาก่อให้เกิดจักษุ ก่อให้เกิดญาณ เป็นไปเพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน

เทฺวเม  ภิกฺขเว  อนฺตา  ปพฺพชิเตน  น  เสวิตพฺพา ฯ  กตเม เทฺว ฯ โย   จายํ   กาเมสุ   กามสุขลฺลิกานุโยโค   หีโน  คมฺโม  โปถุชฺชนิโก  อนริโย    อนตฺถสญฺหิโต    โย    จายํ    อตฺตกิลมถานุโยโค   ทุกฺโข อนริโย  อนตฺถสญฺหิโต  ฯ  เอเตเต    ภิกฺขเว  อุโภ  อนฺเต  อนุปคมฺม  มชฺฌิมา   ปฏิปทา    ตถาคเตน    อภิสมฺพุทฺธา   จกฺขุกรณี   ญาณกรณี  อุปสมาย   อภิญฺญาย   สมฺโพธาย   นิพฺพานาย   สํวตฺตติ  ฯ  กตมา  จ สา   ภิกฺขเว   มชฺฌิมา   ปฏิปทา   ตถาคเตน  อภิสมฺพุทฺธา  จกฺขุกรณี  ญาณกรณี  อุปสมาย   อภิญฺญาย   สมฺโพธาย   นิพฺพานาย   สํวตฺตติ  ฯ อยเมว   อริโย  อฏฺฐงฺคิโก   มคฺโค   ฯ   เสยฺยถีทํ  ฯ  สมฺมาทิฏฺฐิ   สมฺมาสงฺกปฺโป   สมฺมาวาจา  สมฺมากมฺมนฺโต   สมฺมาอาชีโว  สมฺมาวายาโม   สมฺมาสติ   สมฺมาสมาธิ   ฯ   อยํ   โข  สา  ภิกฺขเว  มชฺฌิมา    ปฏิปทา    ตถาคเตน    อภิสมฺพุทฺธา   จกฺขุกรณี   ญาณกรณี   อุปสมาย  อภิญฺญาย    สมฺโพธาย   นิพฺพานาย   สํวตฺตติ ฯ

แปลว่า “ภิกษุทั้งหลาย ที่สุด ๒ ประการ บรรพชิตไม่พึงเสพที่สุด ๒ ประการ อะไรบ้าง คือ             

๑. กามสุขัลลิกานุโยค (การหมกมุ่นอยู่ด้วยกามสุขในกามทั้งหลาย) เป็นธรรมอันทราม เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์             

๒. อัตตกิลมถานุโยค (การประกอบความเดือดร้อนแก่ตน) เป็นทุกข์ ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์             

มัชฌิมาปฏิปทาไม่เอียงเข้าใกล้ที่สุด ๒ ประการนี้ที่ตถาคตได้ตรัสรู้ อันเป็นปฏิปทาก่อให้เกิดจักษุ ก่อให้เกิดญาณ เป็นไปเพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน             

มัชฌิมาปฏิปทาที่ตถาคตได้ตรัสรู้ อันเป็นปฏิปทาก่อให้เกิดจักษุ ก่อให้เกิดญาณ เป็นไปเพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพานนั้น เป็นอย่างไร  คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้แล ได้แก่                          

๑. สัมมาทิฏฐิ        ๒. สัมมาสังกัปปะ                          ๓. สัมมาวาจา        ๔. สัมมากัมมันตะ                          

๕. สัมมาอาชีวะ      ๖. สัมมาวายามะ                          ๗. สัมมาสติ          ๘. สัมมาสมาธิ             

นี้คือมัชฌิมาปฏิปทานั้นที่ตถาคตได้ตรัสรู้แล้ว อันเป็นปฏิปทาที่ก่อให้เกิดจักษุ ก่อให้เกิดญาณ เป็นไปเพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน”

๔. โอวาทปาติโมกข์ = หลักคำสอนสำคัญที่ทรงแสดงแก่พระอรหันตสาวก ๑,๒๕๐ รูป หลังจากตรัสรู้มาแล้วเป็นเวลา ๙ เดือน ซึ่งหลักคำสอนนี้เป็นหลักการและวิธีการปฏิบัติต่าง ๆ ที่ควรจำคือ

สพฺพปาปสฺส อกรณํ    กุสลสฺสูปสมฺปทา         สจิตฺตปริโยทปนํ         เอตํ พุทธาน สาสนํฯ

แปลว่า “การไม่ทำความชั่วทั้งปวง การบำเพ็ญแต่ความดี การทำจิตใจของตนให้ผ่องใส เหล่านี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า”

๕. ก่อนปรินิพพาน = พระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกับพระอานนท์ในมหาปรินิพพานสูตรไว้ดังนี้ว่า

โย  โว   อานนฺท   มยา   ธมฺโม   จ   วินโย  จ  เทสิโต  ปญฺญตฺโต  โส  โว  มมจฺจเยน สตฺถา 

แปลว่า “อานนท์! ธรรมวินัยใดอันเราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่เธอทั้งหลาย ธรรมและวินัยนั้นจักเป็นศาสดาของเธอทั้งหลายโดยกาลล่วงไปแห่งเรา” 

๖. ปรินิพพาน = ปัจฉิมโอวาท ทรงตรัสเตือนว่า การที่จะพัฒนาตนเข้าถึงธรรมได้สำเร็จ เราจะต้องมีความไม่ประมาท ใช้เวลาทำกรณียกิจ (บำเพ็ญไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา) ให้เต็มที่

หันทะทานิ ภิกขะเว อามันตะยามิ โว   วะยะธัมมา สังขารา อัปปมาเทนะ สัมปาเทถะ
แปลว่า “ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราขอเตือนเธอทั้งหลาย สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงทำหน้าที่ให้สำเร็จ ด้วยความไม่ประมาทเถิด”

------------------

คำสำคัญ (Tags): #พุทธพจน์
หมายเลขบันทึก: 712972เขียนเมื่อ 31 พฤษภาคม 2023 12:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 พฤษภาคม 2023 12:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท